สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน สำหรับ Person of the Month ประจำเดือนเมษายนนี้ เรามาทำความรู้จักกับทีมเบื้องหลังกันบ้าง – ทีมคนทำงาน ส.น.ท.ย. นั่นเองค่ะ
เนื่องจากผู้เขียนเกรงว่าผู้อ่านจะหนังตาหย่อนกันไปก่อนจะทำความรู้จักกับทุกคนได้ครบทีม ผู้เขียนจึงมีเพียงสองคำถามเท่านั้นสำหรับการสัมภาษณ์ทีมงานของเรา นั่นคือ “เพลงไหนตรงกับความรู้สึกการทำงานกับ ส.น.ท.ย. มาตลอด 1 ปีนี้” และ “เหตุผลคืออะไร”
เพื่ออรรถรสในการอ่าน ผู้เขียนแนะนำให้ผู้อ่านเข้าไปติดตามฟังเพลงกันที่ playlist ด้านล่างนี้เลยค่ะ
มุก ณัฏฐา ควรขจร นายกสมาคม
เพลง ใจเพชร ศิลปิน ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ตอนแรกผู้เขียนก็แค่แซวเล่น ๆ หรอกนะ กลายเป็นว่าพี่มุกเลือกเพลงนี้แบบจริงจัง ซึ่งผู้เขียนว่า เออ ดูไปดูมาก็ตรงกับหัวอกคนเป็นนายกฯ (สมาคมฯ ) จริง ๆ
ท่อนนี้เลยรึเปล่าคะพี่มุกที่ว่า เธอคือแรงพลังแรงใจให้ฉันสู้เพื่อเธอ ยิ้มจากเธอรู้ไหม คือสุขของฉัน ก็เหมือนตอนที่เราทำงานเสร็จแล้วทุกคนก็มีความสุขเราก็มีกำลังใจ
“มันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ คือตอนทำงานเราเหนื่อยแต่พอคนมางานเค้า happy เค้ามาบอกเราว่า เออ เค้าชอบงานนะ เค้าได้อะไรกลับไปจากงาน คนจัดงานก็ชื่นใจ ค่อยมีกำลังใจอยากจะทำงานต่อ”
ภูมิ จอมพจน์ วงศ์เพชรอักษร สารสนเทศ
เพลง ท่านผู้ชม ศิลปิน Bodyslam
พี่จอมพจน์แห่งเมืองบางบอนน์ ได้เลือกเพลงด้วยเหตุผลคนแอบน้อยใจนิด ๆ จากคนทำงาน
“ก็ เพลงมันความหมายประมาณว่า ทำอะไรก็ไม่ถูกใจใครสักคนเลย ทำไมไม่มีใครเปิดใจฟังความเห็นเราบ้าง”
หมายถึงว่าพี่จอมพจน์เสนออะไรไปแล้วก็ถูกค้านมาตลอด ?
“ไม่ใช่นะ หมายถึงว่าจัดงานอะไรไปก็ไม่ถูกใจทุกคน”
ก็คืออยากให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจหัวอกคนทำงานบ้างเท่านั้นเอง มันมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้เราไม่สามารถจัดงานได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ก็ต้องขออภัยและขอความเห็นใจน้อย ๆ ไว้ตรงนี้ด้วยนะคะ
กันต์ ศุภณัฐ พวงทอง เหรัญญิก
เพลง We’ve Only Just Begun ศิลปิน Carpenters
ในฐานะคนทำงานสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องมาถึง 2 ปี ทำให้กันต์เป็นคนที่คุ้นเคยกับสมาคมฯ มากที่สุด ความคิดของเขาจึงแหวกแนวกว่าคนอื่น ๆ
“ที่เลือกเพลงนี้เพราะเวลาทำงานสมาคมฯ ชอบฟัง Carpenters อยู่แล้ว แล้วเพลงนี้ก็ตรงกับคำถามด้วย ตามเนื้อเพลงก็เหมือนตอนทำงาน ผ่านอุปสรรค ความลำบากมาทั้งวัน แต่พอจบงานเราก็มีความสุข อีกอย่างเราคิดว่าสมาคมฯ ยังไปได้อีกไกล เหมือนกับท่อนนี้ And when the evening come, we smile. So much of life ahead. We’ll find a place where there’s room to grow.”
ผู้เขียนประทับใจกับการเลือกเพลงเป็นพิเศษ ถ้าใครรู้จักคุ้นเคย Carpenters ดีจะเข้าใจว่าเพลงนี้อบอุ่นมาก ๆ และยังเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้น ซึ่งกันต์ไม่ได้มองการหมดวาระของเขาว่าเป็นการสิ้นสุด หากแต่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของทางอันยาวไกลของสมาคมฯ
ว่าแต่กันต์ได้มองถึงจุดอะไรบ้างที่สมาคมฯ สามารถพัฒนาได้อีก?
“ที่เห็นได้ชัดเลยคือสมาคมฯ มีความเป็น 4.0 มากขึ้น อย่างการ digitalize การทำงาน ฐานข้อมูล ประชุมผ่านการ audio call และใช้งาน website มากขึ้น แต่ที่เรายังพัฒนาได้อีกก็คือการทำบัญชี เป็นต้น”
หมู นัฏฐพล รัตนฤกษ์ขจร อุปนายกสมาคม
เพลง คนข้าง ๆ ศิลปิน 25 Hours
พี่หมูกรรมการเสียงหล่อแห่ง ส.น.ท.ย. พี่หมูเป็นอีกคน (นอกจากพี่นายกฯ ) ที่เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ต้องนับถือความทุ่มเทในการทำงานให้พี่หมูจริง ๆ ค่ะ สำหรับเพลงนี้ พี่หมูได้ฝากเหตุผลไว้ว่า
“คนที่อยู่ข้าง ๆ เรา ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ แต่เป็นคนที่เมื่อเจอปัญหาอะไรหนักหนาก็จะไม่ทิ้งกัน ก้าวไปด้วยกัน ด้วยเชื่อว่า สิ่งที่เราทำอย่างเต็มที่ จะทำให้วันข้างหน้า จะต้องเป็นวันที่ดี ๆ ครับ”
“ท่อนที่ชอบนะครับ ทำทุกวันนี้ที่มีให้งดงามด้วยกัน เชื่อว่าวันดี ๆ มันจะรออยู่ที่ปลายทาง”
ไบร้ท กฤตภาส บุญปสาท อุปนายกสมาคม
เพลง Rainbow Flyer จากภาพยนตร์เรื่อง Inside Out
คราวนี้มาต่อกันด้วยเพลงแนว instrumental (ไม่มีเนื้อเพลง) กันบ้าง
“รู้จักหนังเรื่อง Inside Out มั้ย ? เวลาทำงานสมาคมก็ต้องเจอกับอารมณ์ที่หลากหลายมาก บางคนก็แบบหัวร้อน มีอี๋บ้าง กลัวนู่นจะไม่สำเร็จนี่จะไม่สำเร็จ มีสุขบ้างเศร้าบ้างผิดหวังบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว การทำงานด้วยอารมณ์หลายอารมณ์สุดท้ายมันก็ไปด้วยกัน เป็นสีสันในการทำงานครับ”
นึกออกเลยเจ้าตัวหัวร้อนที่วิ่งไปวิ่งมา (หัวเราะ)
“บทสรุปสุดท้ายก็คือ อารมณ์แต่ละอารมณ์มันก็มีหน้าที่ของมัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การ balance การยอมรับ และทำให้มันอยู่ร่วมกันได้”
โพสต์ ภูมิสยาม แสนสุข อนุกรรมการ
เพลง คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ศิลปิน Stamp
พี่โพสต์เป็นสมาชิกสายถ่ายภาพอีกคนสำหรับ ส.น.ท.ย. ถึงแม้จะมาทำงานด้วยกันไม่นาน พวกเราก็พูดกันได้เต็มปากเต็มคำว่าถ้าไม่มีพี่โพสต์ คงต้องปาดเหงื่อกันเม็ดใหญ่เลยทีเดียว
“ความจริงตอนแรกก็มีหลายเพลงนะที่เลือกได้ แต่ที่เลือกเพลงนี้เพราะความจริงพี่นี่เป็นอนุกรรมการนะ (หัวเราะ) มาช่วยพี่หมูด้านสื่อออนไลน์ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ทำงานประชาสัมพันธ์เยอะ อย่างเพลงนี้ท่อนแรกเนี่ย หากคุณตื่นตอนเช้า แล้วพบว่ามีช่อดอกไม้ใหญ่ มองหาเจ้าของ คุณก็ไม่เห็นใคร ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะช่อนั้นมันเป็นของคุณ ก็เหมือนเวลาพี่ schedule โพสต์เฟสบุ๊ก admin คนอื่นๆก็อาจจะเอ๊ะ ใครมา schedule ไว้นะ โพสต์เนี้ยก็เหมือนดอกไม้ช่อนี้ อะไรประมาณนี้”
เป็นอีกเพลงอบอุ่น น่ารัก ๆ จากคนระยะไกลอย่างสมาคมฯ ว่าแต่ทำงานเบื้องหลังแล้วไม่มีใครรู้นี่ ไม่น้อยใจบ้างหรอ
“ก็ไม่น้อยใจนะ มันก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบงานด้วยแหละ อย่างงานสมาคมฯ นี้มันก็เป็นงานส่วนรวมอยู่แล้ว อีกอย่างกว่าพี่จะโพสต์หนึ่งโพสต์ได้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพราะพี่คนเดียว อย่างตารางกิจกรรมงานเลือกตั้งเนี่ย ก็มีทีมไป survey สถานที่ คนที่เสนอความคิดเห็น ช่วยติดต่อต่าง ๆ กว่าจะเกิดมาเป็นตารางได้ พี่เลยไม่คิดมากเลยว่าจะต้องมีคนรู้ชื่อเรา”
เตย ครองขวัญ เจียรวัฒนกนก เลขานุการ
เพลง ที่ว่าง ศิลปิน Pause
ผู้เขียนเองค่ะ ระหว่างที่ทำงานสมาคมฯ มาหนึ่งปีนี้ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าจะจัดการกับเวลาและชีวิตตัวเองได้ไหม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าผู้เขียนไม่ได้เจอกับบทสรุปที่คาดหวังไว้เมื่อเริ่ม และไม่มีใครอยากยอมรับนัก แต่ผู้เขียนต้องยอมรับ ว่างานสมาคมฯ เยอะเกินไปสำหรับผู้เขียนจริง ๆ และคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดถ้าผู้เขียนจะถอยออกมาจากการทำงานเต็มตัว เหมือนกับเพลงในท่อนนี้ ก่อนเคยคิดว่ารักต้องอยู่ด้วยกันตลอด เติบโตจึงได้รู้ความจริง… หากเคียงชิดใกล้ แต่เธอต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อฉัน ประโยชน์ที่ใด หากรักทำร้ายตัวเอง ผู้เขียนเองก็ไม่อยากจะทำร้ายสมาคมฯ เพราะการทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือเวลาที่มีจำกัด ซึ่งความรู้สึกผิดนี้ก็กัดกร่อนตัวผู้เขียนเองไปด้วย
จินนี่ จินต์จุฑา สมหวังประเสริฐ อนุกรรมการ
เพลง ให้ฉันดูแลเธอ ศิลปิน แหนม รณเดช
จินนี่ นักเรียนสถาปัตย์แห่ง TU Berlin ก็มาเปิดเผยความรู้สึกในการทำงานปีแรกด้วยกัน
“คือรู้สึกว่าเป็นนักเรียนตัวเล็ก ๆ หากบังเอิญสมาคมฯ ต้องการให้นักเรียนธรรมดาคนนี้ได้ช่วยเหลืองาน และดูแลสมาคมฯ ข้าง ๆ ไม่ไปไหน ประมาณนี้”
แสดงว่าจินนี่รู้สึกว่าสมาคมฯ ยิ่งใหญ่มาก ๆ ?
“ยิ่งใหญ่นะ (หัวเราะ) คือจินก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ส่วนใหญ่ก็ทำสื่อ วาดรูป เลยรู้สึกว่าได้ช่วยไม่เยอะ แต่ก็ทำได้แค่นี้ ก็จะช่วย ๆ ต่อไป”
เจมส์ ศิริวุฒิ เจริญสินพร อนุกรรมการ
เพลง Let It Go ศิลปิน Idina Menzel
หลังจากที่คิดค้นกันมานานว่าน้องเจมส์จะเลือกเพลงอะไรดี ก็มาจบกับเพลงนี้
“เหตุผลคือ ไม่รู้ ให้มันผ่านไป เพราะปกติก็ไม่ค่อยได้ทำงานอะไร (หัวเราะ) ตอนแรกจะเอาเพลงลุงตู่แล้วมันหาเหตุผลไม่ออกอ่ะพี่”
แต่หน้าที่ทุกหน้าที่ล้วนสำคัญ ทุก ๆ คนในทีมนี้ก็เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ของรูปชิ้นใหญ่ ขาดชิ้นไหนไปก็ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามก็ขอบคุณเจมส์ที่มาร่วมกันเป็นภาพเดียวกันมาตลอดหนึ่งปีนี้นะคะ
เบลล์ ภาวินี ศิริประพฤทธิ์ รองเลขานุการ
เพลง Rainbow Connection ศิลปิน Kermit the Frog – The Muppet Movie
น้องเบลล์มากับเพลงที่น่ารักสมเป็นน้องเบลล์เช่นเคย ตัวผู้เขียนเองไม่เคยดู The Muppet มาก่อนแต่ก็พอรู้จักเจ้ากบพูดไม่ชัดนี่บ้างนิดหน่อย แต่พอลองฟังเพลงแล้วรู้สึกอยากดูขึ้นมาเลย จะได้ไม่เสียชื่อเด็ก ’90s เอาล่ะเข้าเรื่องกันดีกว่า ว่าแต่เหตุผลไหนทำให้น้องเบลล์เลือกเพลงนี้ ?
“จะเปรียบการทำงาน ส.น.ท.ย. เหมือนกับสายรุ้ง มันมีความหลากหลาย มีหลายด้าน หลายหน้าที่ ปีที่ผ่านมา แต่ละคนไม่ได้ทำแค่อย่าง ๆ เดียว ในความคิดของเรา ส.น.ท.ย. อาจจะเป็นได้มากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ มันก็เหมือนกับสายรุ้งที่น่าค้นหา น่าติดตาม”
ปิ๊ง ณัฏฐพร ทูลแสงงาม อุปนายกสมาคม
เพลง พริบตา ศิลปิน STAMP และ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย
ถัดมาคือพี่ปิ๊ง กรรมการสารพัดความสามารถของเรานั่นเอง สำหรับ PoM นี้ พี่ปิ๊งก็ได้ไอเดียใหม่ ๆ แถมซึ้งกินใจมาฝากกัน
“ที่เลือกเพลงนี้เพราะการทำงานกับ ส.น.ท.ย. มันต้องไม่ใช่เพลงช้า เพราะว่าจังหวะในการทำงานมัน refer ไปหาเพลงที่มันโยก ๆ ได้นิดนึง เราไม่เคยทำงานแบบเนิบ ๆ ไม่ว่าจะคุยกันหลังไมค์หรือหน้างานก็ตาม”
แสดงว่าเลือกเพราะจังหวะเป็นหลัก ?
“ความจริงก็เลือกที่เนื้อหาด้วย คือเพลงมันพูดถึงว่าแบบ นานมาก กว่าจะเห็นดาวตก แล้วเราก็เห็นมันแค่พริบตาเดียว คือที่จริงมาเรียนที่เยอรมนี 4 ปี ทุกคนอาจจะเห็นว่ามันนานใช่ป่ะ แต่การทำงานกับ ส.น.ท.ย. ตั้งเกือบปีแต่มันรู้สึกแบบ แว้บเดียวเอง มันเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอ”
เหมือนว่าปีนี้ที่ผ่านมามันโดดเด่นกว่าปีอื่น ๆ แบบนี้เปล่าคะ
“คือแต่ละปีมันก็มีความโดดเด่นของมัน แต่การทำงานนี้มันได้เจอเพื่อน ๆ มันเป็นอะไรที่ positive เหมือนดาวตก ช่วงเวลาสวยงามที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ใครที่เคยเห็นดาวตกก็จะอยากเห็นมันอีก เราก็ภาวนาให้ได้กลับมาเจอกัน ทำงานด้วยกันอีก”
แพน พันทวิชญ์ สิริเขมาภรณ์ อุปนายกสมาคม
เพลง My Way ศิลปิน Frank Sinatra
“ก็รู้สึกว่ามันเหมาะกับคณะกรรมการเราดี สุดท้ายสิ่งที่ดีเราก็ชื่นชม สิ่งที่ไม่ดีเราก็เห็บมันมาเป็นบทเรียน เท่านั้นเอง”
แล้วพี่แพนมีท่อนไหนที่โดนใจเป็นพิเศษไหมคะ ?
“I’ve loved, I’ve laughed and cried. I’ve had my fill my share of losing and now, as tears subside I find it all so amusing.”
ทีม เฉลิมพล เจิมวงศ์รัตนชัย อุปนายกสมาคม
เพลง อ้าว ศิลปิน อะตอม ชนกันต์
“อารมณ์แบบ อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า บางทีเหมือนมีอะไรเปลี่ยนบ่อยเกิน ตามไม่ค่อยทัน”
แล้วพี่ทีมว่าที่เปลี่ยนบ่อยเป็นเพราะอะไรคะ
“เพราะมันมีการทำงานหลายรูปแบบครับ ไม่รู้จะอธิบายยังไง”
เอ่อ หมายถึงเราทำงานออนไลน์บ้าง เจอกันบ้าง หรือเราทำงานไม่เป็นระบบ ?
“มันเป็นระบบครับ แต่ระบบใครระบบมัน พอมาทำงานด้วยกันแล้วมันต้องจูนเข้าหากันครับ แต่บางครั้งก็จูนไม่ทัน (หัวเราะ)”
ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการทำงานนะคะ ถือว่าเป็นอีกความเห็นหนึ่งเผื่อเราจะนำไปจูนกันใหม่อีกครั้งสำหรับสมาคมฯ ทีมหน้าต่อไป
ลิลลี่ พิชชาพร ลีลาอาภรณ์ นายทะเบียน
เพลง สักวัน… แล้วมันก็ผ่านไป ศิลปิน โต๋ ศักดิ์สิทธิ์
“อยากจะฝากให้เด็กในต่างประเทศ (หัวเราะ) เพราะเพลงมันเหมือนกับแบบต้องเจออะไรที่เปลี่ยนไป ซึ่งคล้ายคลึงกับการที่นักเรียนไทยต้องมาอยู่ต่างประเทศอ่ะค่ะ เลยอยากจะฝากบอกว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวก็ปรับตัวได้”
ผู้เขียนก็เข้าใจเป็นอย่างยิ่งค่ะในฐานะนักเรียนไทยในต่างประเทศอีกคนหนึ่ง เราดิ้นรนกันมาพอสมควรกว่าจะมาถึงจุดนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ทุก ๆ อย่างก็จะผ่านไปแล้วเมื่อเรามองย้อนกลับมา ปัญหาต่าง ๆ จะกลายเป็นแค่จุดคั่นเล็ก ๆ ใน timeline ชีวิตของเราไปโดยปริยาย
จ้อย พงศกร ช่วยนุ่ม อนุกรรมการ
เพลง เพียงสบตา ศิลปิน ลิเดีย
“ในการทำงานอาจจะมีทะเลาะกันบ้าง กระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อมองตากัน ก็รู้ว่า ที่ทะเลาะกัน ก็เพราะอยากให้งานออกมาดีที่สุด และแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน สุดท้ายเราก็ช่วยเหลือกันจนงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
จิ๋ง ปณยา อุนนาทรรัตนกุล ผู้ช่วยนายทะเบียน
เพลง ฉันดีใจที่มีเธอ ศิลปิน บอย โกสิยพงษ์
“ที่เลือกเพลงนี้เพราะว่า ในทุกการทำงานไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือความท้อแท้ใด ๆ การมีทุก ๆ คนในทีมคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น สามารถทำงานเหล่านั้นผ่านไปได้ด้วยดี ตรงตามเนื้อเพลงเพลงนี้ โดยเฉพาะท่อนฮุคที่ว่า ฉันดีใจที่มีเธอ ฉันดีใจที่ได้เจอเธอ เธอคือกำลังใจเดียวที่มี ไม่ว่านาทีไหน ๆ”
แล้วพี่จิ๋งว่า อุปสรรคไหนใหญ่ที่สุดที่สมาคมฯ ได้ก้าวผ่านมาคะ
“(หัวเราะ) พี่ไม่คิดว่ามันเป็นอุปสรรคนะ คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากมันมากกว่า เช่นการทำงานนอกสถานที่ อย่างเช่นวันลอยกระทงที่ Mannheim มีตัวแปรภายนอกหลายอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ตัวอย่างเช่นการแทรกแซงการขายน้ำ และไฟไหม้กระทง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะมีทีมทำงานอยู่เลยแก้เหตุการณ์เฉพาะหน้าเหล่านั้นได้”
โฟล์ค อนันต์ ชึตต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์
เพลง Metropolis, Pt. 1: The Miracle and The Sleeper ศิลปิน Dream Theater
ฝ่าย IT อีกคนของสมาคมฯ การทำ Website ต่าง ๆ นั้นต้องยกความดีความชอบโฟล์คนะคะ เพลงที่โฟล์คเลือกมานั้นก็มีเหตุผลง่าย ๆ สั้น ๆ แถมโฆษณาทิ้งท้าย
“เวลาเขียนเว็บ ด้วยความรักดนตรีก็จะฟังเพลงไปด้วยนะฮะ ตามรสนิยมก็จะเป็นเพลงแนว ๆ นี้ครับ (ร็อก) แหม่ ใครลองฟังแล้วสนใจ อยากให้โฆษณาเพิ่มหลังไมค์มาได้ฮะ”
สำหรับคนที่สนใจ เขียน inbox มาทาง facebook สมาคมฯ ได้นะคะ
บิ๊ก เรวุฒิ จันปง อนุกรรมการ
เพลง Stay ศิลปิน Getsunova
พี่บิ๊ก กรรมการนินจาประจำสมาคมฯ เองค่ะ มีกิจกรรมนอกสถานที่ทีไร พี่เขาไม่มาถึงงานคนสุดท้าย (ตกรถ) ก็ต้องออกงานกลับบ้านก่อนคนอื่น (รถเที่ยวแรก) หรือถ้าไม่กลับเที่ยวแรก ก็ตกรถอีกล่ะ แต่เพลงของพี่บิ๊กเขาไม่นินจานะคะ ไม่แว้บไปแว้บมาแล้ว
“ขอสั้น ๆ ได้มั้ย (…) ผู้คน เรื่องราว อาจผ่านมาเพียงชั่วคราว แต่ก็จะอยู่ในความทรงจำตลอดไปฮะ”
อื้อหือ คมกริบดังกรรไกรตัดโมเลยค่ะ ตัวผู้เขียนเองไม่ค่อยได้ฟังเพลงไทยเท่าไหร่ (ส่วนตัวชอบ hip hop) แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้ามาพูดถึงเรื่องความหมาย อารมณ์ ภาษาไทยมันสื่อได้เข้าหาเราโดยตรงเลยจริง ๆ แบบอธิบายไม่ถูก
“ปกติฟังแต่เพลงญี่ปุ่นแหละ (…) ก็จริงนะ ฟังแล้วก็ยังงง ๆ ด้วย ชื่อเพลงก็มึน ๆ แต่ก็ชอบ”
เพชร ขวัญมงคล รอดศิริ อนุกรรมการ
เพลง Work from Home ศิลปิน Fifth Harmony
Blogger หลักแห่งสมาคมฯ เรา เรื่องขีดเรื่องเขียนนี่ต้องยกให้พี่เพชรเลยค่ะ
“เลือกเพลง Work from Home ครับ เพราะว่าเป็นสมาชิกที่มีหน้าที่เขียนบล็อกเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวมาเรียนที่เยอรมนี กับบล็อกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศเยอรมนีอะไรประมาณนี้ ซึ่งก็นั่งพิมพ์นั่งอัพจากบ้านทั้งนั้นครับ (หัวเราะ) ที่ผ่านมาไม่ได้ไปออกงานตามสถานที่ต่าง ๆ กับสมาคมฯ มาก เลยนึกถึงเพลงนี้ นี่คือนึกถึงชื่อเพลงล้วน ๆ เลยนะไม่เกี่ยวกับเนื้อเพลง (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ส่วนตัวก็ชอบเพลงนี้ด้วย ฟังแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า รู้สึก strong และมีพลังงานสำหรับการทำงานสมาคมฯ ครับ”
แล้วพี่เพชรมีแผนว่าจะเขียนให้สมาคมฯ ต่อไปเรื่อย ๆ อีกมั้ยคะ
“จริง ๆ ก็มีเรื่องที่อยากเขียนอยู่เรื่อย ๆ ครับ ก็อยากจะอัพเรื่อย ๆ เหมือนกันครับ จะได้มีประโยชน์ต่อคนอ่านหลากหลายด้วยครับ เพราะคนก็เข้าเว็บสมาคมฯ เยอะ”
ก็ต้องรอติดตามบทความถัด ๆ ไปจากพี่เพชรกันนะคะ ติดตามได้ทั้งบล็อกส่วนตัว คลิกที่นี่ และบล็อกบนเว็บไซต์สมาคมฯ นะคะ
จบกันไปกันแล้วนะคะสำหรับบทสัมภาษณ์ทีมทำงาน ส.น.ท.ย. ปี 2560 – 2561 หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นปีที่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างทั้งสำหรับผู้ทำงานเองและผู้ร่วมงานด้วย ถึงแม้ทีมทำงานจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน รู้สึกสุขหรือทุกข์ พอหันกลับมามอง ประสบการณ์และความทรงจำในการทำงานนี้ มันน่าจดจำ หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น จะเป็นสิ่งที่เรานึกถึง หรือเล่าให้กันฟังหลังจากผ่านพ้นห้วงเวลานี้ไปอีกหลายปี เวลาของคณะกรรมการปีนี้ก็ใกล้จะสิ้นสุดแล้ว ทางสมาคมฯ ขอเชิญชวนทุก ๆ คนมาร่วมงานสุดท้ายของพวกเรากันที่งานเลือกตั้งและประชุมสามัญใหญ่ประจำปีที่กรุงแฟรงก์เฟิร์ตนะคะ แล้วเจอกันค่ะ