สวัสดีเดือนแห่งความรักค่ะ สำหรับ Person of the Month ประจำเดือนนี้ผู้เขียนขอพาไปรู้จักกับบุคคลท่านหนึ่งที่ผู้เขียนได้ติดตามผ่าน Social media มาเป็นระยะใหญ่ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนได้มีโอกาสทำความรู้จักและขอสัมภาษณ์เพื่อนำเรื่องราวมาแบ่งปันต่อ
สมรักษ์ อู่คล้าย หรือ เชฟโก๊ะ ชาวไทยผู้มีความรักในการทำอาหารไทย รวมไปถึงการแกะสลัก ชีวิตของเชฟโก๊ะต้องผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ ชีวิตการทำงานของเขาในบริษัท Catering ชั้นนำ และมุมมองอาหารไทยในประเทศเยอรมนี จะเป็นอย่างไรไปติดตามกันได้เลยค่ะ
คำเตือน : บทความนี้ประกอบไปด้วยภาพอาหาร ไม่ควรอ่านตอนดึก ๆ เราเตือนคุณแล้วนะ !
วิศวกรรมไฟฟ้า…
“เราเป็นผู้ชายอ่อนหวานมาตั้งแต่เด็กเนอะ แล้วแม่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ไม่ชอบกิริยา แล้วก็ไม่อยากให้เกิดกับลูกตัวเอง แม่เลยจับลูกส่งโรงเรียนที่เป็นช่างมาตั้งแต่มัธยม
ตอนใกล้จะเรียนจบม.3 พี่จะไปสมัครที่โรงเรียนเสาวภาเพื่อเรียนคหกรรม แต่แม่ของพี่ก็ไปสมัครที่เทคโนโลยีกรุงเทพฯ ให้แล้ว พี่ก็เลยต้องไปเรียนปวช. ด้านไฟฟ้าอยู่ 3 ปี
พอเรียนจบปวช. แล้ว ก็ไปสอบที่ราชภัฏ เพื่อจะลงคหกรรม แต่ว่าพี่เรียนสายอาชีพ มันก็เลยสอบไม่ติดเพราะว่าความรู้ความสามารถเราไม่ใช่ทางนั้น ก็ต้องกลับมาเรียนปวส. อีกสองปีจนจบ ก็กลายเป็นว่าจบปวส. ไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้าพี่เรียนต่ออีกสองปีครึ่งก็จะจบปริญญาวิศวะด้านอุตสาหกรรม แต่ตอนนั้นพี่บอกแม่เลยว่า ไม่เอาแล้วแล้ว พี่ขอบวชก่อน พอบวชเสร็จก็อยากเปิดร้านดอกไม้ อยากเปิดร้านขายของ ทำกับข้งกับข้าว พี่มีปัญหากับแม่นิดหน่อยแต่สุดท้ายแม่ก็โอเค ให้เปิดร้านดอกไม้ได้”
จุดเริ่มต้น…
เชฟโก๊ะไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำงานด้านคหกรรม แต่ด้วยความที่มีแค่ใบประกาศสายวิชาชีพด้านไฟฟ้าหากนำไปยื่นเพื่อสมัครงานตามโรงแรม ก็ไม่น่าจะได้รับโอกาส เชฟโก๊ะจึงตัดสินใจไปเรียนเทคคอร์สที่วิทยาลัยดุสิตธานี โดยที่หลังจากเรียนจบเชฟโก๊ะได้มีโอกาสไปทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในบางแสน โดยเริ่มไต่เต้าจากการเป็นผู้ช่วยกุ๊กขึ้นไปเรื่อย ๆ
หลังจากทำงานอยู่ที่บางแสนได้ปีกว่าก็มีเพื่อนให้ไปทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย เชฟโก๊ะได้ทำงานในตำแหน่งเชฟไทย โดนทำทั้งอาหาร และขนม รวมไปถึงการแกะสลักอยู่ประมาณ 3-4 ปี จึงมาได้สัญญาจ้างใหม่ที่เยอรมนีเมื่อปี 2552
ปัจจุบัน…
เชฟโก๊ะทำงานตำแหน่งเชฟอาหารไทย อยู่ที่บริษัท LSG Sky Chefs ที่เมือง Düsseldorf ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีมานานกว่า 50 ปี LSG เป็นบริษัทลูก 100% ของสายการบิน Lufthansa หน้าที่หลักคือทำอาหารไทย ส่งสายการบินที่เป็นสายการบินลูกค้า
“เราเป็นพนักงานบริษัทในเครือ Lufthansa ที่ซึ่งมีบริษัทลูกทำ Catering รับทำอาหารของสายบินอื่นส่งขึ้นเครื่อง เวลาเราบินมาจากเมืองไทย เค้าก็จะเอาอาหารจากเมืองไทยใส่เครื่องมากินระหว่างทาง แต่พอเวลาเครื่องมาถึงเยอรมัน เวลาจะบินกลับเมืองไทย ก็ต้องเอาอาหารจากเยอรมันขึ้นไปบินเพื่อกินกลางทางเหมือนกัน”
ไม่ใช่แค่ Lufthansa…
“โดยหลัก ๆ พี่ทำอาหารให้กับสายการบิน Lufthansa และ Singapore Airline นอกจากนี้ก็จะมีทำอาหารให้กับ พวกรัฐมนตรี นักการเมือง คนใหญ่คนโต หรือผู้บริหารระดับสูงในเยอรมนี โดยถ้าคนกลุ่มนี้บินในโซนเมือง Düsseldorf ทางพี่จะเป็นคนทำ”
งาน…
“เราทำอาหารไทยซึ่งเป็นอาหารไทยแท้ วัตถุดิบแบบของคนไทยแท้ เพราะเราสามารถที่จะให้แผนกตลาดสั่งวัตถุดิบต่าง ๆ จากบ้านเราเข้ามาได้ เราก็ทำอาหารไทยตามเมนูที่เค้าบอกมาว่ามีอะไรบ้าง แล้วถึงเวลาเราก็ต้องไปพรีเซนท์กับบริษัทนั้น ทางบริษัทจะส่งตัวแทนมาชิมและต่อรองราคา รวมไปถึงการติชมว่าอยากให้ปรับปรุงแก้ไขส่วนไหน เปลี่ยนเนื้อสัตว์มั้ย ผักมากไปหรือน้อยไป อาหารก็จะทำแบบไทย ๆ แต่อาจจะไม่เผ็ดมาก เพราะว่าคนกินอาจจะเป็นคนต่างชาติที่ทานอาหารรสชาติกลาง ๆ จะจี๊ดจ๊าดมากไม่ได้ บางทีถ้าเผ็ดไปหรือว่ารสจัดไปก็อาจจะเป็นสาเหตุให้ปวดท้องบนเครื่องได้”
บางครั้งไม่มีไฟล์ทบินที่จะออกบินกลับไปประเทศไทย ทำให้เชฟโก๊ะไม่ต้องทำอาหารไทยในวันนั้น แต่ก็จะถูกส่งตัวไปช่วยแผนกอื่น สายการบินอื่น เช่น ไปช่วยทำอาหารญี่ปุ่น ส่งผลให้เชฟโก๊ะได้เรียนรู้การทำอาหารชาติอื่น ๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
Thai Küche ครัวไทยในเยอรมนี…
คือกรุ๊ปเฟสบุ๊คที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยคุณใหม่ ผู้ซึ่งมีกิจการ Catering ของตัวเองอยู่ที่เมือง Freiburg มีจุดประสงค์คือต้องการรวมตัวคนไทยทางโลกออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการทำอาหาร เชฟโก๊ะเองก็เป็นหนึ่งในแอดมินของกรุ๊ปนี้
“สำหรับเพจนี้คือเราก็จะบอกสูตร ตอบคำถาม สอน ให้ความรู้ต่าง ๆ ในด้านการทำอาหาร
ตัวอย่างเช่นบางคนก็จะมาขอความเห็นว่าถ้าที่บ้านจะจัดงาน มีคนประมาณ 10 กว่าคน อยากได้อาหารเมนูไทยง่าย ๆ เพราะตัวเองทำอาหารไม่เก่ง ก็จะมีคนในเพจมาเขียนตอบแชร์ความคิดกัน ทำไอ้นี่สิคะ ไอ้นี่ง่ายดี หรือมีเมนูอะไรน่าสนใจ คือมันเป็นกรุ๊ปที่ช่วยเหลือกัน”
อาจมีใครหลายคนที่สงสัยว่าชื่อแป้งต่าง ๆ แป้งไทย แป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี ผงฟู หรือวัถุดิบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเบเกอรี่ ในภาษาเยอรมันมันเรียกว่าอะไรบ้าง ก็สามารถไปเขียนถามในกรุ๊ปเพื่อขอความรู้ได้เช่นกัน
“และไม่ใช่ว่าพี่คนเดียวที่จะมีความรู้ทั้งหมดตอบคำถามได้ทุกอย่าง บางคนอาจจะเคยทำอาหารประเภทนั้นนี้แล้วมีความรู้ว่าสามารถนำวัตถุดิบที่หาได้ในเยอรมนีตัวไหนมาแทนที่ได้ การใช้แป้งว่าควรใช้แป้งเบอร์ไหน แป้งตัวไหนใช้ทำขนม แป้งตัวไหนใช้ทำเค้กเป็นต้น”
อุปสรรคของการเป็นเชฟ…
กว่าจะมาเป็นเชฟโก๊ะที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้นั้นไม่ง่ายเลย ต้องผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ความลำบากในการมาเริ่มต้นทำงานที่ประเทศเยอรมนี โดยอุปสรรคใหญ่ที่เชฟโก๊ะต้องพบคือเรื่องวีซ่า ด้วยความไม่รู้กฎหมายการทำงานในเยอรมนี
“พี่ทำวีซ่ามาเทรนงานที่เมือง Frankfurt ซึ่งหลังจากเทรนงานเสร็จทางร้านจะส่งเราไปตามสาขาต่าง ๆ พี่ก็ได้มาอยู่สาขาที่เมือง Essen โดยที่พี่ไม่รู้มาก่อนเลยว่า ถ้าหากวีซ่าเขียนว่าให้พี่มาทำงานที่ Frankfurt พี่ไม่สามารถไปทำงานที่อื่นได้ คนที่ส่งพี่มาเองก็ไม่รู้เช่นกัน จนกระทั่งวันนึงมีเจ้าหน้าที่จากทางรัฐมาตรวจที่ร้าน พี่ก็เลยแจ็กพอตแตก เจ้าหน้าที่บอกว่าวีซ่าของพี่ไม่สามารถทำงานที่นี่ได้ ตัวพี่เองตอนนั้นยังพูดภาษาเยอรมันไม่ค่อยได้ก็มีเพื่อนช่วยแปลให้ ตอนนั้นพี่กลัวมาก ๆ เลย
ผู้จัดการร้านโทรไปบอกสำนักงานใหญ่ ทางสำนักงานใหญ่เองก็ตกใจ ตำรวจสั่งให้ทางร้านส่งพี่กลับไป Frankfurt ด่วนถ้าไม่อยากโดนจับ เค้าก็ซื้อตั๋วรถไฟให้พี่กลับเดี๋ยวนั้น ตำรวจไปส่งพี่ที่สถานีรถไฟเพื่อที่จะได้มั่นใจว่าพี่ขึ้นรถไฟไปจริง ๆ
แต่ในความโชคร้ายตรงนั้น ก็คือความโชคดีของเรานิดนึง ตรงที่ว่าเราต้องมานับหนึ่งรอวีซ่าใหม่ แต่สัญญาจ้างเดินแล้ว เงินเดือนจ่ายแล้ว พี่ก็นอนกินเงินเดือนฟรี ๆ ไปเลยเต็ม ๆ เกือบ 4 เดือน เพราะเค้าบอกว่าห้ามทำงาน พี่มีแค่วีซ่ารอวีซ่าทำงาน ฮ่า ๆ”
เค้ก…
นอกจากการทำอาหารแล้วเชฟโก๊ะยังมีความสามารถในการทำเค้กอีกด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก แต่เชฟโก๊ะก็รับทำเค้กให้กับคนรู้จักในโอกาสต่าง ๆ
มาไกล…
“พี่ขอใช้คำว่าหักดิบแล้วกัน มีคนถามพี่ตลอดว่าจบสถาบันไหนมา แล้วก็มักจะตกใจเสมอเมื่อรู้ว่าพี่ไม่ได้จบด้านคหกรรมมา”
“ถ้าตอนนี้ให้ไปเดินสายฟงสายไฟ พี่แบบว่าใส่ถุงพลาสติกมัดปากแน่นแล้วก็คืนโรงเรียนเค้าไปหมดแล้ว เหมือน ด้านช่างมันไม่เข้าหัวเลยมั้ง ฮ่า ๆ”
ไม่หยุดที่จะเรียนรู้…
“ครูพี่ก็คือครูพักลักจำตลอด แล้วเราต้องทำเอง พอทำออกมาแล้ว อะไรที่เรามีความรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เราก็ต้องฝึกและพยายามจนทำให้สำเร็จ ทุกคนที่เรามีเค้าเป็นต้นแบบถือว่าเป็นครูของพี่ทั้งหมด”
คนเยอรมันกับอาหารไทย…
“คนเยอรมันชอบอาหารไทยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับ อาหารชาติอื่น ๆ เช่น อาหารญี่ปุ่น ที่ชาวเยอรมันมักจะพูดถึงแต่คำว่าซูชิ โอ้ซูชิอย่างงู้นอย่างงี้ แต่ถ้าพูดถึงอาหารไทย เค้าจะพูดถึงเมืองไทยเลยว่า ชั้นไปพักร้อนที่นั่นมา ชั้นกินนู่นกินนี่ หลากหลายที่ที่เยอรมนีอาจจะยังไม่มี แล้วเค้าก็ไม่ได้รังเกียจอาหารไทย พอพูดคำว่าอาหารไทย เค้ามักจะแสดงท่าทางดีใจเสมอเลย พอเค้ารู้ว่าพี่เป็นเชฟอาหารไทยก็กระตือรือร้นที่จะคุยด้วยมาก”
เชฟโก๊ะกล่าวว่า คนไทยควรนำเสนออาหารไทยในด้านดีให้กับชาวต่างชาติ ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์เช่น อาหารแปลก ๆ ตามท้องถิ่นต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งตีนไก่ที่เป็นอาหารธรรมดาสำหรับหลาย ๆ คน “พอพูดถึงตีนไก่ ฝรั่งบางคนจะอี๋ทันทีเลย” ฝรั่งบางคนไม่เข้าใจก็จะมองอาหารไทยในแง่ลบ
“ทีคนเยอรมันยังกินกระต่ายเลย เค้าก็บอกว่ามันกินได้ เหมือนเนื้อไก่เลย แต่สำหรับเรากระต่ายน่ารักจะตาย กล้ากินกันได้ยังไง”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
เมนูอาหารไทยยอดฮิตของชาวเยอรมัน…
คำตอบที่ไม่เกินคาดเลยกับสารพัดแกงของประเทศไทยเรานั่นเอง
“ฝรั่งเยอรมันจะไม่กินของแห้ง เช่น ผัดกะเพราราดข้าวบ้านเราจะต้องผัดให้แห้ง แต่ถ้าเป็นฝรั่งจะต้องมีน้ำนิดนึง เวลาเราไปกินตาม Imbiss น้ำจะเจิ่งนิดนึง ฝรั่งจะชอบพวกแกง แกงทุกแกงที่เป็นแกงไทย แกงเขียว แกงแดง แกงไก่ แกงมัสมั่น แต่ต้มจืดก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะว่าเค้าจะงงกับคำว่าต้มจืด ถ้าต้มจืดเค้าจะซดกินเปล่า แต่บ้านเราต้มจืดกินกับข้าว ส่วนเรื่องเผ็ด ไม่เผ็ด อันนี้มันแล้วแต่แต่ละคนที่จะกิน”
การหาวัตถุดิบ…
ส่วนตัวผู้เขียน มองว่าการหาวัตถุดิบเพื่อมาประกอบอาหารไทยนั้นไม่ได้ยากอย่างที่ใคร ๆ คิด ซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียเป็นสิ่งที่สามารถพบเจอได้ตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วไป บางเมืองอาจมีมากกว่าหนึ่งร้าน บางเมืองอาจมีการแยกเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขายของไทย เกาหลี หรืออินเดีย เป็นต้น
“เมืองที่พี่อยู่หาง่ายมาก มีทุกอย่างที่ขวางหน้า เพราะ Essen เป็นเมืองใหญ่ มีร้านเอเชีย 4-5 ร้าน ร้านตุรกี ร้านปากีสถาน ร้านศรีลังกา ร้านอินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ร้านเหล่านี้ก็จะมีผลิตภัณฑ์ของเมืองไทยขายหมด ที่จริงมันเป็นคำถามที่หลายคนจะตอบไม่เหมือนกัน บางคนถ้าอาศัยอยู่บ้านนอกไกล ๆ หน่อยก็จะตอบว่าหายาก บางคนต้องเข้าเมืองเดือนละครั้งเพื่อมาซื้อของไทยไปตุน”
ไม่แปลกใจเลย ก็ในเมื่อเมืองชื่อ Essen ที่แปลว่าอาหารนี่นะ.. ฮ่า ๆ
การที่มาอยู่เมืองนอกไกลบ้านทำให้เชฟโก๊ะมีโอกาสได้ทำอาหารไทยเพื่อรับประทานเองในชีวิตประจำวันมากขึ้น บางอย่างเองก็ได้ทำมากกว่าสมัยอยู่ประเทศไทย อาหารหลาย ๆ อย่างสามารถหาซื้อได้ง่ายในประเทศไทย เช่น ลูกชิ้นที่เราสามารถแค่ไปเซเว่นหน้าปากซอยก็หาซื้อได้ คนที่เป็นแม่บ้านมาอยู่เมืองนอกจึงมีความสามารถในการทำครัวขึ้นมาก เพราะจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับประเทศที่ไม่ได้มีวัตถุดิบทุกอย่างเหมือนประเทศไทย จึงต้องขวนขวายที่จะหาวัตถุดิบอื่นเพื่อมาทดแทน คิดสูตรใหม่ ๆ ทำให้แม่บ้านในต่างประเทศเก่งกว่าแม่บ้านในประเทศไทยหลาย ๆ คน
“แม้กระทั่งเส้นบะหมี่ แผ่นเกี๊ยว เค้ายังรีดกันเองเลย กะหรี่ปั๊บ ขนมเปี๊ยนี่ก็ปั้นกันเอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ก็เหมือนกัน อย่างเมืองไทยเราเข้าตลาดปุ๊บ เข้าเซเว่นปุ๊บ เราก็ได้ทุกอย่างที่เราต้องการแล้ว”
เสน่ห์อาหารไทย…
เอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างระหว่างอาหารไทยกับอาหารฝรั่งในความคิดของเชฟโก๊ะ
รสชาติ – มีรสชาติหลากหลาย ทั้งรสธรรมดาและจัดจ้าน มีขั้นตอนการปรุงที่ค่อนข้างชัดเจน มีการหมักเนื้อสัตว์ทิ้งไว้ก่อน
หน้าตา – สวย น่ารับประทาน มีของตกแต่ง ดอกไม้ มีใบไม้ ผักผลไม้แกะสลัก
วัฒนธรรมการกิน – ปรุงอีกรอบเวลารับประทาน เช่น การกินก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งการใส่พริกน้ำปลาเพิ่มในอาหารทั่วไป
ความภาคภูมิใจของคนไทย…
เมื่อวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการจัดแข่งขันแกะสลักขึ้น ณ เมือง Stuttgart ประเทศเยอรมนี โดยเชฟโก๊ะได้กวาดรางวัลมามากมาย เป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับพวกเราชาวไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ !
ฝรั่งกับการแกะสลัก…
อาจจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับใครหลายคนรวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยว่าชาวต่างชาติเองก็ให้ความสนใจในการแกะสลักเช่นกัน ซึ่งในหลาย ๆ ที่ก็มีการตั้งชมรมแกะสลัก มีการจัดฝึกฝน โดยลายจะมีทั้งลายแบบฝรั่งรวมไปถึงลายที่ได้รับการพัฒนามาจากของไทยอีกที
“มันจะเป็นลายเหมือนริบบิ้น เหมือนโบว์ ฉวัดเฉวียน ผลไม้แต่ละลูกจะเชื่อมต่อกัน แต่ของไทยผลไม้ 1 ลูก ก็จะต้องทำลายให้เสร็จให้รู้เลยว่านี่คือเป็นทรง 1 ดอก ของฝรั่งมักจะเป็นลวดลายที่เชื่อมต่อกันหรือแม้กระทั่งการแกะสลักหน้าคน แต่ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นลายดอกไม้”
อันดับที่ 1-3 ได้แก่ ประเทศไทย เช็ก และเม็กซิโก ตามลำดับ
“พี่ภูมิใจที่ได้ถือธงชาติไทยไปแข่งแกะสลักในทุก ๆ ครั้ง”
ทุก ๆ ปีจะมีการจัดงาน Amazing Thailand Bad Homburg ณ เมือง Bad Homburg ขึ้น โดยจะมีการจัดการแสดงต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงการขายของและอาหารไทย เชฟโก๊ะเองก็ไปเข้าร่วมการจัดโชว์การแกะสลักทุก ๆ ปีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ความฝันที่เป็นจริง…
“ตอนแรกยังไม่รู้ว่าอาชีพกุ๊กหรือเชฟเนี่ย เป็นอาชีพได้จริงเหรอ เพราะว่าในสายตาเราตอนเด็ก ๆ เรามองว่าเป็นพ่อครัวแม่ครัวก็แค่ทำกับข้าว จนโตแล้วเพิ่งมาเห็นว่า ชุดกุ๊กมันเป็นอย่างนี้ ชุดมันสวย พอใส่แล้วมันเชิดหน้าชูตา ได้ทำงานในวงการโรงแรม ก็เลยมีความใฝ่ฝันที่อยากจะใส่ชุดกุ๊ก นอกจากนี้พี่คิดว่าถ้าเราทำงานแล้วมีเงินเดือนที่มั่นคง แม่คงจะปลื้ม”
ประสบความสำเร็จ…
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเชฟโก๊ะคือการได้ทำให้ครอบครัวภูมิใจ
“ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ดี ตอนนี้พ่อแม่ปลื้มใจ ชาวบ้านชาวเมืองก็คุยกับพ่อแม่พี่ว่าเออลูกเอ็งดีเนอะ มีเงินส่งให้ใช้ สบายแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว มีเรื่องดี ๆ ให้คนเขาพูดให้พ่อแม่เราฟังเราก็ดีใจไปด้วย ทุกวันนี้เวลาคุยกับแม่ แกก็จะบอกว่าดีใจแล้วก็รู้สึกภูมิใจในตัวเรา”
การทำอาหาร ต้องทำด้วยใจ…
“เวลาทำอาหารไทยเนี่ย ขอให้ทำด้วยใจ รสชาติเนี่ยอยู่ที่คนกิน สิบลิ้น สิบรส ให้จำคำนี้ไว้ อยู่เมืองนอกเราไม่จำเป็นต้องให้มันแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทำตามที่มีวัตถุดิบ แล้วไม่ให้เสียคำว่าอาหารไทยก็พอแล้ว”
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ อ่านบทความเห็นภาพอาหารแล้วรู้สึกหิวกันรึยัง ?
หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเชฟโก๊ะไปไม่มากก็น้อย
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณเชฟโก๊ะที่ให้เกียรติสละเวลามาแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ให้กับพวกเราทุกคนด้วยนะคะ
ขอบคุณจ้อย หนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมฯ ที่ช่วยแกะบทสัมภาษณ์ด้วยค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า จะเป็นใคร อย่าลืมติดตามกันหล่ะ !
สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรม และคอนเทนต์ต่าง ๆ ของส.น.ท.ย.ได้ที่ เพจของทางสมาคมฯ และ เฟสบุ๊คของสมาคมฯ เลยนะคะ