รีวิวการสอบ (Der papierbasierte)* TestDaF ที่ไทย และการเตรียมตัว

ขอแวะมาพูดอะไรเกี่ยวกับการสอบภาษาเยอรมันบ้าง ก่อนที่เราจะจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเรียนที่เยอรมัน หนึ่งในข้อบังคับของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็คือ การสอบวัดระดับภาษา ซึ่งสำหรับภาษาเยอรมันก็มีตัวเลือกมากมายเหลือเกิน หนึ่งในนั้นคือการสอบ TestDaF (Deutsch als Fremdsprache)

ที่เราเลือกสอบ TestDaF แทนที่จะสอบตัวอื่นนั้นก็เป็นเพราะว่า

1) ช่วงเวลามันได้ ผลสอบจะออกทันช่วงสมัครเรียนตอนนั้นพอดี

2) ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับอันอื่นที่มีจัดสอบที่ไทยก็พอรับได้อยู่ คือถ้าไม่ผ่านละต้องสอบใหม่ก็ยังพอทำใจได้มากกว่านิดนึง แต่ก็คิดจะสอบรอบเดียวให้ผ่านอยู่แล้วนั่นแหละ

3) ผลสอบเป็นที่ยอมรับของทุกมหาวิทยาลัย (ต่างจาก DSH ที่บางที่ก็ไม่รับ ต้องดูดีๆ) และ

4) ไม่มีวันหมดอายุ สอบครั้งเดียวใช้ได้ยาวๆ

ย้อนอดีตไปต้นปี 2015 สอบ TestDaF ครั้งแรกในชีวิต ที่สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ…

TestDaF คือการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ สำหรับนักศึกษาหรือนักวิชาการที่อยากจะเรียนที่เยอรมนี หรือต้องทดสอบความรู้ภาษาเยอรมัน ฉะนั้น ภาษาในข้อสอบก็จะวิชาการหน่อย ความรู้ก็จะประมาณระดับ B2-C1

ค่าสอบ (ตอนนั้น) 130€ อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับวันจ่ายเงิน (ซึ่งตอนที่เราสอบก็ประมาณเกือบ 5 พันบาท)

สอบทั้งหมด 4 ทักษะ เรียงแบบนี้…

1) อ่าน (Leseverstehen) ให้เวลา 60 นาที มี 3 ส่วน รวม 30 ข้อ ความยากก็จะมากขึ้น ไล่ไปเรื่อยๆ

1.1) จับคู่ ฝั่งตัวเลขก็จะเป็นคน มี 10 คนที่มีความต้องการต่างกัน กับฝั่งตัวอักษรจะเป็นคล้ายๆ ประกาศ มี 8 อัน แล้วก็ให้จับคู่ว่าใครเหมาะกับอันไหน

จะมีคนอยู่ 3 คนที่ไม่มีคู่ เพราะข้อตัวอย่างเอาประกาศไปแล้ว 1 ข้อ (ผิดทีก็ผิดกระจุยเลยไง)

1.2) ให้อ่านบทความวิชาการ แล้วก็ตอบคำถาม multiple choice

1.3) อ่านบทความอีกเช่นกัน แล้วก็กากบาท ถูก-ผิด-text ไม่ได้กล่าว (ซึ่งไอ้อันหลังเนี่ยยาก เพราะเราต้องแยกดีๆ ว่ามันผิด หรือจริงๆแล้ว text ไม่ได้กล่าว ตึง!)

2) ฟัง (Hörverstehen) ให้เวลา 40 นาที มี 3 ส่วนเช่นกัน รวม 25 ข้อ

2.1) จะเป็นการสนทนา 2 คน ให้เราเขียนตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับบทสนทนานั้น ได้ฟังรอบเดียว เนื้อหาไม่วิชาการมาก

2.2) เป็นบทสัมภาษณ์ ก็จะมีคนคุยกันประมาณ 3 คน ให้ตอบว่าแต่ละข้อที่กล่าวมา ถูก หรือ ผิด ให้ฟังรอบเดียว

2.3) อันนี้จะเริ่มยาว ให้เขียนตอบคำถามเกี่ยวข้องกับบทพูด ให้ฟังสองรอบ เนื้อหาก็จะวิชาการ

*ข้อดีของข้อสอบอ่านกับฟังก็คือ มีตัวอย่างมาให้ดูทุกพาร์ทเลย จะได้รู้ว่าต้องทำยังไง แล้วก็พาร์ทฟัง ช่วงเริ่มต้นของบทสนทนาก็กลายเป็นคำตอบของตัวอย่างไปแล้ว เลยทำให้เราจับจุดถูกว่ามันไปถึงไหนแล้ว ไม่ freak มากนัก

3) เขียน (Schriftlicher Ausdruck) มีข้อเดียว ให้เวลา 60 นาที
แต่สิ่งที่ต้องเขียนทั้งหมดใน 1 text มันไม่ได้มีอย่างเดียว…

-อธิบายแผนภูมิที่เขาให้มา
-นำเสนอ Argument บอกข้อดี/ข้อเสีย
-เปรียบเทียบกับเรื่องราวในบ้านเมืองของตัวผู้สอบ

4) พูด (Mündlicher Ausdruck) อันนี้เขาจะให้เราแยกกันไปคนละห้อง เจ้าหน้าที่จะเปิดซีดี แล้วก็อัดเสียงเราไว้ (พูดกับคอม)

มี 7 ข้อ แต่ละอันก็จะจำลองสถานการณ์มา ความยากง่ายคละกันไปเรื่อยๆ บางอันก็จะเป็นสถานการณ์แบบคุยกับเพื่อน แต่บางอันก็วิชาการซะ… แต่ละอันก็ให้เวลาเตรียมตัวต่างกัน ให้เวลาพูดต่างกัน

สิ่งที่ต้องทำได้โดยรวมเลยก็คือ:
4.1) สร้างประโยคคำถาม (คือขอข้อมูลได้)
4.2) อธิบายเรื่องราว
4.3) อธิบายแผนภูมิ
4.4) แสดงความคิดเห็น
4.5) บอกข้อดีข้อเสีย
4.6) วิเคราะห์ความน่าจะเป็น แล้วก็
4.7) เสนอแนะได้

ระดับคะแนน จะแบ่งแต่ละอันเป็น TDN 3, 4, 5
คล้ายๆ การตัดเกรดอ่ะ 3 คือผ่าน 4 คือดี 5 คือดีมาก ประมาณนั้น
ซึ่งเท่าที่ลองๆ ค้นมา บางมหาวิทยาลัยก็เอาขั้นต่ำ 4 หมดทุกสกิล แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยเหมือนกันที่เอา 5 ทุกสกิล ฉะนั้น เราก็ต้องไปดูว่าที่ที่เราอยากเข้า เขาต้องการระดับไหน บางที่อาจจะหยวนๆ ให้ เช่น ถ้าเราได้ 3 พาร์ทฟัง แต่ได้ 5 พาร์ทเขียน เขาก็อาจจะรับ อันนี้ต้องเช็คกับมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร

ถ้าถามเราว่าพาร์ทไหนยากสุด โดยส่วนตัวมันก็ยากหมดนะ แต่สอบพูดคือ freak สุด (อาจจะเพราะมันอันสุดท้ายเลยเหนื่อยแล้ว+หิว+ตื่นเต้นที่มีคนมานั่งฟังอยู่ข้างๆ) ต้องตั้งสติดีๆ

สิ่งที่ต้องเตรียมไปวันสอบ
-ปากกาดำหรือน้ำเงิน (ห้ามใช้ลิควิดเปเปอร์)
-บัตรสอบ (แต่ถ้าลืม ทางศูนย์สอบก็ปริ๊นเผื่อไว้แล้ว)
-บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต
-ของว่าง-น้ำดื่ม (ระหว่างที่การสอบยังไม่สิ้นสุด แม้จะเป็นตอนพักก็แวะไปซื้ออะไรไม่ได้เลย)

การเตรียมตัวก่อนสอบ
1) หากมีกำลังทรัพย์+มีเวลา อาจจะไปเรียนคอร์สสำหรับเตรียมสอบได้ (ซึ่งตอนนั้นสถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ไม่มีคอร์สนี้ ไม่รู้ตอนนี้มีรึยัง)
หรือ
2) หาหนังสือมาอ่านเอง (ซึ่งเราก็ทำวิธีนี้แหละ)

หนังสือที่เราใช้ทั้งหมดก็มี

-Training TestDaF ของ Langenscheidt ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ค่อนข้างเก่าแล้ว
เล่มนี้เป็นเล่มที่สอนวิธีการทำข้อสอบ แต่โดยส่วนตัวชอบพาร์ท Schriftlicher Ausdruck ของเล่มนี้ เพราะว่ามีแบบฝึกหัดให้ทำไปทีละขั้น และฝึกเขียนเยอะมว๊ากก
พาร์ทพูดก็โอเคนะ ตรงที่เขามีตัวอย่างคำตอบให้ฟังด้วย แต่สำเนียงฟังยากมาก เพราะเขาคงเอาคนต่างชาติมาอัดเสียง (ก็เจ้าของภาษาไม่ต้องสอบนี่) แต่พาร์ทอ่านกับฟังกลับรู้สึกว่าเฉยๆ

-Fit für den TestDaF ของ Hueber เวอร์ชั่นนี้ก็เก่าแล้วเช่นกัน ไปสอยมาจากงานหนังสือ
เล่มนี้ก็สอนวิธีการทำข้อสอบเช่นกัน จะมี tips ให้เป็นระยะๆ ว่าควรทำอะไรบ้าง ซึ่งก็รู้สึกว่าดี ทำไปเรื่อยๆ เพลินๆ ได้ แต่พาร์ทเขียน(สำหรับเรา)ไม่ค่อยโอ คือถ้าทักษะการเขียนอยู่ในเกณฑ์ “แค่ทบทวนก็พอ” ก็โอเคเลยนะ มันทำไปเรื่อยๆ ได้ แต่ถ้าทักษะอยู่ในเกณฑ์ “คืนครูไปหมดแล้ว” แนะนำว่าให้ทำของเล่ม Training TestDaF จะดีกว่า เพราะอันนั้นจะให้ฝึกทีละขั้น เหมือนคนเริ่มเรียนใหม่ยังไงยังงั้น

-Musterprüfung 1-3 ของ Hueber อันนี้ก็ตัวอย่างข้อสอบเลย ไม่มีการแนะแนวแต่อย่างใด เรามีทั้งหมด 3 เล่ม แต่ในเว็บเหมือนจะมีมากกว่านั้น บางคนก็ไปหาโหลดในเน็ตเอา แต่เราไม่ได้หาเพิ่มเลย คือที่มีในมือนี่ก็เยอะจนทำไม่หมดละจ้าาาาา

ตอนฝึกทำพาร์ทอ่านก็ จับเวลาในการทำตามที่เขาให้มานั่นแหละ เสร็จแล้วก็มาดูเฉลยว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ เคยหาในเน็ตบอกว่าถ้าอยากได้
TDN 5 ก็คือต้องมากกว่า 26/30 ถึงจะชัวร์
TDN 4 อาจจะต้องมากกว่า 22/30
ถ้าต่ำกว่า 20 ก็อาจจะได้แค่ TDN 3

ส่วนของฟัง
ถ้าอยากได้ TDN 5 คืออาจจะต้องมากกว่า 21/25, TDN 4 > 17/25, TDN 3 > 12/25

ตอนฝึกเขียนก็จับเวลา แบ่งเป็น Einleitung+Grafikbeschreibung พยายามอย่าให้เกิน 20 นาที ส่วน 40 นาทีที่เหลือเก็บไว้ทำอย่างอื่น แรกๆ อาจจะรู้สึกว่าเขียนไม่ออกและทำไม่ทัน ฮรือ ตอนฝึกครั้งแรกนี่ทำไม่ทันแล้วจิตตกถึงขั้นเก็บไปฝันว่าทำข้อสอบเลยทีเดียว พอตอนหลังเลยใช้วิธีจำโครงสร้างจากตัวอย่างในหนังสือเอาเลยว่า ขึ้นต้นแบบนี้ ประโยคต่อไปใช้คำเชื่อมแบบนี้ แล้วก็จำคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการอธิบายกราฟ อธิบายตาราง อธิบายพาย คือต้องฝึกทุกแบบ เพราะไม่รู้ว่าในข้อสอบจริงจะเจอแบบไหน ทำไปเรื่อยๆ มันก็ทันอยู่ แต่มันใช่ประโยคที่ดีรึเปล่านั่นอีกเรื่องนะ แหะๆ

ตอนฝึกพูดก็เปิดไฟล์เสียงโลด ในนั้นเขาจะจับเวลาอะไรมาให้เสร็จสรรพ จำลองสถานการณ์เหมือนสอบจริงเลย ลองอัดเสียงตัวเองกลับมาฟังด้วยว่าฟังรู้เรื่องมั้ย ตอนนั้นเราฝึกถึงขั้นจดไว้เลยว่าสำหรับโจทย์แต่ละข้อ พูดประมาณกี่ประโยคพอ จะได้ไม่ต้องคิดเยอะเกินไป

ตอนนั้นเราใช้เวลาเตรียมตัวทั้งหมดประมาณ 20 วัน คือช่วง 15 วันแรกตื่นเช้ามากินข้าว ทำแบบฝึกหัด พักเที่ยง กลับมาทำแบบฝึกหัดต่อ กินข้าวเย็น ดูซีรี่ส์นิดหน่อย จะให้ดีก็ดูรายการเยอรมันไปเลย เอาให้ซึมซับ ทำบรรยากาศให้ตัวเองต้องคลุกคลีอยู่กับภาษานี้ตลอดเวลา แล้วไปทำแบบฝึกหัดต่อ พอประมาณ 3-5 วันสุดท้ายก็จำลองสถานการณ์ทำข้อสอบจริง คือจับเวลาจริงจัง ทำไม่ทันก็ไม่มี pause ใดๆ ทำข้อสอบวันละชุด พอจบหนึ่งชุดก็ไปพักแล้วค่อยมานั่งดูเฉลย แล้วดูว่าตัวเองยังอ่อนตรงไหนบ้าง ค่อยไปทบทวนเป็นเรื่องๆ แต่พาร์ทเขียนกับพูดเนี่ย ปัญหาคือตอนนั้นเราไม่มีใครตรวจให้ หนังสือก็ทำได้แค่แนะนำแต่ไม่มีเฉลยตายตัว ก็เลยทำไปแบบไม่เคยรู้ว่ามันดีรึยัง ฉะนั้น ใครที่คิดจะสอบก็ควรหาคนช่วยรีวิวนะ

อ่า เขียนมาซะยาว คิดว่าน่าจะหมดทุกอย่างที่รู้ตอนนี้แล้วแหละนะ
แต่บอกไว้ก่อนว่า เราก็ไปสอบมาแค่รอบเดียว ไม่ใช่ expert อะไร แถมผ่านมานานมากแล้วด้วย ถ้าอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ตามนี้เลย: https://www.testdaf.de/


*อัพเดท 2021
ตั้งแต่ตุลาคม 2020 TestDaF มีการจัดสอบแบบ digital ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการจัดสอบจะไม่เหมือนกับแบบกระดาษนะคะ

ผยแพร่ซ้ำกับ pennilein