ปฐมบทนักเรียนไทยบนแผ่นดินเยอรมัน
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงสู่สยามใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราโชบายในการส่งพระราชโอรสหลายพระองค์มาศึกษาต่อในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงย้ายจากประเทศอังกฤษมาศึกษาต่อในวิชาทหาร ณ โรงเรียนเตรียมทหาร (Kadettenschule) เมืองพ็อทซ์ดัม และ โรงเรียนนายร้อยปรัสเซีย (Hauptkadettenanstalt) ชานกรุงเบอร์ลิน ถือได้ว่าเจ้านายพระองค์นี้เป็นนักเรียนไทยคนแรกที่มาศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนี [1]
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สยามก็ได้ส่งนักเรียนทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนมาศึกษาต่อในเยอรมนีอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิชัยนรบดี, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นอกจากนี้ยังมีสามัญชน เช่น พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และ พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) บุคคลเหล่านี้ต่อมาล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองและการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ท่ามกลางหมอกควันของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) นักเรียนไทยบางส่วนเดินทางกลับสยามหรือเปลี่ยนประเทศที่ศึกษา อย่างในกรณีของ พลตรีพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ที่ลี้ภัยไปศึกษา ณ วิทยาลัยโพลีเทคนิคนครซูริก สมาพันธรัฐสวิส กระทั่งในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) สยามได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อจักรวรรดิเยอรมันซึ่งอยู่คนละฝ่าย ในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักเรียนไทยในเยอรมนีถูกจับเป็นเชลยทั้งสิ้น 18 คน เสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัว 1 คน ส่วนที่เหลือเมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส [2] บางคนเช่น ตั้ว ลพานุกรม ได้สมัครเป็นล่ามและทหารในกองทหารอาสาไทยในยุโรป
(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และ (ขวา) พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
ขณะยังศึกษาวิชาทหารในจักรวรรดิเยอรมัน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงในปลายปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) นักเรียนไทยเหล่านี้บ้างก็เดินทางกลับสยาม บ้างก็ย้ายไปศึกษาในประเทศอื่นโดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ประเทศเยอรมนียุคสาธารณรัฐไวมาร์ว่างจากการมีนักเรียนไทยมาศึกษาต่อเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต้องรอจนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2470-2472 (ค.ศ. 1927-1929) ที่สยามเริ่มส่งนักเรียนกลับมาศึกษาต่อในเยอรมนีอีกครั้ง เริ่มจาก ม.ล. มานิจ ชุมสาย แล้วจึงตามด้วย ประกอบ หุตะสิงห์, หยุด แสงอุทัย, อัมพร ศรีไชยยันต์, จ่าง รัตนะรัต เป็นต้น [3]
และก็ในช่วงเวลานี้เองที่ “สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน” ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ปรากฎหลักฐานว่าสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 9 คน ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นสมาคมในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) โดยได้รับพระอนุมัติจาก ม.จ. ดำรัสดำรงค์ เทวกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ในขณะนั้น และมี ดร. จ่าง รัตนะรัต เป็นนายกสมาคมคนแรก [4] ดร. จ่างได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) จึงส่งต่อตำแหน่งให้กับ ร.อ. ประวิศ ศรีพิพัฒน์ ร.น. (ยศในขณะนั้น) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไปจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น [5]
แม้ตัวจะอยู่ห่างไกล แต่นักเรียนไทยในเยอรมนียุคเริ่มต้นนี้ก็ให้ความสนใจกับความเป็นไปในประเทศบ้านเกิดอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากการส่งหนังสือไปร่วมแสดงความยินดีในคราวเกิดการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) และการระดมเงินช่วยเหลือราษฎรที่ตกทุกข์ได้ยากจากกบฏบวรเดชในปีถัดมา [6] นอกจากนี้ สมาคมยังได้ดำเนินกิจกรรมสานสัมพันธ์มากมาย เช่น การเข้าร่วมจัดการประชุมสันนิบาตนักเรียนไทยในยุโรป ครั้งที่ 1 ณ กรุงบรัสเซลส์ ในปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) ร่วมกับสามัคคีสมาคมฯ (สมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร) สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสฯ และนักเรียนไทยจากประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป การจัดงาน Thailändischer Abend และค่ายพักแรมร่วมกับนักเรียนชาวเยอรมัน อีกทั้งยังได้มีการริเริ่มออกหนังสือ “เพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 โดยมี ดร. นพ. อวย เกตุสิงห์ เป็นบรรณาธิการ เยี่ยมชมพันธมิตรของเรา รองเท้า – ผู้นำด้านรองเท้าแฟชั่น![7]
สำหรับการเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมาคมนั้น ปรากฏบันทึกว่า ในคราวเสด็จเยือนกรุงเบอร์ลิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) และได้พระราชทานเงินแก่สมาคมฯ เป็นจำนวน 500 ไรช์มาร์ค ถัดมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้มีเอกสารจากสำนักราชเลขานุการในพระองค์ ที่ 472/2479 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2479 (พ.ศ. 2480 ในปฏิทินปัจจุบัน, ค.ศ. 1937) รับสมาคมฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง [8]
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งหลักฐานที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับสมาคมในยุคดังกล่าว คือเข็มกลัดสมาคม ซึ่งมีลักษณะเป็นเข็มทองคำลงยา ประดับรูปครุฑคล้ายตราอากาศไปรษณีย์สยามซึ่งออกใช้และได้รับความนิยมในช่วงปี พ.ศ. 2467-2482 (ค.ศ. 1924-1939) บนเข็มมีชื่อกำกับว่า “สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน” และ “VEREIN SIAM. STUD. IN DEUTSCHLAND” (ในขณะนั้นประเทศไทยใช้ชื่อประเทศว่าสยาม) จึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นเข็มที่สมาคมจัดทำขึ้น อาจเพื่อขายเรี่ยไรเงินสมทบทุนการดำเนินงานของสมาคมหรือแจกจ่ายกันในหมู่สมาชิก รูปครุฑดังเช่นบนเข็มกลัดนี้ยังได้ปรากฏอยู่บนหน้าปกหนังสือเพื่อนไทยในรัฐเยอรมันด้วยเช่นกัน
(ซ้าย) เข็มกลัดรูปครุฑ สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ปัจจุบันเป็นสมบัติของ คุณนิรันดร วิศิษฎ์ศิลป์
(ขวา) หนังสือเพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน ฉบับปี พ.ศ. 2480, 2481 และ 2482 ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ Staatbibliothek zu Berlin
ในช่วงเวลานี้ ซึ่งประเทศเยอรมนีได้เคลื่อนเข้าสู่การปกครองของรัฐบาลพรรคนาซี (เริ่มในปี พ.ศ. 2476 หรือ ค.ศ. 1933) คาดว่าสมาคมยังคงดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) ซึ่งสงครามโลกครั้งที่สองได้อุบัติขึ้น สมาคมนักเรียนไทยรัฐเยอรมันก็จึงได้ขาดช่วงลง โดยไม่มีหลักฐานถึงการดำเนินงานใดๆ ในช่วงสงคราม
กำเนิดใหม่ และสายลมเดือนตุลา
ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ในช่วงเวลาเริ่มแรกดังกล่าว นักเรียนไทยที่มาศึกษาต่อในเยอรมนียังมีจำนวนน้อยมาก จะมีก็แต่บุตรของคณะทูตเท่านั้น โดยในปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) มีนักเรียนไทยในเยอรมนีอยู่เพียง 4 คน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีคนไทยกลับมาศึกษาต่อจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งเพียงห้าปีให้หลัง คือ พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ก็มีนักเรียนไทยศึกษาอยู่ในเยอรมนีถึง 120 คน [9] ด้วยจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้เอง รัฐบาลไทยจึงได้จัดตั้งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน (สนร.) ขึ้นที่กรุงบอนน์ เพื่อดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลและนักเรียนไทยคนอื่นๆ โดยมี พล.ร.ต. ประวิศ ศรีพิพัฒน์ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน เป็นหัวหน้า สนร. เยอรมนี คนแรก นับตั้งแต่นั้นมา สำนักงานดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นที่พึ่งพิงของนักเรียนไทยในเยอรมนีสืบต่อมาอีกหลายสิบปี
และก็เป็นในช่วงกึ่งพุทธกาลนี้เองที่กิจการนักเรียนไทยในเยอรมนีได้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง โดยในงานประชุมสันนิบาตนักเรียนไทยในยุโรป ครั้งที่ 2 ณ เมืองบาธ สหราชอาณาจักร กลางปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ได้มีนักเรียนไทยจากประเทศเยอรมนีเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง โดยยังไม่มีการรวมตัวขึ้นเป็นสมาคม กระนั้นเมื่อคล้อยหลังมาถึงช่วงปลายปี พ.ศ. 2500 ถึงต้นปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1957-1958) “สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าก็ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของนักเรียนไทยในเยอรมนีที่พบกันในงานสันนิบาตนั้นนั่นเอง
ภาพการแสดงของกลุ่มนักเรียนไทยจากประเทศเยอรมนี ในงานประชุมสันนิบาตนักเรียนไทยในยุโรป ครั้งที่ 2 จากหนังสือที่ระลึกงานสันนิบาต
สำหรับวันก่อตั้งสมาคมในครั้งใหม่นี้อาจนับได้อยู่สองวันด้วยกัน วันแรกคือวันที่ 5 ธันวาคม 2500 (ค.ศ. 1957) ซึ่งมีการประชุมเพื่อร่างกฎสมาคมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยบทกลอนสักวาชื่อ “สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน” ของ ส. โพธิสุข ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานสันนิบาตข้างต้น ได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันกำเนิดสมาคม อีกวันหนึ่งได้แก่วันที่ 9 มกราคม 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งรับรู้กันเป็นการทั่วไปว่าเป็นวันจดทะเบียนสมาคมเป็นครั้งแรก ทั้งนี้วันที่ทั้งสองล้วนปรากฏอยู่ในหลักฐานของทางการ [10]
จากเอกสารข้อบังคับสมาคมฉบับแรกที่พบ คือฉบับปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1960) [11] นั้น สมาคมใช้ชื่อเต็มว่า “Thai Studenten-Verein in Deutschland (unter der Schirmherrschaft S.M. des Königs)” อักษรย่อ “TSVD” หรือตามเอกสารภาษาไทยในยุคต่อๆ มาก็คือ “สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ในพระบรมราชูปถัมภ์” อักษรย่อ “ส.น.ท.ย.” ตราสัญลักษณ์สมาคมกำหนดให้เป็นรูปช้างศึกทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประดับในโล่พร้อมแถบสีแนวตั้งลักษณะคล้ายธงชาติไทย มีชื่อสมาคมภาษาเยอรมันกำกับบนตราว่า “THAI STUDENTEN-VEREIN IN DEUTSCHLAND” (ในยุคต่อๆ มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยเพิ่ม E.V. ต่อท้ายชื่อเพื่อแสดงถึงความเป็นสมาคมจดทะเบียน หรือ eingetragener Verein และเปลี่ยนเป็น e.V. ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2538 (ค.ศ. 1994-1995) เพื่อให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ นอกจากนี้ ตราสัญลักษณ์แบบสีก็ได้มีใช้ขึ้นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2540-2541 (ค.ศ. 1997-1998))
(จากซ้ายไปขวา) ตราสมาคมจากเอกสารในปี พ.ศ. 2518, 2537 และ 2558
ข้อบังคับสมาคมฉบับปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1960) กำหนดให้ ส.น.ท.ย. มีวัตถุประสงค์ดังนี้
- รักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของประเทศไทย
- สร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี
- เป็นที่สมาคมของชาวไทยผู้พำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- สร้างเสริมความสัมพันธ์และเครือข่ายกับนักเรียนเก่าที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนี
- ให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่สมาชิก ชาวไทยที่เดินทางมายังสหพันธ์ และชาวเยอรมันที่จะเดินทางไปยังประเทศไทย
สำหรับการเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นั้น นอกเหนือจาก “unter der Schirmherrschaft S.M. des Königs” ที่ปรากฏในข้อบังคับฉบับปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) แล้ว ก็ไม่ปรากฏเอกสารอื่นใดที่อธิบายถึงความเป็นมาดังกล่าวอีก กระนั้นก็มีหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานทุนทรัพย์สนับสนุนกิจการของสมาคมในหลายยุคสมัย เช่นในช่วงปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่ออัญเชิญมากล่าวเปิดยังที่ชุมนุมของนักเรียนไทยในเยอรมนีหลายต่อหลายครั้ง
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตีพิมพ์ในหนังสือ “เพื่อนไทย” ฉบับปี พ.ศ. 2518
ในช่วงทศวรรษที่ 2510 นี้ เริ่มปรากฏหลักฐานถึงรูปแบบของกิจกรรมที่ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมาอีกหลายปี นั่นก็คืองานชุมนุมประจำฤดู เช่นในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) มีการจัดขึ้นอย่างน้อยสองครั้ง คืองานชุมนุมฤดูหนาว และงานชุมนุมฤดูร้อน ซึ่งงานที่สองนี้จัดให้เป็นงานชุมนุมสามัญประจำปีด้วย [12] การจัดงานชุมนุมในลักษณะนี้ มักประกอบไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลายในงานเดียว เช่นกิจกรรมสันทนาการ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย แข่งขันกีฬา ฉายภาพยนตร์ จัดทัศนศึกษา และเสวนาวิชาการ ทั้งหมดใช้เวลารวมทั้งงานประมาณหนึ่งสัปดาห์
นอกจากการจัดกิจกรรมแล้ว สมาคมยังได้จัดพิมพ์หนังสือ “เพื่อนไทย” เพื่อแจกจ่ายแก่สมาชิกเป็นรายปี โดยได้ตีพิมพ์เนื้อหาต่างๆ ทั้งเรื่องเล่าปกิณกะ บทกวี ข้อคิดเห็น และรายงานการดำเนินงานของสมาคม ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อของหนังสือมีความคล้ายคลึงกับ “เพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน” ที่ออกโดยสมาคมในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่านักเรียนไทยในยุคนั้นอาจรับรู้และได้รับอิทธิพลจากการออกหนังสือมาจากสมาคมในยุคก่อน
เวลาล่วงมาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 2510 ได้เกิดกระแสความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ในหมู่นิสิตนักศึกษาในประเทศไทย และเพิ่มขึ้นสูงสุดภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 (ค.ศ. 1973) กระแสการเมืองดังกล่าวได้ถูกส่งผ่านมายังชุมชนนักเรียนไทยในเยอรมนีอย่างชัดเจน ดังปรากฏว่าหนังสือเพื่อนไทยที่ออกในช่วง พ.ศ. 2518-2519 (ค.ศ. 1975-1976) เต็มไปด้วยเนื้อหาเชิงสังคมการเมือง หลายชิ้นเชิดชูแนวคิดสังคมนิยมและต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน ที่น่าสนใจคือมีข้อเขียนของบุคคลมีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปรีดี พนมยงค์ หรือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมตีพิมพ์ในเล่มด้วย
สำหรับปรีดีนั้น เมื่อได้ลี้ภัยทางการเมืองมายังประเทศฝรั่งเศส ปรีดีได้เข้าร่วมงานชุมนุมใหญ่ของสมาคมในฐานะองค์ปาฐกหลายครั้ง อย่างน้อยในระหว่างปี พ.ศ. 2516-2525 (ค.ศ. 1973-1982) และได้แสดงข้อคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ ผ่านหนังสือเพื่อนไทยอยู่เสมอในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม นอกจากนั้น ธิดาทั้งสองได้แก่ วาณี และ สุดา พนมยงค์ ก็มีชื่ออยู่ในรายนามสมาชิกของสมาคมเช่นกัน ในยุคถัดมา ส.น.ท.ย. ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะปรีดี ณ บ้านพักย่านอองโตนี กรุงปารีส ผ่านการประสานงานของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เพื่อขอจัดทำหนังสืออัตชีวประวัติของปรีดีเพื่อเผยแพร่ในงานชุมนุมประจำปี ซึ่งปรีดีเป็นผู้เขียนต้นฉบับให้ด้วยตนเอง [13]
ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข เข้าร่วมงานชุมนุมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พ.ศ. 2517
ที่มา : หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2536
นอกจากหนังสือเพื่อนไทยแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) สมาคมยังได้ออกหนังสืออีกฉบับที่เน้นแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ ในชื่อ “คิดถึงบ้านของเรา” โดยในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ได้มีการตีพิมพ์ทั้งหมด 3 ฉบับ นอกจากนี้สมาคมยังได้เรียกร้องประเด็นทางการเมืองผ่านการออกแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกหลายครั้ง เช่นครั้งที่ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งให้กับคนไทยในต่างประเทศ (ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าว) งานชุมนุมนักเรียนไทยที่จัดขึ้นในช่วงนี้ก็พลอยมีกิจกรรมเสวนาทางการเมืองเพิ่มเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมืองของนักเรียนไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในด้านกิจกรรมร่วมกับสมาคมนักเรียนไทยกลุ่มอื่น ยังปรากฏหลักฐานกล่าวถึงงานชุมนุมร่วมกันระหว่างนักเรียนไทยในเยอรมนีและฝรั่งเศส ณ เมืองเชเว่น ในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ซึ่งตามมาด้วยกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างสองสมาคมนี้อีกหลายคราว [14] ไม่ว่าจะเป็นการออกแถลงการณ์ร่วมกัน การออกหนังสือร่วมกัน เป็นต้น
ตัวอย่างจากหนังสือ “คิดถึงบ้านของเรา” ฉบับที่ 2 ปี 2519 ประกอบด้วย (ซ้าย) หน้าปก แสดงถึงอุดมการณ์ต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐ และ
(ขวา) กำหนดการงานชุมนุมฤดูใบไม้ผลิ ณ เมืองบาด มาเรียนแบร์ก
อนุเคราะห์เอกสาร : อธิคม มุกดาประกร
ห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน
ความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาไทยในยุคนั้นมาถึงจุดหักเหสำคัญเมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) การแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยไม่สามารถทำได้อย่างเสรีอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงมี “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่งเดินทางมาทำงานหรือศึกษาต่อในหลายประเทศในยุโรป และได้สร้างเครือข่ายกับนักเรียนไทยที่เรียนอยู่แล้วเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ้าง ทั้งนี้มีนักเรียนไทยในเยอรมนีในยุคนั้นบรรยายถึงการประจันหน้ากันระหว่างอุดมการณ์ฝ่ายขวาและซ้ายที่ค่อนข้างรุนแรง [15] กระนั้นก็คาดว่ากิจกรรมทั่วไปของสมาคมจะมิได้เน้นการเมืองเท่าในยุคก่อน แต่อาจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่สนใจเป็นหลัก
สำหรับภาพรวมของสมาคมในยุคนี้ จากคำบอกเล่าของอดีตนักเรียนไทยในเยอรมนีสองคนนั้น นักเรียนไทยที่เคยทำงานกับสมาคมในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 เมื่อยุติการศึกษาแล้ว บางส่วนยังคงทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศเยอรมนี โดยยังคงรักษาบทบาทของตนภายในสมาคมต่อไป ในช่วงเวลาดังกล่าว กิจการของสมาคมจึงเป็นไปภายใต้การนำของกลุ่มนักธุรกิจและแม่บ้านไทยเป็นหลัก มีเพียงบางปีที่มีนักเรียนได้รับเลือกตั้งและสามารถแทรกตัวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมได้ การดำเนินงานของสมาคมในช่วงนี้จึงถูกตั้งข้อครหาจากบางฝ่ายด้วยเช่นกัน
กระทั่งต้นทศวรรษที่ 2530 นี้เอง ที่มีความพยายามของนักเรียนกลุ่มต่างๆ ในการกลับขึ้นมามีบทบาทนำในสมาคมอีกครั้ง ในช่วงนี้กิจกรรมของนักเรียนหลายอย่างจึงได้รับการรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง เช่นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักเรียนไทยในเยอรมนีและฝรั่งเศส หรืองานชุมนุมของนักเรียนในแต่ละเมือง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่างานชุมนุมประจำปีของสมาคม ซึ่งเคยเป็นงานใหญ่ที่มีกิจกรรมหลากหลายและใช้เวลาจัดเกือบหนึ่งสัปดาห์ ในยุคนี้ได้ลดเหลือเป็นเพียงงานประชุมและพบปะซึ่งใช้เวลาเพียงสองวันหนึ่งคืน ในขณะที่งานอื่นๆ ของสมาคมมักจะเป็นงานวันเดียว
นอกจากการจัดกิจกรรมโดยทั่วไปแล้ว การตีพิมพ์หนังสือของสมาคมก็ยังคงได้รับการสืบทอดอยู่ โดยอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปบ้างในแต่ละปี เช่นบางปีใช้ชื่อหนังสือว่า “เพื่อนไทย” แต่บางปีใช้ชื่อของสมาคมโดยตรง เป็นต้น ทั้งนี้มีการตีพิมพ์หนังสือในลักษณะนี้แจกจ่ายให้กับสมาชิกปีละหลายเล่ม เช่นในช่วงปี พ.ศ. 2530-2532 (ค.ศ. 1987-1989) มีการผลิตราว 3-4 เดือนต่อเล่ม โดยมีเล่มสรุปประจำปีเป็นนิตยสารเล่มหนาตีพิมพ์สี่สี
อนึ่ง แม้ว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่ในยุคนี้ศึกษาอยู่ในเมืองฝั่งเยอรมนีตะวันตก เช่นเดียวกับกิจกรรมของสมาคมที่ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในฝั่งนี้ ก็ยังมีนักเรียนไทยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาอยู่ในเขตเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจูงใจเป็นพิเศษจากรัฐบาลเยอรมนีเพื่อเข้ามาอยู่อาศัยและศึกษาต่อ เมื่อเวลาผ่านไปก็เป็นนักเรียนไทยในกรุงเบอร์ลินรุ่นนี้เอง ที่ได้เป็นประจักษ์พยานต่อการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และการรวมประเทศเยอรมนีในปีถัดมา ในช่วงเวลาหลังจากนั้น ส.น.ท.ย. ได้ร่วมจัดงานกับสถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงเบอร์ลิน ที่ตั้งขึ้นใหม่ในหลายโอกาสด้วยกัน
ในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 2530 นี้ ส.น.ท.ย. ได้เข้ามามีบทบาทช่วยงานวันชาติและวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม อันเป็นงานชุมนุมสำคัญของคนไทยซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) สมาคมยังได้ผลิตสลากการกุศลออกจำหน่ายในงาน เพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้แก่ผู้ด้อยโอกาสผ่านองค์กรการกุศลในประเทศไทย เช่นมูลนิธิดวงประทีปและมูลนิธิชัยพัฒนา [16] นอกจากนี้สมาคมในยุคนั้นยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีก เช่นการระดมทุนช่วยเหลือชุมชนชาวไทยภูเขาห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นต้น
งานพบปะสังสรรค์ของกลุ่มนักเรียนไทย ช่วงวันหยุดคริสต์มาสและปีใหม่ ณ เมือง Winterberg ปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994)
อนุเคราะห์ภาพ : กอบชัย ภัทรกุลวณิชย์
การจากไปของบ้าน ก.พ. และการมาถึงของโลกไร้พรมแดน
ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันตั้งตัวของหลายฝ่าย นักเรียนไทยในเยอรมนีส่วนหนึ่งจำต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องด้วยปัญหาทางการเงิน สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน ณ กรุงบอนน์ ที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของนักเรียนไทย และให้ความสนับสนุนสมาคมอย่างใกล้ชิดตลอดมา ก็จำต้องปิดตัวลงในปีถัดมาเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ งานเลี้ยงอำลาซึ่งจัดขึ้น ณ ที่ตั้งของสำนักงานซึ่งเรียกกันว่า “บ้าน ก.พ.” มีนักเรียนไทยจากทั่วทั้งเยอรมนีเดินทางมาร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้ ส.น.ท.ย. พยายามขึ้นมามีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางนักเรียนไทยในเยอรมนีมากขึ้น [17] ทั้งในแง่ของการแนะแนวให้ข้อมูลศึกษาต่อ และการปรับโครงสร้างของสมาคม เพื่อให้มีตัวแทนกลุ่มนักเรียนไทยจากเมืองและภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเกาะกลุ่มกันอยู่แล้ว เช่นกลุ่มเมืองเกิททิงเง่น, เบอร์ลิน, อาเค่น, ไฮเดลแบร์ก-มันน์ไฮม์-คาร์สรูห์, กลุ่มไรน์-รัวห์ (มึนสเตอร์-โบคุ่ม) ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการของสมาคมฯ โครงสร้างเช่นนี้ปรากฏชัดตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) [18] จนถึงช่วงปลายทศวรรษดังกล่าว อนึ่ง เป็นช่วงนี้เองที่นักศึกษาระดับปริญญาเอกเริ่มเข้ามามีบทบาทใน ส.น.ท.ย. มากขึ้น จากที่ในยุคก่อนหน้ามักจะเป็นกลุ่มนักศึกษารุ่นอายุน้อยกว่า
งานเลี้ยงอำลาสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน ณ กรุงบอนน์ ในปี พ.ศ. 2541
อนุเคราะห์ภาพ : สุนทรียา เหมือนพะวงศ์
ในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มนักศึกษานิติศาสตร์ เช่น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, บรรเจิด สิงคะเนติ และ สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของนักเรียนไทยในเยอรมนี เช่นการจัดกิจกรรมสัญจรสัมพันธ์ งานเสวนาวิชาการ และค่ายการเมือง ซึ่งมักมีองค์ปาฐกที่มีชื่อเสียงเข้าร่วม เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เสน่ห์ จามริก, ธงชัย วินิจจะกูล เป็นต้น นอกจากนี้ ในห้วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 นั้น ส.น.ท.ย. ร่วมกับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ โดยมีการยื่นจดหมายต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญและการลงชื่อร่วมกันของกลุ่มนักเรียนไทยในเมืองต่าง ๆ ทั่วเยอรมนี จนประสบผลสำเร็จในที่สุด [19] หลังจากที่ ส.น.ท.ย. เคยมีส่วนในการเรียกร้องสิทธินี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)
การจัดงาน 5 ธันวา ในช่วงนี้มีความเปลี่ยนไปบ้างจากช่วงก่อนหน้า ตามแต่สถานการณ์และนโยบายของสถานเอกอัครราชทูต กล่าวคือนับตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ส.น.ท.ย. มิได้จัดทำสลากการกุศลอีกต่อไป [20] สำหรับปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการย้ายสถานเอกอัครราชทูตไทยจากบอนน์ไปยังเบอร์ลิน งาน 5 ธันวา ในปีดังกล่าวโดยการนำของ ส.น.ท.ย. ยังคงจัดขึ้นที่บอนน์ โดยเพิ่มเติมกิจกรรมเสวนาวิชาการตอนกลางวัน กระทั่งปีถัดมาที่สมาคมได้ริเริ่มจัดงาน 5 ธันวา และงานอื่นๆ ที่กรุงเบอร์ลินเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ในยุคนี้ยังมีการรื้อฟื้นกิจกรรมระหว่างประเทศขึ้นอีกครั้งหลังขาดช่วงลงไประยะหนึ่ง เช่น การแข่งขันกีฬาสัมพันธไมตรี เยอรมนี-ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์-เยอรมนี และยังมีการรวมกลุ่มนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ในยุโรป เป็นต้น
กิจกรรมวันชาติ และวันเฉลิมพระชนมพรรษา (งาน 5 ธันวา) ปี พ.ศ. 2543 ณ กรุงเบอร์ลิน
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้คือเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ซึ่งเริ่มเข้ามาในเยอรมนีตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2530 สำหรับ ส.น.ท.ย. นั้น การติดต่อและแจ้งข่าวสารในช่วงก่อนหน้านี้ในหมู่สมาชิกล้วนอยู่ในรูปแบบการใช้โทรศัพท์ หรือการแจ้งผ่านหนังสือเพื่อนไทย จนกระทั่งสมาคมได้มีเว็บไซต์ของตนเองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ด้วยการริเริ่มของ ไพบูลย์ ช่วงทอง [21] ในปีถัดๆ มายังมีการสร้างเว็บไซต์สมาคมขึ้นใหม่อีกหลายเวอร์ชั่น โดยใช้ชื่อโดเมน vereine.freepage.de และ thaistudent.de ตามลำดับ เนื้อหาของเว็บไซต์ในยุคต้นๆ นี้ นอกจากจะมีการแจ้งข่าวให้แก่นักเรียนไทยในสหพันธ์ฯ แล้ว ยังมีการรวบรวมฐานข้อมูลสมาชิก ฐานข้อมูลงานวิจัย รวมทั้งเว็บบอร์ดของนักเรียนไทยในเยอรมนีอีกด้วย
โฮมเพจของ ส.น.ท.ย. ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งยังคงเข้าถึงได้ในปัจจุบัน ลิงก์
วารสารประจำของสมาคมอย่างหนังสือเพื่อนไทย ก็ได้ถูกปรับรูปแบบการนำเสนอจากรูปเล่มเป็นบทความบนเว็บไซต์เช่นกัน โดยมีเนื้อหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ ท่องเที่ยว วิชาการ ความรู้รอบตัว บทประพันธ์ต่างๆ และประเด็นเชิงสังคมที่พอมีสอดแทรกบ้างประปราย ภายหลังยังคงมีการออกหนังสือ ส.น.ท.ย. ในชื่ออื่นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น TSVD Magazine และ Opnmnd ซึ่งมีรูปเล่มที่สวยงามขึ้นตามเทคโนโลยีที่มี และล้วนแล้วแต่เผยแพร่ในรูปแบบของ E-Magazine
ในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ส.น.ท.ย. ได้จัดพิมพ์หนังสือ “เรียนเยอรมัน” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาในสหพันธ์ฯ แก่ผู้สนใจ โดยเป็นการรวบรวมบทความแนะแนวที่นักเรียนรุ่นก่อนหน้าผลิตสะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) มีการปรับปรุงหนังสือดังกล่าวแล้วตีพิมพ์อีกครั้งร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน ในชื่อ “เรียนในเยอรมนี” [22] พันธกิจในการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อนี้ ได้รับการสืบทอดผ่านทางช่องทางต่างๆ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา กิจการนักเรียนไทยในเยอรมนีก็คึกคักยิ่งขึ้นจากการเข้ามาของนักเรียนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOS) โดยเฉพาะรุ่นที่ 1-3 ซึ่งเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2547, 2549 และ 2555 (ค.ศ. 2004, 2006 และ 2012) ตามลำดับ มีนักเรียนรุ่นละกว่า 80 คน นักเรียนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการจัดกิจกรรมหลายๆ ครั้งของสมาคม เช่นการจัดงานประชุมวิชาการ TSAC-TSIS 2013 ในปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ณ เมืองเกิททิงเง่น เป็นต้น
ในช่วงหลังนี้ สมาคมและชุมชนนักเรียนไทยยังคงมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับกลุ่มเมืองและระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น งานกีฬา งานเสวนาวิชาการ งานเชื่อมสัมพันธ์ และงาน ส.น.ท.ย. สัญจร แม้ว่าสมาคมจะลดบทบาทในการจัดงาน 5 ธันวา ลง โดยเหลือเพียงการเข้าไปช่วยงานตามความต้องการของสถานเอกอัครราชทูตเท่านั้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ถือว่าการดำเนินกิจกรรมของสมาคมในด้านต่างๆ ได้รับการสืบทอดต่อมาอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ การเข้ามาของโซเชียลมีเดียในช่วงปี พ.ศ. 2552-2554 (ค.ศ. 2009-2011) ยังทำให้การติดต่อส่งข่าวสารกันระหว่างนักเรียนไทยในเยอรมนีเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วอย่างมาก
(ซ้าย) งานเสวนาวิชาการ พ.ศ. 2546 (ขวา) การแข่งขันฟุตบอลระหว่างเมืองอาเค่นและรัฐบาเดน-เวือร์ทเทิมแบร์ก พ.ศ. 2547
ส.น.ท.ย. ในยุคร่วมสมัย
ในยุคปัจจุบัน การดำเนินงานของ ส.น.ท.ย. ยังคงเป็นไปด้วยความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามคณะกรรมการแต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานลอยกระทงในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) ณ เมืองมันน์ไฮม์ หรืองาน TSVD Career Day ในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ณ กรุงเบอร์ลิน ทั้งนี้ก็ด้วยการสนับสนุนอันดีจากนักเรียนไทยในเยอรมนี รวมทั้งจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน (สนร. เยอรมนี) ที่กลับมาเปิดใหม่ ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) รวมทั้งหน่วยงานและผู้สนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากการดำเนินงานที่จัดขึ้นเองภายในประเทศเยอรมนีแล้ว ส.น.ท.ย. ยังได้สร้างเครือข่ายกับองค์กรนักเรียนไทยในยุโรปหลายประเทศอย่างเหนียวแน่น และมีงานที่จัดร่วมกันเป็นประจำทุกปี เช่นงานประชุมวิชาการนักเรียนไทยในยุโรป (TSAC) หรืองานกีฬาจตุรสัมพันธ์ เด็กกำแพงหอหันเกมส์ (Be FrieND) ทั้งยังมีการร่วมมือกับนักเรียนไทยในประเทศอื่นตามแต่ละโอกาส เช่นในครั้งรณรงค์เรียกร้องสิทธิการลงประชามติของคนไทยในต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564 (ค.ศ. 2020-2021)
(ซ้าย) งานกีฬาตรีสัมพันธ์ กำแพงหอหันเกมส์ พ.ศ. 2560 (ขวา) งาน TSVD Career Day พ.ศ. 2563
นอกจากจัดกิจกรรมต่างๆ สมาคมยังได้ใช้ช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์สองช่องทาง ได้แก่เว็บไซต์ tsvd.org และ เพจเฟซบุ๊กของสมาคม นอกจากนี้กลุ่มเฟซบุ๊กของสมาคมยังได้กลายเป็นศูนย์รวมให้ผู้สนใจเรียนต่อเยอรมนีเข้ามาถามคำถาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียนปัจจุบันและนักเรียนเก่าจำนวนมาก
ในยุคสมัยนี้ ส.น.ท.ย. ยังคงยึดมั่นในพันธกิจที่ได้รับสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก เพื่อสร้างสังคมแห่งมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียนไทยในเยอรมนีโดยทั่วไป
[1] พชร แก่นเมือง. 2556. “นักเรียนไทยคนแรกในเยอรมนี.” opnmnd, no. 2 (มกราคม), 49.
[2] สมศักดิ์ ห์ลีละเมียร. 2518. “บันทึกระหว่างบรรทัด.” คิดถึงบ้านของเรา, (พฤศจิกายน), 101.
[3] เรื่องเดียวกัน
[4] ส.น.ท.ย. 2480. “ประวัติสังเขปของสมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน.” เพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน 1 (เมษายน): 6-10.
[5] ประวิศ ศรีพิพัฒน์. 2510. “การศึกษาและฝึกงานในเยอรมัน.” In นิพนธ์ต่างเรื่อง อนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ นาง นุ่ม ณ สงขลา. กรุงเทพ: 65-66.
[6] ส.น.ท.ย. 2480. “ประวัติสังเขปของสมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน.” เพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน 1 (เมษายน): 6-10.
[7] ประวิศ ศรีพิพัฒน์. 2510. “การศึกษาและฝึกงานในเยอรมัน.” In นิพนธ์ต่างเรื่อง อนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ นาง นุ่ม ณ สงขลา. กรุงเทพ: 65-66.
[8] ส.น.ท.ย. 2480. “ประวัติสังเขปของสมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน.” เพื่อนไทยในรัฐเยอรมัน 1 (เมษายน): 6-10.
[9] สันนิบาต: ที่ระลึกการประชุมสันนิบาตนักเรียนไทยในยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2500. 2501. Compiled by สุลักษณ์ ศิวรักษ์. ลอนดอน, สหราชอาณาจักร: สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์.
[10] Amtsgericht Bonn. 2564. Amtlicher chronologischer Ausdruck vom 12. Juni 2021 10:21:18.
[11] TSVD. 2504. SATZUNGEN DES THAI STUDENTEN-VEREINS IN DEUTSCHLAND (Unter der Schirmherrschaft S.M. des Königs).
[12] ส.น.ท.ย. 2511. “รายงานการประชุมของคณะกรรมการ.” เพื่อนไทย, 53-55.
[13] สมบัติ เบญจศิริมงคล. 2543. “100 ปี คนดีศรีสยาม.” TSVD_Pridi. http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/calendar/pridi/menu02.html.
[14] กองบรรณาธิการ. 2519. “กองบรรณาธิการแถลง.” คิดถึงบ้านของเรา - ส.น.ท.ฝ. สาร - (สิงหาคม): n.p.
[15] สมชาย เชื้อไทย. 2542. “ป้าทัศน์ พี่สมบัติ คุณยายและนายปรีดี.” Thai Student Association in Germany. http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/calendar/pridi/tat05_02.html.
[16] ส.น.ท.ย. 2543. “ผลงานสำคัญ.” Thai Student Association in Germany. http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/th/th_workII.htm.
[17] TSVD. 2564. “TSVD เสาร์นี้มีไรคุย ep.8 : คิดถึง (นายกฯ) คนเก่า.” YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=rCFj7U-t84A&t=2857s.
[18] ส.น.ท.ย. 2542. “บันทึกการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ.” Thai Student Association in Germany. http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/th/th_ca_16_10_99.htm.
[19] ส.น.ท.ย. 2543. “ผลงานสำคัญ.” Thai Student Association in Germany. http://vereine.freepage.de/cgi-bin/feets/freepage_ext/41030x030A/rewrite/tsvd/th/th_workII.htm.
[20] ชลนภา อนุกูล. 2545. “เหง้าและรากของกิจการนักศึกษาไทยในเยอรมัน ในทศวรรษที่ผ่านมา พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๕.” A Human's Journey. https://cholnapa.wordpress.com/2002/01/15/thaistudentingermanyroot/.
[21] เรื่องเดียวกัน
[22] พรนภัส โตรัตน์, ed. 2546. เรียนในเยอรมนี. กรุงเทพฯ: มติชน.
ประวัติฉบับนี้เรียบเรียงโดย คณะผู้ดำเนินโครงการรวบรวมเอกสารและจัดตั้งหอจดหมายเหตุนักเรียนไทยในเยอรมนี (พ.ศ. 2563-2564) ทั้งนี้เรายังขาดข้อมูลและเอกสารอีกมาก หากท่านมีข้อแก้ไขหรือหลักฐานเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ info@tsvd.org