Person of the Month มิถุนายน 2560 : จิราภรณ์ เดชคุ้ม

บทสนทนานี้เริ่มต้นขึ้นบนถนน Autobahn ที่มุ่งขึ้นเหนือจากเมืองคาร์ลสรูเออสู่แม่น้ำโมเซลในทริปเที่ยววันอีสเตอร์ที่ผมตกลงจะเข้าร่วมเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนล้อหมุน

ในรถคันเดียวกับผมคือจิราภรณ์ เดชคุ้ม หรือที่ผมเองเรียกเป็นการส่วนตัวว่า “พี่จิ” หญิงสาวท่าทางมุ่งมั่นทะมัดทะแมงผู้นี้เป็นที่คุ้นเคยของน้อง ๆ ในเมืองคาร์ลสรูเออในฐานะที่เป็นเสาหลักให้กับทุกคนในหลาย ๆ เรื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นชื่อเธอเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของกรรมการส.น.ท.ย.ในวาระนี้ และยิ่งไปกว่านั้น พี่จิยังสวมหมวกอีกใบในฐานะนายกคนปัจจุบันของ “สมาคมบริจาค” (Borijak Verein) อีกด้วย

ผมเองก็เคยได้จับพลัดจับผลูเข้าไปช่วยงานของสมาคมบริจาคอยู่บ้าง และก็ได้พบว่าสมาคมของนักเรียนไทยสมาคมนี้มีเรื่องราวหลาย ๆ อย่างที่ควรจะถูกเล่าต่อไป ดังนั้นในโอกาสที่พี่จิกำลังจะหมดวาระลงในอีกไม่นานนี้ ผมจึงขอถือโอกาสฉกฉวยเวลาระหว่างนั่งรถไปกับเธอ (พร้อมด้วย “พี่โก้” ​และ “พี่บอล” อีกสองเรี่ยวแรงสำคัญของสมาคม) พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เคยเป็นมา และจะเป็นไปของสมาคมบริจาค

สมาคมบริจาคคืออะไร? ได้ให้อะไรกับสังคมไปแล้ว? และเราจะให้อะไรกับสมาคมนี้ได้บ้าง? ไปพบกับบทสัมภาษณ์ของพี่จิแห่งสมาคมบริจาค Person of the Month คนแรกของเราได้ ณ บัดนี้ครับ

…..

คือพี่ก็เป็น …

พี่เป็นคนค่ะ ใช่ … พี่เป็นคน

(ตั้งสติใหม่) คือพี่ก็เป็นนายกสมาคมบริจาคคนปัจจุบันใช่ไหมครับ?

ใช่ค่ะ เป็นมาสองปีแล้วค่ะ

พอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ ว่าพี่ไปไงมาไงถึงมาอยู่ที่เยอรมนี แล้วมารู้จักสมาคมบริจาคได้ยังไง

พี่มาเรียนตรีที่นี่ค่ะ ที่คาร์ลสรูเออนี่แหละ แล้วก็อยู่ยาวจนต่อโท จนตอนนี้ทำงานแล้ว ตอนที่มาแรก ๆ ก็ได้เจอรุ่นพี่ที่อยู่ไฮเดลแบร์ก คาร์ลสรูเออ ละก็มานน์ไฮม์ เขาก็ทำงานเป็นกลุ่มก้อนกันอยู่แล้ว พี่เข้ามาพร้อมกับพี่บอล พี่โก้ แล้วก็เด็กคนอื่น ๆ นี่แหละ แบบเข้าไปแจมนิดหน่อย ยังเด็กก็ไม่ได้ทำอะไรเยอะ เหมือนเข้าไปรับรู้ว่าบริจาคเป็นมายังไง ทำอะไรบ้าง อะไรอย่างนี้แหละค่ะ

ตอนนี้คนอ่านน่าจะเริ่มงงแล้วว่าตกลงสมาคมบริจาคนี่มันคืออะไรกันแน่

ตอนแรกเริ่มเลย มันมาจากกลุ่มนักเรียนจากทั้งสามเมืองที่บอกมา ไปช่วยงานสถานทูตรับเสด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทีนี้ทางสถานทูตเขาก็มีเงินก้อนหนึ่งก็เลยให้นักเรียนที่ไปช่วยงานค่ะ

แล้วพี่ ๆ กลุ่มที่ไปช่วยงานเขาก็แบบ “เอ๊ … ได้เงินมาก้อนหนึ่ง เราจะเอาไปทำอะไรดีน้า? ที่มันเป็นประโยชน์” อะไรประมาณนี้ เขาก็เอาไปซื้อวารสาร ส่งไปให้นักเรียนที่เมืองไทยเป็นเวลาหนึ่งปี ตามจำนวนเงินนั้น

นี่คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มบริจาค?

ใช่ แล้วพอมันหมดปี เงินที่ได้มาก็หมดไป แต่พี่ที่อยู่ในกลุ่มตรงนั้นก็คุยกันว่าโครงการมันดี อาจจะลองทำอะไรแบบนี้เพิ่ม เขาก็เลยเกิดไอเดียว่ารวบรวมเงินกันไหม? ไปให้ทุนการศึกษาน้องที่เมืองไทย เพราะว่าส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กทุนเนอะ ตอนนั้นเป็นเงินมาร์กอยู่เลย พี่ก็มาไม่ทันนะ … เขาก็บอกว่าคนละห้ามาร์กนะแต่ละเดือน

เขาก็รวบรวมเงินแล้วก็เอาไปสมทบทุนการศึกษา ติดต่อไปทางมูลนิธิของ ดร. เทียม โชควัฒนา ทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ เป็นเวลาน่าจะสิบกว่าปีได้ ให้เงินช่วยสมทบไปเยอะ ส่งนักเรียนจบไปหลายคนมาก

เดี๋ยวนี้ยังติดต่อกับทางมูลนิธินี้อยู่ไหมครับ?

อ๋อ เปล่าค่ะ

คือตอนนี้เราทำเองแล้ว?

ใช่ค่ะ จริง ๆ ผ่านทางมูลนิธิมันสะดวกมากเลยนะ เพราะเราไม่ต้องมาจัดการเรื่องคัดเด็ก เรื่องเอกสาร หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง คือเราก็ให้ทางมูลนิธิจัดการไป แต่ว่าทีนี้ที่เราต้องทำเองอย่างนี้ เพราะหลังจากที่เราเป็นสมาคมปุ๊บ ทุกอย่างมันก็ยุ่งยากวุ่นวายมากเลย เราต้องทำ Protocol รายรับ รายจ่ายของทุกปี ส่งให้กับ Finanzamt แล้วทีนี้ถ้าเราส่งเงินไปสมทบทุนกับมูลนิธิ เขาไม่ได้ออกใบเสร็จให้เรา เราก็เลยไม่มีเอกสารยืนยันว่าเราเอาเงินออกไป คือเขาออกให้เราไม่ได้

มันก็เลยเป็นปัญหามาอยู่ประมาณสามสี่ปีได้ ช่วงหลังจากที่มาเป็นสมาคม เพราะว่าเราไม่มีคอนแทคที่เมืองไทย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปหาทุนยังไง ไม่รู้จะติดต่อยังไง ตั้งแต่สมัยแรก ๆ เราก็พยายามที่จะกระจายเงินออก แต่ก็ทำไม่ได้ ติดต่อเด็กไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะให้โรงเรียนไหนอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วคือทุกคนทางนี้ก็ยุ่งเรื่องเรียนด้วย ไม่มีใครว่างมาจัดการตรงนี้เท่าไร

แต่ตอนนั้นเราก็มีโครงการอื่นเสริมขึ้นมา เช่นซ่อมแซมโรงเรียนที่น้ำท่วม สร้างอาคาร สื่อการเรียนการสอนอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ประมาณนี้แหละ คร่าว ๆ ช่วงเริ่มต้น

พี่คลุมไปหลายคำถามมาก ผมเตรียมคำถามมานี่แทบไม่ต้องใช้เลย พี่อธิบายเองหมด

(ทุกคนในรถหัวเราะ) ยาวค่ะ ๆ คือพี่ท่องโบรชัวร์มาเลยค่ะ ที่เล่าให้ฟังเมื่อกี๊ (หัวเราะอีก) เป๊ะ ๆ ไม่ต้องไปอ่านแล้ว ตามนี้เป๊ะเลยค่ะ

ก็คือสมาคมบริจาคเนี่ย ถ้าเกิดสรุปง่าย ๆ ก็คือจะมีการรวบรวมเงินจากที่เยอรมนี แล้วเอาไปเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เมืองไทย อย่างนั้นใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ เมื่อก่อนเราสมทบทุนกับมูลนิธิแต่ปัจจุบันเราส่งตรงให้เขาเลย

แล้วทางสมาคมมีวิธีที่จะหาเงินมาช่วยในส่วนนี้ยังไงบ้างครับ?

จริง ๆ ก็แล้วแต่สมัย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเดิม ๆ ก็อปกันมาเป๊ะ ๆ

(พี่โก้เสริม : โครงการไหนที่มันดูโอเคก็เอามาทำต่อ)

ใช่ ๆ อย่างตั้งแต่สมัยแรก ๆ เลยค่ะ ก็มีโครงการออกไปจัดคอนเสิร์ตที่มีปีละครั้ง แล้วก็ไปช่วยงาน Bad Homburg (งานแสดงวัฒนธรรมไทยประจำปี) หรืองานเล็ก ๆ งานอื่น แล้วก็ตั้งกล่องรับบริจาคอะไรประมาณนี้ค่ะ

ตัดมาช่วงที่พี่เป็นนายก ที่ทำงานช่วงประมาณปีสองปีนี้อะครับ มีกิจกรรมอะไรเด่น ๆ บ้างอะครับ? ที่พอจะเล่าให้ฟังได้

สมัยที่พี่เป็นอะเหรอ? เอาตั้งแต่เริ่มเลยดีกว่าเพราะจริง ๆ มันก็โครงการคล้าย ๆ กันกับตั้งแต่ตอนพี่เข้ามาช่วย อย่างเช่น ไปช่วยงานกงศุลสัญจร (กิจกรรมที่ทางสถานกงสุลไปออกเอกสารให้คนไทยแต่ละที่) ทำมาทุกปีเลยตั้งแต่พี่เข้ามา

แล้วก็ยังมีอย่างอื่น อย่างเช่นโครงการเหรียญแดง คือก็จะมีหลายคนที่สะสมเหรียญแดง (เหรียญ 1-5 เซนต์) แล้วขี้เกียจใช้เพราะมันเยอะ เขาก็เลยรวบรวมมาให้กับบริจาค แล้วก็มีขายของมือสอง … สนุกมาก คือมันก็มีนักเรียนเยอะนะคะที่ออก ๆ เข้า ๆ มีของที่ไม่ได้ใช้แล้วยังสภาพดี ก็เลยรวบรวมมาให้พวกเราเอาไปขายที่ไฮเดลแบร์ก ชตุทท์การ์ท อันนี้คือที่ไปบ่อย ๆ นะคะ ขายที่ตลาด Flohmarkt เลย

แล้วที่ผมเคยได้ยิน ก็จะมีงานแข่งแบดมินตัน แล้วก็งานคอนเสิร์ตด้วยใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ แข่งแบด นี่คือสนองความต้องการตัวเองมากกว่า (หัวเราะ)

(พี่โก้เสริม : แข่งแบดนี่คือจะเป็นการประชาสัมพันธ์สมาคมให้เป็นที่รู้จักมากกว่า)

ประมาณนั้น คือที่จริงพี่ชอบเล่นกีฬาก็เลยลองจัดอะไรแนวนี้ดูบ้าง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักเรียนค่อนข้างดี แล้วตอนนั้นก็มีท่านอทศ. (นายชินพันธุ์ ฤกษ์จำนง อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการศึกษา) ก็เลยทำให้ผู้ใหญ่คนอื่น ๆ รู้จักเรามากขึ้น

แล้วพอหลังจากนั้นก็มีการจัดงานคอนเสิร์ต (คอนเสิร์ตบริจาค “พี่ร้องน้องรับ” ณ เมืองมานน์ไฮม์) คือเมื่อก่อนเขาก็เคยจัดกันอยู่เรื่อย ๆ แต่มันก็ห่างหายมานานมาก รอบนี้ได้รับการตอบรับจากพี่ ๆ แม่บ้านที่มานน์ไฮม์ดีมาก แล้วนักเรียนที่เมืองใกล้ ๆ ก็ดีมากเลย น้อง ๆ ช่วยเหลือเต็มที่มาก เรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สมาคมได้ดีเลย

คนที่ไม่ได้ไปอาจจะนึกภาพไม่ออกนะครับ ว่าคอนเสิร์ตบริจาคมันหน้าตาเป็นยังไง พอจะเล่าบรรยากาศในงานสั้น ๆ ได้ไหมครับ

หลัก ๆ มันก็จะมีดนตรีสดจากน้อง ๆ นักเรียนด้วยกันเองนี่ล่ะค่ะ แล้วก็มีการตั้งกล่องรับบริจาค มีการโฆษณาบริจาคไปในตัว ให้คนอื่นได้รู้ว่าบริจาคคืออะไร มีอยู่มานานขนาดนี้แล้วเหรอ ประมาณนั้น

แล้วในงานเราก็มีอย่างอื่นเสริมขึ้นมาเพิ่มไม่ให้มันดูน่าเบื่อ เช่นสอยดาว ละก็ประกวดร้องเพลง อันนี้นี่หลายคนสนุกมาก มีคนประกวดประมาณ 7-8 คนได้ค่ะ แล้วก็ในการประกวดร้องเพลงเราก็จะมีการหารายได้เสริม เช่นขายพวงมาลัย เพราะว่าคนที่ร้องเพลงจะได้รับพวงมาลัย ทำนองว่าถ้าใครจะไปคล้องก็ซื้อไป เราก็ได้รายได้มาจากตรงนั้นส่วนนึง สอยดาวก็ได้รายได้ แล้วก็ค่าเข้าด้วยค่ะ … ใช่ ๆ แล้วก็มีอาหารและเครื่องดื่มด้วย

โดยรวมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ค่อนข้างเกินความคาดหมายมาก … มากจริง ๆ ค่ะ ก็ได้น้อง ๆ นี้ล่ะ ช่วยเหลือเยอะมากเลยงานนี้ พี่บอล พี่โก้ด้วย ทุกคนเต็มที่มาก

(พี่โก้เสริม : แล้วก็พี่ ๆ ฝั่งแม่บ้านเข้ามาช่วยด้วย)

ใช่ ๆ พี่ฝั่งแม่บ้านเข้ามาช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เยอะมาก แล้วก็เฟราซอนน์ (Frau Marianne Zorn กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองชตุทท์การ์ท) นี่ก็ประจำค่ะ ผู้ช่วยหลักคนสำคัญของเรา แล้วก็ยังมีทางท่านอทศ. ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เราเหมือนกัน งานนี้สปอนเซอร์เยอะมาก

(พี่โก้เสริม : รวบรวมจากทุกฝั่งทุกแนวมาเลย)

ประมาณนั้น ๆ คือเหมือนกับว่าบริจาคนี่ คนไม่รู้จักเยอะนะ เพราะว่าค่อยทำงานใหญ่เท่าไรด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานนักเรียน ซึ่งเหมือนว่าไม่ค่อยมีเวลากัน ก็เลยไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไร

ขนาดไม่มีเวลายังจัดได้ขนาดนี้นะครับเนี่ย

(หัวเราะ) คือหลัง ๆ น้องที่คาร์ลสรูเออเยอะก็เลยมีคนช่วยเยอะไง น้องที่ชตุทท์การ์ทด้วยอะไรอย่างนี้ เหมือนเมื่อก่อนก็อยากทำ พี่หรือพี่บอลหรือคนอื่น ๆ ก็ช่วยอยู่เรื่อย ๆ แต่พอเรื่องเรียนมันหนัก เราก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้วค่ะ

อ้อ จริง ๆ เรามีคอนแทคกับทางส.น.ท.ย. มานานมาแล้วนะ เหมือนกับว่าตั้งแต่สมัยที่พี่มาแล้ว กลุ่มบริจาคก็อยู่แถวข้างล่างนี่เนอะ โซนสามเมืองสี่เมืองแถวนี้นี่แหละค่ะ แล้วทีนี้คือประธานบางรุ่นของส.น.ท.ย. ก็อยู่แถว ๆ ข้างล่างนี้ ก็พยายามที่จะช่วยให้มีพื้นที่ประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพราะเราก็อยากให้คนอื่นรู้จักมากขึ้นเนอะ มีปีหนึ่งที่ส.น.ท.ย. ให้บริจาคไปพูดในงานกีฬา ก็ทำให้มีเด็ก ๆ ในงานรู้จักเราเพิ่มมากขึ้น

ก็ถือว่ามีพัฒนาการมาได้เรื่อย ๆ

ก็ด้วยการร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายแหละพี่ว่าส.น.ท.ย.เอง พอเขารู้จักเรา เขาก็ให้บริจาคเข้าไปพูดแบบ “เฮ้ย โครงการมันดีมากเลยนะพี่” พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเด็ก ๆ รู้จักกันเยอะก็คงจะดี เพราะจะได้มีคนเข้ามาช่วยสานงานต่อไง

อันนี้เราพูดถึงฝั่งเยอรมนีไปแล้ว ทีนี้อยากถามเรื่องที่เมืองไทยบ้างอะครับ คือหลังจากที่เราได้เงินมาก็จะมีการให้ทุนการศึกษากับเด็กที่เมืองไทย แล้วคือทางบริจาคมีวิธีคิดเริ่มต้นยังไง ว่าจะให้ทุนกับใคร แล้วก็ติดต่อประสานงานกันยังไง

พอหลังจากที่เราทำโครงการเองปุ๊บเนี่ย มันก็ค่อนข้างจะหยุมหยิมรายละเอียดเยอะมากเลย อย่างเช่นตั้งแต่เริ่มต้นเลยเราก็ต้องหานักเรียน หาโรงเรียนที่เขารับผิดชอบตรงส่วนนี้ แต่ว่ามันก็ไม่ง่าย คือเราต้องได้ใบเสร็จจากโรงเรียนเพราะเราโอนเงินให้เขา จะต้องมีครูที่รับผิดชอบโครงการส่งรายงานผลให้เราทุกปี คือเอกสารมันค่อนข้างยุ่งยากมาก ถึงที่ที่ติดต่อไปเขาอยากให้ทุนการศึกษาเด็ก หาเด็กได้ แต่พอพูดถึงเรื่องเอกสารมันก็จะเริ่มเยอะ ครูที่เมืองไทยก็ค่อนข้างงานเยอะค่ะ ไม่ค่อยมีเวลาตรงนี้

ส่วนที่เราเลือกว่าโรงเรียนไหนอะไรยังไงเนี่ย พี่เลือกจากคนที่ใกล้ตัวที่เราไว้ใจได้ หมายถึงว่าคนใกล้ตัวของคนที่รู้จักอย่างนักเรียนที่อยู่หรือเคยอยู่ในเยอรมนี เพราะว่าถ้าเขามีคอนแทค มีครูหรือมีเพื่อนอะไรอย่างนี้ที่พอจะจัดการเรื่องเอกสารหลัก ๆ นี้ได้ เราก็ให้เขาช่วยเลือกนักเรียน จริง ๆ ส่วนใหญ่ก็โรงเรียนละไม่เกิน 10 ค่ะ แล้วก็ให้เขาเลือกเด็กที่ขาดแคลนจริง ๆ

ตอนนี้มีโรงเรียนอยู่ในสังกัดประมาณกี่โรงเรียนอะครับ?

ตอนนี้นั่นเหรอที่ให้ไปแล้ว (นิ่งคิด) ภาคเหนือสอง ภาคใต้หนึ่ง ตะวันออกอีกสอง … ก็ห้าโรงเรียนค่ะ

มีทั่วทุกสารทิศเลย

ใช่ เพราะมันขึ้นอยู่กับคอนแทคที่เรามี อย่างแรกเลยคือเราก็ไม่รู้นะว่าเงินที่เราให้ไปมันจะถึงหรือเปล่า ก็เลยตรวจสอบจากคนใกล้ตัว ให้เขาไปดูอีกทีว่าครูคนนี้ไว้ใจได้ อะไรประมาณนี้ เราก็จะให้เขาดูแลเรื่องตรงนี้ให้เราได้

(พี่โก้เสริม : ส่วนใหญ่ก็คนที่รู้จักกันที่เยอรมันที่กลับไปนั่นแหละ พวกพี่ ๆ ที่จบไป)

แล้วก็จะมีการให้ทุนการศึกษาเป็นรายเดือนอย่างนี้เหรอครับ?

เงินทุนที่เราให้เนี่ย ก่อนหน้านี้เราให้กันเดือนละสามร้อย แต่เมื่อปีที่ผ่านมาตอนประชุมสามัญรอบที่แล้ว เราปรับเพิ่มขึ้นเป็นสี่ร้อยบาทต่อเดือน เพราะเห็นว่าค่าครองชีพมันสูงขึ้น เมื่อก่อนเราเล็งไว้ว่าจะให้แบบน้อย แล้วกระจายหลาย ๆ ทุน แต่เหมือนว่าตอนนี้เราหาเด็กเพิ่มไม่ได้ค่ะ เพราะด้วยว่าคอนแทคเราน้อย ไม่รู้จะติดต่อใครดี ก็จัดการลำบากค่ะ

แล้วเรื่องของการคัดเลือกเด็กว่าเราจะให้ทุนใคร เราเลือกยังไง หรือว่ามีการคอนแทคกับทางโรงเรียนยังไงบ้างครับ?

ส่วนใหญ่เราได้ทางโรงเรียนเป็นคนตัดสินใจเลย ว่าเลือกเด็กคนนี้นะ คุณสมบัติของเด็ก หลัก ๆ ก็คือเราไม่เน้นเด็กที่เรียนเก่ง แต่เราเน้นเด็กที่มีความประพฤติดี ตั้งใจเรียน แล้วก็ไปเรียน … แค่นั้นเอง

ต้องเน้นคำว่า “ไปเรียน”

ใช่ “ไปเรียน” เพราะว่ามันมีจริง ๆ นะ บางคนที่แบบต้องหยุดโรงเรียน ไม่ใช่หยุดเพราะว่าอยากหยุดนะ หยุดเพราะไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ต้องทำงานที่บ้าน อะไรอย่างนี้ เราเลยต้องระบุไปว่าเอาคนที่ไปเรียน เพราะว่ามันก็มีหลายคนที่ออกจากทุนไป ได้ทุนมาปีนึงแล้วก็ออก หรือว่าต้องออกจากโรงเรียนเลย เพราะพ่อแม่ชวนไปทำงานที่อื่น หรือต้องไปทำงานที่บ้าน ช่วยส่งน้องเรียน ไม่น่าเชื่อนะว่ายังมีแบบนี้ในสมัยนี้อยู่

พี่ได้เคยไปลงพื้นที่เองบ้างไหมครับ?

ลงพื้นที่ไปเจอพ่อแม่เด็กนี่พี่ไม่เคย เคยแต่ลงไปเจอเด็ก แล้วก็ไปคุยกับเด็กเอง เมื่อปีที่แล้วนี่แหละ

เป็นยังไงบ้างครับ? คือพี่ก็จบที่เยอรมันด้วยใช่ไหม แล้วพอลงไปเจอตรงนี้ พี่เห็นความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำอะไรพวกนี้ยังไงบ้างไหม?

ถ้าแค่พูดถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนนี้กับโรงเรียนในอำเภอ มันก็ต่างเยอะมากแล้วค่ะ เพราะว่าโรงเรียนที่พี่ไปเป็นโรงเรียนที่จันทบุรี เป็นโรงเรียนติดชายแดน เขมร-ไทย ตัวโรงเรียนค่อนข้างขาดอะไรเยอะมากอะ เรื่องกีฬา โรงอาหาร ทุกอย่างมันขาดหมดเลยอะ แล้วก็เพื่อนพี่เป็นครูที่นั่น เขาอยากได้ทุนเพิ่มเพื่อเอาไปซ่อมโรงอาหาร หาเครื่องทำน้ำดื่ม หรือเรื่องอุปกรณ์กีฬาเด็กอะไรอย่างนี้ พี่ก็บอกให้เขียนโครงการมา คือพี่ว่าเขาค่อนข้างขาดเยอะอะ แล้วยิ่งเทียบกับที่เยอรมนีนี่ยิ่งไปกันใหญ่เลย ไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ

คือที่ทำงานกันตรงนี้ ก็เหมือนเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งนะครับ ที่ช่วยให้มันดีขึ้นได้

อืม มันส่วนน้อยจริง ๆ ที่ช่วยเหลือเขา เพราะว่าเด็กได้เดือนนึงสี่ร้อยบาทอะ เดือนนึงนะ คือมันแบบช่วยอะไรได้บ้าง? …​ แต่มันก็นิดนึงอะ อย่างน้อยสำหรับคนที่เขาไม่มี เขาก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นเงินไง แต่ถ้าสำหรับคนที่เขาแบบพอมีก็อาจจะแบบ เฮ้ย! สี่ร้อยนี่มันน้อยมากเลยนะ ถ้าเทียบกับแบบสี่ร้อยบาทเรากินข้าวมื้อนึง วันนึงสิบยูโร มันหมดแล้วนะ

(พี่บอลเสริม : เคเอฟซีสองมื้อ)

เออจริง แล้วมันอยู่ได้สำหรับเด็กคนนึง ๆ เลยนะ เดือนนึงเนี่ย อันล่าสุดเลยที่พี่เห็น มีพี่ปลายเขาเขียนมาหา คือเขามีคอนแทคเยอะ เขาสามารถหาเด็กเพิ่มให้เราได้ แล้วเขาก็ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กที่ขอรับทุนมาด้วยหกคน พี่ก็อ่านคร่าว ๆ เห็นแล้วแบบอึ้งมากอะว่ายังมีแบบนี้อยู่อีกเหรอ คือพ่อแม่ได้เงินเดือนรวมกัน เดือนนึงประมาณพันสอง … พันสองจริง ๆ เลขศูนย์ไม่ได้หาย

ถ้าจากรายได้ครอบครัวเดือนละพันสอง แล้วให้เพิ่มอีกสี่ร้อยนี่เยอะมากเลยนะครับ

หนึ่งส่วนสามค่ะ … หนึ่งส่วนสามของรายได้ครอบครัวที่พ่อแม่ทำได้เลยนะ พี่เห็นแล้วแบบ เฮ้ย! มีด้วยเหรอวะแบบนี้ อันเนี้ยเห็นละช็อกมากจริง ๆ

(พี่บอลเสริม : อย่างน้อยมันก็เป็นค่ารถให้เขาได้นั่งไป เพราะบางคนแบบเดินไปโรงเรียนสิบกิโลอย่างเนี้ยค่ะ ถ้าเราสนับสนุนค่ารถเขาได้ ก็อาจจะสะดวกขึ้นมา)

(พี่โก้เสริม : มันช่วยเต็ม ๆ ไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ให้เยอะใช่ไหม แต่เราก็อยากจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่เขาส่วนหนึ่ง  เพราะว่าเด็กทั้งหมด โรงเรียนทั้งหมดที่เราสนับสนุนอยู่ก็เป็นโรงเรียนที่เรียกว่าค่อนข้างไม่พร้อม พ่อแม่เด็กทั้งหลายก็อาจจะไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือได้เต็มที่ เราก็เหมือนไปแบ่งเบาภาระเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้)

แล้วก็เคยมีเด็กบางคนที่เคยได้ยินประวัติมา พ่อแม่ไม่อยู่ อยู่กับตากับยายอะไรอย่างนี้ ก็ดูว่าหลาย ๆ คนลำบากอยู่เหมือนกัน

(พี่โก้เสริม : ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กอยู่)

คือเรารู้แล้วก็แบบ … ตาย ๆๆ เดี๋ยวนี้ยังมีแบบนี้อยู่อีกเหรอ อะไรอย่างนี้

พูดถึงเด็กบางคนที่อยู่กับตายาย ผมเคยได้ยินว่ามีอยู่เรื่องนึง …

อ๋อ ใช่ ๆ มีน้องนักเรียนหญิงคนนึง เขาเรียนม.ต้นอยู่ที่โรงเรียนเจาะไอร้อง ที่นราธิวาส คือน้องคนนี้เนี่ยสมัครขอรับทุนของสมาคมบริจาค แล้วก็ได้คัดเลือกให้รับเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ขั้นตอนต่อไปคือน้องจะต้องเปิดบัญชีเพื่อที่ทางสมาคมจะได้โอนเงินให้น้องได้อะค่ะ คุณครูที่ดูแลโครงการนี้ให้ก็เลยพาน้องไปเปิดบัญชี

แต่ปรากฎว่าน้องเปิดบัญชีไม่ได้เพราะน้องยังไม่มีบัตรประชาชน คุณครูเลยช่วยเป็นธุระไปที่อำเภอ คือไปทำเรื่องให้เด็กคนนี้มีบัตรประชาชนอะค่ะ แต่พอไปถึงปรากฏว่าทำไม่ได้อีก เพราะขาดเอกสารอะไรสักอย่าง พนักงานเลยต้องค้นข้อมูลของแม่น้องเพื่อจะได้ติดต่อ คือน้องคนนี้เขาอยู่กับญาติตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ ไม่รู้เลยว่าพ่อแม่ไปไหน เอกสารติดตัวก็มีแค่สูติบัตร

หลังจากนั้นเนี่ย คุณครูเลยโทรไปหาแม่ของน้อง ปรากฏว่าแม่น้องตกใจมาก แล้วก็เลยเล่าให้ฟังว่าเขาพยายามตามหาลูกเขามาสิบกว่าปีแล้ว แต่ก็หาไม่เจอ จนเขาท้อคิดว่าคงไม่ได้เจอลูกแล้วอะค่ะ เขาก็เลยดีใจมากที่ได้ข่าวคราวของลูกอีกครั้งนึง สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้กลับเจอกันอีกครั้งค่ะ

โอ้ ดรามาติกมาก

ใช่ค่ะ คือเราดีใจมากเลยนะที่มีส่วนทำให้แม่ลูกมาเจอกันได้อะ

อืม … ก็คือตอนนี้พี่กำลังจะหมดวาระใช่ไหมครับ?

ใช่ ๆ กำลังจะหมดวาระแล้ว ถ้ามีคนมาสานต่อจะดีใจมาก (หัวเราะ) เพราะพี่ทำมาสองปีแล้วไง พี่ว่ามันก็อาจจะไม่ Fresh อาจจะไม่แอคทีฟพอที่จะทำต่ออะไรอย่างเนี้ย ถ้าสมมติมีคนมาทำต่อ แล้วปีหน้าหรือปีอื่นให้พี่กลับมาอีกก็ยังจะโอเค แล้วก็อยากให้รุ่นน้องเข้ามาทำบ้าง เพราะอย่างตอนแรกที่พี่ได้ไม่ได้ทำอะ แค่ช่วยงานก็ยังแบบ เอ้ย โครงการมันดีเนาะ แต่ยังไม่ได้ลงมาเห็นจุดเล็กจุดน้อยแบบนี้ คือพอมาทำแล้วแบบ … มันดีอะ ได้ไปเห็นเด็ก ได้ไปเจอเด็กอะไรอย่างนี้

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พี่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับสมาคม

อืม ก็อย่างแบบ เด็กที่ยากจนจริง ๆ สมัยนี้มันก็ยังมีอยู่นะ

ในฐานะที่ทำงานกับสมาคมบริจาคมานาน พี่เห็นว่าอนาคตของสมาคมมันจะไปทางไหนบ้างครับ?

พี่ว่าสมาคมน่าจะเดินต่อไปนะ เพราะก็มีเด็กมาเรียนที่นี่เรื่อย ๆ ก็เป็นโครงการที่ดีค่ะ น้อง ๆ เขาก็คลุกคลีกันอยู่ในนี้แหละ พี่ก็เห็นเด็กหลาย ๆ คนมีแววที่จะเข้ามาสานต่อ คือก็ได้น้อง ๆ มาช่วยทำนี่แหละ ไม่งั้นก็คงอยู่ไม่รอด พี่ว่าพี่เองคนเดียวก็ทำไม่ไหวหรอก

ถ้าเกิดใครอ่านบทสัมภาษณ์ แล้วสนใจจะเข้ามาร่วม หรือว่าช่วยเหลือสมาคมบริจาค สามารถทำยังไงได้บ้างครับ?

ดีเลยค่ะถ้าเป็นอย่างนั้น คือมันก็มีหลายแนวทาง เช่นเรื่องการหาคอนแทคที่เมืองไทย คือเราน่ะอยากให้ทุนเพิ่ม เพราะว่าเราจัดกิจกรรม ก็มีเงินสะสมมาเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือเราหาทุนได้ไม่เยอะเท่าไร ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่คอนแทคไม่เยอะ สิ่งที่ทุกคนช่วยกันได้คือช่วยกระจายข่าวออกไป หรือว่าหาคนที่เราไว้ใจได้ แล้วก็เอาเงินไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้น้อง ๆ ที่เมืองไทย แล้วก็เรื่องการประสานงานที่นี่ ถ้ามีน้อง ๆ สนใจอยากมาทำ เช่นทำเรื่องทุน หรือว่าช่วยจัดงาน มันก็ดีค่ะ ก็จะได้เข้ามาเห็นแบบว่า เฮ้ย! โครงการนี้มันก็ดี แล้วก็จะได้สานต่อกันต่อไปข้างหน้าด้วย

(พี่โก้เสริม : ยินดีต้อนรับคนที่จะมาช่วยงานทุกคนอยู่แล้วนะ มาวางนโยบาย หาไอเดียใหม่ ๆ อะไรพวกนี้)

มอบมง ๆ

ใช่ ๆ สายสะพายแล่งด้วยค่ะ (หัวเราะ) พี่ยินดีมากเลยที่จะมีคนมาทำงานต่อ พี่ว่าทุกคนทำได้อะ เพราะว่างานของบริจาคมีไม่เยอะเหมือนงานของส.น.ท.ย. งานไม่ใหญ่เท่า สมาคมเราเป็นกลุ่มเล็กมาก เหมือนว่ากิจกรรมที่เราจะทำ เราจะจัดก็ได้ หรือไม่จัดก็ได้ แต่ที่ทำเรื่อย ๆ ก็คือให้ทุนการศึกษาอย่างนี้ล่ะค่ะ

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงคนอ่านไหมครับ?

ใครสนใจอยากมาเป็นประธานก็เชิญนะคะ (หัวเราะ)

…..

สุดท้ายนี้ ทุกท่านสามารถติดตามงานดี ๆ ของสมาคมบริจาคได้ที่ Facebook Group : Borijak และถ้าหากถ้าท่านใดอยากจะสนับสนุนทางสมาคม ในการสมทบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนด้อยโอกาสในเมืองไทย สามารถทางอีเมลได้ที่ borijak.info@gmail.com นะครับ

บุคคลแห่งเดือนคนต่อไปจะเป็นใคร โปรดติดตามในเดือนหน้านะครับ

ทุกท่านสามารถติดตามบทความน่าสนใจอื่น ๆ ใน บล๊อกของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนี