ทำไม #คนไทยอยู่ที่ไหนต้องได้โหวต ?

ทราบกันหรือไม่ ว่าร่างพรบ.ประชามติฉบับใหม่อาจกำลังจะทำให้คนไทยในต่างประเทศเสียสิทธิในการออกเสียงประชามติ!

ประชามติสำคัญกับเรายังไง? เรื่องมันเป็นมายังไง? และเราจะทำอะไรต่อบ้าง? สำหรับข้อสงสัยเหล่านี้ สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้เลยครับ

ประชามติสำคัญกับเรายังไง?

ประชามติเป็นกระบวนการที่ให้โอกาสพวกเราที่เป็นเจ้าของประเทศ ได้ใช้สิทธิออกเสียงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในประเทศโดยตรง รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการทำประชามติได้ในสองกรณี ก็คือ

1. กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเรื่องสมควรจะถามความคิดเห็นประชาชน (มาตรา 166)

2. กรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบางจำพวก เช่นเกี่ยวข้องกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อร่างแก้ไขนี้ผ่านสภาแล้ว ก็จะต้องนำมาให้ประชาชนลงประชามติด้วย (มาตรา 256 (8))

กรณีที่อาจจะมองได้ว่าสำคัญเป็นพิเศษในช่วงนี้ก็คือกรณีที่สอง เพราะว่าในขณะนี้ทางรัฐสภากำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตั้ง สสร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น (ก็คือแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง) ซึ่งกรณีนี้ในทางกฎหมายว่าเป็นการ “แก้ไขวิธีแก้ไข”​ รัฐธรรมนูญ จึงต้องทำประชามติก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้ได้

นั่นหมายความว่าถ้าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ประเทศไทยก็อาจจะมีการจัดประชามติในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นประชามติที่ชี้ชะตาว่าเราจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั่นเอง 

นอกจากนี้ เราอาจจะยังได้เห็นประชามติที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากสองกรณีข้างต้น นั่นก็คือการออกเสียงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 โดยจะเป็นการตัดสินว่าร่างที่จะถูกร่างขึ้นจะได้นำไปใช้เป็นกฎกติกาสูงสุดของประเทศหรือไม่ ซึ่งก็ถือเป็นประชามติที่สำคัญไม่แพ้กัน

ทำไมคนไทยในต่างแดนถึงควรได้ลงประชามติ?

คนไทยในต่างประเทศจำนวนมากแม้ตัวจะอยู่ไกล แต่ก็ยังมีใจผูกพันกับความเป็นไปของสังคมไทยเสมอ นักเรียนหลายคนมีความมุ่งมั่นที่เรียนจบแล้วจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด คนทำงานอีกไม่น้อยทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้ครอบครัวที่เป็นที่รักในประเทศไทยได้ลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และควรมีสิทธิในการตัดสินความเป็นไปของประเทศเหมือนคนไทยคนอื่นๆ

ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศกว่า 1.3 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับประชากรของจังหวัดใหญ่ๆ อย่างสมุทรปราการทั้งจังหวัด จึงถือเป็นผู้ลงคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ที่ไม่อาจละเลยได้

การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในต่างประเทศเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปอย่างในช่วงต้นปีที่แล้ว ที่คนไทยในต่างแดนสามารถเลือกผู้แทนได้โดยการลงคะแนนทางไปรษณีย์ นอกจากนี้การลงประชามติในต่างประเทศยังมีข้อดีในเชิงการบริหารจัดการเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง คือนอกจากจะเป็นการลงคะแนนที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแล้ว ยังอาจสามารถนับคะแนนได้ในแต่ละประเทศต้นทาง ไม่ต้องส่งบัตรเลือกตั้งกลับมากระจายตามแต่ละหน่วยเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนตามเขตในประเทศไทยอีกด้วย

ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น?

นอกจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับประชามติก็คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” (พรป. ประชามติ) ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ออกคู่มากับรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ กำหนดไว้ เช่นเมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้ว ก็มีพรป.ประชามติ พ.ศ. 2552 ตามมา เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ นอกจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นข่าวแล้ว รัฐสภายังเตรียมที่จะพิจารณาพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับใหม่ในเร็ววันนี้อีกด้วย รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ยื่นร่างนี้เข้าสู่สภาได้อธิบายเหตุผลว่า เนื่องจากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 แล้ว ก็ควรที่จะมีพรบ.ประชามติฉบับใหม่ที่อิงกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการจัดทำ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้ลงนามส่งร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา การทำประชามติครั้งต่อๆ ไป รวมทั้งการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อธิบายไปในตอนต้น ก็จะมีเงื่อนไขเป็นไปตาม พรบ.ประชามติฉบับนี้นั่นเอง

ปัญหาคืออะไร?

เมื่อตรวจสอบเนื้อหาในส่วนที่คล้ายกันของ ร่างพรบ.ประชามติฉบับใหม่ ที่เข้าสู่สภา (มาตรา 37) เทียบเคียงกับ พรป.ประชามติฉบับเดิม คือฉบับปี พ.ศ. 2552 (มาตรา 26) แล้ว พบว่าถ้อยคำที่พูดถึงการใช้สิทธิของ “ผู้ที่มีถิ่นที่อยูนอกราชอาณาจักร” ถูกตัดหายไปทั้งหมด

ด้วยเนื้อหาที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ จึงนำมาสู่ข้อกังวลอย่างมากว่าคนไทยในต่างแดน อาจเสียสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยในการออกเสียงประชามติครั้งสำคัญๆ ที่อาจตัดสินอนาคตประเทศ 

อนึ่ง ในการลงประชามติสองครั้งที่ผ่านมา คือประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (อิงตาม พรป. ประชามติ พ.ศ. 2541) และประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (อิงตาม พรบ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อประชามติครั้งนั้นโดยเฉพาะ) คนไทยในต่างประเทศก็ไม่ได้รับโอกาสให้ลงคะแนนเสียง พรป.ประชามติ พ.ศ. 2552 เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองสิทธิการลงคะแนนของคนไทยในต่างประเทศ น่าเสียดายที่กฎหมายฉบับนี้ไม่เคยถูกบังคับใช้จริง และกำลังจะถูกแทนที่ด้วย พรบ.ฉบับใหม่ที่ไม่มีเนื้อหาในส่วนนี้

เราอยากเรียกร้องอะไร?

เพื่อยืนยันหลักการที่ว่า #คนไทยอยู่ที่ไหนต้องได้โหวต เราในนามกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ โดยสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส กลุ่มนักเรียนไทยในเบลเยียม กลุ่มนักเรียนไทยในไต้หวัน ชมรมนักเรียนนักศึกษาไทยในโปแลนด์ และกลุ่มนักเรียนไทยในสวีเดน จึงได้ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขเนื้อหาร่าง “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …” โดยเพิ่มถ้อยคำยืนยันสิทธิการลงประชามติของคนไทยที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร อย่างน้อยที่สุดสำหรับกรณีที่มีการออกเสียงประชามติทั่วราชอาณาจักร

นอกจากนี้เรายังต้องการสร้างบรรทัดฐานว่า การลงประชามติระดับชาติครั้งต่อๆ ไป ไม่ว่าจะอ้างอิงตามกฎหมายฉบับใดในอนาคต จะต้องให้คนไทยในต่างประเทศมีสิทธิออกเสียงด้วย

เรายืนยันว่าสิ่งที่เราเรียกร้องไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกฝักฝ่ายหรือเลือกข้าง แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิให้กับคนไทยในต่างประเทศทุกคน ไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหน พื้นเพแตกต่างหลากหลายอย่างไร เป็นนักศึกษา นักวิจัย ผู้ใช้แรงงาน เจ้าของกิจการ แม่บ้าน พนักงานสถานทูต หรือบทบาทหน้าที่อื่นใด เราเชื่อว่าพลเมืองไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีสิทธิที่จะเปล่งเสียงเพื่อตัดสินอนาคตของประเทศอย่างไม่แตกต่างกัน

จดหมายเปิดผนึก

จดหมายเปิดผนึก-คนไทยอยู่ที่ไหนต้องได้โหวต_Final-2

รายงานข่าวจากสื่อมวลชน

เว็บไซต์รัฐสภา
มติชนสุดสัปดาห์

Attachments