สวัสดีครับ สำหรับโพสต์นี้เราจะมาพูดถึงโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยหรือที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า Studienkolleg กับพูดถึงแนวทางการเตรียมตัว สอบเข้า Studienkolleg นี้กันนะครับ สำหรับตัวข้อสอบเข้า Studienkolleg นี้ ภาษาเยอรมันจะเรียกว่าข้อสอบ Aufnahmeprüfung แปลตรงๆตัวเลยก็จะแปลว่าข้อสอบเข้าน่ะแหละครับ 55 ซึ่งคนที่ต้องเข้าเรียนที่โรงเรียน Studienkolleg นี้ ก็คือคนที่ต้องการมาเรียนปริญญาตรีงทีประเทศเยอรมนี แต่ว่าวุฒิการศึกษาม.ปลายที่มีนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาม.ปลายของเยอรมนี ซึ่งวุฒิการศึกษาม.ปลายของโรงเรียนทั่ว ๆ ไปในประเทศไทยนั้นก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ ทำให้นักเรียนไทยอย่างเรา ๆ จำเป็นต้องเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมมหาลัยฯ ก่อนประมาณหนึ่งปี ก่อนที่จะสามารถเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาลัยฯ ได้นั่นเองครับ
สำหรับคนที่มีวุฒิการศึกษาระดับม.ปลายที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาม.ปลายของประเทศเยอรมนี (ที่มีชื่อเรียกว่า Abitur) และอยากจะเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาลัยฯ ในประเทศเยอรมนี เราจะมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง ก็คือ
- เข้าเรียนมหาลัยฯ ที่ประเทศไทยก่อน ในคณะที่อยู่ในสายเดียวกันกับคณะที่เราต้องการไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี แล้วก็เรียนไปให้ผ่าน 2 ปีแบบไม่มีสอบตก แล้วถึงจะสามารถสมัครและเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาลัยฯ ที่เยอรมนีได้เลย (ยื่นเกรดของ 2 ปีที่เรียนไปในมหาลัยฯ นั้นไปด้วยตอนสมัคร) แต่ที่สำคัญคือ เราสามารถสมัครเรียนและเข้าเรียนตรงๆได้แค่ในคณะที่อยู่ในสายเดียวกันกับคณะที่เราเรียนที่ไทยไปเท่านั้นนะครับ ถ้าจะเปลี่ยนไปสมัครเรียนคณะสายอื่น ก็ไม่สามารถเข้าไปเรียนตรงๆเลยได้อยู่ดี
ป.ล. ถ้าเกิดว่าเรียนมหาลัยฯ ผ่านไป 1 ปีแบบเกรดยอดเยี่ยมมากๆ ได้อันดับต้นๆของชั้นปีอะไรอย่างนี้ ก็สามารถสมัครและเข้าเรียนปริญญาตรีในมหาลัยฯ ที่เยอรมนีได้ตรงๆเลยเหมือนกัน ไม่ต้องรอเรียนอีกปีให้ครบ 2 ปี - เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมหาวิทยาลัย (Studienkolleg) เป็นเวลาหนึ่งปี (อาจจะสั้นกว่าหรือยาวกว่าในบางกรณี แต่ปกติเลยจะใช้เวลาหนึ่งปี) แล้วสอบตัดเกรดตอนจบคอร์ส แล้วเอาเกรดที่ได้จาก Studienkolleg นั้นไปใช้สมัครเข้ามหาลัยฯ อีกครั้งร่วมกับเกรดและเอกสารอื่นๆจากไทย ข้อสอบตัดเกรดตอนจบคอร์ส Studienkolleg นี้ ภาษาเยอรมันเรียกว่า Feststellungsprüfung (หรือที่เพื่อนพี่น้องคนไทยที่นี่เรียกกันสั้นๆว่าข้อสอบ FSP นั่นเอง)
- ถ้าไม่อยากเสียเวลาเรียนมหาลัยฯ ที่ไทยไปก่อน แล้วก็ไม่อยากเสียเวลาเรียน Studienkolleg ด้วย ก็สามารถสมัครไปร่วมสอบ Feststellungsprüfung ร่วมกับนักเรียนของ Studienkolleg คนอื่นได้เลย แบบไม่ต้องเข้าเรียนก่อน สอบออกมาได้เกรดเท่าไหร่ก็เอาไปใช้ยื่นสมัครมหาลัยฯ ได้เลย (สำหรับการสมัครสอบ Feststellungsprüfung นี้อาจจะต้องสอบถามที่ International Office ของมหาลัยฯ แต่ละแห่งเอานะครับ ว่าสำหรับมหาลัยฯ แห่งนั้นๆเนี่ยสามารถสมัครได้ยังไง)
สำหรับคนที่เลือกที่จะเข้าเรียน Studienkolleg นะครับ ตอนที่สมัครเรียนมหาลัยฯ เนี่ย ให้ทำการสมัครแบบปกติเลย คือสมัครเรียนปริญญาตรีไปเหมือนกับว่าวุฒิม.ปลายของเราเท่ากับวุฒิม.ปลายของที่ประเทศเยอรมนี สมัครตรงๆผ่านตัวมหาลัยฯ ไม่ต้องไปยุ่งกับตัว Studienkolleg ไม่ต้องส่งเอกสารอะไรไปที่ Studienkolleg เลย ตัวมหาวิทยาลัยจะเป็นคนพิจารณาเองว่าวุฒิม.ปลายของเราอยู่ในระดับไหน และเราจำเป็นต้องเข้าเรียนที่ Studienkolleg รึเปล่า ถ้าเค้าเห็นว่าวุฒิม.ปลายของเราไม่เท่ากับของที่เยอรมนี เค้าก็จะส่งข้อมูลไปที่ Studienkolleg ที่โคกันกับมหาลัยฯ แห่งนั้น แล้วก็จะส่งผลมาบอกเราว่าเราต้องเข้าเรียนที่ Studienkolleg ก่อนนะ แล้วก็แนบเอกสารเชิญไปสอบเข้ามาพร้อมกับบอกว่าต้องไปสอบเข้าที่นี่ วันที่เท่านี้ๆนะ อะไรประมาณนี้
Studienkolleg ในประเทศเยอรมนีนั้นจะมีอยู่มากมายหลายสาขากระจัดกระจายไปตามรัฐต่างๆในประเทศเยอรมนี ซึ่ง Studienkolleg แต่ละแห่งนั้นก็จะโคกับมหาลัยฯ หลายๆแห่งที่ตั้งอยู่ในรัฐเดียวกันกับ Studienkolleg แห่งนั้น อย่างเช่น Studienkolleg ในเมือง Karlsruhe นี้ก็จะโคกับมหาลัยฯ KIT ในเมือง Karlsruhe กับมหาลัยฯ TU Stutgart ในเมือง Stutgart หมายความว่าไม่ว่าเราจะสมัครปริญญาตรีที่มหาลัยฯ KIT หรือที่มหาลัยฯ TU Stuttgart เราก็จะได้รับเอกสารเชิญให้ไปสอบเข้าที่ Studienkolleg ของเมือง Karlsruhe เท่านั้น แต่ว่าตอนที่เราเรียนจบจาก Studienkolleg นี่ เราไม่จำเป็นต้องไปสมัครเข้ามหาลัยฯ ที่อยู่ในเมืองเดียวกัน หรือในรัฐเดียวกันกับ Studienkolleg แห่งนั้นนะครับ เราสามารถสมัครเข้ามหาลัยฯ แห่งใดก็ได้ทั่วประเทศเยอรมนีเลย
สำหรับรายชื่อของ Studienkolleg ทั้งหมดในประเทศเยอรมนี เราสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บนี้เลยครับ http://www.studienkollegs.de/Kontaktdaten.html
Studienkolleg แต่ละแห่งนั้น จะมีคอร์สเรียนแบ่งเป็นคอร์สต่างๆ ตามสายวิชาของผู้สมัครเรียน เช่นจะมีคอร์สเรียนสำหรับคณะทางวิศวฯ คอร์สเรียนสำหรับคณะทางการแพทย์ คอร์สเรียนสำหรับคณะทางเศรษฐศาสตร์ อะไรประมาณนี้ ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนจะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ตอนที่มหาลัยฯ ส่งเอกสารเชิญไปสอบเข้า Studienkolleg แล้ว ว่าคุณต้องไปสอบเข้า Studienkolleg เข้าคอร์สสาขานี้นะ โดยมหาลัยฯ จะดูว่าเราสมัครเข้าคณะไร และคอร์สเรียนของ Studienkolleg คอร์สไหนที่เรียนวิชาที่สอดคล้องกับสายวิชานั้น ยกตัวอย่างเช่น คอร์สสำหรับคณะทางวิศวฯ ก็อาจจะเรียนวิชาเลข ฟิสิกส์ เคมี เขียนโปรแกรม คอร์สสำหรับคณะแพทย์ก็จะมีเรียนวิชาชีววิทยาด้วย อะไรประมาณนี้ แต่ละ Studienkolleg อาจจะวางหลักสูตร และเปิดคอร์สไม่เหมือนกัน อันนี้ก็ต้องไปดูในเว็บของ Studienkolleg แต่ละแห่งครับ ว่ารายละเอียดเป็นยังไง แต่ว่านอกจากวิชาเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ทุกๆคนที่เรียนที่ Studienkolleg จะต้องเรียนก็คือวิชาภาษาเยอรมันนั่นเองครับ
เมื่อเข้าไปอยู่ใน Studienkolleg แล้ว เราก็จะได้พบกับการเรียนสไตล์การเรียนม.ปลายของประเทศเยอรมนี (แต่ว่านักเรียนเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด) ในหนึ่งห้องเรียนก็จะมีนักเรียนอยู่แค่ประมาณยี่สิบคน แล้วเวลาเรียนก็จะมีแค่ช่วงครึ่งเช้า คือจะมีเรียนแค่ตอน 8 โมงเช้าถึงบ่ายโมง หลังจากนั้นก็จะว่าง (นอกจากจะมีคาบติว) คาบหนึ่งคาบก็จะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แล้วก็จะมีพัก 15 นาทีระหว่างคาบ เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นเนื้อหาม.ปลาย และก็มีเนื้อหาของมหาลัยฯ แทรกเข้ามาด้วยเล็กน้อย (ข้อมูลตรงนี้อาจจะแตกต่างกันไปตาม Studienkolleg สาขาต่างๆนะครับ อันนี้ผมเล่าจากประสบการณ์ที่ Studienkolleg Karlsruhe) และเนื้อหาทุกอย่างจะถูกสอนเป็นภาษาเยอรมันหมด ทำให้เราได้ปรับตัวเข้ากับภาษาและเข้ากับบรรยากาศการเรียนของประเทศเยอรมนีนี้ด้วย ก็เป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการเรียนที่ Studienkolleg นี้นะครับ
สำหรับเรื่องรายละเอียดของการเรียนใน Studienkolleg สำหรับในโพสต์นี้ผมขอพูดถึงคร่าวๆแค่นี้ แต่เดี๋ยวเราจะกลับมาพูดถึงกันอย่างละเอียดๆอีกทีในโพสต์หน้าๆนะครับ สำหรับตอนนี้เรามาพูดถึงข้อสอบ Aufnahmeprüfung และแนวทางการเตรียมตัวสอบกันดีกว่าครับ
สำหรับข้อสอบ Aufnahmeprüfung นี้ สำหรับวิชาที่จะใช้สอบเข้าก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราจะสอบเข้าเรียนคอร์สอะไร อย่างเช่น ถ้าเป็นคอร์สสำหรับคณะทางวิศวฯ ก็จะต้องสอบวิชาเลข กับวิชาภาษาเยอรมัน แต่ถ้าเป็นคอร์สอื่นๆก็จะต้องสอบวิชาอื่น ถ้าจะเอารายละเอียดให้ชัวร์ก็ควรไปเช็คในเว็บไซต์ของ Studienkolleg ที่ๆเราจะสอบเข้าครับ แต่ละ Studienkolleg จะออกข้อสอบเข้าเป็นของตัวเอง ซึ่งข้อสอบเข้าของแต่ละแห่งก็จะมีความยากง่ายไม่เท่ากัน แต่เราสามารถเข้าไปดูตัวอย่างข้อสอบเก่าและฝึกทำโจทย์ได้ในเว็บไซต์ของ Studienkolleg แต่ละแห่งได้เลยครับ
ส่วนตัวนะครับ ผมว่าข้อสอบวิชาเลขของ Studienkolleg ส่วนใหญ่เนี่ยง่ายมากๆ พื้นฐานสุดๆ เมื่อเทียบกับที่เราเรียนเลขม.ปลายที่ไทยกันมา เท่าที่จำได้ จะมีข้อสอบเลขของ Studienkolleg ที่ Karlsruhe กับที่ Munich ที่รู้สึกว่าค่อนข้างยากหน่อย แต่ก็ยังถือว่าง่ายเมื่อเทียบกับข้อสอบเข้ามหาลัยฯ ทั้งหลายของประเทศไทย เพราะฉะนั้นสำหรับวิชาเลข ไม่มีอะไรต้องกลัวเลยครับ ถ้าเรียนเลขม.ปลายที่ไทยมาอย่างเข้าใจ แต่ยังไงก็ลองเข้าไปดูข้อสอบเก่าด้วยตัวเองดีกว่าครับ จะได้เตรียมตัวถูก
ส่วนสำหรับวิชาภาษาเยอรมันนี่ ก็แล้วแต่พื้นฐานก่อนจะมาเยอรมันของแต่ละคนเลยครับ ตอนที่ผมมาสอบเข้านี่ ตอนนั้นเรียนจบระดับ B2 จากที่ไทยมาแล้ว (แต่ว่าสอบเอาใบประกาศแค่ระดับ B1 มา) แต่ก็ยังหวั่นๆ ไม่มั่นใจในความรู้ของตัวเอง เลยไปลงเรียนคอร์สเรียนภาษาสำหรับเตรียมสอบเข้า Studienkolleg ที่สถาบัน DKFA ที่เมือง Munich ไว้ คอร์สมีชื่อว่า “Fit fürs Studienkolleg” ซึ่งเค้าจะสรุปแกรมมาร์ต่างๆให้ แล้วก็จะมีโจทย์ให้ทำในระหว่างเรียน แล้วก็มีโจทย์ให้ทำเป็นการบ้าน แล้วก็มาเฉลยการบ้านกันตอนต้นคาบของวันถัดไป โดยการสุ่มนักเรียนถามให้ยืนตอบทีละคนๆ ก็ช่วยได้เยอะมากครับ แต่ว่าถ้าถามว่าคอร์สเตรียมสอบนี้จำเป็นมั้ย? ถ้าจะสอบเข้า Studienkolleg ที่เมือง Munich ผมว่าค่อนข้างจำเป็นครับ เดี๋ยวเล่าว่าทำไม แต่ว่าถ้าจะสอบเข้า Studienkolleg ของที่อื่น ผมว่าไม่ได้จำเป็นมาก เราสามารถเตรียมตัวสอบเองได้โดยการหมั่นทบทวนแกรมมาร์ด้วยตัวเอง และหมั่นอ่านบทความภาษาเยอรมันจากแหล่งต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไงก็ลองเข้าไปลองทำข้อสอบเก่าในเว็บไซต์ของ Studienkolleg ต่างๆดู แล้วลองประเมินตัวเองดูเองดีกว่าครับ ถ้ายังทำได้คะแนนต่ำกว่า 60% ก็จะเสี่ยงหน่อย เพราะว่าอย่างที่ Studienkolleg Karlsruhe ถ้าทำข้อสอบวิชาภาษาเยอรมันได้คะแนนต่ำกว่า 60% ก็จะหมดสิทธิ์ได้เข้าเรียนครับ
ส่วนเหตุผลว่าทำไมผมคิดว่าเราควรเรียนคอร์สเตรียมสอบถ้าเราจะสอบเข้า Studienkolleg ของเมือง Munich เอาง่ายๆก็คือ เพราะว่าข้อสอบเข้าวิชาภาษาเยอรมันของที่นี่มันยากกว่าของที่อื่นเยอะครับ 555 แล้วนอกจากนี้ ข้อสอบวิชาเยอรมันของที่ Munich ยังแบ่งเป็น 3 พาร์ต พาร์ตแรกจะเรียกว่า C-Test ก็คือจะมีบทความมาให้ แต่ว่าคำบางคำในบทความนั้นจะแหว่งไปครึ่งนึง เราต้องเติมคำที่แหว่งไปให้ถูกต้อง ถูกไวยากรณ์ และถูกความหมาย พาร์ตที่สองเป็นพาร์ตความเข้าใจ คือจะมีบทความมาให้อ่านแล้วก็เป็น Multiple Choice ให้กาเหมือนข้อสอบทั่วๆไป ส่วนพาร์ตสุดท้ายเป็นพาร์ตเขียน คือเค้าจะกำหนดโจทย์มาให้ แล้วก็ให้คำมาสิบคำ แล้วเราต้องเอาสิบคำนี้มาแต่งเป็นจดหมาย แต่ถ้าเป็นข้อสอบเข้าวิชาภาษาเยอรมันของ Studienkolleg แห่งอื่นๆ จะมีแค่พาร์ตเดียว ก็คือพาร์ตที่เป็น C-Test เท่านั้น แล้วก็จะมีระดับภาษาที่ง่ายกว่าข้อสอบของที่ Munich เยอะครับ ลองเข้าไปดูตัวอย่างข้อสอบเก่าของแต่ละเว็บเทียบกันเลยครับ แล้วจะเห็นด้วยตาตัวเอง 55
ขอสรุปก่อนจะจบว่าข้อสอบเข้าวิชาเลขของแต่ละที่ สำหรับเด็กไทยแล้วผมว่าไม่ยากเลยนะครับ ยิ่งหลายๆที่เป็นข้อสอบแบบเขียนคำตอบอย่างเดียว หรือไม่ก็กาตอบ ยิ่งง่ายเข้าไปอีก จะมีของ Karlsruhe กับ Munich ที่เนื้อหายากกว่าที่อื่น และต้องตอบแบบเขียนแสดงวิธีทำ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินระดับความรู้ม.ปลายที่เราเรียนกันมา ส่วนวิชาภาษาเยอรมันนี่แล้วแต่คนเลยอะครับ แต่ว่าถ้าเราสอบผ่านระดับ B1 จากไทยมาได้แล้ว อย่างน้อยก็น่าจะสอบได้คะแนนเกิน 60% แน่นอนครับ สำหรับโพสต์นี้ก็ขอพูดถึง Studienkolleg และการสอบเข้าเพียงเท่านี้ แล้วเดี๋ยวโพสต์หน้าๆ จะกลับมาเล่าเรื่องการเรียนใน Studienkolleg ให้ฟังแบบละเอียดๆกันต่อนะครับ
ติดตามบทความน่าสนใจแบบนี้ได้อีก ใน บล๊อกของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนี