เมื่อมาถึงเยอรมนีแล้ว จะมีสิ่งที่จำเป็นต้องทำหลายอย่าง ซึ่งหากทราบขั้นตอนล่วงหน้าจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้นหากมาถึงเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นการหาที่พัก การย้ายเข้าหรือออก การต่อวีซ่า การขอหนังสือเดินทางใหม่เมื่อหมดอายุ ภาษีบางชนิดที่ทุกคนต้องจ่าย หรือแม้แต่การทำงานระหว่างเรียน เป็นต้น

สำหรับค่ากินอยู่เบื้องต้น สามารถลองประเมินได้จาก บล็อกนี้

หาที่พักอาศัย และ การย้ายเข้า-ออก

ที่พักภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย

หลังจากที่ได้รับใบตอบรับจากทางมหาวิทยาลัย (Zulassungsbescheid) นักศึกษาสามารถใช้เอกสารนี้เป็นหลักฐานในการสมัครขออยู่หอพักของมหาวิทยาลัยนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถจะรับรองได้ว่านักศึกษาจะได้ห้องในหอพักของมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าหอพักมีห้องพักเพียงพอหรือไม่ และมีคนสมัครหอพักของมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด ต้องรอตามลำดับที่สมัครไว้จึงจะได้ห้อง

แต่ถ้าหากนักศึกษามีความประสงค์ที่จะได้ห้องพักในหอพักของมหาวิทยาลัยจริงๆ ก็ควรจะแสดงเหตุผลให้ทางมหาวิทยาลัยทราบว่ามีความจำเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้นว่า เพิ่งย้ายเข้ามาเมืองนี้ใหม่ยังไม่มีที่พัก และไม่ทราบว่าจะหาห้องพักด้วยตนเองอย่างไร เพราะยังไม่รู้จักเมืองนี้ดี หรืออาจจะอ้างว่ารายได้น้อย และไม่สามารถจะพักห้องเช่าที่ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยได้ หรืออาจจะใช้วิธีหมั่นโทรศัพท์ไปถามว่ามีห้องว่างหรือยัง เพื่อที่ทางมหาวิทยาลัยจะได้รับทราบว่าเรามีความต้องการห้องพักในหอพักของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก และอาจจะให้ความเห็นใจพยายามหาห้องว่างให้เราเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาบางคนอาจจะไม่คุ้นกับสภาพห้องพักในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาด 10-12 ตารางเมตร บางแห่งอาจจะต้องใช้ห้องน้ำ ห้องครัว รวมกับคนอื่น ข้อเสียที่มีก็คือ หอพักนักศึกษามักจะมีเสียงดัง และปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่ร่วมหอพักเดียวกัน เป็นต้นว่า ห้องครัวรวมสกปรก เนื่องจากเกี่ยงกันทำความสะอาด หรือห้องที่อยู่ติดกันเปิดเพลงเสียงดัง ในขณะที่อีกห้องหนึ่งต้องอ่านหนังสือสอบ ข้อดีของการอยู่หอพักคือ ในกรณีที่นักศึกษาไม่รู้จักใครเลย ก็จะมีโอกาสทำความรู้จักกับคนอื่นที่อยู่หอพักเดียวกันได้ง่าย เนื่องจากที่หอพักมักจะจัดกิจกรรมร่วมกันค่อนข้างบ่อย

ในมหาวิทยาลัยเองนักศึกษาสามารถไปที่กองกิจการนักศึกษา (Studentenwerk) หรือ AStA หรือ Akademisches Auslandsamt (International Office) โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ นักศึกษาจะได้รับเบอร์โทรศัพท์ รายละเอียดห้อง ที่ตั้ง นักศึกษาต้องติดต่อกับเจ้าของห้อง นัดดูห้องด้วยตนเอง จากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะเช่าห้องหรือไม่

นอกจากนี้ตามแผ่นประกาศ (Schwarzbrett) ในมหาวิทยาลัยเอง จะมีประกาศหาคนเช่าห้องอยู่มากมาย นักศึกษาไม่ควรกังวลว่าอาจจะหาห้องไม่ได้ หากหาที่อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ได้แก่ช่วงเวลาหลังปิดเทอม หรือก่อนเปิดเทอมประมาณ 1-2 เดือน และหากถือหลัก “ยิ่งเร็วยิ่งดี” ในการติดต่อ จะมีห้องว่างให้เลือกค่อนข้างมาก สิ่งที่ยากกว่าคือการหาห้องเช่าที่ถูกใจ ซึ่งก็คือเรื่องห้องน่าอยู่ เจ้าของบ้านใจดี ค่าเช่าไม่สูงเกินไป การคมนาคมสะดวกนั่นเอง

ที่พักภายนอกมหาวิทยาลัย

หากนักศึกษาไม่ต้องการอยู่หอพักมหาวิทยาลัย หรือไม่สามารถหาหอพักของมหาวิทยาลัยที่ว่างได้ ก็สามารถหาห้องเช่าในลักษณะอื่น ๆ ภายนอกได้ เป็นต้นว่า ห้องแบ่งให้เช่า อพาร์ตเมนต์ให้เช่า หรืออยู่ห้องเช่ารวมกับผู้อื่น (Wohngemeinschaft หรือ WG)

เว็บไซต์ทั่วไปสำหรับการหาที่อยู่ในเยอรมนี มีตัวอย่างเช่น

  • www.immobilien24.de มีห้องทุกระดับตั้งแต่ห้องเช่าในอพาร์ทเมนท์รวม (WG) สตูดิโอ ห้องชุด จนถึงบ้านเป็นหลังๆ ทั้งแบบซื้อขาดและให้เช่า ข้อควรระวัง คือ ส่วนใหญ่ต้องการผู้เช่าที่จะเช่าระยะยาว และมักให้ความสำคัญกับผู้เช่าที่ทำงานมีรายได้เป็นหลักแหล่งมากกว่านักเรียน
  • www.wg-gesucht.de เว็บยอดนิยมของนักศึกษา สำหรับหา WG (ย่อมาจาก Wohngemeinschaft คือ การไปแชร์อพาร์ทเมนท์อยู่ร่วมกับคนอื่น) แยกหาได้ตามเมืองอย่างละเอียด ส่วนใหญ่ไม่เสียค่านายหน้า มีทั้งให้เช่าระยะสั้นรายวัน จนถึงเช่าระยะยาว นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ใช้หาห้องสตูดิโอ ห้องชุด หรือแม้แต่บ้านเป็นหลังด้วย
  • housinganywhere.com เว็บไซต์นี้เน้นการหาห้องเช่าระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี เป็นหลัก โดยห้องส่วนใหญ่จะมีเครื่องเรือนพร้อมแล้ว ราคาจะสูงกว่าการเช่าระยะยาว แต่การติดต่อเช่าจะง่ายกว่า
  • https://wunderflats.com/en/ ลักษณะเดียวกันกับ housinganywhere

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหอพักเอกชนเพิ่มขึ้นมากมาย หอพักเหล่านี้มักจะอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เป็นห้องเดี่ยว มีเครื่องเรือนพร้อม ราคาค่อนข้างสูง แต่ติดต่อเช่าง่ายกว่าเพราะใช้ระบบจองก่อนได้ก่อน และคู่แข่งน้อยกว่าหอพักมหาวิทยาลัย ตัวอย่างหอพักเอกชนที่มีชื่อเสียงเช่น

ทั้งนี้การหาหอพักภายนอกมหาวิทยาลัยมีเคล็ดลับและข้อควรระวังมากมาย ขอแนะนำให้อ่านจาก ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการหาบ้านในเยอรมนี

ข้อแนะนำในการนัดดูห้อง

สำหรับการนัดไปดูห้อง มีข้อแนะนำดังนี้

  1. ห้องนั้นตกแต่งแล้วหรือไม่ ค่าเช่าห้องที่ตกแต่งแล้ว (möbliert) ปกติจะสูงกว่าห้องที่ยังไม่ตกแต่ง (unmöbliert) แต่ผู้เช่าไม่จำเป็นต้องหาเครื่องเรือนมาใส่ห้องเอง โดยปกติห้องที่ตกแต่งแล้วจะมีเตียง ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ โต๊ะเขียนหนังสือ และเก้าอี้
  2. อัตราค่าเช่าห้องรวมค่าอะไรบ้าง ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟเองหรือไม่ หรือรวมอยู่กับค่าเช่าบ้านแล้ว มีค่าอื่นๆนอกเหนือจากค่าเช่าห้องที่ผู้เช่าต้องจ่ายหรือไม่ เป็นต้นว่า ค่าเก็บขยะ ค่าจ้างคนทำความสะอาด ค่าภาษีห้อง เราต้องถามเจ้าของบ้านอย่างละเอียด
  3. ค่าเช่าห้องนั้น มีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ Kaltmiete ซึ่งเป็นเพียงค่าห้องอย่างเดียว (ไม่รวมน้ำ ไฟ heater ฯลฯ) อีกแบบคือ Warmmiete คือ Kaltmiete + Nebenkosten ซึ่งมักจะรวมค่าเก็บขยะ ค่าทำความสะอาดบันได ค่ากวาดถนนสำหรับหน้าหนาว เจ้าของห้องบางที่ก็รวมค่าน้ำและค่า heater อยู่ใน Nebenkosten นี้แล้ว อย่างไรก็ดี การถามให้ละเอียดอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเป็นการดีที่สุด
  4. โดยทั่วไปแล้วผู้เช่าจะต้องวางเงินมัดจำ (Kaution) เป็นจำนวนสามเท่าของ Kaltmiete และจะได้รับเงินคืนเมื่อย้ายออก ดังนั้นควรจะเตรียมเงินก้อนหนึ่งสำหรับมัดจำห้องกับเจ้าของบ้านไว้ด้วย
  5. ห้องน้ำ-ห้องครัวใช้อย่างไร ใช้รวมกับเจ้าของบ้านหรือไม่ เจ้าของบ้านบางคนไม่ค่อยพอใจถ้าหากผู้เช่าใช้ห้องน้ำ-ห้องครัวบ่อย เพราะคนเยอรมันบางคน (ส่วนน้อย) ไม่อาบน้ำทุกวัน หรือทำอาหารทุกวัน ต่างกับคนเอเชีย ทำให้ถูกมองว่าสิ้นเปลืองค่าน้ำ-ค่าไฟเพิ่มขึ้น
  6. ห้องเช่านั้นอยู่ในบ้านหลังเดียวกับเจ้าของบ้านหรือไม่ เพราะบางครั้งมักจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า อาจจะทำอะไรไม่สะดวกใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนบุคคลด้วย เพราะฉะนั้น จึงควรดูด้วยว่าพอจะเข้ากับเจ้าของบ้านได้ไหม หากเป็นไปได้ควรจะเลือกห้องเช่าที่อยู่แยกต่างหากเป็นสัดส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ด้วยลักษณะอ่อนน้อมของคนเอเชีย มักไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้น
  7. การคมนาคมเป็นอย่างไร อยู่ที่นั่นแล้วไปไหนมาไหนสะดวกหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วห้องที่อยู่ใกล้ตัวเมืองจะมีเสียงดังมากกว่าห้องที่อยู่เขตชานเมือง

เมื่อนักศึกษานัดดูห้องแล้ว ในการไปพบปะพูดคุยกับเจ้าของห้อง ควรสร้างความประทับใจให้กับเจ้าของห้อง โดยการแต่งกายสุภาพ บอกระยะเวลาที่อยู่อย่างชัดเจน และสร้างความมั่นใจในเรื่องการจ่ายค่าเช่า

หากนักศึกษาพอใจในห้องนั้น และเจ้าของห้องยินดีที่จะทำสัญญากับนักศึกษา ก็สามารถตกลงทำสัญญาเช่ากันได้ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเงื่อนไขสำคัญในสัญญาโดยละเอียด ได้แก่

  1. การกำหนดระยะเวลาการเช่าชัดเจน หากจะย้ายออกก่อนกำหนดมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เป็นต้นว่า ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน หรือต้องหาคนมาเช่าต่อให้ได้ โดยต้องหาคนมาให้เจ้าของบ้านพิจารณา 3 คน หรือต้องทาสีห้องก่อนคืนห้องหรือไม่
  2. ในสัญญาเช่าต้องเขียนค่าใช้จ่ายอื่น (Nebenkosten) แยกไปต่างหากจากค่าเช่าโดยละเอียด
  3. เงื่อนไขการเพิ่มค่าเช่าในแต่ละปีเป็นอย่างไร

ก่อนที่จะลงชื่อในใบสัญญาควรจะอ่านสัญญาเช่าให้เข้าใจ ขอให้ตัดสินใจรอบคอบ ไม่ต้องรีบหรือกลัวว่าจะหาห้องไม่ได้อีกหากไม่ได้ห้องนี้ เพราะหากไม่ถูกใจจริงๆ และทนอยู่ต่อไม่ได้ครบตามสัญญา อาจจะพบปัญหาในตอนย้ายออกก่อนกำหนดอีกมากมาย หากนักศึกษายังมีความรู้ภาษาเยอรมันน้อย ควรจะขอให้เพื่อนที่ใช้ภาษาเยอรมันได้ดีไปเป็นเพื่อนในการพิจารณาอ่านสัญญาด้วย

การแจ้งย้ายเข้าและย้ายออก

การแจ้งย้ายเข้า

สิ่งแรกที่ควรทำคือการแจ้งย้ายเข้า ทั้งนี้ นักศึกษาที่เรียนภาษาอยู่กับสถาบันสอนภาษาเกอเธ่ เจ้าหน้าที่จะจัดการเรื่องเอกสารให้ แต่ถ้าไม่มีผู้จัดการให้ นักศึกษาต้องไปแจ้งย้ายเข้าที่ Einwohnermeldeamt ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ที่ว่าการของเมือง เอกสารที่เตรียมไปได้แก่

  • หนังสือเดินทาง
  • ใบตอบรับจากมหาวิทยาลัย หรือใบรับรองจากสถาบันสอนภาษา
  • ใบรับรองทางการเงิน
  • สัญญาเช่าห้อง หรือจดหมายรับรองจากเจ้าของบ้านที่นักศึกษาพักอยู่ด้วย
  • ใบแจ้งย้ายออกจากเมืองเก่าถ้ามี

การแจ้งย้ายออก

หากนักศึกษาต้องย้ายเมือง ควรไปแจ้งก่อนย้ายออกประมาณ 1 อาทิตย์ โดยจะได้รับใบยืนยันการย้ายออก เพื่อนำไปใช้แจ้งย้ายเข้าของอีกเมืองหนึ่ง ถ้านักศึกษาย้ายที่อยู่ในเมืองก็ต้องทำการแจ้งย้ายอีกเช่นเดียวกัน การแจ้งย้ายที่อยู่นี้ไม่จำเป็นต้องทำเมื่อนักศึกษาย้ายจากห้องหนึ่งไปยังห้องหนึ่งซึ่งอยู่ในตึกเดียวกัน

เมื่อมีการย้ายที่อยู่ นักศึกษาควรไปที่ที่ทำการไปรษณีย์เพื่อแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ (Nachsendung) หากมีจดหมายหรือพัสดุไปรษณีย์ตกค้างไปยังที่อยู่เก่าภายในหกเดือนแรกที่ทำ Nachsendung พนักงานไปรษณีย์สามารถส่งต่อไปยังที่อยู่ใหม่ได้ทันที

นอกจากนี้ ควรไปแจ้งธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้ว่าเราเปลี่ยนที่อยู่แล้ว ทางธนาคารจะได้ส่งจดหมายต่างๆ มาถึงเราได้อย่างถูกต้อง หากไม่แจ้ง และจดหมายถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก ทางธนาคารจะทำการหาที่อยู่ของเราเอง และจะหักเงินค่าดำเนินการจากบัญชีของเราโดยอัตโนมัติ

การต่อวีซ่า หรือ ขอหนังสือเดินทางใหม่เมื่อหมดอายุ

การต่อวีซ่า

นักศึกษาที่เรียนภาษาอยู่กับสถาบันสอนภาษา จะได้รับวีซ่าระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน เมื่อวีซ่าหมดอายุต้องทำเรื่องขอต่ออายุวีซ่ากับสำนักงานต่างด้าวของเยอรมัน (Ausländerbehörde) หลักฐานที่ต้องนำไป ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง
  • ใบรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนของสถาบันสอนภาษา
  • หลักฐานทางการเงิน

การต่ออายุวีซ่าเพื่อเรียนภาษานี้ จะทำได้เมื่อระยะเวลาในการเรียนภาษารวมแล้วไม่เกิน 24 เดือน

นักศึกษาในระดับเตรียมมหาวิทยาลัยและในระดับมหาวิทยาลัย มักจะไม่มีปัญหาในเรื่องการต่อวีซ่ามากนัก เพราะหลักฐานที่ใช้มีเพียงใบลงทะเบียนเรียน (Semesterbescheinigung) และหลักฐานรับรองสถานภาพทางการเงิน ซึ่งอาจเป็นบัญชีเงินฝากก็ได้ โดยปกติแล้วจะได้รับการต่อวีซ่าให้ครั้งละ 1-2 ปี แล้วแต่รัฐ

ข้อแนะนำ

  • ควรตรวจดูวันหมดอายุของหนังสือเดินทาง ก่อนหนังสือเดินทางหมดอายุประมาณ 6 เดือน ควรทำเรื่องขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่เสียก่อน
  • ก่อนวีซ่าหมดอายุประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรไปติดต่อขอต่ออายุวีซ่า เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดทำให้การดำเนินการต่ออายุล่าช้าได้ เป็นต้นว่า เอกสารไม่เพียงพอ
  • หากวีซ่าใกล้หมดอายุก่อนย้ายเมือง ควรขอต่ออายุวีซ่าก่อนแจ้งย้ายออก เพราะอาจเกิดปัญหาเมื่อไปขอต่ออายุวีซ่าที่เมืองใหม่ เนื่องจากความล่าช้าในการส่งเอกสารระหว่างเมือง
  • สำหรับผู้ที่กลับเมืองไทยชั่วคราว ควรทำเรื่องขอต่ออายุวีซ่าให้พอดีกับช่วงที่กลับมาอีกครั้ง เพราะหากวีซ่าหมดอายุระหว่างที่อยู่เมืองไทยต้องทำเรื่องขอวีซ่าใหม่อีกครั้งกับสถานทูตเยอรมันในประเทศไทย เนื่องจากสถานทูตเยอรมันที่ประเทศไทยจะมีอำนาจเฉพาะการออกวีซ่าเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการต่ออายุวีซ่า การขอวีซ่าใหม่นี้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 4-6 อาทิตย์
  • หากไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมัน เช่น ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่สุภาพ หรือไม่ดำเนินการให้แม้ว่าเอกสารครบถ้วนแล้ว ควรจะขอทราบชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นโดยความสุภาพ แล้วค่อยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นต่อไป
ขอหนังสือเดินทางใหม่เมื่อหมดอายุ

เมื่อหนังสือเดินทางจะหมดอายุ นักศึกษาต้องทำเรื่องขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) เล่มใหม่ โดยต้องไปทำเรื่องด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิค

กรณีประสงค์จะใช้ชื่อ-นามสกุลเดิมในหนังสือเดินทางเล่มใหม่

  • คำร้องหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 1 แผ่น กรอกข้อความให้ครบทุกช่อง
  • หนังสือเดินทางตัวจริง
  • บัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง (ในกรณีไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง สามารถนำสำเนาบัตรประชาชนมาใช้ประกอบการยื่นคำร้องได้)
  • ใบแสดงถิ่นที่อยู่ หรือ บัตร Aufenthaltstitel หรือ บัตรประจำตัวของเยอรมนี
  • ซองเขียนที่อยู่ถึงตัวท่านเองและติดแสตมป์ 4.05 ยูโร เพื่อส่งหนังสือเดินทางกลับคืนให้ท่าน และเพื่อป้องกันไม่ให้เอกสารได้รับความเสียหายระหว่างทางไปรษณีย์ ขอแนะนำให้ใช้ซองที่มีพลาสติกกันกระแทกขนาด A5

***ในกรณีที่หนังสือเดินทางสูญหายหรือถูกขโมย ต้องแสดงใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย หรือ ใบแจ้งความหนังสือเดินทางถูกขโมยเพิ่มเติม พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางที่หายหรือถูกขโมย และกรอก“บันทึกสอบสวนประกอบคำร้องหนังสือเดินทางหาย” 1 ชุด

ทั้งนี้ จนท.อาจขอเอกสารเพิ่มเติมที่จำเป็นตามแต่กรณี

โดยมีค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางดังนี้

ค่าหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อายุการใช้งาน 5 ปี) 35 ยูโร
ค่าหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อายุการใช้งาน 10 ปี) 50 ยูโร
ค่านิติกรณ์หนังสือเดินทาง 5 ยูโร

สถานที่ติดต่อ:

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน (Königlich Thailändische Botschaft)
Lepsiusstr. 64/66, 12163 Berlin

โทรศัพท์
ข้อมูลทั่วไป/ประชาสัมพันธ์ (49) 030 794 810
หนังสือเดินทาง (49) 030 794 811 11
Fax. (49) 030-7948-1511
E-mail ทั่วไป : general@thaiembassy.de
E-mail กงสุล : consular@thaiembassy.de
Email: thaiber@snafu.de
URL: http://thai.thaiembassy.de/

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต (Königlich Thailändisches Generalkonsulat Frankfurt)
Kennedyallee 109, 60596 Frankfurt am Main
Tel. (49) 069-69 86 82 05
Fax. (49) 069-69 86 82 28
Email: thaiconsulate.FRA@mfa.mail.go.th
URL: https://thaigeneralkonsulat.de/th/

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิค (Königlich Thailändisches Generalkonsulat München)

Törringstr. 20, 81675 München
Tel.  +49 (0) 89 944 677-111
Fax. +49 (0) 89 944 677-115
Email: consular@thaiconsulate.de
URL: https://thaiconsulate.de

ภาษี GEZ (Rundfunkbeitrag)

ภาษี GEZ คืออะไร

ภาษี Rundfunkbeitrag หรือ GEZ-Gebühr คือภาษีสื่อสาธารณะในประเทศเยอรมนี ภาษีนี้สนับสนุนสื่อในเครือของ ARD, ZDF และ Deutschlandradio เพื่อความเป็นกลางและคุณภาพของสื่อ เนื่องจากสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีนี้จะไม่มีโฆษณา สื่อเหล่านี้สามารถดูย้อนหลังได้ที่หน้าเว็บไซต์ของสื่อแต่ละเครือไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่น

ภาษีนี้มีค่าใช้จ่าย 17,50 EUR ต่อเดือน รายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายว่าถูกแบ่งไปสนับสนุนสื่อต่างๆ ในสัดส่วนใดบ้าง อ่านต่อได้ที่นี่ (ภาษาเยอรมัน)

https://www.rundfunkbeitrag.de/ เว็บไซต์สำหรับภาษี Rundfunkbeitrag

ใครต้องจ่าย GEZ บ้าง จ่ายอย่างไร

ทุกคนที่ลงทะเบียนที่อยู่อาศัย (Wohnanmeldung) ในประเทศเยอรมนีต้องจ่ายภาษีนี้ ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม หลังจากลงทะเบียนบ้านเสร็จแล้วบุคคลนั้นจะได้รับจดหมายแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ หากไม่ได้รับจดหมายสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่นี่ 

สำคัญ! ราคา 17,50 EUR นี้ เป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่อ 1 ครัวเรือน (Wohnung) หมายความว่า หากคุณอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น 3 คนในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน หากมีคนหนึ่งในสามคนนี้จ่าย 17,50 EUR แค่ครั้งเดียวแล้ว อีกสองคนไม่ต้องจ่าย โดยปกติแล้วสามคนนี้จะหารค่าภาษีเท่ากัน เพียงแต่ว่าต้องมีนามหนึ่งคนที่จ่ายนั่นเอง

บุคคลนั้นสามารถจ่ายค่าภาษีโดยการโอนเงิน(หรืออนุญาตให้ตัดเงิน)เป็นรายเดือน หรือทุกสามเดือน หรือรายปี

การทำงานระหว่างเรียน

การทำงานระหว่างเรียนในเยอรมนีอย่างถูกกฎหมาย

การทำงานในเยอรมันอย่างถูกกฎหมายสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากมีการจำกัดเวลาที่สามารถทำงานได้ต่อปี เช่น นักเรียนโรงเรียนภาษาและนักเรียน Studienkolleg ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานไปด้วยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวีซ่าที่ได้ ส่วนนักเรียนที่มีวีซ่านักเรียน สามารถทำได้เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 120 วัน ต่อปี หรือ 40 ชม/สัปดาห์ (แบบเต็มวัน) และ 240 วัน ต่อปี หรือ 20 ชม/สัปดาห์ (แบบครึ่งวัน)

อย่างไรก็ตาม นักเรียนในมหาวิทยาลัยสามารถทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับอาจารย์หรือทำงานใน Institute ของมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ ซึ่งที่เยอรมันเรียกกันว่า studentische Hilfskraft หรือ Hiwi (ออกเสียงว่า ฮี วี่) ซึ่งเวลาที่ทำงาน Hiwi นี้จะไม่นำไปนับรวมกับ 120 วัน ที่เขียนไว้ข้างต้น การหางาน Hiwi หาได้จากประกาศในคณะ ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือเข้าไปถามอาจารย์โดยตรง ค่าจ้างประมาณ 9.5 Euro ต่อชั่วโมง ขั้นต่ำ (update : 01.01.2021) แตกต่างกันไปตามรัฐ minijob-zentrale.

นอกจากนี้ วีซ่านักเรียนไม่อนุญาตให้ทำงานฟรีแลนซ์ แต่ถ้าหากได้งานลักษณะนี้ ต้องไปขออนุญาตทำงานเพิ่มจาก Ausländerbehörde  และจะทำได้ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนเท่านั้น

ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหางานพิเศษระหว่างเรียน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค้นหาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน?

ถ้าหากข้อมูลในเว็บไซต์นี้ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของคุณได้ คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางต่างๆ เช่น Search Engine ที่คุณชื่นชอบ หรือเว็บไซต์ที่เราแนะนำดังนี้

เว็บไซต์ Study in Germany

“Study in Germany – Land of Ideas” เป็นแคมเปญของรัฐบาลเยอรมนีสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อทั่วโลก โดยในเว็บไซต์นี้คุณสามารถศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อและใช้ชีวิตในเยอรมนีได้ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวเรื่องภาษา การเลือกเมืองเพื่อศึกษาต่อ รวมทั้งประสบการณ์จากนักเรียนจากทั่วโลกที่ศึกษาต่อในเยอรมนี

เว็บไซต์ My GUIDE

เว็บไซต์นี้เป็นแพลตฟอร์มของ DAAD โดยผู้สนใจศึกษาต่อสามารถค้นหาหลักสูตรการศึกษาที่สนใจ จากกว่า 20,000 หลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วเยอรมนี นอกจากนี้คุณสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติส่วนตัวของคุณเพื่อตรวจสอบเบื้องต้น โดยระบบจะแจ้งว่าหลักสูตรใดที่คุณมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดการรับเข้าศึกษา ซึ่งจะช่วยจำกัดผลการค้านหาให้แคบลง

ศูนย์ข้อมูล DAAD ประเทศไทย

DAAD เป็นองค์กรของเยอรมนีซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างประเทศ นอกจากข้อมูลที่หาได้จากเว็บไซต์และช่องทางต่างๆ แล้ว DAAD ประเทศไทย ยังมีบริการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ณ ศูนย์ข้อมูลตามที่อยู่และช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ DAAD ประเทศไทย

DAAD ประเทศไทย
Information Centre Bangkok
ที่อยู่: ซอยเกอเธ่ สาทร 1 18/1
10120 กรุงเทพฯ
หมายเลขโทรศัพท์: +662 2868708-9
อีเมล: infodaad.or.th
เฟสบุ๊ก: https://www.facebook.com/DAAD.Thailand
ไลน์ไอดี: @DAADThailand

กลุ่มเฟสบุ๊ค ....

กลุ่มเฟสบุ๊คของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนีฯ เป็นที่รวมของนักเรียนนักศึกษาไทยและคนไทยหลากหลายสาขาอาชีพที่อยู่ในประเทศเยอรมนี ผู้ที่สนใจสามารถกดเข้าร่วมและถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนต่อและใช้ชีวิตโดยเฉพาะในส่วนของประสบการณ์ต่างๆ หรือการหาเพื่อนคนไทยในเมืองเดียวกันหรือเมืองใกล้เคียง (ก่อนโพสต์คำถามกรุณาอ่านเงื่อนไขการใช้งานกรุ๊ปก่อน) ในกลุ่มมีสมาชิกที่ยินดีให้ความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเองสักเล็กน้อยก่อนที่จะโพสต์ถาม

Block
Bachelor Degree
เรียนต่อปริญญาตรี
Master Degree
เรียนต่อปริญญาโท
Doktorand
เรียนต่อปริญญาเอก
Preparation
การเตรียมตัว
Live in Germany
การใช้ชีวิตในเยอรมนี