สวัสดีครับผู้อ่านชาว ส.น.ท.ย. นับจากวันเปิดเทอมมหาวิทยาลัยวันแรกที่เยอรมนีมาจนถึงตอนนี้ก็ผ่านไปเป็นเวลาเดือนกว่าๆ แล้วนะครับ นักเรียนรุ่นน้องหน้าใหม่ก็คงจะเริ่มปรับตัวเข้ากับการเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างจากการเรียนช่วงมัธยมมากๆ ไปได้ไม่มากก็น้อย พูดถึงการเปิดเทอมขึ้นปึหนึ่งนี่ ถ้าเป็นที่ไทยหลายๆ คนอาจจะนึกถึงกิจกรรมรับน้องใหม่ที่ไม่ว่าใครๆ ก็คงจะเคยผ่านกันมาแล้ว มหาวิทยาลัยที่ประเทศเยอรมนีหลายๆ แห่งนี้เค้าก็มีกิจกรรมรับน้องใหม่เพื่อแนะนำให้นักเรียนหน้าใหม่ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เหมือนกันนะครับ สำหรับโพสต์นี้ผมจะเอาประสบการณ์ตอนช่วงรับน้องใหม่ตอนที่เข้าเรียนปีหนึ่งที่คณะ Mechatronics ที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe Institute of Technology มาเล่าให้ฟัง มาลองฟังกันดีกว่าครับว่าที่ประเทศเยอรมนีนี้เค้ารับน้องกันยังไงบ้าง
เริ่มต้นเลย สิ่งแรกที่นักเรียนต้องทำหลังจากที่มหาวิทยาลัยตอบรับแล้วก็คือการไปรายงานตัวนั่นเองครับ สำหรับมหาวิทยาลัย Karlsruhe Institute of Technology จะต่างจากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตรงที่เค้าจะประกาศผลทางอินเตอร์เน็ต คือเค้าจะส่งอีเมลมาบอกว่าผลออกแล้ว แต่เราต้องเข้าไปดูผลในเว็บของมหาวิทยาลัยเอง พอเข้าไปแล้ว ถ้าเกิดว่าเราได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย ในเว็บก็จะมีไฟล์ใบตอบรับจากมหาวิทยาลัย และไฟล์รายละเอียดต่างๆ อยู่ในนั้นว่าเราต้องไปรายงานตัววันไหน และต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ถ้าเป็นมหาลัยอื่นจะประกาศผลทางจดหมาย ระหว่างรอผลออกก็อาจจะไปไหนไม่ได้ต้องอยู่รอรับจดหมายที่บ้านอย่างเดียวครับ 55 พอเรารู้รายละเอียดต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะต้องไปรายงานตัวที่มหาวิทยาลัย แล้วหลังจากรายงานตัวเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ใบข้อมูลของกิจกรรมรับน้องมา ซึ่งในใบนั้นก็จะบอกว่าเราต้องไปรับน้องกับคณะไหน ละสามารถไปดูรายละเอียดได้ในเว็บอะไร
ช่วงเวลาแห่งการรับน้องใหม่ของที่นี่ก็จะเป็นช่วงว่างๆ ระหว่างช่วงลงทะเบียนเรียนกับช่วงเปิดเทอม สำหรับช่วงเวลาของการรับน้องนี้ ที่เยอรมนีก็จะเรียกกันว่า Orientierungsphase (O-Phase) หรือ Orientation week ในภาษาอังกฤษ ซึ่งช่วง O-Phase นี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนหน้าใหม่จะได้ทำความรู้จักและปรับตัวเข้ากับมหาลัยแห่งใหม่ เมืองแห่งใหม่ ชีวิตแบบใหม่ และเพื่อนๆใหม่ ซึ่งแต่ละมหาลัยในเยอรมนีก็จะให้ความสำคัญกับช่วง O-Phase นี้ไม่เหมือนกัน ส่วน KIT นี้ก็เป็นมหาลัยหนึ่งที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับ O-Phase มากๆ แต่ละคณะก็จะมี O-Phase เป็นของตัวเอง โดยที่ส่วนใหญ่ก็จะกินระยะเวลานานหนึ่งอาทิตย์ก่อนจะเปิดเทอม แต่มีคณะ Machinenbau หรือวิศวะเครื่องกลอยู่คณะหนึ่งที่มีระยะเวลาช่วง O-Phase ยาวนานถึง 2 อาทิตย์เลยล่ะครับ!!
ทีนี้ เนื่องจาก KIT เป็นมหาลัยที่มีคณะ (Studiengang) เยอะแยะมากมาย บางคณะก็เป็นคณะเล็กๆ มีนักเรียนไม่กี่คน แต่บางคณะก็มีนักเรียนหลายร้อยคน เค้าเลยจับคณะที่มีเนื้อหาที่เรียนที่เกี่ยวข้องกันมารวมกันเป็นกลุ่มคณะ (Fachschaft) ยกตัวอย่างเช่น Fachschaft Maschinenbau หรือกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกล ก็จะประกอบไปด้วยคณะ Mechanical Engineering, Chemical and Process Engineering, Bioengineering, Material Science and Material Technology และ Mechatronics แล้วนักเรียนในคณะที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนี้ก็จะสามารถไปร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมรับน้องที่จัดขึ้นโดย Fachschaft Maschinenbau ได้ครับหากคุณอยู่ในตลาดเสื้อผ้า แพลตฟอร์มของเราคือตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณ! ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุด!
สำหรับคณะของผม (Mechatronics หรือ Mechatronik und Informationstechnik ในภาษาเยอรมัน) ก็เป็นคณะที่มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นส่วนหนึ่งของทั้งกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกล (Fachschaft Maschinenbau) และกลุ่มคณะวิศวะไฟฟ้า (Fachschaft Elektrotechnik) เพราะว่าคณะของผมมีเนื้อหาที่เรียนที่คาบเกี่ยวอยู่กับเนื้อหาที่เรียนของสองคณะนี้เท่าๆ กัน ทำให้นักเรียนคณะ Mechatronics สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งสองกลุ่มคณะ หมายความว่าเราสามารถเลือกได้ว่าอยากไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มคณะไหนตอนไหน ไม่จำเป็นต้องไปอยู่แต่กับกลุ่มคณะใดคณะหนึ่ง สมมติว่าวันจันทร์ตอนเช้า กลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลมีกิจกรรมที่เราสนใจ แต่วันจันทร์ตอนบ่าย กลุ่มคณะวิศวะไฟฟ้ามีกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลตอนเช้า แล้วพอตอนบ่ายก็ไปเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มคณะวิศวะไฟฟ้าได้ เป็นข้อดีอย่างหนึ่งอย่างแรกของการเรียนคณะนี้เลยครับ อิอิ
มาพูดถึงในเรื่องของกิจกรรมในช่วง O-Phase กันดีกว่านะครับว่าเป็นยังไงบ้าง พอพูดถึงเรื่องการรับน้อง ถ้าที่ไทยเราอาจจะนึกถึงภาพการแบ่งกลุ่มตบมือร้องเพลง เต้นระบำทำเพลง เข้าด่านเล่นเกมส์ ตลกโปกฮา หรืออาจจะนึกถึงภาพฉากดราม่า มีรุ่นพี่มาว๊าก ทำโทษรุ่นน้อง ร้องห่มร้องไห้ การบังคับต้องไปเข้าร่วมทุกกิจกรรม ถ้าไม่ไปจะโดนตราหน้าว่าไม่รักสถาบัน ไม่รักรุ่นพี่ อะไรอย่างนั้น แต่ที่เยอรมนี หรืออย่างน้อยก็ที่ KIT กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการแนะนำสถานที่ แนะนำการใช้ชีวิต และทำความรู้จักกันจริงๆ เป็นหลัก และใครจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้นะครับ กิจกรรมไหนที่ต้องการรู้จำนวนคนเข้าร่วมจริงๆ เค้าก็จะใช้การให้ไปลงทะเบียนว่าใครจะไปบ้าง ส่วนในเรื่องเข้าฐานเพื่อความสนุกสนานอะไรพวกนี้ก็มีเหมือนกัน แต่จะกินเวลาอย่างมากก็แค่วันเดียว แล้วก็จะไม่มีการมาร้องเพลงสันทนาการหรือเต้นรำอะไรกันมากมายเหมือนที่บ้านเรานะครับ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องก็ไม่ได้แน่นแฟ้นอะไร อาจจะมีพี่กลุ่มนำเราทำกิจกรรมต่างๆ ที่เราคุยหรือถามอะไรเค้าก็ได้ แต่พอหลังจากจบ O-Phase ก็ตัวใครตัวมัน ใครอยากจะ keep in touch กับใครต่อไปก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีพี่รหัส น้องรหัสเหมือนที่ไทยครับ
มาดูในส่วนของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลกันดีกว่าครับว่าเค้าเตรียมกิจกรรมอะไรไว้ต้อนรับนักเรียนใหม่กันบ้าง
สำหรับกลุ่มวิศวะเครื่องกล หรือ Fachschaft Maschinenbau ก็เป็นกลุ่มคณะที่มี O-Phase ยาวนานกว่าคณะอื่นถึง 2 เท่า คือ 2 สัปดาห์ กับอีก 1 วัน และยังเริ่ม O-Phase ก่อนคณะอื่นหนึ่งสัปดาห์ด้วยครับ กิจกรรมหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ O-Phase ก็คือคอร์สเลขเตรียมความพร้อมก่อนเข้ามหาลัย (Mathe Vorkurs) ซึ่งเป็นเหมือนกับการมาเรียนในมหาลัยในห้องเลคเชอร์ปกติเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อวัน ทั้งหมด 7 ครั้ง อาทิตย์แรก 3 ครั้ง อาทิตย์ที่สอง 4 ครั้ง ใครจะมาก็ได้ไม่มาก็ได้ เนื้อหาก็เป็นเหมือนกับการปูพื้นฐาน ทบทวนสิ่งที่เรียนมาตอนม.ปลาย แล้วก็เกริ่นถึงเรื่องที่จะเรียนในมหาลัย หลังจากเรียนเสร็จแต่ละครั้งก็จะมีคาบ Tutorium ต่อ ซึ่งกินเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ในคาบ Tutorium นี้ นักเรียนทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วก็ส่งไปยังห้องเรียนประจำกลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมีติวเตอร์ประจำกลุ่มซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ในมหาลัยนั่นเอง คาบ Tutorium จะเป็นคาบสำหรับการทำโจทย์ที่อาจารย์ผู้สอนแจกมาให้ และติวเตอร์ของแต่ละกลุ่มก็จะมีหน้าที่คอยชี้แนะเวลามีใครมีข้อสงสัย แล้วก็เฉลยคำตอบในตอนท้ายของคาบ ซึ่งกิจกรรม Mathe Vorkurs นี้ เอาจริงๆ ผมว่าจุดประสงค์ก็คือเพื่อเป็นการจำลองการเรียนการสอนในมหาลัยนั่นแหละครับ เพื่อทำให้นักเรียนมีความคุ้นเคยกับการเรียนแบบเลคเชอร์และ Tutorium ก่อนจะเปิดเทอม เพราะว่าในมหาลัย ทุกๆ วิชาก็จะมีการเรียนแบบนี้หมดครับ คือเรียนเลคเชอร์ในห้องกับอาจารย์ แล้วก็แบ่งกลุ่มไปทำโจทย์ในคาบ Tutorium ที่มีรุ่นพี่คอยให้คำปรึกษา ส่วนเนื้อหาของคอร์สก็ไม่จำเป็นต้องไปซีเรียสกับมันมากเพราะว่าตอนมหาลัยเปิดก็ต้องเริ่มเรียนใหม่ทั้งหมดอยู่ดีครับ 55
สำหรับวันแรกของ O-Phase ของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลก็จะเริ่มต้นด้วย Mathe Vorkurs เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไปกินข้าว พอตอนบ่ายก็จะเป็นอารมณ์เข้าห้องประชุมฟังอาจารย์กล่าวต้อนรับ แล้วก็บรรยายเกี่ยวกับมหาลัย อะไรอย่างงี้ มี powerpoint มีเปิดคลิปเปิดเพลงประกอบอะไรพอเป็นพิธี มีเซอร์ไพรส์อะไรนิดหน่อยขำๆ แล้วก็ตามด้วยการที่มีนักเรียนรุ่นพี่มาพานักเรียนใหม่ไปเข้ากิจกรรมเข้าฐาน กิจกรรมเข้าฐานก็จะจัดอยู่แถวๆ บริเวณปราสาท Karlsruhe และสวนด้านหน้าและด้านหลังปราสาท พวกเราก็ต้องพากันเดินจากบริเวณมหาวิทยาลัยไปยังปราสาท และหลังจากนั้นก็ต้องจับกลุ่มกันเองให้ได้กลุ่มประมาณสิบกว่าคน แล้วแต่ละกลุ่มก็จะถูกแจกจ่ายไปยังฐานต่างๆ บริเวณรอบๆ ปราสาทกัน ทีนี้ สิ่งสำคัญของกิจกรรมเข้าฐานเลยก็คือ แอลกอฮอล์!!! ใครชอบดื่มเบียร์ ไม่ต้องเป็นห่วง มีเบียร์ฟรีให้ดื่มตลอดกิจกรรมแบบเต็มอิ่มไปเลยครับวันนี้ 5555 เริ่มตั้งแต่พอแบ่งกลุ่มเสร็จเค้าก็แจกเบียร์ให้ดื่มฟรีคนละขวดเลย ตามฐานต่างๆ เค้าก็มีถังแช่เบียร์เตรียมไว้ให้ถ้าใครจะเอาเพิ่ม และที่สำคัญเลยคือในแต่ละฐานจะมีเกมบางเกมที่คนที่จะเล่นเกมนั้นต้องดื่มเบียร์ให้หมดขวดก่อนเริ่มเล่นทุกครั้ง 555 แล้วถ้ากลุ่มไหนชนะก็จะมีแจกเบียร์ให้กับทั้งกลุ่มอีก ถ้าใครไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากนิดนึงครับ 5555 แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ได้มีการบังคับให้ดื่มหรอกนะครับ ถ้าเราดื่มไม่เก่งก็สามารถเลือกที่จะยืนเชียร์เฉยๆ หรือไม่ก็เลือกเล่นเกมที่ไม่ต้องดื่มเบียร์แทนได้ครับ ส่วนเกมในฐานต่างๆ ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากมาย ก็อารมณ์ประมาณเข้าฐานที่ไทยแหละครับ มีเปียกบ้าง แต่ไม่มีเละ ไม่มีอะไรรุนแรง มีไฮไลท์ก็คือลงไปว่ายน้ำในทะเลสาบในสวนหลังปราสาท แต่ว่าถ้าใครไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำก็ได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ทำกัน แต่ก็มีคนที่ทำบ้าง ก็เรียกความเฮฮากันไป หลังจากทำกิจกรรมเข้าฐานเสร็จแล้วก็จะมีรุ่นพี่มาปิ้งบาร์บีคิวให้มาซื้อกินถูกๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งใครจะไปนั่งดื่มกิน นั่งชิล นั่งคุยกันกับเพื่อนใหม่ที่นั่นก็ได้ แต่ใครอยากกลับบ้านก็กลับเลยก็ได้ครับ
แล้วก็จบลงไปแล้วนะครับกับกิจกรรมเข้าฐานของวันแรก กิจกรรมในวันต่อๆ ไปจนถึงวันสุดท้ายก็จะมีทั้งกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมสาระปะปนกันไป รายละเอียดต่างๆ ว่าแต่ละวันมีกิจกรรมอะไรบ้างก็สามารถเข้าไปดูได้ในเว็บของกลุ่มคณะ กิจกรรมไหนที่เราสนใจก็ไปเข้าร่วมได้ ไม่มีการบังคับ กิจกรรมอื่นๆ ในสัปดาห์แรกของ O-Phase ของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลก็ประกอบไปด้วย ทัวร์เดินชมมหาลัยและทำความรู้จักกับอาคารเรียนต่างๆ ทัวร์ขี่จักรยานชมเมือง ทัวร์โรงเบียร์ของเมือง+ชิมเบียร์ กิจกรรมดูละครเวทีที่โรงละครเวทีของเมือง ทัวร์พิพิธภัณฑ์รถเบนซ์ในเมือง Stuttgart และทัวร์ Bar Crawl ซึ่งทัวร์ Bar Crawl นี้ก็จะเป็นการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มละประมาณ 20 คน แล้วรุ่นพี่ประจำกลุ่ม กลุ่มละ 3 คนก็จะพาเดินไปตามบาร์ต่างๆ ในเมือง ไปนั่งดื่ม นั่งคุย ทำความรู้จักกัน (ค่ากินค่าดื่มต้องออกเอง รุ่นพี่ไม่ได้จ่ายให้เหมือนที่ไทยนะครับ 55555) แล้วก็ปิดท้ายคืนนั้นด้วยการที่ทั้งคณะไปเจอกันที่คลับแห่งหนึ่งที่คืนนั้นเปิดให้สำหรับเด็กปีหนึ่งและรุ่นพี่จากกิจกรรมรับน้องของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลนี้โดยเฉพาะ นอกจากกิจกรรมหลักๆ ของกลุ่มคณะแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมย่อยๆ ที่จัดแยกกันไปตามคณะ เช่น คณะ Mechatronics ของผมก็มีกิจกรรม Bar Crawl และกิจกรรมปิ้งบาร์บีคิวสำหรับเด็กคณะ Mechatronics เท่านั้น ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนในคณะที่จะได้เรียนด้วยกันในอนาคต นอกจากนี้ วันเสาร์แรกของ O-Phase ก็ยังมีกิจกรรมแข่งกีฬา (ฟุตบอล และ วอลเลย์บอล) ของนักเรียนใหม่ และวันอาทิตย์ก็มีกิจกรรมยิงปืนเลเซอร์ Lasertag อีกด้วยครับ
ส่วนกิจกรรมในสัปดาห์ที่สองก็ประกอบไปด้วย กิจกรรมแนะแนวสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ กิจกรรมพบปะทำความรู้จักสำหรับนักเรียนวิศวะเพศหญิง(ที่มีเป็นส่วนน้อยมากๆ )โดยเฉพาะ กิจกรรมกินเลี้ยงในร้านอาหารในเมือง+เล่นเกม+คาราโอเกะ กิจกรรมดูหนังในโรงหนังของมหาลัย กิจกรรมเล่นโบว์ลิ่งในร้านโบว์ลิ่งในเมือง กิจกรรมเกมไขปริศนา ทัวร์สถาบันวิจัยต่างๆ ในมหาลัย และปาร์ตี้ขนาดใหญ่ของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลในโกดังสำหรับปาร์ตี้ของมหาลัย ยังไม่พอ วันเสาร์ยังมีทริปไปเที่ยวเมือง Strasbourg ในฝรั่งเศส แล้ววันอาทิตย์ก็ยังมีทริปเดินป่า และทริปขี่จักรยานไปเที่ยวป่าดำให้เลือกเข้าร่วมอีกด้วย เรียกได้ว่ามีกิจกรรมครบทุกรสทุกแบบให้เลือกเข้าร่วมจริงๆ ครับ
และไฮไลท์จริงๆ ของกิจกรรม O-Phase ของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกลก็อยู่ที่วันสุดท้าย ไฮไลท์นี้ก็คือทริปหนึ่งวันเต็มใน Europapark สวนสนุกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี ที่เราไม่ต้องเสียค่าตั๋วและค่าเดินทางไปกลับเลยเพราะว่าเจ้าของ Europapark ก็เป็นศิษย์เก่าคณะวิศวะเครื่องกลของมหาวิทยาลัย KIT!!! ตื่นเต้นมาก เหมือนกับย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กตอนที่โรงเรียนจะพาไปเที่ยวดรีมเวิลด์เลยครับ 555
มาถึงกิจกรรม O-Phase ของกลุ่มคณะวิศวะไฟฟ้ากันบ้างนะครับ O-Phase ของคณะนี้ก็จะเริ่มต้นหนึ่งอาทิตย์หลัง O-Phase ของกลุ่มคณะวิศวะเครื่องกล แล้วก็จะไปชนกับอาทิตย์ที่สองของ O-Phase ของวิศวะเครื่องกล แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหามากเพราะว่ากิจกรรมไฮไลท์ๆ ของวิศวะเครื่องกลก็จะถูกจัดไปไว้อาทิตย์แรกหมดแล้ว พอ O-Phase ของวิศวะไฟฟ้าเริ่มเราก็สามารถปลีกตัวออกมาร่วมกิจกรรมของวิศวะไฟฟ้าได้สบายๆ แต่ในความเป็นจริงคือผมแทบไม่ได้ไปเลย 555 เพราะว่ากิจกรรมมันคล้ายกันมาก แบบมีเข้าฐาน ปิ้งบาร์บีคิว ทัวร์มหาลัย ทัวร์จักรยาน ทัวร์โรงเบียร์ Bar Crawl แข่งกีฬา ปาร์ตี้ของวิศวะไฟฟ้า ฯลฯ คืออะไรที่มีใน O-Phase ของวิศวะไฟฟ้า ใน O-Phase ของวิศวะเครื่องกลมีหมด ตอนนั้นผมคืออารมณ์ประมาณอิ่มตัวมาจากอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว แล้วอากาศก็หนาวด้วย ผมเลยอยู่บ้านเฉยๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ รอเปิดเทอมอย่างเดียว แต่มาคิดดูก็แอบเสียดายโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับนักเรียนในคณะวิศวะไฟฟ้าเหมือนกันครับ
และแล้ว 2 อาทิตย์ของช่วงเวลาแห่งการรับน้องก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนทุกวันนี้บางทีผมยังนึกย้อนกลับไปอยู่เลยว่าเวลามันผ่านไปเร็วขนาดนี้เลยเหรอ ยังรู้สึกเหมือนกับว่าเมื่อวานนี้เรายังเป็นน้องใหม่ ไปเดินเข้าฐาน ดื่มเบียร์ฟรี ทำกิจกรรมต่างๆ สนุกสนานกันอยู่เลย เผลอๆ ไม่ทันไร มีน้องใหม่เพิ่มมาอีกสองรุ่นซะแล้ว 555 หลังจากจบกิจกรรม O-Phase ไปก็ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เยอะขึ้นมาก ทั้งคนเยอรมัน ทั้งคนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อนในคณะเดียวกันที่ทุกวันนี้ก็ยังเจอหน้า ยังทักทาย ยังนั่งเรียนด้วยกันอยู่บ้าง (บางคนก็ลาออกไปเรียนอย่างอื่น) ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของ O-Phase ก็คือการหาเพื่อนใหม่นี่แหละ เพราะพอเปิดเรียนแล้วก็จะต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน เรียนเสร็จ หมดเวลา แยกย้าย โอกาสที่จะได้มาทำความรู้จักกันมีน้อยมาก นักเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่เค้าไม่ค่อยจะรู้จักกันแบบกว้างขวางเท่ากับที่ไทย ถ้าเราไปเรียนแบบไม่รู้จักใครเลยก็จะแอบโดดเดี่ยวนิดนึง นั่งเรียนคนเดียว อะไรงี้ ถ้าเรารู้จักคนมาแล้วก็ยังมีแบบ เดินเข้าห้องเลคเชอร์เจอคนรู้จัก เฮ้ยนั่งไหน ไปนั่งกัน อะไรอย่างงี้บ้าง แล้วก็ยังมีเพื่อนคอยให้ถามนู่นถามนี่ ให้ไว้คอยช่วยกันเรียน ช่วยจดเลคเชอร์ อะไรอย่างงี้อีก แล้วต่อๆ ไปก็จะต้องมีการจับกลุ่มทำงานกลุ่มอะไรงี้ด้วย ถ้ารู้จักใครมาก่อนแล้วก็จะทำให้หากลุ่มทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะครับ
สรุปแล้ว หลังจากจบ O-Phase ไปนี้ผมก็ได้เพื่อนใหม่ทั้งในคณะเดียวกัน และต่างคณะมาหลายคนเลย ก็ถือว่าเป็นโชคดีของผมและนักเรียนใหม่คนอื่นๆ มากที่มหาวิทยาลัย KIT ให้ความสำคัญกับกิจกรรม O-Phase นี้เป็นพิเศษ และกิจกรรมโดยรวมก็ค่อนข้างสร้างสรรค์ น่าสนใจ และมีประโยชน์มากๆ ด้วยครับ ถ้าเกิดว่ามีนักเรียนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ คนไหนผ่านมาอ่านเจอก็สามารถมาแชร์ประสบการณ์การรับน้องที่เยอรมนีของตัวเองได้นะครับ แล้วไว้มาติดตามบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับมหาวิทยาในเยอรมนีต่อในตอนหน้ากันครับ