การหาบ้านในเยอรมนี

การหาบ้านในเยอรมนีสามารถหาได้จากแหล่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

เว็บไซต์ทั่วไป :

  • www.immobilien24.de มีห้องทุกระดับตั้งแต่ห้องเช่าในอพาร์ทเมนท์รวม (WG) สตูดิโอ ห้องชุด จนถึงบ้านเป็นหลังๆ ทั้งแบบซื้อขาดและให้เช่า ข้อควรระวัง คือ ส่วนใหญ่ต้องการผู้เช่าที่จะเช่าระยะยาว และมักให้ความสำคัญกับผู้เช่าที่ทำงานมีรายได้เป็นหลักแหล่งมากกว่านักเรียน
  •  www.wg-gesucht.de เว็บยอดฮิตของนักศึกษา สำหรับหา WG (ย่อมาจาก Wohngemeinschaft คือ การไปแชร์อพาร์ทเมนท์อยู่ร่วมกับคนอื่น) แยกหาได้ตามเมืองอย่างละเอียด ส่วนใหญ่ไม่เสียค่านายหน้า มีทั้งให้เช่าระยะสั้นรายวัน จนถึงเช่าระยะยาว นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ใช้หาห้องสตูดิโอ ห้องชุด หรือแม้แต่บ้านเป็นหลังด้วย
  • housinganywhere.com เว็บไซต์นี้เน้นการหาห้องเช่าระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี เป็นหลัก โดยห้องส่วนใหญ่จะมีเครื่องเรือนพร้อมแล้ว ราคาจะสูงกว่าการเช่าระยะยาว แต่การติดต่อเช่าจะง่ายกว่า
  • https://wunderflats.com/en/ ลักษณะเดียวกันกับ housinganywhere

มหาวิทยาลัย :

แทบทุกมหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า Studentenwerk  คอยดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้นักศึกษา รวมถึงหอพักนักศึกษาด้วย เมื่อได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียน ควรรีบมาสมัครหอพักกับทาง Studentenwerk โดยเร็วที่สุด เพราะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ มักมีหอพักไม่พอกับความต้องการ จนนักศึกษาต้องรอถึง 2-4 ภาคเรียนเลยทีเดียวเพื่อให้ได้หอพัก แต่หากจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถหาที่พักที่อื่นได้ การนัดพบกับผู้ดูแลหอพักก็เป็นทางออกหนึ่งที่หลายๆ คนทำแล้วได้ผล คือ ได้ห้องโดยไม่ต้องรอนานเป็นปี

บางมหาวิทยาลัยมีบริการพิเศษอื่น ๆ ด้วย เช่น หอพักเฉพาะสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยน โปรแกรมพิเศษสำหรับนักเรียนต่างชาติ หอพักเอกชน (ซึ่งคุณภาพดีและราคาแพงเป็นพิเศษ) หรือแม้แต่ประกาศห้องเช่าจากภายนอก ซึ่งการแข่งขันจะน้อยกว่า เนื่องจากคนที่เข้าถึงประกาศได้มีเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น

หอพักเอกชน : 

ปัจจุบันมีหอพักเอกชนเพิ่มขึ้นมากมาย หอพักเหล่านี้มักจะอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เป็นห้องเดี่ยว มีเครื่องเรือนพร้อม ราคาค่อนข้างสูง แต่ติดต่อเช่าง่ายกว่าเพราะใช้ระบบจองก่อนได้ก่อน และคู่แข่งน้อยกว่าหอพักมหาวิทยาลัย ตัวอย่างหอพักเอกชนที่มีชื่อเสียงเช่น 

หลังจากเลือกบ้านที่ถูกใจได้ ก็ต้องโทรนัดกับเจ้าของห้องเพื่อดูห้องจริง และทำความรู้จักกับคนที่จะอยู่ร่วมกัน ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด หลายๆ คนไปพบเจ้าของบ้านแล้วก็ต้องผิดหวังกลับมาเป็นสิบครั้งกว่าจะได้ห้องจริงๆ ถึงแม้จะไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ที่ใช้ในการหาห้องเช่าในเยอรมนีได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เท่าที่ทางเราได้สอบถามจากพี่น้องหลายคนมาแล้ว ก็พอสรุปข้อควรทำได้ดังนี้

  • เจ้าของบ้านมักจะอยากให้ห้องกับคนเช่าที่เป็นคนทำงานมากกว่านักเรียน เพราะคนทำงานมักจะอยู่นานกว่า ทำให้ไม่ต้องหาคนมาเช่าใหม่บ่อยๆ และไม่ค่อยจัดปาร์ตี้เสียงดังเหมือนนักเรียน สำหรับข้อนี้ นักเรียนคนไหนที่จะอยู่เรียนนานๆ เช่น 2-3 ปีขึ้นไป ก็พยายามโฆษณาตนเองเข้าไว้ การแต่งตัวเรียบร้อย วางตัวน่าเชือถือ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าของห้องวางใจ อยากได้เรามาเป็นผู้เช่าเช่นกัน
  • สำหรับห้องแบบ WG ส่วนใหญ่ผู้เช่าเดิมจะเป็นคนเปิดกว้างเป็นมิตร ชอบรู้จักเพื่อนใหม่ๆ และอยากได้เพื่อนใหม่ที่มีนิสัยแบบเดียวกัน จะได้มีกิจกรรมร่วมกันบ้าง มากกว่าคนเก็บตัว วันๆ เอาแต่เรียนกับนั่งอยู่ในห้อง แต่ก็มีอีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้เช่าเดิมแค่อยากหาคนมาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้ต้องการเพื่อนใหม่ที่จะไปไหนด้วยกัน (มักเขียนในประกาศว่า Zweck-WG) ไม่ได้ต้องการคนที่จะจัดปาร์ตี้ พาเพื่อนมาบ้านบ่อยๆ เนื่องจากรบกวนความเป็นส่วนตัว เวลาที่ไปนัดดูห้องแบบ WG จึงควรทำการบ้านดีๆ โดยอ่านประกาศแล้วคาดเดาความต้องการของผู้เช่าเดิมให้ได้ เพื่อจะได้เลือกบ้านที่มีความต้องการตรงกันกับเรา
  • สำหรับห้องที่เป็นห้องแบ่งเช่าจากครอบครัว ผู้ให้เช่ามักต้องการผู้เช่าที่เรียบร้อย ไว้ใจได้เรื่องความปลอดภัย (ก็เข้าไปอยู่ในบ้านเขาทั้งที) เช่น บ้านที่รับแต่นักศึกษาหญิง ก็มักไม่อยากให้พาเพื่อนชายมาค้างคืน เป็นต้น บางบ้านอาจอยากให้เรามีกิจกรรมร่วมกับครอบครัวบ้างเป็นบางครั้ง หรือถ้าสนิทกันก็อาจให้เราเป็นพี่เลี้ยงลูกเขาเลยทีเดียว ข้อควรระวังเพียงอย่างเดียวของห้องเช่าแบบนี้ คือ ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีสัตว์เลี้ยง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้เป็นโรคภูมิแพ้
  • ประเภทสุดท้ายนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นห้องในฝันของหลายๆ คนเลยทีเดียว คือ WG ที่เจ้าของห้องเป็นคนตัดสินใจให้เช่าเอง ไม่ใช่ให้ผู้ที่อยู่ใน WG ปัจจุบันช่วยกันตัดสินใจ ผู้เขียนเองเคยมีโชคได้บ้านประเภทนี้มาสองครั้งแล้ว ทั้งแบบที่เป็นห้องเช่าจากบริษัท และแบบที่ครอบครัวแบ่งให้เช่า แต่เป็นสัดส่วนของเราเอง การจะได้ห้องแบบนี้ง่ายตรงที่ ขอแค่ยังมีห้องเหลือ เจ้าของก็พร้อมจะให้เราเช่าโดยไม่ต้องสัมภาษณ์ให้มากความเลย และมักจะมีเฟอร์นิเจอร์ให้ครบด้วย แต่ราคาอาจสูงกว่า WG ทั่วไปเล็กน้อย วิธีสังเกตง่ายๆ คือ มองหาประกาศที่เน้นเขียนรายละเอียดของห้อง ของบ้าน โดยไม่เขียนรายละเอียดของผู้อาศัยใน WG เช่นว่าเรียนอะไร อายุเท่าไหร่ นิสัยแบบใด (เนื่องจากคนเขียนก็ไม่รู้เช่นกัน) หรือมองหาคำว่า WG ohne Casting

มาถึงขั้นนี้ คิดว่าคงจะได้ห้องที่ต้องการกันแล้ว และกำลังจะตกลงเซ็นสัญญาเช่า ต่อไปมาดูข้อควรระวังต่างๆ ในการเซ็นสัญญากันต่อเลย

  • หลายๆ คนคงเคยเห็นประกาศโฆษณาห้องเช่าสุดหรูใจกลางเมืองใหญ่ ราคาถูกเหลือเชื่อ แต่พอติดต่อไปนัดดูห้อง เจ้าของบอกว่า อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถให้ดูห้องได้ ขอให้เซ็นสัญญาและโอนเงินมัดจำก่อน จึงจะส่งกุญแจไปให้ ถ้าเจอแบบนี้ รับรองว่าของปลอมแน่นอน หยุดการติดต่อได้เดี๋ยวนั้น อย่าส่งเอกสารสำคัญหรือโอนเงินไปให้เด็ดขาด มีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์โดนหลอกเอาเงินไปหลายรายแล้ว วิธีสังเกต คือ บ้านราคาถูกเกินไป (เช่น 300 ยูโร สำหรับอพาร์ทเมนท์สองห้อง รวมทุกอย่าง) อยู่ย่านใจกลางเมืองที่ปกติมักเป็นย่านการค้า รูปที่ลงไว้ดูดีเกินไป และชื่อที่ลงประกาศ รวมถึงอีเมลที่ติดต่อไม่ใช่ชื่อจริง เป็นต้น หากจะให้แน่ใจ ก็ตอนที่ได้รับอีเมลตอบกลับมีข้อความพรรณนายาวๆ ทำนองว่า ห้องนี้เป็นของคนในครอบครัวเขา ซึ่งอยู่ต่างประเทศ ฯลฯ ขอให้เราส่งพาสปอร์ตมาเพื่อเซ็นสัญญา และโอนค่าบ้านให้เขาผ่านทาง Western Union จึงจะได้กุญแจบ้าน อีเมลแบบนี้มักมีสำนวนภาษาอังกฤษที่อ่านแล้วรู้ได้ว่าเป็นคนต่างชาติบางชาติเขียน และจะเขียนผิดๆ ถูกๆ ไม่เหมือนเจ้าของภาษา ทางที่ดีนอกจากตัดการติดต่อแล้ว ควรแจ้งเว็บไซต์ที่เราไปอ่านเจอประกาศนี้ด้วย เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หลอกเอาเงินคนอื่นได้ต่อไป
  • ในสัญญาเช่าจะต้องระบุค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด เช่น ค่าเช่าเท่าไร รวมเครื่องทำความร้อนหรือไม่ ค่าอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ราคาเท่าไร รายละเอียดอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่ค่าไฟจะคิดเฉลี่ยจากค่าไฟรวมรายปี ว่าเดือนหนึ่งๆ บ้านเราควรจะจ่ายเท่าไร ถ้าใช้ไม่ถึงกำหนดก็จะได้เงินคืน แต่หากใช้เกินก็ต้องจ่ายเพิ่มตอนปลายปี
  • ถ้าเลือกได้ ควรเลือกบ้านที่มีเครื่องทำความร้อนส่วนกลาง (Zentralheizung) เพราะค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมาก เป็นแบบเหมาจ่าย เครื่องทำความร้อนไฟฟ้ากับเครื่องทำความร้อนแบบใช้ก๊าซจะมีค่าใช้จ่ายสูง และมักแยกคิดตามอัตราจริง ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง
  • สำหรับห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ ในสัญญาควรจะระบุเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่อยู่ในห้องเช่า และมักจะเขียนถึงค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นหากเราทำอะไรเสียหายด้วย ทางที่ดี ในวันที่เซ็นสัญญา ควรถ่ายรูปห้องโดยละเอียดทุกจุดไว้เป็นหลักฐาน และให้เจ้าของบ้านลงชื่อรับทราบก่อน (เรียกว่า Übergabe) เพราะบางจุดอาจเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนเราย้ายเข้า ซึ่งเจ้าของห้องควรจะทราบและไม่เรียกค่าเสียหายจากเราในส่วนนี้
  • สัญญาเช่าส่วนใหญ่มักจะระบุชัดเจนว่า มีผู้พักอาศัยในบ้านนี้จำนวนกี่คน ซึ่งเราในฐานะผู้เช่ามีหน้าที่ปฏิบัติตามนั้น หากเราแอบพาคนอื่นมาอยู่ด้วย เจ้าของรู้เข้า ก็อาจคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ตามความเหมาะสม หรืออย่างแรงคือ อาจไม่ยอมให้เราเช่าต่อ เพราะถือว่าละเมิดสัญญา สำหรับการให้เช่าช่วงหรือ Zwischenmiete ก็เช่นกัน ควรให้เจ้าของห้อง และ/หรือเพื่อนร่วมบ้านรับทราบก่อนทุกครั้ง

ตัวย่อต่างๆ ที่ควรรู้ :

  • 5ZKDB: 5 Zimmer mit Küche und Badezimmer อพาร์ทเมนท์ 5 ห้องนอนพร้อมห้องครัวและห้องน้ำ
  • 400€ + NK: 400€ Miete + Nebenkosten ค่าเช่า 400 ยูโร ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ และค่าไฟ
  • Einzelzimmer: ห้องเดี่ยวที่มีห้องนอนและอาจจะมีห้องน้ำในตัว แต่ใช้ครัวรวม มักพบในหอนักเรียน
  • Einzelappartment: ห้องสตูดิโอ มีครัวและห้องน้ำส่วนตัว
  • KM: Kaltmiete ค่าเช่าห้องเปล่าๆ ยังไม่รวมค่าเครื่องทำความร้อน
  • WM: Warmmiete ค่าเช่ารวมค่าเครื่องทำความร้อน
  • Wfl.: Wohnfläche พื้นที่ใช้สอย มักใช้หน่วยเป็นตารางเมตร
  • möbliert: มีเครื่องเรือนให้พร้อม
  • Teilmöbliert: มีเครื่องเรือนบางส่วน
  • eigene: เป็นของส่วนตัว เช่น eigenes Bad คือ ห้องอาบน้ำเป็นส่วนตัว
  • EBK: Einbauküche ครัวแบบบิลท์อิน มักมีอุปกรณ์ครบครัน
  • Kochnische หรือ Kitchenette: ครัวสำเร็จรูปขนาดเล็ก
  • NR: Nichtraucher ไม่สูบบุหรี่
  • Kaution: ค่าประกัน ซึ่งจะได้คืนหลังจากย้ายออก
  • Provision: ค่านายหน้า (จ่ายแล้วจ่ายเลยไม่ได้คืน)
  • Altbau: ตึกเก่า มักมีเพดานสูงกว่าทั่วไป
  • EG: Erdgeschoss ชั้นแรก
  • OG: Obergeschoss ชั้นบน เช่น 1. OG คือ ชั้นที่สอง โดยคนเยอรมันนับชั้นแรกที่ติดพื้นดินเป็นชั้น ground เหมือนในอังกฤษ
  • Dachgeschoss ชั้นใต้หลังคา
  • Souterrain หรือ Halbkeller คือ ชั้นกึ่งใต้ดิน
  • Französischer Balkon: ระเบียงแบบฝรั่งเศส เป็นระเบียงเล็กๆ ที่ออกไปยืนไม่ได้
  • TG: Tiefgarage ที่จอดรถใต้ดิน