Person of the Month มีนาคม 2561 : ณัชพล ศิริสวัสดิ์

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน Person of the Month ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 จะพาไปพบกับ “ณัชพล ศิริสวัสดิ์” 

หรือ นัท นักศึกษาปริญญาเอกด้านพุทธศาสน์ศึกษา (Buddhismus-Studien) จากมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilian Universität (University of Munich) ที่จะมาเล่าเรื่องราวเส้นทางการศึกษาที่เกิดจากความหลงใหลใน “ภาษาไทย” มาจนถึง “ภาษาบาลีและสันสกฤต” และกลายมาเป็น “พุทธศาสน์ศึกษา”

ถ้าจะกล่าวถึงศาสตร์ที่เป็นที่นิยมของนักเรียนไทยที่เดินทางมาศึกษาต่อในประเทศเยอรมนีก็คงหนีไม่พ้นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่มีจำนวนนักเรียนในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกมากมายชนิดที่ว่าเจอหน้ากันก็เดาได้ก่อนเลยว่าต้องเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนกันแล้วน้อยคนนักที่จะเลือกมาศึกษาด้าน “ภาษาศาสตร์” หรือ “สังคมศาสตร์”

หากนักเรียนไทยเลือกมาศึกษาต่อด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะต้องเดินทางมาศึกษาในประเทศที่เป็นจุดกำเนิดขององค์ความรู้เหล่านี้ แต่ก็มีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยที่เลือกมาศึกษาในบางสาขาวิชาที่คาดไม่ถึงว่าจะเปิดสอนในประเทศนี้ เช่น “ไทยศึกษา” หรืออย่าง นัท ที่เลือกเรียนต่อด้าน “พุทธศาสน์ศึกษา” ในประเทศเยอรมนี

“เรียนอะไร?”

“เรียนไปทำไม?”

“ทำไมต้องมาเรียนถึงเยอรมัน?”

เริ่มกันเลย

“เป็นคนชอบเรียนภาษาไทยตั้งแต่เด็ก”

นัทจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล นักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนสายวิทย์-คณิตในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย พอจบก็จะเลือกเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี  นิติศาสตร์ แทบจะไม่มีใครเลือกเรียนต่อในคณะสายมนุษยศาสตร์เลย เนื่องจากนัทมีความสนใจในคณะรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์เป็นพิเศษจึงเลือกเรียนสายศิลป์-คำนวณ จนกระทั่ง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอบตรงด้าน “ภาษาและวรรณคดีไทย” ด้วยความชอบเรียนภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก นัทจึงตัดสินใจสมัครสอบและสอบติดเป็นนิสิตทุนโครงการช้างเผือกเข้าศึกษาในหลักสูตรภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด โดยไม่ต้องสอบในระบบ O-Net และ A-Net ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นปีแรกอีกด้วย

“มันก็แปลกดีนะ ในเรื่องของเส้นทางชีวิตตอนนั้น คือ เลือกเรียนภาษาไทย แต่พูดตรง ๆ ว่าก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าเรียนไปแล้วจะเอาไปทำอะไร จบแล้วจะทำอาชีพอะไร”  ซึ่งนัทได้รับคำถามจากคนรอบข้างเข้ามาเช่นกันว่า “ไปเรียนอะไรอะ เรียนภาษาไทย โอ้โห เรียนภาษาไทยเลยเหรอ ภาษาคุณก็พูดได้อยู่แล้ว ไปเรียนทำไม”

ด้วยความสงสัย นัทจึงได้หาข้อมูลว่าเมื่อจบจากคณะอักษรศาสตร์สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง และพบว่าเส้นทางอาชีพมีหลากหลายทางมากไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ครู อาจารย์ คอลัมนิสต์ นักข่าว พิธีกร ผู้ประกาศข่าว นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบทละคร นักแปล นักการทูต พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ฯลฯ

“เรามองว่าอักษรศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่วัดคุณค่าจากจำนวนนักศึกษาหรือเงินที่ผลิตออกมา คุณค่าของมันคือทำให้มนุษย์ในทุกแขนงเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น ขัดเกลาผู้เรียนให้คิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ เป็นฐานความรู้ให้เราสามารถต่อยอดไปยังแขนงอื่นๆ ได้”

ศาสตร์วิชานี้ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราสามารถเอาไปต่อยอดหรือเรียนให้ลึกลงไปมากขึ้น ถ้ามองย้อนกลับไปจากวันที่นัทไม่รู้จัก “อักษรศาสตร์” เทียบกับวันนี้ก็ถือว่ามาไกลมาก ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจากวันนั้นแล้วมันจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร ซึ่งถ้าจะให้นัทตัดสินใจใหม่ก็จะยังคงเลือก “อักษรศาสตร์” ไม่เปลี่ยนแปลง

“สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ ถ้าเราเรียนอะไรในสิ่งที่เรารัก ที่เราชอบ ที่เราหลงใหล ยังไงมันก็มีเส้นทางให้เราก้าวต่อไป”

“คุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนทุกเรื่อง ให้อิสระในการตัดสินใจและคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ”

นัทเป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่เด็ก ทำกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนแข่งขันวาดภาพ แต่งคำประพันธ์  เรียงความ เป็นทูตวัฒนธรรมไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งนาฏศิลป์ และดนตรีไทยในต่างประเทศ เป็นตัวแทนร่วมกิจกรรมเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยในโครงการพลังเชียร์เยาวชนไทยสู่ซีเกมส์ ร่วมแสดงละครเวทีในหลาย ๆ โอกาส ประกวดร้องเพลงและได้รับเลือกเป็นนักร้องในวงดนตรีสากล  สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (C.U. BAND) นัทยังได้รับรางวัลต่างๆ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวและตนเอง อาทิ เยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (ประกายเพชร) ประจำปี 2555 เยาวชนดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2548 ในสาขาศิลปวัฒนธรรม เยาวชนดีเด่นแห่งกรุงเทพมหานครประจำปี 2548  ในสาขาการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และคุณธรรมจริยธรรม

นัทเล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้เข้ามาเรียนในคณะอักษรศาสตร์ว่า “เป็นคณะที่ผู้หญิงเยอะมากและผู้ชายจะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยเท่านั้น จากส่วนตัวที่เรียนโรงเรียนชายล้วนมาตั้งแต่ประถมและมัธยม” ในส่วนของเนื้อหาการเรียน เราได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น ได้เรียนในหลายสิ่งที่เราไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วแต่ลึกซึ้งมากขึ้นโดยมีมุมมองหรือหลักฐานใหม่ที่เปลี่ยนความคิดหรือทำให้เราต้องกลับมาคิดใหม่ เราได้เรียนวิชาพื้นฐานคณะที่ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ เช่น การใช้ภาษาไทย วรรณคดีไทย อารยธรรมไทย อารยธรรมตะวันออก อารยธรรมตะวันตก ศิลปะการละคร ภาษาอังกฤษ วรรณคดีเปรียบเทียบ ปรัชญาและศาสนา การใช้เหตุผล เป็นต้น เมื่อเข้าเรียนวิชาเอก เราได้เรียนภาษาและวรรณคดีไทยที่แตกต่างจากสมัยมัธยม ได้เรียนระบบเสียง ระบบคำ ทฤษฎีไวยากรณ์ต่างๆ ลีลาในภาษาไทย วิวัฒนาการอักษรและอักขรวิธี ภาษาไทยในสมัยต่างๆ ศัพทมูลวิทยาภาษาไทย ได้อ่านวิเคราะห์ตัวบท ดูกลวิธีการประพันธ์ และอิ่มเอมไปกับความงามทางวรรณศิลป์ผ่านวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์

ในตอนปีสาม นิสิตวิชาเอกภาษาไทยทุกคนจะต้องลงเรียนวิชา “ภาษาบาลีและสันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย” ซึ่งเป็นวิชาบังคับ จากจุดนี้เอง ทำให้นัทเริ่มสนใจในภาษาบาลีและสันสกฤตและอยากจะรู้ให้ถึงรากของภาษา นัทจึงตัดสินใจสอบชิงทุนโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ประจำปี 2553 เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

“อย่างแรกเลยคือตัวอักษรมันก็แปลกดี มันอ่านยังไง ผสมกันอย่างไร มันเหมือนกับภาษาไทยจริงมั้ย วรรณคดีไทยจำนวนไม่น้อยก็ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีบาลีและสันสกฤต ซึ่งการที่จะหาคำตอบของสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็ต้องกลับไปสู่รากของมัน ถ้าเราไม่รู้ภาษาเราก็จะอ่านข้อมูลไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเข้าใจความที่อยู่ในหนังสือนั้นได้”

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไม่นานนักก็ต้องลามาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งเราจะมาดูกันว่าทำไมนัทถึงเลือกประเทศเยอรมนีเป็นจุดหมาย

ผมมีความสนใจเกี่ยวกับการชำระคัมภีร์ต้นฉบับทางพุทธศาสนา  การอ่านคัมภีร์โบราณ ตัวอักษรโบราณและจารึก เนื่องจากได้ศึกษามาบ้างในสมัยเรียนปริญญาโท ผมเลยลองหาช่องทางเรียนต่อและพบว่าหลักสูตรด้านภารตวิทยา (Indology) หรือ พุทธศาสน์ศึกษาเปิดสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี นักวิชาการในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการชำระต้นฉบับตัวเขียนทางพุทธศาสนาฝ่าย เถรวาท ต้นฉบับตัวเขียนที่พบส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่มีเนื้อหาแสดงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา  เช่น พระไตรปิฎก อรรถกกา ฎีกา หนังสือบาลีไวยากรณ์ ซึ่งสามารถพบต้นฉบับตัวเขียนได้ตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ในขณะที่นักวิชาการชาวตะวันตกได้ทำการตรวจชำระทั้งคัมภีร์ต้นฉบับของฝ่ายเถรวาทและมหายาน เนื่องจากนักวิชาการเหล่านั้นสามารถสำรวจและรวบรวมคัมภีร์ต้นฉบับจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะคัมภีร์ต้นฉบับที่ค้นพบบริเวณเอเชียกลาง (Central Asia) กิลกิต (Gilgit) และบามียัน (Bāmiyān) ซึ่งคณาจารย์ที่ประเทศเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก มีเครือข่ายที่กว้างขวางที่เกิดจากการรวมกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาด้านการชำระคัมภีร์ต้นฉบับโดยตรง มีผลงานวิชาการตีพิมพ์เกี่ยวกับการชำระคัมภีร์ต้นฉบับทางพุทธศาสนาออกมาอย่างต่อเนื่อง มีระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจนและเป็นระบบ สามารถเข้าถึงเอกสารชั้นต้น หนังสือ บทความ ได้จากห้องสมุดของภาควิชาหรือระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเอกสารบางชิ้นไม่สามารถสืบค้นได้ในประเทศไทย นักศึกษาเองก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแลกเปลี่ยนข้อมูล  ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนที่ประเทศเยอรมนี”

นัทได้เล่าถึงการชำระคัมภีร์ต้นฉบับว่า

“ในสมัยอดีตการถ่ายทอดเรื่องราวและตรวจสอบชำระคำสอนในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอาศัยการท่องจำโดยวิธีมุขปาฐะเป็นหลัก  ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักระบบวิธีการเขียน จึงเริ่มบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะสิ่งที่บันทึกไว้ย่อมคงอยู่ได้นาน และนิยมคัดลอกสิ่งที่ต้องการรู้ต้องการจำต่อมาเป็นทอดๆ  การคัดลอกสืบกันมาอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดบกพร่องตกหล่นไปจากต้นฉบับ บ้างก็แก้ไขข้อความต่าง ๆ ให้เป็นข้อความใหม่ที่เข้าใจง่าย งานต้นฉบับของผู้คัดลอกจึงมีคำอ่าน เนื้อหา ลักษณะภาษา สำนวนโวหารแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างไปจากงานต้นฉบับของผู้ประพันธ์เดิม  ดัวยเหตุดังกล่าว นักวิชาการในปัจจุบันจึงต้องการ “ตรวจชำระ” หรือ “ล้าง” ข้อผิดพลาด หรือข้อความที่เพิ่มเติมขึ้นหรือแทรกเข้ามาโดยผู้คัดลอก เพื่อให้ได้ต้นฉบับตัวเขียนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดที่ผู้ประพันธ์เขียนขึ้นพร้อมทั้งแปลเป็นภาษาร่วมสมัย จนกลายเป็นระเบียบวิธีตรวจชำระต้นฉบับตัวเขียนขึ้น”

ถึงแม้ว่าหลักสูตรที่นัทเรียนนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเยอรมันทั้งหมด แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในระดับพื้นฐานเพราะงานวิจัยที่ต้องทำในระดับปริญญาเอกนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้บางอย่าง ซึ่งต้องไปลงเรียนเพิ่มในวิชาระดับปริญญาตรีเช่น วิชาภาษาทิเบต

“ด้วยความที่เราเรียนสันสกฤต มันช่วยมากในการเรียนภาษาเยอรมัน เพราะทั้งสองภาษานี้เป็นภาษาในตระกูลเดียวกันคืออินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) แต่ภาษาสันสกฤตจะยากกว่าภาษาเยอรมันในแง่ของการผันรูปคำและไวยากรณ์ที่มีความซับซ้อนกว่า ตัวอย่างเช่น ภาษาเยอรมันมี 4 การก (Kasus) คือ Nominativ Akkusativ Dativ และ Genetiv ส่วนของภาษาสันสกฤตมี 8 การก (Case) และมี 3 พจน์คือ เอกพจน์ ทวิพจน์ และพหูพจน์ มีเพศเหมือนกัน ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีระบบและแบบแผนที่คงตัว ภาษาเยอรมันก็มีระบบของการผันคำและไวยากรณ์ที่ชัดเจนเช่นกัน”

เรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาเยอรมันว่ายากแล้ว แต่นัทเองต้องเรียน “ภาษาทิเบต” เป็นภาษาเยอรมัน ทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปอีก ทำให้นัทต้องมีความพยายามมากกว่าคนอื่นและทำงานหนักมากกว่าคนอื่นซึ่งเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยในเยอรมนีค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ทำให้ต้องใช้ความรับผิดชอบสูง ซึ่งตรงนี้ทำให้นัทได้เห็นศักยภาพของนักศึกษาเยอรมันในเรื่องของความรับผิดชอบและความตั้งใจ นัทเล่าว่าคาบเรียนเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงครึ่งแต่อัดแน่นไปด้วยความรู้ ต่างจากการเรียนการสอนในประเทศไทย

“นักศึกษาที่นี่กล้าที่จะถามในสิ่งที่เค้าไม่รู้และเค้าจะฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา สังเกตได้เวลาเดินเข้าไปในห้องสมุดในช่วงเปิดเทอม จะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของทุกคนที่มาเพื่อหาความรู้ แต่พอถึงเวลาปิดเทอมทุกคนก็ไปพักจริง ๆ ”

หลักสูตร “พุทธศาสน์ศึกษา” ของมหาวิทยาลัยมิวนิกเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากรวมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย ภารตวิทยา จีนศึกษา ญี่ปุ่นศึกษา และศาสนศึกษา ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงมีรายวิชาที่เปิดกว้างและหลากหลาย นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจได้อย่างอิสระ ยกตัวอย่างเช่น พุทธศาสนาในญี่ปุ่น พุทธศาสนาในจีน ปรัชญา การอ่านคัมภีร์ต้นฉบับ พุทธศิลป์ หรือในหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีนักศึกษาจากหลายประเทศสนใจเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย อังกฤษ

จากนั้นผู้เขียนก็ได้มีความสงสัยว่าการมาเรียน “พุทธศาสน์ศึกษา” ในประเทศ “เยอรมนี” ที่พุทธศาสนาอาจจะไม่ได้มีอิทธิพลมากนักนั้นมีข้อดีอย่างไร จะต่างกับการไปศึกษาในประเทศที่พุทธศาสนามีอิทธิพลมากอย่างในประเทศไทยหรือประเทศอินเดีย จึงได้ลองถามความเห็นจากนัทว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

“คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแล้วมาศึกษาหรือทำงานในด้านนี้ เค้าจะมี Critical Thinking ซึ่งทำให้เค้าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาที่มากเกินไป” ถ้าคนเรามีความศรัทธามากเกินไปก็จะกลายเป็นความงมงายและทำให้เราไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ นัทเล่าว่าหลาย ๆ สิ่งที่เค้าได้ศึกษาหรือค้นพบก็มีความแตกต่างกับสิ่งที่สอนกันในประเทศไทย ซึ่งถ้าเราไปศึกษาที่ประเทศอินเดียหรือแม้แต่ที่ประเทศไทยเองที่อาจไม่ได้เปิดกว้างในเรื่องของการวิพากย์วิจารณ์มากนัก ก็จะอาจจะส่งผลให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นมาได้

“เรามาศึกษาสิ่งเหล่านี้เพื่อไม่ได้จะบอกว่า อะไรผิดอะไรถูก เราต้องยอมรับก่อนว่ามันมีความหลากหลายในตัวมันเอง เพราะคนเรามองสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกันโดยลักษณะของศาสนา เราอาจจะได้ยินเรื่องเล่าทางพุทธศาสนามาต่างกัน มีมุมมองหรือตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าต่างกัน เมื่อมีการบันทึกเรื่องเล่าหรือคำสอนเป็นลายลักษณ์จึงมีหลายสำนวน บางสำนวนมีความใกล้เคียงกันมาก บางสำนวนก็ต่างกันโดยสิ้นเชิงแต่ก็อาจมีอนุภาค สำคัญบางอย่างร่วมกันที่ทำให้เชื่อว่ามีที่มาจากแหล่งเดียวกันได้ การมาเรียนพุทธศาสนาในเยอรมนีทำให้เราไม่จำกัดความคิดตัวเอง หรือไม่ผูกความคิดตัวเองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป”

นัทได้เล่าถึงรายละเอียดของงานวิจัยของตัวเองซึ่งเกี่ยวกับการทำชำระคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่องมหาปราติหารย์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าของนิกายมูลสรรวาสติวาทินซึ่งเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิมนิกายหนึ่งที่แพร่หลายไปทั่วอินเดียภาคกลางและอินเดียภาคเหนือรวมทั้งแพร่หลายไปสู่เอเชียกลางและจีนด้วย คีมภีร์ดังกล่าวบันทึกด้วยอักษร Gilgit-Bāmiyān type II ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 ภาษาสันสกฤต บนเปลือกต้นเบิร์ช (Birch bark) (เป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถค้นพบได้ในแถบกิลกิตหรือปากีสถานในปัจจุบัน) คัมภีร์ต้นฉบับที่ค้นพบเป็นต้นฉบับที่ไม่สมบูรณ์จึงต้องเปรียบเทียบกับบทแปลสำนวนภาษาทิเบตและภาษาจีน เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสำนวนต่างๆ นัทได้ค้นพบว่าเรื่องเล่าการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าสำนวนมูลสรรวาสติวาทินมีความแตกต่างจากเรื่องเล่าสำนวนภาษาบาลีที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทและอรรถกถาชาดกแต่ก็ยังมีอนุภาคสำคัญบางประการที่ปรากฏร่วมกัน

“กว่าที่จะมาเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก มันมีเรื่องเล่ามากมาย การจัดรูปแบบของพระไตรปิฎกก็แตกต่างกัน เรื่องเล่าที่อยู่ข้างในก็ต่างกันในแต่ละนิกาย” ซึ่งการศึกษาที่ได้ค้นพบ “ความขัดแย้ง” และ “ความแตกต่าง”  บ่อยครั้งได้ขัดเกลานัทให้เป็นคนที่เปิดรับมากขึ้น และมองทุกอย่างอย่างที่มันพึงจะเป็นอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานที่เชื่อถือได้และต้องพิสูจน์ได้

“การเรียนศาสนาดูเหมือนจะเป็นเรื่องงมงาย แต่เรากลับมองว่าสิ่งที่เราศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่จับต้องได้จริง มีอยู่จริง อย่างงานที่กำลังศึกษาอยู่ เราไม่ได้บอกว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่เรายกขึ้นมาเอง แต่เรามีหลักฐานและหลักฐานที่เราใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างคัมภีร์ต้นฉบับที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา”

คนทั่วไปสามารถปักใจเชื่อในตำนาน เรื่องเล่า พุทธประวัติเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของแต่ละบุคคล แต่สำหรับผู้ที่ศึกษางานพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องมีใจที่เปิดกว้าง ไม่ยึดติดแต่สิ่งที่เคยรับรู้หรือได้ยินมา ที่สำคัญต้องรู้จักตั้งคำถาม เราต้องคิดด้วยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสแบบนี้ ทำอย่างนี้ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราไม่ได้ศึกษาข้อมูลในอดีตเพื่อให้ “รู้ประวัติศาสตร์” เพียงอย่างเดียว หากเป็นเช่นนั้นเรื่องราวเหล่านั้นคงเป็นเพียงตำนานเพราะเรา “เชื่อ” แต่หากเราเรียนเพื่อให้ “คิดเป็นประวัติศาสตร์” คือ ศึกษาวิธีการคิดของคน พินิจพิเคราะห์ว่าคนคิดอย่างไร ทำไมถึงได้นำเสนอพุทธประวัติออกมาในรูปแบบนั้น เขาต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นัทได้นำกลับมาใช้ในการเขียนงาน “การเขียนวิทยานิพนธ์ต้องมีมิติความคิดทางประวัติศาสตร์ คือ ต้องศึกษางานที่มีมาก่อน ดูว่าเขาทำอะไร แล้วจึงตั้งคำถามว่าทำไมคนที่ศึกษาก่อนจึงคิดแบบนั้น แล้วเราคิดแบบไหน จะต่อยอดอย่างไร การเปรียบเทียบจึงจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีก็ไม่รู้จะเทียบกับอะไร ไม่มีการอ้างอิง การเปรียบเทียบจะเกิดขึ้นได้เพราะมีความคิดเบื้องหลัง มีความเป็นมา”

จากตอนต้นมาถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายคนอาจมีความสงสัยว่านักศึกษาปริญญาเอก ที่มาศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นเป็นคนที่เคร่งศาสนาหรือไม่ ซึ่งนัทก็ได้ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า “ก็ไม่ได้เป็นคนที่เคร่งศาสนาขนาดนั้น ก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปที่มาใช้ชีวิตในเยอรมนี แต่สำคัญคือใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท หรือถ้าหากประมาทแล้วก็ต้องพยายามดึงสติให้กลับมาให้ได้”

ระหว่างการศึกษาในประเทศเยอรมนี นัทได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเข้าร่วมคอร์สปฏิบัติธรรม เป็นพิธีกรในงานกฐินพระราชทาน รวมทั้งได้เคยอุปสมบทที่วัดพุทธวิปัสสนา เมืองวัสเซนัค ในโอกาสที่หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล พระอาจารย์ที่นัทนับถือได้เดินทางมายังประเทศเยอรมนี นัทได้มีโอกาสช่วยพระอาจารย์เป็นล่ามในการสอบอารมณ์ชาวต่างชาติ (การสอบอารมณ์ คือ การที่วิปัสสนาจารย์สอบถามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติในแต่ละวัน เมื่อเจอสภาวะธรรมแบบไหนจะต้องทำอย่างไร จะแก้และผ่านมันไปได้อย่างไร เมื่อเราปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาหนึ่ง สภาวะธรรมจะเกิดขึ้น ถ้าหากเราไปยึดติดกับสิ่งนี้ก็จะก่อให้เกิดความไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานจะให้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ในสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้นไม่ไปยึดติดเพราะสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป)

“คนเยอรมันฉลาดมาก เค้าเลือกที่จะสนใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม สามารถสังเกตได้ว่าเค้าจะเข้ามา Meditationszentrum กันเยอะ ซึ่งผิดกับวิถีของคนไทยที่เน้นการทำบุญ บริจาคทาน แต่รู้มั้ยว่าบุญที่ดีที่สุดคือบุญที่ได้จากการภาวนา จากการปฏิบัติซึ่งก็คือการนั่งสมาธิ การทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย คือการทำบุญกับลมหายใจตัวเอง แค่เราภาวนา ยุบหนอ พองหนอ มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ละทิ้งซึ่งการทำความชั่ว เราย่อมที่จะรู้ว่าทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร จากนั้นเราก็จะพูดดี ทำดี คิดดี ละเว้นความชั่ว อันนี้คือบุญที่ประเสริฐที่สุด”

นัทเล่าอีกว่าที่ศูนย์วิปัสสนาใกล้เมืองมิวนิค มีชาวต่างชาติมาร่วมปฏิบัติธรรมกว่าสองร้อยคน ซึ่งพระอาจารย์นั้นชอบมากเพราะคนเยอรมันเป็นคนใฝ่รู้ ถ้าสงสัยเรื่องไหนก็จะถามจนได้คำตอบ ถามในเรื่องที่มีความรู้ เช่น การเจริญวิปัสสนา หรือปัญหาที่พบระหว่างเจริญกรรมฐาน

“พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เรางมงาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราอ้อนวอนขอ ขอให้มีเงินเยอะ ๆ ร่ำรวย ๆ แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำ ทำในสิ่งดี ละในสิ่งชั่ว ทำในสิ่งใดย่อมได้รับผลในสิ่งนั้น”

เมื่อได้ฟังแล้ว พุทธศาสนาก็เหมือนกับวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของเหตุผล จะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่ลองปฏิบัติหรือทดลองด้วยตัวเอง คนเยอรมันก็ได้เลือกที่จะลองปฏิบัติ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราไม่สามารถบอกหรือไปบังคับความคิดคนเหล่านั้นได้ นัทเองก็เชื่อว่าคนเยอรมันได้พิสูจน์และเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติจึงทำให้เกิดความศรัทธาและมีความสนใจในพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ และนี่คือจุดแข็งของพุทธศาสนาที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ถ้าอยากได้ ต้องทำเอง

จากการที่นัทได้ทำงานวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับ “การแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า” ผู้เขียนเลยอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีจุดกำเนิดมาได้อย่างไร นัทจะมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

“สิ่งนี้สอดแทรกอยู่ในเรื่องเล่าของศาสนาต่างๆ ไม่ได้มีอยู่ในศาสนาพุทธเท่านั้น พระเยซูก็เคยแสดงปาฏิหาริย์รักษาคนตาบอด มีวิชาหนึ่งที่เรียกว่า Hagiography เป็นวิชาที่เขียนประวัติของคนที่เป็นศาสดา ซึ่งก็จะมีลักษณะร่วมบางอย่างที่คล้ายกัน มีการศึกษาเปรียบเทียบประวัติพระเยซูกับประวัติพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ประวัติของศาสดามหาวีระของศาสนาเชนก็มีลักษณะเดียวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาแตกต่างจากปุถุชนทั่วไป ดังนั้นการใส่เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ลงไปย่อมทำได้ เช่น ประสูติออกมาจากสีข้างของพระนางมายา สามารถเดินได้เจ็ดก้าวโดยมีดอกบัวรองรับ สามารถเปล่งอาสภิวาจาตั้งแต่วันแรกที่ประสูติออกมา อย่างที่บอกไปแล้วว่าหากเราเชื่อตามนั้นเลย มันก็จะกลายเป็นตำนานอยู่อย่างนั้น แต่เราในฐานะผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาก็ต้องตั้งคำถามว่าผู้เขียนอยากจะบอกอะไรถึงเขียนเรื่องราวพุทธประวัติแบบนี้ การแสดงปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญคือ การแสดงปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ในคัมภีร์ฝ่ายมูลสรรวาสติวาทินเรียกว่า มหาปราติหารย์ ส่วนฝ่ายเถรวาทเรียกว่า ยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งมีรายละเอียดในการแสดงปาฏิหาริย์ที่แตกต่างกันบ้าง บางอย่างสาวกสามารถแสดงได้ แต่บางอย่างมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นท่ีจะแสดงได้ นั่นย่อมแสดงว่าพระพุทธองค์ได้สั่งสมบารมีมามากกว่าบุคคลอื่นๆ ถึงได้สามารถแสดงสิ่งที่คนอื่นแสดงไม่ได้ อย่าลืมว่าว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางความเชื่อของศาสนาอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งพราหมณ์ เชน ลัทธิต่างๆ และพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ต่างไปจากลัทธิเหล่านั้น การจะทำให้คนที่มีความเชื่อในลัทธิอื่นหันมาเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคนเห็นความพิเศษของศาสดา ย่อมมีความศรัทธาหันเข้ามานับถือ เมื่อแสดงปาฏิหาริย์จบลง ท่านก็เทศน์สอนผู้คนที่มาชมการแสดงปาฏิหาริย์  การสั่งสอนนี้ก็ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในทางพุทธศาสนา เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์”

ซึ่งนัทก็ได้ย้ำว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอามายึดถือ ไม่ใช่หัวใจของศาสนา แต่หากเป็นหลักธรรมคำสอนที่ทำให้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจ 4 โดยมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะอันสูงสุดที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง

สุดท้ายผู้เขียนอยากทราบว่านัทอยากเห็นการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทยไปในทิศทางใดและอยากฝากอะไรถึงผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี

“สิ่งที่เราต้องคิดต่อไป คือ ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องเข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างอย่างงมงาย แต่ต้องรู้จักคิดและตั้งคำถาม ปลูกฝังเยาวชนอยู่ในศีลธรรมอันดีโดยมีหลักคำสอนของศาสนาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่ สำหรับนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่นี่ ผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่ได้มาอย่างปาฏิหาริย์โดยไม่ลงมือทำ หากเรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจในสิ่งที่ตัวเองทำ มีความเพียรเป็นที่ตั้ง ใช้โอกาสที่ได้รับมาอย่างคุ้มค่า ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

ผู้เขียนหวังว่า มาถึง ณ จุดนี้ก็ทำให้เราก็ได้รู้จัก “นัท” กันมากขึ้น รวมถึงได้เปิดโลกของการเรียนอักษรศาสตร์ พุทธศาสน์ศึกษาและมุมมองเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ที่บางครั้งอาจจะยากนักที่จะได้มาสัมผัสและรับรู้ ซึ่งผู้เขียนก็มีความยินดีที่ได้มีโอกาสเป็นสื่อกลางนำสิ่งเหล่านี้มานำเสนอแก่ทุกคน หวังว่าบทความนี้จะสร้างประโยชน์แก่ทุกคนและสังคมไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่ Person of the Month เดือนเมษายน จะเป็นใครโปรดติดตามกันต่อไปนะครับ