โครงการรวบรวมเอกสารและจัดตั้งหอจดหมายเหตุนักเรียนไทยในเยอรมนี

หลักการและเหตุผล

สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในพระบรมราชูปถัมป์ (ชื่อเดิม สมาคมนักเรียนไทยในรัฐเยอรมัน ในพระบรมราชูปถัมป์) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างนักเรียนไทย รวมทั้งชาวไทยและผู้คนหลากหลายชนชาติในประเทศเยอรมนี 

ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว เอกสารหลักฐานชิ้นต่างๆ ที่ได้ถูกผลิตขึ้นมา เช่นจุลสารเพื่อนไทยที่เคยออกโดย ส.น.ท.ย. นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่สามารถใช้อ้างอิงถึงกิจการของกลุ่มนักศึกษาไทยในเยอรมนีและทวีปยุโรป ตลอดจนให้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุดความคิดและความสนใจของสมาชิกสมาคมฯ ในแต่ละยุคสมัย หลักฐานเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องสร้างแรงบันดาลใจและความเข้าใจในตนเองให้กับนักเรียนไทยในเยอรมนียุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นตลอดประวัติศาสตร์กว่า 60 ปี ส.น.ท.ย. ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของประเทศไทย เช่น ศ.ดร. ปรีดี พนมยงค์, อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ ทั้งในทวีปยุโรปและในประเทศไทย อาทิ การจัดกิจกรรมร่วมกันของกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรป การเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น จึงอาจพูดได้ว่าเรื่องราวของสมาคมในแต่ละยุคสมัย ก็คือภาพสะท้อนอันทรงคุณค่าถึงความเป็นไปของประเทศไทยและโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และเพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมองค์กรของสมาคมฯ มิให้ขาดช่วง คณะผู้ดำเนินงานจึงต้องการรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ จุลสาร ภาพถ่ายเก่า รวมถึงเอกสารอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เคยมีการรวบรวมมาก่อน เพื่อเรียบเรียง จัดระบบเป็นหอจดหมายเหตุและคลังบทความ ของ ส.น.ท.ย. เพื่อให้นักเรียนไทยในเยอรมนีรุ่นหลัง รวมทั้งผู้สนใจภายนอก สามารถเข้าสืบค้นเพื่อทำวิจัยหรือเพื่อเรียนรู้ถึงความเป็นมาในอดีตได้อยากสะดวกครบครันต่อไป

วิธีการดำเนินงาน

  1. จัดทำทำเนียบนายกสมาคมฯ ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเผยแพร่ในหน้าเว็บไซต์สมาคม โดยเปิดช่องทางให้ผู้มีข้อมูลสามารถติดต่อขอเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลได้
  2. เปิดรับเอกสาร วารสาร ภาพถ่ายเก่า และบทความที่เกี่ยวข้องจากนร.เก่า ทั้งโดยการประกาศเปิดรับทางสื่อต่างๆ ของสมาคมฯ และการติดต่อโดยตรงไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  3. สืบค้นข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่างๆ เช่นอินเตอร์เน็ต หรือหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ
  4. จัดระบบข้อมูลที่ได้รับ เพื่อจัดทำเป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์ ให้ผู้สนใจสามารถเข้าสืบค้นได้โดยง่าย
  5. จัดทำประวัติสมาคมฉบับทางการ เผยแพร่ในหน้าเว็บไซต์ “รู้จักสมาคม”
  6. เรียบเรียง/สังเคราะห์ ข้อมูลจากเอกสารที่ได้ เป็นบทความเกี่ยวกับสมาคมในอดีตเป็นหมวดหมู่ตามความเหมาะสม

ทางคณะผู้ดำเนินการ จึงขอความอนุเคราะห์เอกสาร วารสาร ภาพถ่ายเก่า คำบอกเล่า หรือหลักฐานอื่นใด ที่ท่านคิดว่ามีประโยชน์ต่อการเติมเต็มความทรงจำเกี่ยวกับสมาคมฯ และชุมชนนักเรียนไทยในประเทศเยอรมนี โดยสามารถกรอกข้อมูลและแนบไฟล์ในแบบฟอร์มด้านล่างนี้ หรือติดต่อคณะกรรมการชุดปัจจุบันของสมาคมได้ที่อีเมล info@tsvd.org

ขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง