โดยทั่วไปแล้ว การเรียนต่อระดับปริญญาโทในเยอรมนีสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทหลักสูตรหลักๆ คือ หลักสูตรที่สอนด้วยภาษาเยอรมัน และ หลักสูตร International ซึ่งสอนด้วยภาษาอังกฤษ ถ้าสมัครเรียนในหลักสูตรใด ก็จะต้องมีระดับภาษานั้นๆ ถึงเกณฑ์ตามที่หลักสูตรนั้นกำหนด ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดขั้นต่ำไม่เท่ากัน นอกจากนี้เอกสารอื่นๆ อาจจำเป็นในการสมัครเข้าเรียน เช่นบางหลักสูตรกำหนดให้ยื่น Recommendation letter และ Motivation letter ด้วย เป็นต้น

การเตรียมตัว

ตรวจสอบวุฒิการศึกษาและข้อกำหนดขั้นต่ำ

ในแต่ละสถานศึกษาจะมีข้อกำหนดขั้นต่ำแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลักสูตร แต่บางครั้งอาจพบปัญหาหน่วยกิตตอนเรียนปริญญาตรีไม่เพียงพอในบางรายวิชา หรือ ไม่ได้เรียนบางรายวิชาที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อในสาขานั้นๆ อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนสายเรียน หรือ เรียนสายเดิมแต่หน่วยกิไม่พอ เป็นต้น ซึ่งทางสถานศึกษาอาจจะแจ้งให้เราลงเรียนบางวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่หลักสูตรกำหนด เพื่อให้เรามีพื้นฐานเพียงพอในการศึกษาต่อให้สำเร็จ และในบางหลักสูตรอาจจำเป็นต้องฝึกงานก่อนเริ่มเรียน เรียกว่า Berufspratikum หรือ Vorpraktikum แต่ในบางหลักสูตรก็ไม่ต้องฝึกงานเลยก็ได้

ระดับภาษาเยอรมัน

ในการสมัครเข้าปริญญาโทของหลักสูตรที่ใช้ภาษาเยอรมัน โดยทั่วไปจะอยู่ในระดับ C1 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ส่วนหลักสูตร International ระดับภาษาอังกฤษสำหรับเข้าศึกษาในแต่ละสถานศึกษาจะมีระดับขั้นต่ำไม่เท่ากัน ซึ่งควรเข้าไปตรวจสอบจากเวปไซต์ของแต่ละสถานศึกษานั้นๆโดยตรง รวมทั้งเอกสารการสมัครอื่นๆด้วย

การทดสอบภาษาเยอรมัน

การสอบ DSH

DSH (เด เอส ฮา) หรือ Deutsche Sprachpruefung fuer den Hochschulzugang auslaendischer Studienbewerberเปิดสอบเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่เยอรมนีเท่านั้น โดยมหาวิทยาลัยจะมีการเปิดคอร์สเตรียมตัวสำหรับสอบ DSH ให้นักศึกษาที่ได้ใบตอบรับ (Zulassung) จากมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้ว หากยังไม่ได้ใบตอบรับจากมหาวิทยาลัยก็สามารถไปเรียนเพื่อเตรียมสอบได้ในสถาบันสอนภาษาหลายๆ แห่ง เช่น Goethe Institut, Volkhochschule บางสาขา, ศูนย์ภาษาของบางมหาวิทยาลัย เป็นต้น ข้อสอบ DSH จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเยอรมนีจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่เนื่องจากเป็นข้อสอบที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นผู้ออก ทำให้เนื้อหาของข้อสอบไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผลสอบ DSH จากทุกมหาวิทยาลัยในเยอรมนี สามารถเอาไปใช้สำหรับสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้

ตามปกติ มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเปิดสอบ DSH สองครั้งต่อปี คือ 3-4 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียนฤดูหนาวและภาคเรียนฤดูร้อน (ภาคเรียนฤดูหนาวเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม, ภาคเรียนฤดูร้อนเริ่มวันที่ 1 เมษายน) โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดตารางการสอบเอง โดยสามารถดูตารางสอบได้ที่ DSH Termine

การสอบ DSH ประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ การสอบข้อเขียน (ทักษะการฟัง อ่าน และเขียน) ซึ่งใช้เวลารวมประมาณ 3-4 ชั่วโมง และการสอบปากเปล่าซึ่งใช้เวลาเป็นอย่างมาก 20 นาที ผลสอบ DSH แบ่งเป็นดังนี้

  • DSH-1 ผลสอบข้อเขียนและ ปากเปล่า อย่างต่ำ 57%
  • DSH-2 ผลสอบข้อเขียนและ ปากเปล่า อย่างต่ำ 67%
  • DSH-3 ผลสอบข้อเขียนและ ปากเปล่า อย่างต่ำ 82%

ผลสอบข้อเขียนและข้อสอบปากเปล่าจะไม่สามารถนำมาชดเชยกันได้ โดยผลสอบรวมที่ได้คือผลสอบของส่วนที่ได้คะแนนน้อยกว่า เช่น หากได้ข้อเขียน 60% และปากเปล่า 70% ก็ให้ถือว่าผลสอบ DSH รวมแล้วได้ 60% หรือ DSH-1 นั่นเอง

โดยปกติ มหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาเข้าเรียน เมื่อได้ผลสอบ DSH-2 เป็นอย่างต่ำ อย่างไรก็ตาม  ควรสอบถามจากทางมหาวิทยาลัยให้แน่ใจก่อน ว่าต้องการผลสอบเท่าใด สถานที่ที่ควรไปติดต่อ ก็คือ International Office หรือ Akademischer Auslandamt ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

รายละเอียดปลีกย่อยของการสอบ DSH ในส่วนของลักษณะข้อสอบ สามารถดูคลิปวิดีโอข้างบน หรือ เข้าไปอ่านได้ใน TSVD พาไปเรียน

การสอบ TestDaF

TestDaF (เทสท์ ดาฟ) ย่อมาจาก "Test Deutsch als Fremdsprache“ เป็นข้อสอบที่เทียบเท่า DSH ข้อดีของการสอบ TestDaF คือ สามารถสอบได้ทั้งที่เมืองไทย และที่เยอรมนี ที่เมืองไทยมีศูนย์สอบคือ Goethe Institut โดย สามารถติดต่อไปทาง Goethe-Institut Bangkok Sprachabteilung 18/1 ซอยเกอเธ่ ถ. สาทร ซอย 1 กรุงเทพฯ 10120 สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ TestDaF - Goethe-Institut 

การสอบ TestDaF ประกอบไปด้วย การสอบฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งทักษะทั้งสี่จะแยกกันสอบ ในใบประกาศผลสอบจะมีคะแนนของทั้งสี่ส่วนแยกกัน สามารถดูตารางสอบได้ที่นี่ Alle TestDaF-Testzentren in 100 Ländern 

ผลสอบของ TestDaF แบ่งเป็นดังนี้

  • TestDaF-Niveaustufe 5 (TDN 5)
  • TestDaF-Niveaustufe 4 (TDN 4)
  • TestDaF-Niveaustufe 3 (TDN 3)

โดยปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะรับผู้สมัครที่ได้ TesfDaF ระดับ TDN 4 จากการสอบทั้ง 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) เป็นอย่างต่ำ อย่างไรก็ดี บางคณะในบางมหาวิทยาลัย ก็เปิดรับนักศึกษาที่มีผลสอบต่ำกว่า TDN 4 เล็กน้อย รายละเอียดอันนี้ คงต้องเข้าไปดูในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่อยากสมัครเข้าเรียนเพื่อความแน่นอน

สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการสอบ สามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของ TestDaF Institut ซึ่งมีไฟล์ pdf สำหรับข้อมูลภาษาอังกฤษให้อ่าน ส่วนตัวเว็บไซต์จริงๆ นั้นมีเฉพาะภาษาเยอรมัน TestDaf

สามารถลองอ่านประสบการณ์การเตรียมตัวและการสอบ TestDaF ที่ประเทศไทยได้ใน บล็อกนี้

การสอบอื่นๆ

นอกจากนี้ยังอาจมีการสอบอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเช่น Goethe B1, B2, TELC B1, B2, TELC C1 Hochschule โดยบางชนิดสามารถใช้แทนผลสอบข้างต้นได้ แต่อย่างไรก็ดีให้ตรวจสอบจากเวบไซต์จากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย

ทุนการศึกษา

การขอทุนการศึกษา

ในกรณีที่ต้องการขอทุนการศึกษาสำหรับระดับปริญญาตรีและปริญญาโท การขอทุนการศึกษาควรทำตั้งแต่ก่อนจะเดินทาง เพราะปกติ มหาวิทยาลัยในเยอรมนีจะไม่จัดหาทุนการศึกษาให้นักศึกษาในระดับนี้ และทุนการศึกษาจากหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ในเยอรมนีมักจะจัดสรรให้เฉพาะนักศึกษาที่มีสัญชาติของชาติใน EU เท่านั้น สำหรับระดับปริญญาเอกหรือสูงกว่าในบางสาขาวิชาอาจมีข้อได้เปรียบกว่านักศึกษาในระดับอื่น สถาบันวิจัยที่นักศึกษาสังกัดอาจจ้างนักศึกษาเป็นพนักงานช่วยดูแลกิจการของสถาบัน โดยให้ผลตอบแทนสูงพอสมควรและงานส่วนใหญ่จะอยู่ในสายงานที่นักศึกษาวิจัยอยู่ เช่น เป็นผู้ช่วยสอนหรือเป็นที่ปรึกษางานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท เป็นผู้ดูแลโครงการวิจัยของสถาบัน หรือ เป็นผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของสถาบัน เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีความสนใจ ควรสอบถามทางสถาบันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษา

ทุนรัฐบาลไทย

เป็นทุนที่มีข้อผูกมัด ต้องกลับไปรับราชการเป็นเวลาสองเท่าของเวลาที่มาอยู่ในต่างประเทศ มีทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี-โท และทุนระดับปริญญาเอก ทุนรัฐบาลมักมีการกำหนดสาขาวิชาที่ต้องเรียนมาแล้ว ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือน, ค่าเล่าเรียน, ค่าประกันสุขภาพ, ค่าอุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับทุนรัฐบาลสามารถเข้าไปดูได้ที่ ทุนสำหรับบุคคลทั่วไป

ทุน DAAD

DAAD (ออกเสียงว่า เด อา อา เด) หรือ Deutscher Akademischer Austauschdienst เป็นองค์กรซึ่งบริการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ (และนักศึกษาเยอรมัน) ที่ต้องการไปศึกษาต่อ, ฝึกงาน หรือทำงานวิจัยในประเทศเยอรมนี (ในต่างประเทศ) นอกจากนี้ DAAD ยังมอบทุนการศึกษาสำหรับศึกษาต่อ, ทุนสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่ลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยที่เมืองไทยแต่ต้องการไปทำวิจัยในเยอรมนี (Sandwich-System), ทุนสำหรับทำงานวิจัยระยะสั้นและระยะยาว, ทุนสำหรับฝึกงาน, และทุนสนับสนุนคณะนักศึกษาที่ต้องการมาเยี่ยมชมสถานศึกษาหรือเข้าร่วมสัมมนาในประเทศเยอรมนี

ทุน DAAD เป็นทุนซึ่งไม่มีข้อผูกมัด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ DAAD Information Center 18/1 ซ.เกอร์เธ่ ถ. สาธร 1 กรุงเทพฯ 10120 โทร. 02-2868708-9 เว็บไซต์ DAAD ประเทศไทย 

ตัวอย่างทุน DAAD ซึ่งมอบให้กับนักศึกษาไทย เช่น

ทุน DAAD สำหรับหลักสูตร Postgraduate ผู้สมัครต้องเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัยในประเทศไทย และต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้วยผลการเรียนที่ดี DAAD ให้ทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอกและทำงานวิจัยในเยอรมนี เป็นทุนที่ให้ค่าใช้จ่ายประจำเดือน, ค่าเล่าเรียน และอื่นๆ ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีพในเยอรมนี ระยะเวลาในการให้ทุนคือ 3 ปี ในกรณีพิเศษอาจต่อทุนได้ถึงปีที่ 4

ทุน DAAD แบบ "Sandwich-System“ เป็นทุนสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในเมืองไทยซึ่งต้องการมาทำงานวิจัยในประเทศเยอรมนี โดยการสอบจบปริญญาเอกจะมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยที่ศึกษาในเมืองไทย ผู้สมัครจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา (Supervisor) ทั้งจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย และในเยอรมัน ทุนนี้จะให้เฉพาะค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพขณะทำงานวิจัยในเยอรมัน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเยอรมนีของอาจารย์ที่ปรึกษาจากเมืองไทย ค่าใช้จ่ายประจำเดือนจะได้เท่ากับทุน DAAD สำหรับหลักสูตร Postgraduate ระยะเวลาในการให้ทุน ตั้งแต่ 1 ถึง 2 ปี

ทุน Helmholtz-DAAD Fellowships

เป็นทุนสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนปริญญาเอก หรือทำวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doctoral fellowship) ตามศูนย์วิจัยในสังกัดของ Helmholtz Gesellschaft ในประเทศเยอรมนี โดยทุนจะให้ค่าใช้จ่ายซึ่งเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี

ทุนอื่น ๆ

นอกจากทุนดังกล่าวแล้ว ยังมีทุนการศึกษาอื่นๆ ซึ่งบางทุนก็มอบเงินสนับสนุนการเรียนให้กับผู้ที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในเยอรมนีแล้ว รายชื่อของทุนเหล่านี้อยู่ใน Outgoing Students (เป็นลิงก์จากมหาวิทยาลัยเมืองคาร์ลสรูห์ แต่รายชื่อทุนที่ให้มานั้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยใด)

หากสนใจเรื่องทุนการศึกษาต่างๆ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Studium und Forschung in Deutschland. Foerderungsmoeglichkeiten fuer auslaendische Hochschulangehoerige ซึ่งมีทั้งภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ สามารถหาอ่านได้ที่ DAAD Information Center กรุงเทพฯ ตามที่อยู่ข้างบน หนังสือได้รวบรวมรายชื่อทุนซึ่งมอบให้กับนักศึกษาต่างชาติไว้ รวมทั้งรายละเอียดการรับสมัคร จำนวนทุน ระยะเวลาการให้ทุน และข้อมูลสำคัญอื่นๆ

อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินใจในการเรียนต่อปริญญาตรี-โท

การศึกษาในสถาบันศึกษาที่ประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นลักษณะเรียนไปตามหลักสูตรแนะนำ ทำให้ผู้เรียนไม่ได้วางแผนหรือจัดการการเรียนการสอบเอง แต่จะเรียนและสอบไปตามที่หลักสูตรกำหนดมาให้แล้ว ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในเยอรมนี ที่ผู้เรียนจะวางแผนหรือจัดการการเรียนด้วยตัวเองทั้งหมด ว่าภาคการศึกษาใดจะเรียนวิชาอะไรบ้าง หรือ จะเริ่มทำวิทยานิพนธ์เมื่อใด เป็นต้น

ในการจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ เราจะต้องมีหน่วยกิตที่เก็บมาได้ หรือ Credit points ขั้นต่ำตรงตามที่หลักสูตรนั้นๆกำหนดก่อน ถึงจะมีสิทธิสมัครขอทำวิทยานิพนธ์ได้ และสามารถเลือกทำกับสถาบันศึกษาหรือบริษัทเอกชนก็ได้

นอกเหนือจากนี้ วุฒิที่ได้หลังจากเรียนจบปริญญาตรีและโทในเยอรมนี จะขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษาที่คุณจบการศึกษา โดยหากเรียนจบจาก Universität ตามหลักการแล้ว คุณจะได้วุฒิ B.Sc., M.Sc., B.A. หรือ M.A. เท่านั้น วุฒิอื่นๆ จะ ออกโดยสถาบันที่ไม่ใช่ Universität เช่น Fachhochschule หรือการสอบ Staatsexamen ตัวอย่างเช่นในกรณีที่คุณศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรีที่ Universität คุณจะได้วุฒิ B.Sc. (Bachelor of Science) แต่ถ้าศึกษาใน Fachhochschule คุณจะได้วุฒิ B.Eng. (Bachelor of Engineering) ซึ่งเทียบเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการศึกษาเพื่อปลายทางแบบไหน ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มติมได้ที่ สถาบันอุดมศึกษาในเยอรมนี

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค้นหาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน?

ถ้าหากข้อมูลในเว็บไซต์นี้ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของคุณได้ คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางต่างๆ เช่น Search Engine ที่คุณชื่นชอบ หรือเว็บไซต์ที่เราแนะนำดังนี้

เว็บไซต์ Study in Germany

“Study in Germany – Land of Ideas” เป็นแคมเปญของรัฐบาลเยอรมนีสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อทั่วโลก โดยในเว็บไซต์นี้คุณสามารถศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อและใช้ชีวิตในเยอรมนีได้ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวเรื่องภาษา การเลือกเมืองเพื่อศึกษาต่อ รวมทั้งประสบการณ์จากนักเรียนจากทั่วโลกที่ศึกษาต่อในเยอรมนี

เว็บไซต์ My GUIDE

เว็บไซต์นี้เป็นแพลตฟอร์มของ DAAD โดยผู้สนใจศึกษาต่อสามารถค้นหาหลักสูตรการศึกษาที่สนใจ จากกว่า 20,000 หลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วเยอรมนี นอกจากนี้คุณสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติส่วนตัวของคุณเพื่อตรวจสอบเบื้องต้น โดยระบบจะแจ้งว่าหลักสูตรใดที่คุณมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดการรับเข้าศึกษา ซึ่งจะช่วยจำกัดผลการค้านหาให้แคบลง

ศูนย์ข้อมูล DAAD ประเทศไทย

DAAD เป็นองค์กรของเยอรมนีซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างประเทศ นอกจากข้อมูลที่หาได้จากเว็บไซต์และช่องทางต่างๆ แล้ว DAAD ประเทศไทย ยังมีบริการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ณ ศูนย์ข้อมูลตามที่อยู่และช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ DAAD ประเทศไทย

DAAD ประเทศไทย
Information Centre Bangkok
ที่อยู่: ซอยเกอเธ่ สาทร 1 18/1
10120 กรุงเทพฯ
หมายเลขโทรศัพท์: +662 2868708-9
อีเมล: infodaad.or.th
เฟสบุ๊ก: https://www.facebook.com/DAAD.Thailand
ไลน์ไอดี: @DAADThailand

กลุ่มเฟสบุ๊ค ....

กลุ่มเฟสบุ๊คของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนีฯ เป็นที่รวมของนักเรียนนักศึกษาไทยและคนไทยหลากหลายสาขาอาชีพที่อยู่ในประเทศเยอรมนี ผู้ที่สนใจสามารถกดเข้าร่วมและถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนต่อและใช้ชีวิตโดยเฉพาะในส่วนของประสบการณ์ต่างๆ หรือการหาเพื่อนคนไทยในเมืองเดียวกันหรือเมืองใกล้เคียง (ก่อนโพสต์คำถามกรุณาอ่านเงื่อนไขการใช้งานกรุ๊ปก่อน) ในกลุ่มมีสมาชิกที่ยินดีให้ความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเองสักเล็กน้อยก่อนที่จะโพสต์ถาม

Block
Bachelor Degree
เรียนต่อปริญญาตรี
Master Degree
เรียนต่อปริญญาโท
Doktorand
เรียนต่อปริญญาเอก
Preparation
การเตรียมตัว
Live in Germany
การใช้ชีวิตในเยอรมนี