การหางานพิเศษในเยอรมนี

สวัสดีครับผู้อ่านชาวสำนักนักเรียนไทยในเยอรมนีทุกคน สำหรับโพสต์นี้ผมจะมาเล่า

ประสบการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่มาเรียนที่ประเทศเยอรมนีทุกคน ซึ่งก็คือประสบการณ์การหางาน และการทำงานพาร์ทไทม์ในประเทศเยอรมนีนั่นเองครับ การมาเรียนในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงอย่างนี้ ถ้าเราสามารถหางานทำ หารายได้ให้กับตัวเองไปพร้อมๆกับการเรียนได้ ก็คงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของตัวเราและของคุณพ่อคุณแม่ไปได้เยอะเลยนะครับ ยิ่งไปกว่านี้ การทำงานพาร์ทไทม์ นอกจากเราจะมีรายได้แล้ว เรายังอาจจะได้ฝึกทักษะต่างๆจากการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นข้อได้เปรียบของเราสำหรับการหางานจริงๆทำในอนาคตได้อีกด้วยนะครับ ท่ี่ประเทศในยุโรปนี้ ถึงแม้ค่าครองชีพจะสูง แต่ว่าค่าจ้างก็สูงตามไปด้วย แล้วยังมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าเราจะเลือกทำงานอะไร ค่าจ้างก็จะไม่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นเราสามารถเลือกหางานอะไรก็ได้ที่เหมาะกับความต้องการของเราแบบแทบจะไม่ต้องกังวลถึงรายได้เลยครับ

หางานทำจากเว็บไซต์ของ Studentenwerk

ช่องทางการหางานทำในประเทศเยอรมนีนั้นมีอยู่หลายช่องทางด้วยกัน หนึ่งในช่องทางที่สะดวกสำหรับนักเรียนมหาวิทยาลัยก็คือในหน้าเว็บไซต์ของ Studentenwerk ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขององค์กรที่คอยดูแลเรื่องกิจการต่างๆของนักเรียนในเมืองนั้นๆ ในเว็บไซต์นี้จะมีส่วนที่เป็นหน้าประกาศรับสมัครงานต่างๆอยู่ (อย่างเช่น สำหรับ Studentenwerk ของเมือง Karlsruhe ก็จะเป็นหน้านี้ http://www.sw-ka.de/en/finanzen/jobboard/?page=1) ตัวอย่างงานที่มีลงประกาศในเว็บนี้ก็จะมีหลากหลายมาก เช่น งานพวกใช้แรงงาน ทำความสะอาด ส่งไปรษณีย์ ขายของ งานร้านอาหาร ไปจนถึงงานพี่เลี้ยงเด็ก ก็มี แต่ก็มีงานหลายๆอย่างที่ต้องใช้ความรู้เหมือนกันครับ คือต้องเรียนมหาวิทยาลัยมาได้ซักพักนึงจนพอมีความรู้ระดับหนึ่งแล้ว อะไรแบบนี้ แล้วงานเกือบทุกอย่างเราก็ต้องพูดภาษาเยอรมันได้ด้วยครับ (งานส่วนใหญ่ที่เห็นๆมาในเว็บประกาศรับสมัครงานต่างๆจะต้องใช้ความรู้เขียนโปรแกรม เพราะฉะนั้นใครที่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนแล้วก็จะได้เปรียบ หางานได้ง่ายขึ้นเยอะครับ ไม่ใช่แค่งานพิเศษนะครับ แต่รวมถึงงานจริงๆหลังจบมหาวิทยาลัยหลายๆงานเลยครับ)

หางานทำจากเว็บไซต์ Job Portal ของมหาวิทยาลัย

นอกจากเว็บไซต์ของ Studentenwerk แล้ว บางมหาวิทยาลัยก็จะมีหน้าเว็บไซต์ที่เป็น Job portal ซึ่งก็คือเป็นหน้าเว็บที่รวบรวมตำแหน่งงานต่างๆเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่เหมือนกันครับ (หรือบางทีก็จะมีงานจากบริษัทข้างนอกมาลงในเว็บเหมือนกันครับ) อย่างเช่นของมหาวิทยาลัย KIT ก็จะมีเว็บ https://jobportal.rsm.kit.edu/en/ ซึ่งสำหรับเว็บๆนี้จะมีฟังก์ชันพิเศษ ก็คือฟิลเตอร์ ที่ทำให้เราสามารถเลือกให้เว็บไซต์แสดงผลแค่ตำแหน่งงานที่เค้าประกาศหานักเรียนจากคณะนี้ๆได้ งานสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ที่เค้ามาลงประกาศในนี้ก็จะเป็นงานช่วยทำวิจัย งานติวเตอร์ งานเลขา งานติดต่อกับลูกค้า งานกราฟิกดีไซน์ งานดูแลจัดการเว็บไซต์ งานเขียนโปรแกรม อะไรประมาณนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประกาศงานจากสถาบันต่างๆในมหาลัย แต่หลายๆครั้งก็มีประกาศงานจากบริษัทข้างนอกมาเหมือนกัน อย่างเช่นบริษัทไอที บริษัทอิเล็คทรอนิคส์ในเมือง Karlsruhe หรือเมืองใกล้ๆ หรืองานจากบริษัท Benz, Daimler, Siemens อะไรอย่างนี้ก็มีครับ ซึ่งในประกาศก็จะลงรายละเอียดงาน และ Requirements ต่างๆ และช่องทางติดต่อเพื่อสมัครงานเอาไว้ ส่วนใหญ่เราก็แค่ต้องส่ง CV กับใบรวบรวมเกรดในมหาลัยที่มีจนถึงปัจจุบัน (ภาษาเยอรมันเรียกว่า Notenspiegel) ไป แล้วก็อาจจะเขียนจดหมายเหตุผลที่อยากจะสมัครหรือจดหมายแรงบันดาลใจ (ภาษาเยอรมันเรียกว่า Anschreiben) แนบไปด้วย แล้วพอผ่านไปซักพักเค้าก็จะส่งจดหมายตอบกลับมาบอกผล หรือบางที่ก็อาจจะไม่ตอบกลับมาเลย สำหรับเว็บ Job portal นี้ ไม่แน่ใจว่ามหาลัยอื่นๆจะมีเหมือนมหาลัย KIT ของรึเปล่า ต้องลองหาข้อมูลดูนะครับ

หางานทำจากเว็บไซต์ของสถาบันต่างๆในมหาวิทยาลัย

สำหรับช่องทางต่อมาก็จะเป็นช่องทางที่เราต้องออกแรงค้นคว้านิดนึง ก็คือการไปหาดูประกาศหางานตามเว็บของสถาบันต่างๆในมหาวิทยาลัยเองเลย ถ้าอย่างของที่มหาลัย KIT นี้ จะมีหน้าเว็บที่รวบรวมลิงค์ของสถาบันต่างๆในมหาลัยเอาไว้อยู่ที่เว็บ https://www.kit.edu/kit/institute.php พอเราเข้าไปแล้วเราก็สามารถคลิกเข้าไปดูในหน้าเว็บของแต่ละสถาบันเองได้เลย พอเข้าไปแล้วก็พยายามหาหัวข้อ Stellenangebot, Jobangebot, Stellen หรือ Jobs ดู ในหลายๆเว็บก็จะอยู่ในหน้าแรกเลย แต่บางเว็บก็ต้องคลำๆหาเอาหน่อย บางเว็บก็ไม่มี พอเราหาเจอแล้ว ก็ลองหาดูว่าเค้ามีตำแหน่งงานสำหรับนักเรียนเปิดรับอยู่รึเปล่า Keywords ก็คือ Werkstudent, Hiwi, Hilfswissenschafler, Studentische Hilfskraft, Studentische Aushilfskraft, Wissenschaftliche Hilfskraft ประมาณนี้ (Hiwi เป็นคำย่อของ Hilfswissenschafler ที่เค้าใช้เรียกนักเรียนที่ทำงานต่างๆในมหาลัย) บางสถาบันก็อาจจะมีข้อความบอกว่าถ้าสนใจอยากทำงานก็สามารถเดินเข้าไปถามที่สถาบันหรือติดต่อกับเจ้าของงานวิจัยต่างๆของสถาบันนั้นๆตรงๆได้เลยครับ

หางานทำจากเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ

ช่องทางต่อมาก็จะเป็นช่องทางที่ต้องออกแรงค้นคว้ามากขึ้นไปอีกนิดนึง คราวนี้จะเป็นการค้นคว้านอกมหาลัยบ้าง เริ่มแรกเลยเราอาจจะมีบริษัทในใจที่อยากทำงานด้วยหรือที่คิดว่าน่าสนใจอยู่แล้ว อย่างของผมก็จะเป็นบริษัท Daimler, Bosch, Siemens, Deutsche Bahn ประมาณนี้ เราสามารถเข้าไปดูในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทที่เราอยากทำ แล้วเข้าไปหาหัวข้อ Karriere หรือจะเข้ากูเกิล พิมพ์ Karriere ตามด้วยชื่อบริษัทที่สนใจเลยก็ได้ แล้วก็ลองคลำๆทางในแต่ละเว็บไปยังตำแหน่งที่เค้าเปิดรับอยู่ดู ลองฟิลเตอร์หางานสำหรับนักเรียน (ส่วนใหญ่ตามบริษัทมักจะใช้คำว่า Werkstudent แทนตำแหน่งงานสำหรับนักเรียน) แล้วก็ฟิลเตอร์หางานที่อยู่ในเมืองที่เราอาศัยอยู่ หรืออยู่ใกล้ๆ แล้วก็อ่านดูรายละเอียดว่าเป็นงานอะไร ที่ทำงานอยู่ที่ไหน requirements เป็นยังไงบ้าง แล้วดูว่าเราสนใจรึเปล่า ถ้าสนใจก็สมัครโลด วิธีการสมัครก็ต้องดูๆไปตามบริษัทว่าเป็นยังไงบ้าง แต่ปกติแล้วตามบริษัทใหญ่ๆพวกนี้จะต้องพิมพ์นั่นพิมพ์นี่แล้วก็ใช้เอกสารเยอะกว่าการสมัครงานในมหาลัย แต่ก็จะส่งเอกสารผ่านทาง Portal ในเว็บของบริษัทได้เลย ไม่ต้องส่งอีเมลล์ไปต่างหากเอง พอเราส่งเอกสารสมัครไปแล้ว เค้าอาจจะมีอีเมลล์อัตโนมัติตอบกลับมาว่าเดี๋ยวจะพิจารณาเอกสารแล้วตอบกลับมาอีกที แล้วผ่านไปอีกซักพัก เค้าก็จะตอบผลมาครับ

สำหรับบางบริษัทอย่างบริษัทรถยนต์กับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น Bosch, Daimler, VW, BMW, Audi นอกจากจะมีงานสำหรับนักเรียนประเภท Werkstudent แล้ว ยังมีงานที่เค้าเรียกว่า Ferienjob ด้วย ซึ่งสำหรับงานประเภท Ferienjob นั้น จะเป็นงานที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก งานสาวโรงงาน เน้นถึก ประมาณนั้น เค้าจะเอาไว้ให้ทำช่วงที่โรงเรียนหรือมหาลัยปิดเทอม จะได้สามารถทำเป็นกะได้ กะละ 6-7 ชั่วโมง อะไรก็ว่าไป มีให้เลือกกะเช้า กะบ่าย กะดึก หรือช่วงเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นกะแบบยาวทั้งวันเลย งานนี้พวกนักเรียนที่เพิ่งเรียนม.ปลายจบมักมาทำกันเพื่อเก็บตังเอาไว้ไปเที่ยวรอบโลกช่วง Gap year ก่อนจะกลับมาเรียนมหาลัย เพราะว่าสามารถทำช่วงปิดเทอมได้ และได้รายได้ดีด้วย แต่นักเรียนมหาลัยก็สามารถทำได้ ส่วนสำหรับงานประเภท Werkstudent นั้น จะเป็นงานสำหรับเด็กนักเรียนมหาลัย ซึ่งจะมีความเฉพาะทางมากกว่า ต้องใช้ทักษะ ใช้ความรู้เฉพาะทางที่เรียนมาในมหาลัยละ แต่รายละเอียดลึกกว่านี้ผมก็ไม่รู้เพราะยังไม่เคยทำ อันนี้แค่อ่านจากรายละเอียดในเว็บ ถ้าเกิดว่าในอนาคตมีโอกาสได้ทำจะกลับมาอัพเดตนะครับ 55

หางานทำจากเว็บไซต์ Job Partal ต่างๆ

มาต่อกันที่ทางเลือกอีกอย่างที่ค่อนข้างสะดวก ซึ่งก็คือการหางานผ่านทางเว็บประกาศรับสมัครงานทั่วๆไปนั่นเอง ตัวอย่างเว็บที่ผมรู้จักก็มี https://www.campusjaeger.de/https://www.xing.com/ กับ https://www.jobware.de/ สำหรับเว็บพวกนี้เราจะสามารถพิมพ์รายละเอียด CV ของเราลงในเว็บได้ แล้วก็สามารถอัพโหลดเอกสารต่างๆสำหรับการสมัครงานไปเก็บไว้ในเว็บเพื่อเตรียมพร้อมกับการสมัครงานได้เลย นอกจากนี้เรายังสามารถตั้งค่าฟิลเตอร์ประเภทงานที่เราสนใจเพื่อให้เว็บส่งอีเมลล์มาบอกเราเวลาที่มีตำแหน่งงานใหม่ๆที่ตรงกับฟิลเตอร์ของเราเปิดรับได้อีกด้วย บางเว็บก็ยังมีโปรแกรมช่วยเราทำ CV กับช่วยเราเขียน Motivation letter อีก และที่สะดวกมากก็คือการสมัครงานนั้นสามารถทำผ่านทางเว็บได้เลย พอเราเจอประกาศงานที่สนใจ และกดสมัครงานไป ในเว็บก็จะพาเราไปยังขั้นตอนต่างๆ แล้วก็ส่งเอกสารของเราไปยังบริษัทนั้นๆให้เลย จากนั้นเราก็แค่ต้องรอการตอบรับจากบริษัทครับ

หางานทำจากใบปลิวรับสมัครงานตามสถานที่ต่างๆ

ทางเลือกสุดท้ายที่ผมจะแนะนำในโพสต์นี้ก็คือการไปเดินดูตามบอร์ดรวบรวมประกาศต่างๆตามโรงอาหารในมหาลัย หรือตามตึกของสถาบันต่างๆ ซึ่งบางทีเราก็อาจจะเจอประกาศรับสมัครงานที่น่าสนใจ ที่ไม่ได้อยู่ในเว็บประกาศหางานต่างๆที่ผมพูดถึงมาข้างต้นก็ได้ หรือเราอาจจะเดินเข้าไปถามที่สถาบันต่างๆในมหาลัย ส่งอีเมลล์ไปหาศาสตราจารย์หรือนักวิจัยในมหาลัยโดยตรง หรือเดินเข้าไปถามในร้านค้าหรือบริษัทต่างๆตรงๆเลยก็ได้ว่ามีงานว่างรึเปล่า 55555 เอาตรงๆไปเลย ไม่มีก็ไม่เป็นไร ถ้ามีก็จะได้รู้เรื่องกันตรงนั้นไปเลย 555

หลังจากส่งใบสมัครงาน

หลังจากที่เราสมัครงานไปแล้ว ก็เป็นเวลาแห่งการรอผลตอบรับ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีวิธีการตอบกลับอีเมลล์ของเราที่ต่างกัน บางที่ หรือสถาบันในมหาลัยบางสถาบันก็ส่งอีเมลล์อัตโนมัติตอบกลับมาว่าจะพิจารณาอีกที บางทีก็ไม่มี บางที่ก็ใช้เวลาพิจารณานาน บางที่ก็แป๊บเดียว บางที่ก็ไม่ตอบเลย แต่ถ้าเกิดว่าเค้าพิจารณาเอกสารต่างๆของเราที่เราส่งไปแล้วคิดว่าเราน่าสนใจแล้วเค้าก็จะติดต่อกลับมาเพื่อเรียกเราไปสัมภาษณ์หรือทำความรู้จัก ก็จะมีการนัดแนะวันเวลาสถานที่ทางอีเมลล์ อะไรอย่างนี้ ซึ่งในระหว่างที่สัมภาษณ์เค้าก็จะให้เราแนะนำตัวว่าเป็นใครมาจากไหน มีความสนใจเรื่องอะไร และทำอะไรมาบ้างแล้ว และรู้อะไรเกี่ยวกับงานที่สมัครมาบ้าง ทำไมถึงสมัครงานนี้ อะไรประมาณนี้ แล้วก็จะอธิบายให้เราฟังว่างานที่เค้าทำอยู่คืออะไร และงานที่เราต้องทำคืออะไร ทำกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่อเดือน ค่าจ้างเท่าไหร่ อะไรประมาณนั้น แล้วก็อาจจะดู CV ของเราแล้วก็ถามนั่นนี่นิดหน่อย แล้วสุดท้ายก็จะถามเราว่ามีคำถามอะไรรึเปล่า ก่อนจะบอกว่าเดี๋ยวจะติดต่อกลับไปอีกครั้งในอีกกี่วันหรือกี่อาทิตย์ก็ว่าไป แพทเทิร์นนี้หมดเลย ตอนที่ผมไปสัมภาษณ์ครั้งแรกก็เกร็งๆ ไม่รู้จะพูดอะไร แต่พอผ่านไปๆก็เริ่มเรียนรู้ที่จะแอคติ้งแบบหม่อมน้อย 5555 ก็เหมือนกับทุกๆอย่างแหละครับ ครั้งแรกก็จะงงๆ แต่พอผ่านไปๆก็จะเริ่มคล่องขึ้น ที่สำคัญเลยก็คือพยายามเตรียมไว้ก่อนว่าเราจะพูดแนะนำตัวยังไงให้เค้าคิดว่าเรามีประสบการณ์ มีความรู้ มีทัศนคติหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เหมาะกับงานนี้ แล้วก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับงานหรือเกี่ยวกับบริษัทที่เราสมัครไปก่อนล่วงหน้า เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ แล้วทีนี้หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้ว ผ่านไปซักพักเค้าก็จะติดต่อกลับมาบอกว่ารับหรือไม่รับ ถ้ารับ ก็จะนัดแนะมาคุยเพิ่มเติมอีกนิดนึง แล้วก็เซ็นสัญญาทำงาน แล้วก็เริ่มงานตามที่ตกลงกัน ประมาณนี้ครับ

หวังว่าบทความนี้คงจะช่วยชี้แนะคนที่กำลังอยากหารายได้เสริมในประเทศเยอรมนีอยู่ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้ามีใครมีประสบการณ์หรือคำแนะนำอะไรที่น่าสนใจ ก็สามารถมาแบ่งปันกับเพื่อนๆชาวสนทย.ได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการทำงานในประเทศเยอรมนีครับ