บทสัมภาษณ์พี่จิ เรื่องสมาคมบริจาค (ชื่อชั่วคราว)

บทสนทนานี้เริ่มต้นขึ้นบนถนน Autobahn ที่มุ่งขึ้นเหนือจากเมืองคาร์ลสรูห์สู่แม่น้ำโมเซล ในทริปเที่ยววันหยุดอีสเตอร์ที่ผมตกลงจะเข้าร่วมเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนล้อหมุน

ในรถคันเดียวกับผมคือจิราภรณ์ เดชคุ้ม หรือที่ผม (แอดมิน) เรียกว่า “พี่จิ” ในยามปกติแล้ว หญิงสาวท่าทางมุ่งมั่นทะมัดทะแมงผู้นี้เป็นที่คุ้นเคยของน้อง ๆ นักเรียนในเมือง ในฐานะที่เป็นเสาหลักให้กับทุกคนในหลาย ๆ เรื่อง แต่นอกจากนั้นแล้ว เธอยังสวมหมวกอีกใบในฐานะนายกคนปัจจุบันของ “สมาคมบริจาค” (Borijak Verein) อีกด้วย

ผมเองก็เคยได้จับพลัดจับผลูเข้าไปช่วยงานของสมาคมบริจาคอยู่บ้าง และก็ได้พบว่าสมาคมของนักเรียนไทยสมาคมนี้มีเรื่องราวหลาย ๆ อย่างที่ควรจะถูกเล่าต่อไป ดังนั้นในโอกาสที่พี่จิกำลังจะหมดวาระลงในอีกไม่นานนี้ ผมจึงขอถือโอกาสฉกฉวยเวลาระหว่างนั่งรถไปกับเธอ (พร้อมด้วย “พี่โก้” ​และ “พี่บอล” อีกสองเรี่ยวแรงสำคัญของสมาคม) พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เคยเป็นมา และจะเป็นไปของสมาคมบริจาค

สมาคมบริจาคคืออะไร? ได้ให้อะไรกับสังคมไปแล้ว? และเราจะให้อะไรกับสมาคมนี้ได้บ้าง? คำตอบรอทุกท่านอยู่ในย่อหน้าถัด ๆ ไปแล้วครับ

…..

คือพี่ก็เป็น …

พี่เป็นคนค่ะ ใช่ … พี่เป็นคน

(ตั้งสติใหม่) คือพี่ก็เป็นนายกสมาคมบริจาคคนปัจจุบันใช่ไหมครับ?

ใช่ค่ะ เป็นมาสองปีแล้วค่ะ

พอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ ว่าพี่ไปไงมาไงถึงมาอยู่ที่เยอรมัน แล้วมารู้จักสมาคมบริจาคได้ยังไง

พี่มาเรียนตรีที่นี่ค่ะ ที่คาร์ลสรูห์นี่แหละ แล้วก็ได้เจอรุ่นพี่ที่นี่ซึ่งเค้าทำบริจาคกันอยู่แล้ว คือพี่ที่อยู่ไฮเดลแบร์ก คาร์ลสรูห์ ละก็มานน์ไฮม์ เค้าก็เป็นกลุ่มก้อนกันอยู่แล้ว พี่ก็เข้ามาพร้อมกับพี่บอล พี่โก้ แล้วก็เด็กคนอื่น ๆ นี่แหละ ก็แบบเข้าไปแจมนิดหน่อย เพราะว่าเป็นเด็กก็ไม่ได้ทำอะไรเยอะ เหมือนเข้าไปรับรู้ว่าบริจาคเป็นมายังไง ทำอะไรบ้าง อะไรอย่างนี้แหละค่ะ

อันนี้คือตั้งแต่ป.ตรีเลย?

ใช่ ๆ ตั้งแต่ป.ตรีเลย ที่มาอยู่คาร์ลสรูห์ พี่ ๆ เค้าก็มีกิจกรรมอย่างเช่น เขียนจดหมายหาน้อง เจอกัน จัดคอนเสิร์ต แล้วพี่ก็ไปร่วมงานด้วย ก็เลยเหมือนซึมเข้ามาเรื่อย ๆ น่ะค่ะ แล้วก็เลยอยู่ยาวที่นี่จนถึงเรียนต่อโท แล้วก็ทำงาน ซึ่งพอตอนที่พี่ทำงาน พี่ก็พอมีเวลามากขึ้น

คือตอนแรกมันเป็นแค่กลุ่มบริจาคค่ะ มันไม่ต้องมีประธาน ไม่ได้เป็นสมาคมจริงจัง ก็เลยเหมือนแค่มาเจอกัน ทำนู่นทำนี่ แต่แล้วพอเหมือนตอนหลังเปลี่ยนเป็นสมาคมปุ๊บ ก็ต้องมีประธาน ตอนนั้นพี่คนเก่า ๆ ที่อยู่มาแต่เริ่มก็ค่อย ๆ กลับกันไปหมดแล้ว เหลือแต่พี่เปามั้งที่ดูจะแก่สุดของรุ่นที่อยู่ ก็เลยขึ้นมาเป็นนายกคนแรกของสมาคมบริจาค

ตอนนี้คนอ่านน่าจะเริ่มงงแล้วว่าตกลงสมาคมบริจาคนี่มันคืออะไรกันแน่

จริง ๆ ตอนแรกเค้าก็ไม่ได้จะตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทุนการศึกษานะ เพราะตอนแรกเริ่มเลย มันมาจากกลุ่มนักเรียนจากทั้งสามเมืองที่บอกมา ไปช่วยงานสถานทูตรับเสด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทีนี้ทางสถานทูตเค้าก็มีเงินก้อนหนึ่ง ก็เลยให้นักเรียนที่ไปช่วยงานค่ะ

แล้วพี่ ๆ กลุ่มที่ไปช่วยงานเค้าก็แบบ ‘เอ๊ … ได้เงินมาก้อนหนึ่ง เราจะเอาไปทำอะไรดีน้า? ที่มันเป็นประโยชน์’ อะไรประมาณนี้ เค้าก็เอาไปซื้อวารสาร ส่งไปให้นักเรียนที่เมืองไทยเป็นเวลาหนึ่งปี ตามจำนวนเงินนั้น

นี่คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มบริจาค?

ใช่ ก็คือเริ่มจากตรงนี้ แล้วพอมันหมดไปปีนึงแล้ว เงินที่ได้มาก็หมดแล้ว พี่ที่อยู่ในกลุ่มตรงนั้นก็คุยกันว่าโครงการมันดีนะ อาจจะลองทำอะไรแบบนี้เพิ่ม เค้าก็เลยเกิดไอเดียว่า รวบรวมเงินกันไหม? ไปให้ทุนการศึกษาน้องที่เมืองไทย เพราะว่าส่วนใหญ่ตอนนั้นก็เป็นเด็กทุนเนอะ ก็เลยช่วยกันแบบคนละห้า … ตอนนั้นนานมากอะ ยังเป็นเงินมาร์กอยู่เลย พี่ก็มาไม่ทันนะ … เค้าก็บอกว่าคนละห้ามาร์กนะแต่ละเดือน

พี่ก็ไม่รู้นะว่าตอนนั้นมีนักเรียนกี่คน เดาเอานะว่าน่าจะประมาณสิบคนได้ เค้าก็รวบรวมเงินแล้วก็เอาไปสมทบทุนการศึกษา คือว่าเป็นเพราะว่าเราอยู่ที่นี่ ก็เลยเหมือนกับว่ามันก็ลำบากในการหาคอนแทคหรือว่าส่งเงินไปตามโรงเรียนโดยตรง เค้าก็เลยติดต่อไปทางมูลนิธิของ ดร.เทียม โชควัฒนา ซึ่งเค้าก็ทำมูลนิธิมาสักพักหนึ่งแล้ว กลุ่มนักเรียนกลุ่มนี้ก็เลยเอาเงินที่รวบรวมกันได้ไปสมทบ ทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ เป็นเวลาน่าจะสิบกว่าปีได้ ให้เงินช่วยสมทบไปเยอะ ส่งนักเรียนจบไปหลายคนมาก

เดี๋ยวนี้ยังติดต่อกับทางมูลนิธินี้อยู่ไหมครับ?

อ๋อ เปล่าค่ะ

คือตอนนี้เราทำเองแล้ว?

ใช่ค่ะ จริง ๆ ทำแบบนั้น [บริจาคผ่านทางมูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา] มันสะดวกมากเลยนะ เพราะเราไม่ต้องมาจัดการเรื่องคัดเด็ก เรื่องเอกสาร หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง คือเราก็ให้ทางมูลนิธิจัดการไป แต่ว่าทีนี้ที่เราต้องทำเองอย่างนี้ เพราะหลังจากที่เราเป็นสมาคมปุ๊บ ทุกอย่างมันก็ยุ่งยากวุ่นวายมากเลย เราต้องทำ Protocal รายรับ รายจ่ายของทุกปี ส่งให้กับ Finanzamt แล้วทีนี้ถ้าเราส่งเงินไปสมทบทุนกับมูลนิธิ เค้าไม่ได้ออกใบเสร็จให้เรา เราก็เลยไม่มีเอกสารยืนยันว่าเราเอาเงินออกไป คือเค้าออกให้เราไม่ได้

มันก็เลยเป็นปัญหามาอยู่ประมาณสามสี่ปีได้ ช่วงหลังจากที่มาเป็นสมาคม เพราะว่าเราไม่มีคอนแทคที่เมืองไทย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปหาทุนยังไง ไม่รู้จะติดต่อยังไง ตั้งแต่สมัยพี่เปาเราก็พยายามที่จะกระจายเงินออก แต่เราก็ทำไม่ได้ เราติดต่อเด็กไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะให้โรงเรียนไหนอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วคือพี่เปากับเด็กคนอื่น ๆ ก็ยุ่งเรื่องเรียนกันอยู่ด้วย ไม่มีใครว่างมาจัดการตรงนี้เท่าไร

แต่ตอนนั้นเราก็มีโครงการอื่นเสริมขึ้นมา เช่นซ่อมแซมโรงเรียนที่น้ำท่วม สร้างอาคาร สื่อการเรียนการสอนอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ประมาณนี้แหละ คร่าว ๆ ช่วงเริ่มต้น

พี่คลุมไปหลายคำถามมาก ผมเตรียมคำถามมานี่แทบไม่ต้องใช้เลย พี่อธิบายเองหมด

(ทุกคนในรถหัวเราะ) ยาวค่ะ ๆ คือพี่ท่องโบรชัวร์มาเลยค่ะ ที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้ (หัวเราะอีก) เป๊ะ ๆ ไม่ต้องไปอ่านแล้ว ตามนี้เป๊ะเลยค่ะ

ก็คือสมาคมบริจาคเนี่ย ถ้าเกิดสรุปง่าย ๆ ก็คือจะมีการรวบรวมเงินจากที่เยอรมัน แล้วเอาไปเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เมืองไทย อย่างนั้นใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ เมื่อก่อนเราสมทบทุน [กับมูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา] แต่ปัจจุบันเราส่งตรงให้เขาเลย

แล้วทางสมาคมมีวิธีที่จะหาเงินมาช่วยในส่วนนี้ยังไงบ้างครับ?

จริง ๆ ก็แล้วแต่สมัย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเดิม ๆ ก็อปกันมาเป๊ะ ๆ

(พี่โก้เสริม : โครงการไหนที่มันดูโอเคก็เอามาทำต่อ)

ใช่ ๆ อย่างตั้งแต่สมัยแรก ๆ เลยค่ะ ก็มีโครงการออกไปจัดคอนเสิร์ตที่มีปีละครั้ง แล้วก็ไปช่วยงาน Bad Homburg (งานแสดงวัฒนธรรมไทยประจำปี) หรืองานเล็ก ๆ งานอื่น แล้วก็ตั้งกล่องรับบริจาคอะไรประมาณนี้ค่ะ

ตัดมาช่วงที่พี่เป็นนายก ที่ทำงานช่วงประมาณปีสองปีนี้อะครับ มีกิจกรรมอะไรเด่น ๆ บ้างอะครับ? ที่พอจะเล่าให้ฟังได้

สมัยที่พี่เป็นอะเหรอ? หรือก่อนหน้านี้ด้วย?

เล่าก่อนหน้านี้ด้วยก็ได้ครับ

มันก็โครงการคล้าย ๆ กันค่ะ ตั้งแต่ตอนพี่เข้ามาช่วยก็อย่างเช่น ไปช่วยงานกงศุลสัญจร (กิจกรรมที่ทางสถานกงศุลไปออกเอกสารให้คนไทยแต่ละที่) ทำมาทุกปีเลยตั้งแต่พี่เข้ามา

(พี่โก้เสริม : แล้วก็มีพี่ ๆ ที่มาทำเอกสารทั้งหลายพวกนี้แหละ เค้าก็จะอ่านโบรชัวร์บ้าง ถามข้อมูลบ้าง แล้วก็สนใจอยากจะช่วยเหลือน้อง ๆ ก็ร่วมกันบริจาคเข้ามา)

แล้วก็ยังมีอย่างอื่น อย่างเช่นโครงการเหรียญแดง คือก็จะมีหลายคนที่สะสมเหรียญแดง (เหรียญ 1-5 เซนต์) แล้วขี้เกียจใช้เพราะมันเยอะ เค้าก็เลยรวบรวมมาให้กับบริจาค แล้วก็มีขายของมือสอง … สนุกมาก คือมันก็มีนักเรียนเยอะนะคะที่ออก ๆ เข้า ๆ มีของที่ไม่ได้ใช้แล้วยังสภาพดี ก็เลยรวบรวมมาให้พวกเราเอาไปขายที่ไฮเดลแบร์ก สตุตการ์ด อันนี้คือที่ไปบ่อย ๆ นะคะ ขายที่ตลาด Flohmarkt เลย

แล้วที่ผมเคยได้ยิน มันก็จะมีงานแข่งแบดมินตัน แล้วก็งานคอนเสิร์ตด้วยใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ แข่งแบด ()​ นี่คือสนองความต้องการตัวเองมากกว่า (หัวเราะ)

(พี่โก้เสริม : แข่งแบดนี่คือจะเป็นการประชาสัมพันธ์สมาคมให้เป็นที่รู้จักมากกว่า)

อะไรประมาณนั้น คือที่จริงพี่ชอบเล่นกีฬา ก็เลยลองจัดอะไรแนวนี้ดูบ้าง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักเรียนค่อนข้างดี แล้วตอนนั้นก็มีท่านอทศ. (นายชินพันธุ์ ฤกษ์จำนง อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการศึกษา) ผู้ดูแลนักเรียนมาร่วมงานด้วย ก็เลยทำให้ผู้ใหญ่คนอื่น ๆ รู้จักเรามากขึ้น จากที่เมื่อก่อนรู้จักกันแค่ในกลุ่มนักเรียน

แล้วพอหลังจากนั้นก็มีการจัดงานคอนเสิร์ต (คอนเสิร์ตบริจาค “พี่ร้องน้องรับ” ณ เมืองมานน์ไฮม์) คือถ้าเป็นเมื่อก่อนเค้าก็จัดกันอยู่เรื่อย ๆ แล้วล่ะ ปีละครั้ง สองปีครั้ง แล้วแต่พี่ ๆ เค้าสะดวกจัดกัน แต่คือมันก็ห่างหายมานานมาก แล้วตอนนี้บริจาคค่อนข้างมีคนรู้จักเพิ่มขึ้นนิดหน่อย เราก็เลยอยากประชาสัมพันธ์เพิ่ม แล้วก็ได้รับการตอบรับจากพี่ ๆ แม่บ้านที่มานน์ไฮม์ดีมาก แล้วนักเรียนที่เมืองใกล้ ๆ ก็ดีมากเลย น้อง ๆ ช่วยเหลือเต็มที่มาก

คนที่ไม่ได้ไปอาจจะนึกภาพไม่ออกนะครับ ว่าคอนเสิร์ตบริจาคมันหน้าตาเป็นยังไง พอจะเล่าบรรยากาศในงานสั้น ๆ ได้ไหมครับ

หลัก ๆ มันก็จะมีดนตรีสดจากน้อง ๆ นักเรียนด้วยกันเองนี่ล่ะค่ะ แล้วก็มีการตั้งกล่องรับบริจาค มีการโฆษณาบริจาคไปในตัว ให้คนอื่นได้รู้ว่าบริจาคคืออะไร มีอยู่มานานขนาดนี้แล้วเหรอ ประมาณนั้น

แล้วในงานเราก็มีอย่างอื่นเสริมขึ้นมาเพิ่มไม่ให้มันดูน่าเบื่อ เช่นสอยดาว ละก็ประกวดร้องเพลง อันนี้นี่หลายคนสนุกมาก มีคนประกวดประมาณ 7-8 คนได้ค่ะ แล้วก็ในการประกวดร้องเพลงเราก็จะมีการหารายได้เสริม เช่นขายพวงมาลัย เพราะว่าคนที่ร้องเพลงจะได้รับพวงมาลัย แล้วเราก็จะขายพวงมาลัย ทำนองว่าถ้าใครจะไปคล้องก็ซื้อไป เราก็ได้รายได้มาจากตรงนั้นส่วนนึง สอยดาวก็ได้รายได้ แล้วก็ค่าเข้าด้วยค่ะ … ใช่ ๆ แล้วก็มีอาหารและเครื่องดื่มด้วย

โดยรวมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ค่อนข้างเกินความคาดหมายมาก ๆ … มากจริง ๆ ค่ะ ก็ได้น้อง ๆ นี้ล่ะ ช่วยเหลือเยอะมากเลยงานนี้ พี่บอล พี่โก้ด้วย ทุกคนเต็มที่มาก

(พี่โก้เสริม : แล้วก็พี่ ๆ ฝั่งแม่บ้านเข้ามาช่วยด้วย)

ใช่ ๆ พี่ฝั่งแม่บ้านเข้ามาช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เยอะมาก แล้วก็เฟราซอนน์ (Frau Marianne Zorn กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองชตุทท์การ์ท) นี่ก็ประจำค่ะ ผู้ช่วยหลักคนสำคัญของเรา แล้วก็ยังมีทางท่านอทศ. ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เราเหมือนกัน งานนี้สปอนเซอร์เยอะมาก

ก็มีทั้งทางสถานทูต แล้วก็กลุ่มแม่บ้านด้วย

ใช่ ๆ

(พี่โก้เสริม : รวบรวมจากทุกฝั่งทุกแนวมาเลย)

เหมือนเป็นทีม Avanger อะไรอย่างนี้

ประมาณนั้น ๆ คือเหมือนกับว่าบริจาคนี่ คนไม่รู้จักเยอะนะ เพราะว่าเราไม่ค่อยออกไปข้างนอกเท่าไร แล้วก็ไม่ค่อยทำงานใหญ่เท่าไรด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของนักเรียน ซึ่งเหมือนว่าไม่ค่อยมีเวลากัน ก็เลยไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไร

ขนาดไม่มีเวลายังจัดได้ขนาดนี้นะครับเนี่ย

(หัวเราะ) คือหลัง ๆ น้องมาเมืองเยอะไง ที่คาร์ลสรูห์ก็เลยมีคนช่วยเยอะ น้องที่สตุตการ์ดด้วยอะไรอย่างงี้ เหมือนเมื่อก่อนก็อยากทำ พี่หรือพี่บอลหรือคนอื่น ๆ ก็ช่วยอยู่เรื่อย ๆ แต่เหมือนพอเรื่องเรียนมันหนัก เราก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้วค่ะ

อ้อ จริง ๆ เรามีคอนแทคกับทาง ส.น.ท.ย. มานานมาแล้วนะ เหมือนกับว่าตั้งแต่สมัยที่พี่มาแล้ว กลุ่มบริจาคก็อยู่แถวข้างล่างนี่เนอะ โซนสามเมืองสี่เมืองแถวนี้นี่แหละค่ะ แล้วทีนี้คือประธานบางรุ่นของ ส.น.ท.ย. ก็อยู่แถว ๆ ข้างล่างนี้ เช่นก็เคยมีพี่ตั้ม ที่เคยอยู่คาร์ลสรูห์ พี่ตู่อยู่สตุตการ์ดอะไรอย่างนี้ แล้วน้องบิ๊กก็เคยเป็นประธาน แล้วก็เคยทำสมาคมบริจาคด้วย ประธานที่พูดถึงนี้ก็พยายามที่จะเอาบริจาคไปร่วมกับ ส.น.ท.ย. เพราะก็อยากให้คนอื่นรู้จักมากขึ้นเนอะ มีปีหนึ่งที่ ส.น.ท.ย. ให้บริจาคไปพูดในงานกีฬา ก็ทำให้มีเด็ก ๆ ในงานรู้จักเราเพิ่มมากขึ้น

ก็ถือว่ามีพัฒนาการมาได้เรื่อย ๆ

ก็ด้วยการร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายแหละพี่ว่า ส.น.ท.ย.เอง พอเค้ารู้จักเรา เค้าก็ให้บริจาคเข้าไปพูดแบบ ‘เฮ้ย โครงการมันดีมากเลยนะพี่’ พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเด็ก ๆ รู้จักกันเยอะก็คงจะดี เพราะจะได้มีคนเข้ามาช่วยสานงานต่อไง

อันนี้เราพูดถึงฝั่งเยอรมันไปแล้ว ทีนี้อยากถามเรื่องที่เมืองไทยบ้างอะครับ คือหลังจากที่เราได้เงินมาก็จะมีการให้ทุนการศึกษากับเด็กที่เมืองไทย แล้วคือทางบริจาคมีวิธีคิดเริ่มต้นยังไง ว่าจะให้ทุนกับใคร แล้วก็ติดต่อประสานงานกันยังไง
ที่พี่พูดถึงตอนโครงการของดร.เทียม โชควัฒนาเนี่ย ก็ไม่มีอะไรแล้วเนอะ เพราะเขาเป็นคนจัดการไง เราแค่เข้าไปสมทบทุนอย่างเดียว แต่พอหลังจากที่เราทำโครงการเองปุ๊บเนี่ย มันก็ค่อนข้างจะหยุมหยิมรายละเอียดเยอะมากเลย

อย่างเช่นตั้งแต่เริ่มต้นเลยเราก็ต้องหานักเรียน หาโรงเรียนที่เค้ารับผิดชอบตรงส่วนนี้ แต่ว่ามันก็ไม่ง่าย คือว่าเราต้องได้ใบเสร็จจากโรงเรียน เพราะเราโอนเงินให้เขา แล้วก็จะต้องมีครูที่รับผิดชอบเรื่องโครงการนี้ ส่งรายงานผลให้เราทุกปี คือเอกสารมันค่อนข้างยุ่งยากมาก มันก็เลยทำให้เราหาเด็กได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าพอเราติดต่อไปปุ๊ปเนี่ย พอเข้าสนใจ เค้าอยากให้ทุนการศึกษาเด็ก เค้าหาเด็กได้นะ แต่เพราะเรื่องพูดถึงเอกสารมันก็จะเริ่มเยอะละ ครูที่เมืองไทยก็ค่อนข้างงานเยอะค่ะ ไม่ค่อยมีเวลาตรงนี้

ส่วนที่เราเลือกว่าโรงเรียนไหนอะไรยังไงเนี่ย พี่เลือกจากคนที่ใกล้ตัว ที่เราไว้ใจได้ หมายถึงว่าคนใกล้ตัวของคนที่เรารู้จักอย่างนักเรียนที่อยู่ในเยอรมัน หรือคนที่กลับไปแล้วก็ตาม เพราะว่าถ้าเค้ามีคอนแทค มีครูหรือมีเพื่อนอะไรอย่างนี้ที่พอจะจัดการเรื่องเอกสารหลัก ๆ นี้ได้ เราก็ให้เค้าช่วยเลือกนักเรียน จริง ๆ ส่วนใหญ่ก็โรงเรียนละไม่เกิน 10 ค่ะ แล้วก็ให้เค้าเลือกเด็กที่ขาดแคลนจริง ๆ

ตอนนี้มีโรงเรียนอยู่ในสังกัดประมาณกี่โรงเรียนอะครับ?

ตอนนี้นั่นเหรอที่ให้ไปแล้ว (นิ่งคิด) ภาคเหนือสอง ภาคใต้หนึ่ง ตะวันออกอีกสอง … ก็ห้าโรงเรียนค่ะ

มีทั่วทุกสารทิศเลย

ใช่ เพราะมันขึ้นอยู่กับคอนแทคที่เรามี อย่างแรกเลยคือเราก็ไม่รู้นะว่าเงินที่เราให้ไปมันจะถึงหรือเปล่า ก็เลยพรูฟจากคนใกล้ตัว ให้เค้าไปดูอีกทีว่าครูคนนี้ไว้ใจได้ อะไรประมาณนี้ เราก็จะให้เค้าดูแลเรื่องตรงนี้ให้เราได้

(พี่โก้เสริม : ส่วนใหญ่ก็คนที่รู้จักกันที่เยอรมันที่กลับไปนั่นแหละ พวกพี่ ๆ ที่จบไป)

แล้วก็จะมีการให้ทุนการศึกษาเป็นรายเดือนอย่างนี้เหรอครับ?

เงินทุนที่เราให้เนี่ย ก่อนหน้านี้เราให้กันเดือนละสามร้อย แต่เมื่อปีที่ผ่านมาตอนประชุมสามัญรอบที่แล้ว เราปรับเพิ่มขึ้นเป็นสี่ร้อยบาทต่อเดือน เพราะเห็นว่าค่าครองชีพมันสูงขึ้น ก็เลยคิดว่ามันน้อยไปหรือเปล่า เพิ่มขึ้นเป็นสี่ร้อยก็ได้นะ เพราะเงินในบัญชีเราก็ยังพอมีอยู่อะไรอย่างนี้ อาจจะได้จำนวนทุนลดลง แต่ว่าเด็กได้เพิ่มขึ้นนิดนึง เมื่อก่อนเราเล็งไว้ว่าจะให้แบบน้อย แล้วกระจายหลาย ๆ ทุน แต่เหมือนว่าตอนนี้เราหาเด็กเพิ่มไม่ได้ค่ะ เพราะด้วยว่าคอนแทคเราน้อย ไม่รู้จะติดต่อใครดี ก็จัดการลำบากค่ะ

แล้วเรื่องของการคัดเลือกเด็กว่าเราจะให้ทุนใคร เราเลือกยังไง หรือว่ามีการคอนแทคกับทางโรงเรียนยังไงบ้างครับ?
ส่วนใหญ่เราได้ทางโรงเรียนเป็นคนตัดสินใจเลย ว่าเลือกเด็กคนนี้นะ คุณสมบัติของเด็ก หลัก ๆ ก็คือเราไม่เน้นเด็กที่เรียนเก่ง แต่เราเน้นเด็กที่มีความประพฤติดี ตั้งใจเรียน แล้วก็ไปเรียน … แค่นั้นเอง

ต้องเน้นคำว่า ‘ไปเรียน’

ใช่ ‘ไปเรียน’ เพราะว่ามันมีจริง ๆ นะ บางคนที่แบบว่าต้องหยุดโรงเรียนค่ะ ไม่ใช่หยุดเพราะว่าอยากหยุดนะ หยุดเพราะไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ก็เลยอาจจะมาเรียนไม่ได้ ต้องทำงานที่บ้าน อะไรอย่างงี้น่ะค่ะ เราเลยต้องระบุไปว่าเอาคนที่ไปเรียน เพราะว่ามันก็มีหลายคนที่ออกจากทุนไป ได้ทุนมาปีนึงแล้วก็ออก เพราะว่าพ่อแม่เค้าชวนไปทำงานที่มาเลย์อะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรียนแล้ว หรือว่าต้องออกจากโรงเรียนเลย เพราะว่าต้องไปทำงานที่บ้าน ช่วยส่งน้องเรียน ไม่น่าเชื่อนะว่ายังมีแบบนี้ในสมัยนี้อยู่

พี่ได้เคยไปลงพื้นที่เองบ้างไหมครับ?

ลงพื้นที่ไปเจอพ่อแม่เด็กนี่พี่ไม่เคย เคยแต่ลงไปเจอเด็ก แล้วก็ไปคุยกับเด็กเอง เมื่อปีที่แล้วนี่แหละ

เป็นยังไงบ้างครับ? คือพี่ก็จบที่เยอรมันด้วยใช่ไหม แล้วพอลงไปเจอตรงนี้ พี่เห็นความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำอะไรพวกนี้ยังไงบ้างไหม?

ถ้าแค่พูดถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนนี้กับโรงเรียนในอำเภอ มันก็ต่างเยอะมากแล้วค่ะ เพราะว่าโรงเรียนที่พี่ไปมันเป็นโรงเรียนอยู่ที่จันทบุรี ชื่อว่าโรงเรียนหนองตาคงวิทยา คือเป็นโรงเรียนติดชายแดน เขมร-ไทย มันก็จะมีเด็กเขมรเข้ามาเรียนด้วย คือก็เคยอยากให้ทุนเค้าอยู่นะ แต่ว่าเราระบุว่าเป็นเฉพาะเด็กไทย ก็เลยต้องให้เด็กไทยก่อน

แล้วก็ที่พี่ไปเนี่ย ตัวโรงเรียนค่อนข้างขาดอะไรเยอะมากอะ เรื่องกีฬา โรงอาหาร ทุกอย่างมันขาดหมดเลยอะ แล้วก็เพื่อนพี่เป็นครูที่นั่น เค้าก็อยากได้ทุนเพิ่มเพื่อเอาไปซ่อมโรงอาหาร หรือเรื่องอุปกรณ์กีฬาเด็กอะไรอย่างนี้ พี่ก็บอกให้เขียนโครงการมา

คือเรื่องที่บอกว่าหลาย ๆ อย่างมันไม่พร้อมเนี่ย ก็เรื่องสถานที่อะพี่ว่า แล้วก็เรื่องงบมาไม่ถึงบ้างเพราะมันไกล คือพี่ว่าเค้าค่อนข้างขาดเยอะอะ แล้วยิ่งเทียบกับที่เยอรมันนี่ยิ่งไปกันใหญ่เลย ไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ

คือที่ทำงานกันตรงนี้ ก็เหมือนเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งนะครับ ที่ช่วยให้มันดีขึ้นได้

อืม มันส่วนน้อยจริง ๆ ที่ช่วยเหลือเค้า เพราะว่าเด็กได้เดือนนึงสี่ร้อยบาทอะ เดือนนึงนะ คือมันแบบช่วยอะไรได้บ้าง? …​ แต่มันก็นิดนึงอะ อย่างน้อยสำหรับคนที่เค้าไม่มี เค้าก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นเงินไง แต่ถ้าสำหรับคนที่เค้าแบบพอมีก็อาจจะแบบ เฮ้ย! สี่ร้อยนี่มันน้อยมากเลยนะ ถ้าเทียบกับแบบสี่ร้อยบาทเรากินข้าวมื้อนึง วันนึงสิบยูโร มันหมดแล้วนะ

(พี่บอลเสริม : เคเอฟซีสองมื้อ)

เออจริง แล้วมันอยู่ได้สำหรับเด็กคนนึง ๆ เลยนะ เดือนนึงเนี่ย อันล่าสุดเลยที่พี่เห็น มีพี่ปลายเค้าเขียนมาหา คือเค้ามีคอนแทคเยอะ เค้าสามารถหาเด็กเพิ่มให้เราได้ แล้วเค้าก็ส่งรายละเอียดมาด้วยหกคน พี่ก็อ่านคร่าว ๆ เห็นแล้วแบบอึ้งมากอะว่ายังมีแบบนี้อยู่อีกเหรอ คือพ่อแม่ได้เงินเดือนรวมกัน เดือนนึงประมาณพันสอง … พันสองจริง ๆ เลขศูนย์ไม่ได้หาย

(พี่บอลถาม : เค้าทำอะไรอะ?)

เค้าอยู่ทางเหนือ เหมือนเป็นหมู่บ้านอยู่บนดอยอะ แล้วก็น่าจะอารมณ์แบบรับจ้างทั่วไป นั่งอ่านแล้วก็แบบ เฮ้ย! เลขศูนย์ตกรึเปล่า? พ่อแม่ทำงานนะ ไม่ใช่คนเดียวด้วย … คือเป็นเด็กดอยอะ แล้วพอเห็นบ้านแล้วรู้เลยว่าเค้าขาดจริง ๆ

(พี่บอลเสริม : แต่คนแถวนั้น ถ้าเค้าจะหาอะไรกิน เค้าก็คงจะปลูกเอง หาอะไรรอบ ๆ กินเนอะ)

ใช่ ๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรอย่างอื่นไง พันสองคงจะมาแบบ ช่วยค่าไฟอะไรอย่างนี้ … แต่ก็ไม่รู้นะว่าไฟมีหรือเปล่า

(พี่โก้เสริม : ที่ส่งไป ก็ให้น้องซื้ออุปกรณ์การเรียนอะไรอย่างนี้เนอะ)

ใช่ ๆ คืออันนี้เรายังไม่ได้ให้นะ แต่เรากำลังจะให้ เดี๋ยวจะตอบรับเค้าไป นี่กำลังคุยกับคณะกรรมการอยู่

ถ้าจากรายได้ครอบครัวเดือนละพันสอง แล้วให้เพิ่มอีกสี่ร้อยนี่เยอะมากเลยนะครับ

หนึ่งส่วนสามค่ะ … หนึ่งส่วนสามของรายได้ครอบครัวที่พ่อแม่ทำได้เลยนะ พี่เห็นแล้วแบบ เฮ้ย! มีด้วยเหรอวะแบบนี้ อันเนี้ยเห็นละช็อคมากจริง ๆ

(พี่บอลเสริม : อย่างน้อยมันก็เป็นค่ารถให้เค้าได้นั่งไป เพราะบางคนแบบเดินไปโรงเรียนสิบกิโลอย่างเงี้ยค่ะ ถ้าเราสนับสนุนค่ารถเค้าได้ ก็อาจจะสะดวกขึ้นมา)

(พี่โก้เสริม : มันช่วยเต็ม ๆ ไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ให้เยอะใช่ไหม แต่เราก็อยากจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่เขาส่วนหนึ่ง เพราะว่าเด็กทั้งหมด โรงเรียนทั้งหมดที่เราสนับสนุนอยู่ก็เป็นโรงเรียนที่เรียกว่าค่อนข้างไม่พร้อม พ่อแม่เด็กทั้งหลายก็อาจจะไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือได้เต็มที่ เราก็เหมือนไปแบ่งเบาภาระเค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้)

แล้วก็เคยมีเด็กบางคนที่เคยได้ยินประวัติมา พ่อแม่ไม่อยู่ อยู่กับตากับยายอะไรอย่างนี้ ก็ดูว่าหลาย ๆ คนลำบากอยู่เหมือนกัน

(พี่โก้เสริม : ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กอยู่)

คือเรารู้แล้วก็แบบ … ตาย ๆๆ เดี๋ยวนี้ยังมีแบบนี้อยู่อีกเหรอ อะไรอย่างงี้

พูดถึงเด็กบางคนที่อยู่กับตายาย ผมเคยได้ยินว่ามีอยู่เรื่องนึง …

อ๋อ ใช่ ๆ มีน้องนักเรียนหญิงคนนึง เค้าเรียนม.ต้นอยู่ที่โรงเรียนเจาะไอร้อง ที่นราธิวาส คือน้องคนนี้เนี่ยสมัครขอรับทุนของสมาคมบริจาค แล้วก็ได้คัดเลือกให้รับเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ขั้นตอนต่อไปคือน้องจะต้องเปิดบัญชีเพื่อที่ทางสมาคมจะได้โอนเงินให้น้องได้อะค่ะ คุณครูที่ดูแลโครงการนี้ให้ก็เลยพาน้องไปเปิดบัญชี แต่ปรากฎว่าน้องเปิดบัญชีไม่ได้เพราะน้องยังไม่มีบัตรประชาชน คุณครูเลยช่วยเป็นธุระไปที่อำเภอ คือไปทำเรื่องให้เด็กคนนี้มีบัตรประชาชนอะค่ะ แต่พอไปถึงปรากฏว่าทำไม่ได้อีก เพราะขาดเอกสารอะไรสักอย่าง พนักงานเลยต้องค้นข้อมูลของแม่น้องเพื่อจะได้ติดต่อ คือน้องคนนี้เค้าอยู่กับญาติตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ ไม่รู้เลยว่าพ่อแม่ไปไหน เอกสารติดตัวก็มีแค่สูติบัตร

หลังจากนั้นเนี่ย คุณครูเลยโทรไปหาแม่ของน้อง ปรากฏว่าแม่น้องตกใจมาก แล้วก็เลยเล่าให้ฟังว่าเค้าพยายามตามหาลูกเค้ามาสิบกว่าปีแล้ว แต่ก็หาไม่เจอ จนเค้าท้อคิดว่าคงไม่ได้เจอลูกแล้วอะค่ะ เค้าก็เลยดีใจมากที่ได้ข่าวคราวของลูกอีกครั้งนึง สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้กลับเจอกันอีกครั้งค่ะ

โอ้ ดรามาติกมาก

ใช่ค่ะ คือเราดีใจมากเลยนะที่มีส่วนทำให้แม่ลูกมาเจอกันได้อะ

อืม … ก็คือตอนนี้พี่กำลังจะหมดวาระใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ กำลังจะหมดวาระแล้ว ถ้ามีคนมาสานต่อจะดีใจมาก (หัวเราะ) เพราะพี่ทำมาสองปีแล้วไง พี่ว่ามันก็อาจจะไม่ Fresh อาจจะไม่แอคทีฟพอที่จะทำต่ออะไรอย่างเงี้ย ถ้าสมมติมีคนมาทำต่อ แล้วปีหน้าหรือปีอื่นให้พี่กลับมาอีกก็ยังจะโอเค แล้วก็อยากให้รุ่นน้องเข้ามาทำบ้าง เพราะอย่างตอนแรกที่พี่ได้ไม่ได้ทำอะ แค่ช่วยงานก็ยังแบบ เอ้ย โครงการมันดีเนาะ แต่ยังไม่ได้ลงมาเห็นจุดเล็กจุดน้อยแบบนี้ คือพอมาทำแล้วแบบ … มันดีอะ ได้ไปเห็นเด็ก ได้ไปเจอเด็กอะไรอย่างนี้

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พี่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับสมาคม

อืม ก็อย่างแบบ เด็กที่ยากจนจริง ๆ สมัยนี้มันก็ยังมีอยู่นะ

ในฐานะที่ทำงานกับสมาคมบริจาคมานาน พี่เห็นว่าอนาคตของสมาคมมันจะไปทางไหนบ้างครับ?

พี่ว่ามันน่าจะเดินต่อไปนะ เพราะมันก็มีเด็กมาเรียนที่นี่เรื่อย ๆ แล้วมันก็เป็นโครงการที่ดีค่ะ แล้วน้อง ๆ เค้าก็คลุกคลีกันอยู่ในนี้แหละ พี่ก็เห็นเด็กหลาย ๆ คนมีแววที่จะเข้ามาสานต่อ คือก็ได้น้อง ๆ มาช่วยทำนี่แหละ ไม่งั้นก็คงอยู่ไม่รอด พี่ว่าพี่เองคนเดียวก็ทำไม่ไหวหรอก

ถ้าเกิดใครอ่านบทสัมภาษณ์ แล้วสนใจจะเข้ามาร่วม หรือว่าช่วยเหลือสมาคมบริจาค สามารถทำยังไงได้บ้างครับ?

ดีเลยค่ะถ้าเป็นอย่างนั้น คือมันก็มีหลายอย่าง เช่นเรื่องการหาคอนแทคที่เมืองไทย คือเราน่ะอยากให้ทุนเพิ่ม เพราะว่าเราจัดกิจกรรมเรื่อย ๆ มีเงินสะสมมาเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือเราหาทุนได้ไม่เยอะเท่าไร ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่ คอนแทคไม่เยอะ สิ่งที่ทุกคนช่วยกันได้ คือช่วยกระจายข่าวออกไป หรือว่าหาคนที่เรารู้จัก แล้วก็ไว้ใจได้ แล้วก็เอาเงินเนี่ยไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้น้อง ๆ ที่เมืองไทย แล้วก็เรื่องการประสานงานที่นี่ ถ้ามีน้อง ๆ สนใจอยากมาทำ เช่นทำเรื่องทุน หรือว่าช่วยจัดงาน มันก็ดีค่ะ ก็จะได้เข้ามาเห็นแบบว่า เฮ้ย! โครงการนี้มันก็ดี แล้วก็จะได้สานต่อกันต่อไปข้างหน้าด้วย

(พี่โก้เสริม : ยินดีต้องรับคนที่จะมาช่วยงานทุกคนอยู่แล้วนะ)

ใช่ หรือว่าจะมาเป็นประธานก็ได้ค่ะ ยินดีมากเลยค่ะ

(พี่โก้เสริม : มาวางนโยบาย หาไอเดียใหม่ ๆ อะไรพวกนี้)

มอบมง ๆ

ใช่ ๆ สายสะพายแล่งด้วยค่ะ (หัวเราะ) พี่ยินดีมากเลยที่จะมีคนมาทำงานต่อ พี่ว่าทุกคนทำได้อะ เพราะว่างานของบริจาคมันไม่เยอะเหมือนงานของ ส.น.ท.ย. มันไม่ใหญ่เท่า มันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มาก เหมือนว่าโครงการที่เราจะทำ มันก็ทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ แต่ที่ทำเรื่อย ๆ ก็คือให้ทุนการศึกษาอย่างนี้ล่ะค่ะ

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงคนอ่านไหมครับ?

ใครสนใจอยากมาเป็นประธานก็เชิญนะคะ (หัวเราะ)

…..

สุดท้ายนี้ ทุกท่านสามารถติดตามงานดี ๆ ของสมาคมบริจาคได้ที่ Facebook Group : Borijak และถ้าหากถ้าท่านใดอยากจะสนับสนุนทางสมาคม ในการสมทบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนด้อยโอกาสในเมืองไทย สามารถโอนเงินมาได้ที่บัญชี … หรือติดต่อทางอีเมลได้ที่ borijak.info@gmail.com นะครับ