Person of the Month กันยายน 2560 : ชินพันธุ์ ฤกษ์จำนง

หากพูดถึง “ผู้ดูแล” คุณจะนิยามคำคำนี้ว่าอย่างไร?

ในความคิดของฉัน ผู้ดูแลก็คงเป็นคนที่คอยจัดการดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ให้ ก็ไม่น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณชินพันธุ์ ฤกษ์จำนง หรือ พี่ใหม่ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) แห่งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (สนร. เยอรมนี) ผู้ทำหน้าที่เป็น “ผู้ดูแลนักเรียนไทย” ในประเทศเยอรมนีตลอดสามปีที่ผ่านมา จึงทำให้เข้าใจได้ว่าการเป็น “ผู้ดูแล” ตามนิยามของพี่ใหม่ เป็นอะไรมากกว่าที่ฉันคิด


สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขออธิบายให้ฟังคร่าวๆ ก่อนว่า สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ (เรียกสั้นๆ ว่า สนร.) เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (หรือ สำนักงาน ก.พ.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ สนร. ก็คือ การดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศ ทั้งนักเรียนทุนของสำนักงาน ก.พ. และทุนอื่นๆ ที่ฝากสำนักงาน ก.พ. ให้ช่วยดูแล ส่วนนักเรียนที่มาด้วยทุนส่วนตัว แม้จะไม่ได้อยู่ในความดูแลของ สนร. โดยตรง แต่สำนักงานก็ยินดีให้คำปรึกษาหากต้องการความช่วยเหลือ

สนร. เยอรมนีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่กรุงบอนน์ (เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีตะวันตก ณ ขณะนั้น) แต่ก็ต้องปิดทำการลงในปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2557 สำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาเปิด สนร. เยอรมนีขึ้นมาอีกครั้ง


ทำไมถึงมาเป็นผู้ดูแล?

พี่ใหม่เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำงานตรงนี้ ตัวพี่ใหม่เองเคยเป็นนักเรียนทุน ก.พ. เพื่อไปเรียนระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะที่ประเทศอังกฤษมาก่อน หลังจากจบมาก็ทำงานที่สำนักงาน ก.พ. และพอทราบว่ามีตำแหน่งเปิดใหม่ก็สนใจสมัครมาทำตำแหน่งนี้

“เหตุผลที่สนใจสมัครก็คือ ส่วนแรก เราสนใจภารกิจนี้อยู่แล้วเพราะเราเคยเป็นนักเรียนมาก่อน เลยคิดว่าเรามีประสบการณ์ และมีความสนใจที่จะมาพัฒนางานตรงนี้ได้ ส่วนที่สองคืองานนี้เป็นงานใหม่ มีความท้าทาย จึงสนใจเป็นพิเศษ และส่วนที่สามคือได้ยินว่าเยอรมนี เรียนยาก ใช้ชีวิตยาก มีความท้าทายสูง นักเรียนมีความเครียด จบยาก ก็คิดว่าเราน่าจะช่วยอะไรได้บ้างที่จะทำให้นักเรียนจบเร็วขึ้นหรือใช้ชีวิตให้ตลอดรอดฝั่ง”


วิธีการดูแล

สำหรับพี่ใหม่ ความท้าทายในการทำงานนี้ก็คือ เมื่อโลกเปลี่ยน สื่อต่างๆ เข้าถึงได้ง่าย การพัฒนาตัวเองก็ทำได้ง่าย เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สำนักงานจึงต้องทบทวนบทบาทที่จะให้ความช่วยเหลือและให้การดูแล ทบทวนว่าจะดูแลแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับนักเรียนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ดูแลแบบไหนนักเรียนถึงจะมองว่าเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง และทำอย่างไรสำนักงานจึงจะเป็นที่พึ่งพาของนักเรียนได้ ฉะนั้นคอนเซ็ปต์ที่พี่ใหม่ใช้ในการทำงานก็คือ จะทำงานโดยไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าสำนักงานทำตัวเป็นคุณพ่อหรือเป็นผู้ใหญ่ที่มาดูแลเด็ก แต่จะพยายามเป็นรุ่นพี่ที่ผ่านจุดนี้มาก่อน และเข้าใจว่านักเรียนต้องการอะไร

“ดูแล” ในที่นี้หมายถึง ช่วยดำเนินการสมัครเรียนให้ คอยติดตามผลการศึกษา ส่งเงินให้ในแต่ละเดือน ออกหนังสือรับรอง รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมหลักที่ สนร. จัดทุกปีก็คือ การประชุมประจำปี เพื่อให้นักเรียนทุนรัฐบาลทั้งหมดมารวมตัวกัน ได้พบปะทำความรู้จักกัน และเป็นเวทีที่ให้นักเรียนได้พบกับสำนักงานเพื่อแลกเปลี่ยนกันว่ามีอะไรบ้างที่ติดขัด หรือต้องการสนับสนุนเรื่องใดบ้าง ในขณะเดียวกันสำนักงานก็บอกความคาดหวังกับนักเรียน รวมถึงกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ สนร. ยังจัดกิจกรรมเสริม เช่น Workshop เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับนักเรียนทั้งด้านวิชาการและเสริมทักษะให้กับนักเรียนในด้านอื่นๆ

“การดูแลนักเรียน” จำเป็นต้องทำให้เหมาะสมกับช่วงเวลาในการศึกษาของนักเรียนแต่ละคน เวลานักเรียนส่งรายงานการศึกษามาให้ก็ดูว่ามีปัญหาอะไร และพยายามเสริมทักษะที่นักเรียนขาด เช่น จัดอบรมวิชาการให้กับนักเรียนที่มาใหม่ อบรมการเขียนสมัครงานให้กับนักเรียนที่ใกล้เรียนจบ อบรมการเขียน Thesis สำหรับนักเรียนระดับปริญญาตรีและโท อบรมการนำเสนองานให้นักเรียนในระดับปริญญาเอก

“อย่างนักเรียนที่เพิ่งจบ ม.ปลาย มามักจะมีปัญหาเรื่องวิธีการเรียน กับเรื่องสภาพแวดล้อม วิธีการเรียนในบ้านเราจะเป็นลักษณะป้อน เด็กก็อ่านตามแบบเรียนแล้วเตรียมตัวไปสอบ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ครูสั่ง แต่ที่นี่เด็กจะต้องหาความรู้เอง ไม่มีใครจ้ำจี้จ้ำไช ต้องรู้เป้าหมายตัวเองว่าคืออะไร และจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ต้องมีวินัยสูง ต้องวางแผน ต้องเข้าหาเพื่อนร่วมชั้น ช่วงสองปีแรกซึ่งเป็นเวลาที่เขาต้องปรับตัว สำนักงานในฐานะผู้ดูแลก็ต้องเตรียมตัวเขา บางทีเราก็ต้องเข้าใจว่า เด็กบางคนก็เก่งมาจากเมืองไทย แต่ที่นี่ก็ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่เรา ก็ต้องใช้เวลาศึกษาภาษากว่าจะใช้งานได้”

“ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อม ที่นี่ไม่มีใครมาโอ๋ ดังนั้น เมื่อสภาพแวดล้อมไม่โอ๋ สำนักงานก็จะไม่โอ๋เช่นกัน จะไม่ดูแลให้เด็กเป็นเด็ก ทุกอย่างที่ทำมันย่อมต้องมีผลตามมา เมื่อคุณเลือกที่จะเดินทางนี้คุณก็ต้องยอมรับผลของการตัดสินใจของคุณได้ นั่นคือผู้ใหญ่ แต่การรอคนมาโอ๋ตลอดเวลา ล้มแล้วมีฟูกมารองรับ นั่นคือเด็ก”


“ผู้ดูแล” ตามนิยามของพี่ใหม่

“พี่มองว่าสำนักงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตให้กับประเทศ พี่ไม่ได้มองแต่เพียงว่ามาดูแลเด็กแล้วก็จบๆ กันไป ดังนั้น เราจะเตรียมคนให้กับชาติเราอย่างไร พี่ถือว่านี่เป็นบทบาทสำคัญของสำนักงาน”

การจะทำงานสักชิ้นหนึ่ง เราจะต้องไม่ให้ชื่องานมากำหนดขอบเขตสิ่งที่เราจะทำ แต่เราต่างหากที่จะต้องเป็นคนนิยามตัวงาน และกำหนดเองว่าเราจะทำอะไร ถ้าเรามองว่างานดูแลเป็นงานผิวเผิน มันก็จะเป็นงานผิวเผิน แต่พี่ใหม่มองว่างานดูแลเป็นงานเตรียมและสร้างบุคลากรให้กับประเทศชาติ และเชื่อว่า ถ้าเกิดนักเรียนได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับ Input ในทางที่ดี เขาก็จะสามารถกลับไปช่วยพัฒนาประเทศได้

ในวันที่ 30 กันยายน ที่จะถึงนี้ พี่ใหม่ก็จะพ้นวาระการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในเยอรมนีแล้ว สิ่งที่พี่ใหม่อยากจะฝากถึงนักเรียนก็คือ เมื่อมาอยู่ที่นี่ในบทบาทของนักเรียน ก็ไม่ควรมาเพื่อเอาใบปริญญาเท่านั้น แต่ให้เรียนรู้จุดแข็งของเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัย วิธีคิด การใช้ชีวิต การมองโลก การวางแผน หรือความเอาจริงเอาจังของคนเยอรมัน ให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับจากที่นี่ และนำกลับบ้านไปประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ผสมผสานความเอาจริงเอาจังแบบเยอรมันเข้ากับความสนุกสนานแบบไทยให้อยู่ร่วมกันได้ ไปสร้างบรรยากาศให้เป็นสังคมที่เราอยากจะอยู่

พี่ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับสังคมไทยแล้วคิดว่าวันหนึ่งมันจะดีขึ้นมาเองโดยที่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย คุณต้องมีเป้าหมายและตอบตัวเองให้ได้ว่าอยากเห็นอะไรในสังคมแล้วสร้างมันขึ้นมา และจะสร้างมันอย่างไรให้สิ่งต่างๆ อยู่ด้วยกันได้ ตรงนั้นคือความท้าทายของคนรุ่นใหม่”

 


สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่ใหม่ที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนจาก ส.น.ท.ย. (ชนิกานต์ เจริญศรี) ได้ทำการสัมภาษณ์และเขียนบทความนี้ขึ้น ในโอกาสที่พี่ใหม่จะหมดวาระการทำงานลงในเดือนกันยายนนี้ พวกเราขอขอบคุณที่พี่ใหม่คอยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียนไทยในเยอรมนี รวมทั้ง ส.น.ท.ย. มาโดยตลอดด้วยค่ะ

ภาพถ่ายโดย ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย และ ภูมิสยาม แสนสุข

ทุกคนสามารถติดตามบทความน่าสนใจอื่น ๆ ใน บล๊อกของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนี นะคะ