การสมัครเรียนมหาลัย

สำหรับบทนี้ผมจะสรุปคร่าว ๆ เรื่องการรับสมัครนักเรียนต่างชาติเข้าป. ตรีของมหาลัยในเยอรมนีให้ฟังนะครับ

– ถ้าจบม. ปลายจากโรงเรียนไทยทั่วไป วุฒิม. ปลายของเราจะไม่เทียบเท่ากับ วุฒิม. ปลายของที่ยุโรป ทำให้เรายังไม่สามารถเข้าป. ตรีที่นั่นได้โดยตรง

– ถ้าจบม. ปลายจากโรงเรียนไทยทั่วไป แล้วอยากต่อป. ตรีที่นั่นเลย ต้องมีสองสิ่งนี้

  1. หลักฐานความสามารถทางภาษาเยอรมัน ซึ่งสามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งจากรายชื่อในเว็บนี้ได้ http://www.tum.de/en/studies/application-and-acceptance/german-language-skills/
  2. ต้องสอบข้อสอบเข้ามหาลัยผ่าน (ข้อสอบเข้ามีชื่อว่า Feststellungsprüfung)

– เราสามารถอยู่ดี ๆ ไปขอสอบเข้าเลยก็ได้ แล้วถ้าสอบผ่านก็ใช้ผลสอบยื่นสมัครเข้ามหาลัยพร้อมใบหลักฐานภาษาได้เลย (แต่การสมัครสอบ Feststellungsprüfung นี่มีข้อตอนยังไงผมก็ไม่ทราบนะครับต้องลองอีเมลไปถาม International Office ของทางมหาลัยโดยตรงดู) แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน เราจะสามารถสอบได้อีกแค่ครั้งเดียว และถ้ายังไม่ผ่านอีก จะหมดสิทธิ์เรียนคณะทางสายนั้นในประเทศเยอรมนีไปตลอดกาล!

– ถ้ายังไม่อยากสอบ Feststellungsprüfung เดี๋ยวนั้น เราสามารถสมัครเข้าเรียนโรงเรียนปรับพื้นฐานที่มีชื่อว่า Studienkolleg ได้ ซึ่งที่ Studienkolleg เราก็จะได้เตรียมตัวสำหรับทั้งการสอบ Feststellungsprüfung และการสอบภาษาเยอรมัน ในระยะเวลา 2 เทอม (1 ปี) และหลังจากที่เรียนจบ ทางโรงเรียน Studienkolleg ก็จะจัดสอบ Feststellungsprüfung ให้ แล้วหลังจากนั้นเราก็สามารถนำผลสอบ Feststellungsprüfung ไปใช้สมัครเข้ามหาลัยต่อได้

– ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่ต้องเข้าเรียนที่ Studienkolleg ก่อน เวลาหาข้อมูลในเว็บของมหาลัย ก็พยายามค้น Keyword คำว่า Studienkolleg แล้วก็ดูว่าเค้ามีกำหนดการ มีเอกสารสำหรับการรับสมัครและเกณฑ์รับสมัครขั้นต่ำอะไรยังไงบ้าง หรือจะเข้าไปดูในเว็บ http://www.studienkollegs.de/ เลยก็ได้ มีรวบรวมข้อมูล และลิงค์ของเว็บของ Studienkolleg ทั้งหมดในเยอรมนีไว้แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น Studienkolleg จะมีอยู่แค่ไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งก็จะโคกับหลาย ๆ มหาลัย ยกตัวอย่างเช่น Studienkolleg ที่ Karlsruhe จะโคกับมหาลัย KIT และ TU Stuttgart หมายความว่าถ้ามีนักเรียนต่างชาติอยู่สองคน คนแรกสมัครเรียนที่ KIT ส่วนอีกคนสมัครเรียนที่ TU Stuttgart ทั้งสองคนจะถูกส่งมาที่ Studienkolleg Karlsruhe เหมือนกัน แต่ก็มีบางมหาลัยที่ไม่ได้โคกับ Studienkolleg ที่ไหนเลย เช่นมหาลัย RWTH Aachen หมายความว่าถ้าเราสมัครเรียนป.ตรีที่ RWTH แล้วมีมาแค่วุฒิจบม.ปลายจากไทย มหาลัยก็จะตอบปฏิเสธมาลูกเดียว ถึงแม้ว่าเราตั้งใจว่าจะเข้าเรียนที่ Studienkolleg ก็ตาม (แต่ถ้าเป็นมหาลัยอื่นที่โคกับ Kolleg ทางมหาลัยพอเห็นว่าเรามีมาแค่วุฒิม.ปลายจากไทย เค้าก็จะส่งเอกสารสมัครเรียนของเราไปที่ Studienkolleg โดยอัตโนมัติ) ซึ่งก็ต้องอ่านรายละเอียดดี ๆ ว่ามีมหาลัยไหนบ้างที่โคกับ Studienkolleg ที่นี้ ๆ แล้วมหาลัยไหนบ้างทีไม่โคกับ Studienkolleg ที่ไหนเลย จะได้ประหยัดเอกสารสำหรับส่งไปสมัครเรียน

*Studienkolleg มีแบบสำหรับเรียนเพื่อเรียนต่อ Universität กับสำหรับเพื่อเรียนต่อ Fachhochschule (FH) ถ้าเรียน Kolleg สำหรับต่อ Uni จบแล้วสามารถใช้เกรดสมัครได้ทั้งมหาลัยแบบ Uni และ FH แต่ถ้าเรียนจบ Studienkolleg สำหรับ FH จะสามารถใช้เกรดสมัครเข้าได้แค่ FH เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเรียน Studienkolleg ที่ไหนในเยอรมนีก็ได้ พอจบแล้วสามารถใช้เกรดจบไปสมัครเข้ามหาลัยได้หมดทั้งประเทศเยอรมนี แต่มหาลัยที่เรายื่นสมัครไปตั้งแต่ก่อนเข้า Studienkolleg นั้นจะส่งเรามาสอบเข้ายัง Studienkolleg ที่โคกับมหาลัยนั้นๆเท่านั้น

– การสมัครเข้ามหาลัยสำหรับคนที่อยากเข้า Studienkolleg สำหรับบางมหาลัยก็มีขั้นตอนต่างจากการสมัครมหาลัยสำหรับคนที่ไม่ต้องเข้า Studienkolleg ต้องอ่านรายละเอียดดี ๆ แต่ว่าปกติแล้วเอกสารสำหรับใช้สมัครเรียนจะเหมือนกันไม่ว่าจะตั้งใจจะเข้า Kolleg หรือไม่ก็ตาม

เอกสารสำหรับใช้สมัครมหาวิทยาลัย (รวมถึง Studienkolleg) ยกตัวอย่างของที่ KIT นะครับ

  1. ใบจบที่ได้จากโรงเรียนม.ปลาย (ถ้าเป็นภาษาไทย ต้องเอาไปแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องแปล)
  2. ใบเกรดจากโรงเรียนม.ปลาย (ปกติแล้วขอเป็นภาษาอังกฤษมาได้ แต่ถ้ามีแต่ภาษาไทย ก็ต้องเอาไปแปลด้วย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องแปล)
  3. ใบจบม.ปลายที่ต้องไปขอมาจากเขตพื้นที่การศึกษา (เดี๋ยวอธิบายเพิ่ม)
  4. ใบหลักฐานความรู้ภาษาเยอรมัน (สำหรับที่ Studienkolleg หลาย ๆ ที่ เช่นที่ Karlsruhe ผ่านแค่ระดับ B1 ก็โอเคแล้ว แต่ว่าบางที่ เช่นที่ Berlin กับ Munich ต้องผ่านระดับ B2)
  5. C.V. หรือใบประวัติการศึกษา กิจกรรม รางวัลดีเด่นย่อ ๆ ของเรา 1-2 หน้า ภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน
  6. ใบเกรด และ ใบจบ จากมหาวิทยาลัย (กรณีที่เคยเรียนมหาลัยมาแล้ว)

***ใบจบม.ปลายที่ต้องไปขอมาจากเขตพื้นที่การศึกษา

อันนี้จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีทุกคน แต่ว่าพนักงานที่ DAAD บอกมาว่าใบจบม.ปลายของผมไม่มีข้อความที่บอกว่าเราสามารถเข้าศึกษาในระดับมหาลัยได้แล้ว ผมเลยต้องไปขอใบนี้มาด้วย การจะขอใบนี้ ก่อนอื่นต้องหาข้อมูลก่อนว่าโรงเรียนของเราอยู่ในเขตการศึกษาไหน แล้วก็ไปขอที่สำนักงานเขตการศึกษานั้น ไปบอกเค้าว่ามาขอใบจบสำหรับสมัครเรียนต่อเมืองนอก อะไรประมาณนั้น (ขอใบแบบเป็นภาษาอังกฤษนะครับ) แล้วก็เอาสำเนาบัตรประชาชนกับสำเนาใบเกรดม.ปลายของเราไปให้เค้าด้วย เค้าก็จะพิมพ์ ๆ ปรินต์ให้ เสร็จเดี๋ยวนั้นเลย

– หลังจากหาข้อมูลเรื่องการสมัครเรียนของแต่ละมหาลัยเรียบร้อยแล้ว ก็ไปกรอกใบสมัครออนไลน์ในเว็บของแต่ละมหาลัย พอกรอกเสร็จแล้วก็ต้องปรินท์ใบสมัครออนไลน์ที่เรากรอกไปนั้นออกมาด้วย แล้วก็เซ็นชื่อ ลงวันที่ตรงช่องด้านล่าง เสร็จแล้วก็วางพักไว้ (พูดยังกะทำอาหาร) อย่างผมสมัครไป 5 มหาลัย ก็เข้าไปกรอกใบสมัครในเว็บมหาลัยทั้ง 5 เว็บ ปรินท์ใบสมัครออกมาทั้ง 5 ชุด แล้วก็ลงชื่อ วันที่ ที่ด้านล่างของทุกชุด แล้วก็วางพักไว้

– ระหว่างที่วางใบสมัครที่เซ็นชื่อเรียบร้อยแล้วของทุกมหาลัยพักไว้อยู่ ก็ต้องเอาเอกสารสำหรับใช้สมัครมหาลัยที่เตรียมมาทั้งหมดมาถ่ายเอกสาร กรณีของผม 5 มหาลัยที่สมัครไปใช้เอกสารเหมือนกันหมด ผมก็เอาเอกสารสำหรับสมัครมหาลัยทุกอย่างมาถ่ายเอกสาร แล้วก็จัดเป็นชุด 5 ชุด แต่ละชุดสำหรับหนึ่งมหาลัย ส่วนเอกสารตัวจริงก็เก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอมที่สุด (เพราะต้องเอาไปเยอรมนีด้วยเพื่อเอาไปโชว์ให้มหาลัยดูทีหลังว่าเป็นของจริงนะ)

– หลังจากได้ชุดเอกสารออกมา 5 ชุดแล้ว เราก็เอาใบสมัครที่วางพักไว้มาแนบไว้ที่ด้านหน้าสุดของชุดเอกสารทั้ง 5 ชุด จะได้รู้ว่าชุดไหนเอาไว้ใช้สำหรับมหาลัยไหน (อย่าเบลอเอาใบสมัครไปแนบไว้ผิดชุดเอกสาร!! เช็คด้วยว่าสำหรับมหาลัยนี้ต้องใช้ชุดเอกสารไหน ในกรณีที่ชุดเอกสารสำหรับสมัครแต่ละมหาลัยไม่เหมือนกัน)

– หลังจากนั้นเราก็เอาชุดเอกสารทั้ง 5 ชุดนี้พร้อมกับชุดเอกสารตัวจริงไปที่สถานทูต นี่คือขั้นตอนที่สำคัญมาก!!! เพราะสถานทูตจะต้องประทับตรายืนยันว่า เอกสารที่ถูกถ่ายเอกสารมาทั้งหมด เป็นของจริง มีรายละเอียดเหมือนกับเอกสารตัวจริง ถ้าเราไม่มีตราประทับจากสถานทูตนี้ ก็ใช้เอกสารพวกนี้สมัครเรียนไม่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้จริง ๆ แล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก จำไม่ได้แล้วว่าเท่าไหร่ น่าจะประมาณหนึ่งพันบาทต่อชุดเอกสาร แต่ว่าถ้าเราบอกเค้าว่าเราจะใช้เอกสารเหล่านี้สำหรับการสมัครเรียนต่อ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียธรรมเนียม (รอดตัวไป = =”) ขั้นตอนนี้ทำวันเดียวได้ แต่ก็รอนานเหมือนกัน ตอนไปถึงสถานทูตก็บอกเค้าว่าจะมาประทับตรารับรองเอกสาร เค้าก็จะบอกเราให้ว่าให้ไปรอที่เคาน์เตอร์ไหน

– หลังจากที่เอกสารทั้ง 5 ชุดของเราได้รับการประทับตราเรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมจะส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังมหาลัยเพื่อสมัครเรียนแล้ว!! หลังจากนั้นก็แค่ไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ แล้วก็ส่งเอกสารทั้ง 5 ชุดไปยังมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร (อย่าเบลอจ่าหน้าซองผิด!!! อย่าเบลอใส่ชุดเอกสารลงไปผิดซอง!!!) ซึ่งต้องดูในเว็บมหาลัยดี ๆ ด้วยว่าที่อยู่ที่เราต้องส่งไปเนี่ยมันคือที่ไหน บางมหาลัยก็ให้เราใส่ซองจดหมายพร้อมสแตมป์สำหรับไว้ส่งกลับมาบอกผลลงไปด้วย

– หลังจากส่งจดหมายไปเรียบร้อยแล้วก็ทำได้แค่รอ… รอ ร้อ รอ รอจนกว่าเค้าจะส่งจดหมายกลับมาบอก ช่างเป็นการรอที่ทรมานใจมาก ๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องรอก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาลัย อย่างเช่นที่ KIT พอจดหมายไปถึง ภายในอาทิตย์เดียวเค้าก็โพสต์บอกสถานะในเว็บเลยว่าเค้ารับเรารึเปล่า ซึ่งเราสามารถไปโหลดใบตอบรับ กับใบข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ในเว็บมา แล้วก็เตรียมตัวสอบ เตรียมตัวขอวีซ่าได้เลย ในขณะที่ที่ TU Stuttgart กว่าจะส่งจดหมายตอบกลับมาถึงที่บ้านก็นู่นนนนน ผมมาอยู่เยอรมนีแล้ว 555 เพราะฉะนั้นก็ควรส่งเอกสารสมัครเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้!!

***การได้รับการตอบรับจาก Studienkolleg หมายความว่าเรายังต้องไปสอบเข้า Studienkolleg ที่เยอรมนีก่อน ถ้าเราสมัครไปหลายที่และได้รับการตอบตกลงจาก Studienkolleg หลาย ๆ ที่ เราสามารถไปสอบเข้า Studienkolleg ได้หมดทุกที่แล้วค่อยไปเลือกทีหลังก็ได้ว่าอยากเรียนที่ไหน ถ้าเราสอบไม่ติดซักที่ ก็ต้องรอสมัครมหาลัยใหม่ตอนเทอมการศึกษาหน้าแล้วไปสอบเข้าอีกครัั้ง ถ้ายังไม่ติดเลยอีก ก็จะหมดสิทธิ์เรียนคณะทางสายนั้นในประเทศเยอรมนีไปตลอดกาล!

Uni-Assist

Uni-Assist (http://www.uni-assist.de/ ) คือหน่วยงานที่ช่วยมหาวิทยาลัยจัดการตรวจเอกสารที่ถูกส่งมาจากผู้สมัคร ก่อนที่มหาลัยจะเป็นคนตัดสินใจอีกทีว่าจะรับหรือไม่รับ บางมหาลัยจะกำหนดให้เราส่งเอกสารสำหรับสมัครเรียนไปที่มหาลัยโดยตรง แต่ก็มีอยู่หลายมหาลัยที่ให้สมัครเรียนผ่านทาง Uni-assist และส่งเอกสารไปที่ Uni-assist อย่างตอนที่ผมสมัครก็มีมหาลัย TU Dresden กับอีกที่ น่าจะเป็น TU Hannover ที่กำหนดให้สมัครเรียนผ่าน Uni-assist (ในเว็บของมหาลัยตรงส่วนที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเรียนจะมีบอกไว้ว่าให้สมัครเรียนทางไหน ส่งเอกสารไปที่ไหน)

ทีนี้ ถ้าเราต้องสมัครเรียนผ่านทาง Uni-assist วิธีการก็ไม่ได้ยากอะไร ก็แค่เข้าไปในเว็บ Uni-assist แล้วก็ลงทะเบียน ตั้ง Username/Password แล้วก็เข้าตรง Online Portals for Applicants แล้วก็ไปเลือกมหาลัย เลือกคณะ กรอกใบสมัครตามขั้นตอนในเว็บนั้นเลย พอกรอกเสร็จก็ปรินท์ออกมา เซ็นชื่อ แล้วก็เอาไปรวมกับเอกสารอื่น ๆ เอาไปประทับตราที่สถานทูต แล้วก็ส่งไปที่ Uni-assist ขั้นตอนเหมือนการสมัครเรียนกับมหาลัยโดยตรง แต่ว่าถ้าสมัครผ่าน Uni-assist ต้องเสียค่าบริการด้วย ถ้าสมัครคณะเดียวก็ 75 ยูโร ถ้าสมัครหลาย ๆ คณะก็ คณะต่อ ๆ ไปจะคณะละ 15 ยูโร ส่วนการชำระเงินก็ทำได้โดยการโอนเงิน ซึ่งก็มีขั้นตอนบอกในเว็บอย่างละเอียด

และหลังจากที่เราได้ใบตอบรับจากมหาลัยแล้ว ก็จะถึงเวลาของการขอวีซ่าแล้วล่ะครับ แต่ก่อนจะขอวีซ่านั้น มีเอกสารอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่คนที่ต้องการไปเรียนต่อที่เยอรมนีต้องเตรียมไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอวีซ่า เอกสารนั้นก็คือเอกสารรับรองการเปิดบัญชี Blocked Account ที่ธนาคารในเยอรมนี เดี๋ยวเรามาดูในโพสต์หน้ากันครับ ว่าการเปิดบัญชี Blocked Account นี้มีขั้นตอนยังไงบ้าง