กักตัวอย่างไรเมื่อไม่ได้อยู่บ้านคนเดียว!? #IStayHomeFor…

เชื่อว่าตอนนี้มีหลายคนที่พร้อมใจกันกักตัวอยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19

ใครอยู่ตัวคนเดียวก็อาจจะกักตัวง่ายหน่อย แต่สำหรับคนที่มาศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี มีจำนวนไม่น้อยเลยที่อาศัยอยู่ในหอนักเรียน (Studentenwohnheim) หรือแชร์บ้านเช่าอยู่กับคนอื่นแบบ Wohngemeinschaft (WG) [1] ซึ่งการจะกักตัวเองทั้งที่ไม่ได้อยู่คนเดียวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะก็ยังต้องใช้ครัว ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนอื่นอีก

วันนี้ เราจึงอยากมานำเสนอคำแนะนำดี ๆ ว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ทั้งอย่างปลอดภัยและสบายใจที่สุด ในสถานการณ์แบบนี้

สำหรับใน WG ที่ไม่ได้มีใครมีอาการป่วยใด ๆ

  • สื่อสารกันให้ดี : ในเวลาที่ต่างคนต่างกักตัวอยู่บ้าน การสื่อสารกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะคงจะไม่มีครั้งไหนแล้วที่เรามีโอกาสจะเจอหน้ากันบ่อยเท่าเวลานี้ อะไรที่ชอบหรือไม่ชอบ จะต้องบอกกันให้ชัดเจน เพราะคงไม่มีใครทนสิ่งที่ไม่ชอบได้เป็นเวลานาน ๆ และนั่นอาจจะทำให้เกิดความเครียด จนทะเลาะกัน หรือหนักหน่อยก็อาจถึงขั้นต้องหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยในเวลาแบบนี้ ใครที่กำลังมีปัญหากับเพื่อนร่วมบ้าน ก็อยากให้ใจเย็นและลองปรับความเข้าใจกันดู เพราะอาจต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน แต่!! สื่อสารในที่นี้ก็ไม่ใช่ว่าเดินเข้าไปคุยใกล้ ๆ นะ เพราะต้องเว้นระยะห่าง หรือทางที่ดีก็ Videocall กันไปเลย
  • จัดตารางงานบ้าน : หลาย ๆ บ้านคงมีกฎข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าใครควรทำอะไร เวลาไหน แต่สำหรับบ้านที่ไม่มีก็ควรจะต้องเริ่มเขียนแผนการทำงานบ้านคร่าว ๆ แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน เพราะความสะอาดก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการต่อสู้กับไวรัสนี้ด้วย ทั้งการซักผ้า และการนำขยะออกไปทิ้ง รวมไปถึงการออกไปซื้อของนอกบ้าน เปลี่ยนจากต่างคนต่างออกไปซื้อแต่ของตัวเอง เป็นเขียนรายการของที่ต้องซื้อและผลัดกันออกไป ก็จะยิ่งช่วยลดการออกไปเสี่ยงนอกบ้านได้ จากนั้นก็ควรแบ่งสัดส่วนกันให้ชัดเจนว่าของที่ซื้อมาจะแบ่งกันอย่างไร และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่กลับมาถึงบ้าน

    © WHO

  • การใช้ห้องน้ำ ห้องครัว และของใช้ส่วนรวมต่าง ๆ ในบ้าน : เพิ่มความระมัดระวังขึ้นเป็นสองเท่าในการใช้ห้องน้ำ ทำให้มั่นใจว่าทุกอย่างสะอาดเหมือนใหม่สำหรับคนที่จะมาใช้ห้องน้ำต่อ สิ่งที่ควรทำก็คือ แยกอุปกรณ์ทุกอย่างออกจากกันให้ได้มากที่สุด เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว สบู่ แชมพู เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจไม่ใช้ครัวในเวลาเดียวกันได้จะดีที่สุด ควรรอให้อีกคนใช้งานเสร็จ แล้วค่อยไปใช้งานต่อ และถ้ามีอุปกรณ์หลายชุด ก็ควรแยกกันไปเลย โดยเฉพาะจานชามช้อนส้อม หรือแก้วน้ำ และควรทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังใช้งานงดการกินข้าวพร้อมกัน เปลี่ยนเป็นต่างคนต่างกินข้าวในห้องส่วนตัว งดการใช้เวลาร่วมกันในห้องนั่งเล่น ถ้ามีเรื่องจำเป็นควรติดต่อกันทาง social media แทนไปก่อน
  • ไม่ส่งเสียงดังรบกวน : หลาย ๆ คนไม่ได้แค่หยุดอยู่บ้านเฉย ๆ แต่ยังต้อง work from home อีกด้วย เพราะฉะนั้นการกักตัวของเราก็ไม่ควรจะไปรบกวนการทำงานของเพื่อนร่วมบ้านในเวลาที่เขาต้องใช้สมาธิ อย่าลืมเขียนตารางงานส่งให้กัน จะได้รู้ว่าสามารถใช้เสียงได้เมื่อไหร่
  • ห้ามพาคนนอกเข้ามาในบ้าน : ข้อนี้ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าคนที่เราชวนมา เขาไปไหนและพบเจอใครมาบ้าง ก็ไม่ควรจะทำให้เพื่อนร่วมบ้านของเราต้องเสี่ยงไปด้วย ถ้ามีความจำเป็นต้องพบเจอใครก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน หรือห้ามให้มีการสัมผัสสิ่งของใด ๆ และไม่ควรใช้เวลาในบ้านนาน

สำหรับ WG ที่มีสมาชิกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

  • หาหมอถ้ามีอาการ : ข้อแรกเลย เมื่อเริ่มมีอาการ ก็ควรติดต่อไปยังคุณหมอที่คุณไปหาเป็นประจำ หรือทางสายด่วนต่าง ๆ ประจำภูมิภาคที่จะวินิจฉัยและติดตามผลให้คุณได้ผ่านทางโทรศัพท์ หรือกรณีฉุกเฉินให้โทรไปเบอร์ 116117 สำหรับขอความช่วยเหลือเบื้องต้นจาก Bereitschaftsdienst
  • ถ้าต้องเดินสวนกันหรือเจอหน้ากันในบ้าน พยายามเว้นระยะห่าง 2 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย
  • หาหน่วยส่งเสบียง : ถ้าเป็นไปได้ ควรไหว้วานให้ครอบครัว เพื่อนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือเพื่อนบ้านที่รู้จักกัน ให้เป็นคนส่งข้าวส่งน้ำให้แทน เพราะตอนนี้ทั้งคุณและเพื่อนร่วมบ้านก็เสี่ยงทั้งคู่ ที่จะนำเชื้อออกไปแพร่ให้ผู้อื่น ถ้าไม่มีคนรู้จักก็อาจจะต้องใช้บริการ delivery ของห้างร้านต่าง ๆ ไปพลาง ๆ ก่อนที่จะรู้ผลตรวจที่แน่ชัด และให้พวกเขาวางของไว้หน้าบ้าน ห้ามเข้าบ้านโดยเด็ดขาด
  • ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน : พอไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แน่นอนว่าต้องอึดอัด เราควรจะให้กำลังใจซึ่งกันและกันว่าเราจะผ่านมันไปได้ และไม่โทษกันเอง เพราะเชื่อว่าไม่มีใครที่ตั้งใจอยากจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

สุดท้ายนี้ ถ้าเราและเพื่อนร่วมบ้านสามารถร่วมกันผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ ก็คิดว่าน่าจะทำให้รักและเข้าใจกันมากขึ้นแน่นอน แต่ถ้าใครพบว่าระหว่างช่วงเหตุการณ์แบบนี้เพื่อนร่วมบ้านไม่ได้ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือเท่าไรนัก ก็อาจจะต้องพิจารณาดูว่ายังเหมาะจะอยู่ด้วยกันในระยะยาวหรือไม่

ยังไงก็ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพกันด้วย ทั้งสุขภาพกาย และจิตใจเลย เราจะผ่านมันไปด้วยกัน 

และช่วงนี้ถ้าใครอยู่บ้านเหงา ๆ เบื่อ ๆ เราอยากชวนทุกคนมาร่วมสนุกกับกิจกรรม #ก้ายบะเฮ้ย (ในภาษาเหนือนั้นแปลว่า น่าเบื่อว่ะ)  ในหน้าเพจ ส.น.ท.ย. มาแชร์กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในช่วงกักตัวนี้ ดูซิว่าแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง เผื่อจะได้เป็นไอเดียเอาไปทำตามบ้าง

แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

เชิงอรรถ

[1]: ในภาษาไทยอาจจจะอธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการเช่าบ้านหรือห้องพักอาศัยร่วมกับคนอื่น ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งคนที่อยู่ร่วมกันไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักศึกษาด้วยกันเท่านั้น มีการใช้ครัว หรือห้องน้ำร่วมกัน 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่