สำหรับโพสต์นี้ผมจะมาเล่าถึงประเด็นสำคัญที่สุดในการเรียน Studienkolleg ซึ่งก็คือเรื่องของการสอบ Feststellungsprüfung หรือ FP นั่นเองครับ
หลังจากที่เราสอบทั้งหมดทั้งมวลในเทอมสองเสร็จแล้ว ก็จะยังมีการเรียนการสอนต่อไปอีกซักพัก ซึ่งในช่วงนี้เหล่าครูผู้สอนก็จะมาทบทวนเนื้อหาสำคัญ ๆ จากทั้งสองเทอมสำหรับเตรียมตัวสอบ FP ให้ (แล้วก็จะทยอยกันประกาศคะแนนสอบที่ผ่านมาด้วย) ระหว่างนั้นก็จะมีใบสมัครสอบ FP มาให้กรอก สำหรับการสอบ FP นั้น วิชาบังคับที่ทุกคนต้องสอบคือวิชาเลข และวิชาภาษาเยอรมัน ส่วนอีกวิชานึง เราสามารถเลือกได้ว่าจะสอบวิชาฟิสิกส์ หรือวิชาประจำชั้นเรียนของเราครับ อย่างเช่นในกรณีของผม ห้องผมมีวิชาเลือกเป็นวิชา Informatics ผมสามารถเลือกได้ว่าจะสอบ FP วิชาเลข ภาษาเยอรมัน กับ ฟิสิกส์ หรือวิชาเลข ภาษาเยอรมัน กับ Informatics ตอนนั้นผมเลือกสอบวิชาฟิสิกส์เพราะว่าเนื้อหาไม่เยอะแล้วก็ค่อนข้างง่าย แล้วก็เพราะว่าเรียน Informatics ไม่รู้เรื่องอย่างแรงและขี้เกียจอ่านด้วยครับ 555 เนื้อหาเยอะมากกกกกกก ในการสอบวิชา เลข, ฟิสิกส์/เคมี/Informatics บรรยากาศก็จะเหมือนตอนสอบครั้งก่อน ๆ หน้าในระหว่างเรียนที่คอลเลจ แต่ว่าจะมีโจทย์และเวลาเพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่า (3 ชั่วโมง) ส่วนวิชาภาษาเยอรมันก็ไม่ได้มีอะไรพิสดาร เพียงแค่จับเอาการสอบทั้ง 4 พาร์ทมารวมกันในการสอบครั้งเดียวแค่นั้น หลังจากสอบทุกอย่างเสร็จก็จะมีเวลาว่างให้ได้หายใจหายคออีกประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนจะประกาศผลสอบและแจกประกาศนียบัตรครับ
การตัดเกรดจบของ Studienkolleg
สำหรับการตัดเกรดจบของ Studienkolleg เกรดเฉลี่ยจากเทอมสอง และเกรดจากการสอบ FP ในแต่ละวิชาจะถูกนำมาเฉลี่ยกัน ได้ออกมาเป็นเกรดจบที่จะถูกนำไปใช้สมัครเข้ามหาลัย ส่วนวิชาที่เราไม่ได้สอบ FP และวิชาแล็บหรือ Praktikum จะใช้เกรดเฉลี่ยจากเทอมนั้นเลยครับ
ยกตัวอย่างเช่น
นาย ก ได้เกรดจากการสอบวิชาเลขในเทอมสองเป็น 2 และ 3 เกรดเฉลี่ยวิชาเลขของนาย ก จะเป็น (2+3)/2 = 2.5 แล้วถ้านาย ก สอบ FP วิชาเลขออกมาได้เกรด 3 เกรดจบวิชาเลขที่อยู่ในประกาศนียบัตรของนาย ก จะเป็น (2.5+3)/2 = 2.7
นางสาว ข ได้เกรดจากการสอบวิชา Informatics ในเทอมสองเป็น 3 และ 4 และได้เกรดจากการพรีเซนต์เป็น 2 เกรดเฉลี่ยวิชา Informatics ของนางสาว ข จะเป็น (3+4+2)/3 = 3 แล้วถ้านางสาว ข สอบ FP วิชา Informatics ออกมาได้เกรด 4 เกรดจบวิชา Informatics ที่อยู่ในประกาศนียบัตรของนางสาว ข จะเป็น (3+4)/2 = 3.5 แต่สมมติว่าถ้านางสาว ข ตัดสินใจไม่สอบ FP วิชา Informatics แล้วไปสอบ FP วิชาฟิสิกส์แทน เกรดจบวิชา Informatics ที่อยู่ในประกาศนียบัตรของนางสาว ข จะเป็น 3
Mündliche Prüfung (การสอบปากเปล่า)
ในช่วงเวลาระหว่างการสอบ FP กับการแจกประกาศนียบัตรนั้น อาจจะมีนักเรียนบางคนถูกเรียกมาสอบปากเปล่า แต่ว่าใครกันล่ะที่จะต้องมาสอบปากเปล่า? เหตุผลที่ทำให้ถูกเรียกมาสอบปากเปล่านั้นมีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกันครับ นั่นก็คือ
- มีวิชาใดวิชาหนึ่งที่คิดเกรดจบออกมาแล้วได้แย่กว่า 4.0
- มีวิชาที่เกรดเฉลี่ยจากในเทอม และเกรดจาก FP ต่างกันมากกว่า 1.0
หลังจากสอบปากเปล่าเสร็จแล้ว เกรดจากการสอบปากเปล่าจะถูกนำไปรวมกับเกรดเฉลี่ยจากในเทอมและเกรดจาก FP แล้วหาค่าเฉลี่ยออกมา ได้เป็นเกรดจบอันใหม่
ถ้าหลังจากสอบ FP แล้วมีมากกว่าหนึ่งวิชาที่ได้เกรดจบแย่กว่า 4.0 จะถือว่าสอบตก ต้องเรียนซ้ำใหม่อีกหนึ่งปี และไม่มีโอกาสสอบปากเปล่าด้วยครับ
ถ้ามีวิชาใดวิชาหนึ่งที่ได้เกรดจบแย่กว่า 4.0 และพอสอบปากเปล่าเสร็จและเอาคะแนนไปเฉลี่ยรวมใหม่แล้วยังได้เกรดจบแย่กว่า 4.0 อีก ก็ต้องไปสอบซ่อมตอนหนึ่งเดือนหลังพิธีรับประกาศนียบัตร เสร็จแล้วคะแนนจากการสอบนี้ก็จะถูกนำไปแทนที่คะแนนจาก FP ครั้งแรก แล้วก็คิดเป็นคะแนนจบออกมาอีกทีนึง ถ้ายังแย่กว่า 4.0 อีกก็ต้องซ้ำชั้น
ส่วนกระบวนการสอบปากเปล่าก็ไม่มีอะไรมากครับ เราต้องนั่งอยู่ในห้องกับครูผู้สอน เค้าจะให้โจทย์มาแล้วให้เวลาเราคิดซักพัก แล้วก็อธิบายเค้าไปเป็นภาษาเยอรมันว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง แล้วครูผู้สอนก็อาจจะถามนู่นนี่นั่น แต่ถ้าเป็นข้อสอบปากเปล่าวิชาภาษาเยอรมันก็จะเป็นเหมือนกับสอบพูดธรรมดา ก็คือแนะนำตัว แล้วก็บรรยายภาพ บรรยายกราฟ อะไรประมาณนั้นครับ
พิธีรับประกาศนียบัตร
หลังจากการสอบทั้งหมดผ่านพ้นไป หากสุดท้ายเราสอบผ่าน เราก็สามารถมารับประกาศนียบัตรหรือใบจบได้ครับ ซึ่งในวันรับใบจบนั้นก็จะมีพิธีการอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ มีการกล่าวขอบคุณฝ่ายต่าง ๆ กล่าวอำลาพอเป็นพิธี แล้วก็จะมีการแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักเรียนใน Studienkolleg แล้วก็จะมีพิธีมอบรางวัลให้กับนักเรียนที่ได้คะแนนดีในแต่ละวิชาด้วย ซึ่งรางวัลที่มีเกียรติที่สุดในพิธีนี้ก็คือรางวัลสำหรับคนที่ได้เกรดเฉลี่ยรวมทุกวิชาสูงที่สุดในคอลเลจ รางวัลที่จะได้ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ปีของผมรางวัลเป็นทุนการศึกษาจำนวน 500 ยูโร (ตาลุกวาว อยากได้บ้าง) ซึ่งคนที่ได้ไปก็เป็นนักเรียนชายจากประเทศรัสเซียที่มาจากห้องของผมนี่เองครับ
แล้วท้ายที่สุด ก็จะเป็นเวลาของการแจกใบจบ ซึ่งนักเรียนแต่ละห้องจะสามารถไปรับได้จากครูประจำชั้นของห้องของตัวเอง บนใบจบนั้นก็จะมีเกรดจบของแต่ละวิชา รวมทั้งเกรดวิชาแล็บ และเกรดเฉลี่ยรวมทุกวิชาบอกไว้ ใบจบนี้เราสามารถเอาไปใช้สมัครมหาลัยร่วมกับเอกสารอื่น ๆ และใบเกรดจากโรงเรียนม.ปลายจากไทยของเราได้ หลังจากรับใบจบแล้วก็จะถือว่าเป็นการสิ้นสุดหนึ่งปีของการเป็นนักเรียนใน Studienkolleg และถึงเวลาของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยแบบจริง ๆ จัง ๆ ซักทีครับ
สมัครเข้ามหาลัย
หลังจากที่เรียนจบจาก Studienkolleg แล้ว ก็จะเป็นเวลาของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนการสมัครมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ก็เหมือนกับตอนที่เราสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก่อนจะมาเข้าเรียน Studienkolleg เลยครับ (https://tsvd.org/blogs/study/study-03/) เพียงแต่ว่าครั้งนี้เราต้องเพิ่มใบจบจาก Studienkolleg ลงไปในกองเอกสารเท่านั้น หลังจากส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปยังทุกมหาลัยที่เราต้องการจะสมัครแล้ว ก็รอผลปกติจนกว่าเค้าจะตอบรับมา แต่ครั้งนี้จะโล่งขึ้นมาหน่อยนึงตรงที่ว่าเราอยู่ที่เยอรมันแล้ว จะส่งจดหมายจะจัดการอะไรก็ทำได้เร็วกว่าตอนอยู่ไทยครับ มีเรื่องหนึ่งที่ต้องระวัง ก็คือ หลาย ๆ มหาลัยจะต้องการเอกสารที่ลงสำเนาถูกต้องจากหน่วยงานราชการ (Beglaubigung) ตอนอยู่ที่ไทยเราเอาไปทำที่สถานทูต ตอนอยู่ที่เยอรมันเราสามารถเอาไปทำที่ Bürgerbüro ได้ครับ
สำหรับมหาลัย KIT ที่นี่สามารถส่งสำเนาของเอกสารแบบไม่ต้องทำ Beglaubigung ได้เลย หลังจากเรารับใบจบมาแล้ว เราก็แค่เอาไปรวมกับสำเนาเอกสารอื่น ๆ กับรูปถ่าย ใส่ซองจดหมาย แล้วก็เอาไปยื่นให้พนักงานที่ International Students Office ของมหาลัยกับมือได้เลยครับ เค้าจะช่วยตรวจเช็คให้ด้วยว่าเรามีเอกสารครบรึเปล่า ขาดอะไรไปบ้าง ถ้าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย สะดวกมาก ๆ ครับ
หลังจากที่สมัครมหาลัยเสร็จ (หมดเขตสมัครวันที่ 15 กรกฎาคม) เราก็จะมีเวลาว่างยาวววว ไปจนเปิดเทอมเดือนตุลานู่น ก็เป็นช่วงเวลาให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัยอีก จะทำงาน จะไปเที่ยว หรือจะกลับไทยก็ได้ครับ ส่วนระยะเวลาจนกว่ามหาลัยจะประกาศผลก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาลัย อย่างที่ KIT ก็จะประกาศผลทางเว็บหลังจากผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน หลังจากประกาศผลแล้วก็ต้องมาดูอีกว่าเราต้องไปลงทะเบียนเรียนเมื่อไหร่ แล้วก็ต้องเอาใบตอบรับจากมหาลัยไปต่ออายุวีซ่าอีก ทำให้ช่วงปิดเทอมหลังจบ Studienkolleg นั้นอาจจะเป็นช่วงที่ไม่เหมาะกับการกลับบ้านเพราะอาจมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ได้ แต่สำหรับผมทุกอย่างค่อนข้างลงตัวแล้ว เพราะว่าสมัครแค่ที่ KIT ไปที่เดียว ผลสอบก็ออกทางเน็ตไม่ต้องอยู่บ้านคอยรอจดหมาย แถมวันลงทะเบียนก็รู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นช่วงปลายกันยา ทำให้ผมตัดสินใจกลับไทย และนี่ก็เป็นเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใน Studienkolleg Karlsruhe ไปจนถึงตอนสมัครเรียนมหาลัยครับ
สังคมใน Studienkolleg
ก่อนจะจบในส่วนของ Studienkolleg ไป ขอพูดเรื่องสังคมที่นี่นิดนึงนะครับเพราะอาจจะมีคนสนใจ ปัญหาของการเรียนในคอลเลจก็คือนักเรียนทุกคนเป็นนักเรียนต่างชาติ มาจากคนละประเทศ คนที่มาจากประเทศเดียวกันก็จะจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน ทำให้แม้แต่ในห้องเรียนเดียวกันก็ยังไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ ถ้าอยากจะผูกมิตร อยากจะเข้ากลุ่มกับคนอื่นก็ต้องพยายามและทำใจหน่อย เพราะเวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเค้าก็มักจะพูดภาษาแม่ของเค้ากัน แต่ก็มีเหมือนกันที่คนหลาย ๆ ประเทศมาจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน เรียน ทำกิจกรรมอะไรด้วยกัน หลังจากเปิดเทอม พอผ่านไปเรื่อย ๆ สมาชิกในห้องก็จะเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น คุยกันมากขึ้น แต่ว่าก็จะไม่ได้สนิทกันมากเหมือนเพื่อนในโรงเรียนม.ปลายอะไรอย่างนี้ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็จะแตกต่างกันไป ครูบางคนก็ใจดีมาก ให้นักเรียนเรียกชื่อต้นเค้าได้เลย (ที่เยอรมัน คนที่ไม่สนิทกันจะเรียกกันด้วยนามสกุล) ครูบางคนก็นัดเด็ก ๆ ไปเตะบอลกันหลังเลิกเรียน ครูบางคนก็ตลก บางคนก็เคร่งขรึม และครูที่อีโก้จัด นักเรียนเกลียดเยอะ ๆ ก็มีนะครับ 555 แต่ผมไม่ได้เรียนกับเค้าเลยไม่มีอะไรมาเล่า แต่ว่าครูทุกคนก็เต็มที่กับการสอน แล้วก็เตรียมการสอน วางแผนการสอนมาอย่างดีครับ
ในช่วงเทอมสองจะมีวันทัศนะศึกษารวมหนึ่งวัน ซึ่งในวันนี้นักเรียนจากทั้ง Studienkolleg จะเดินทางไปทำกิจกรรมอะไรบางอย่างร่วมกัน ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วก็จะเป็นการไปปีนป่ายต้นไม้ที่ Waldseilpark Karlsruhe แบบในรูป (เพราะว่าไม่เคยมีใครเสนอไอเดียอื่นเลย 5555) ในวันทัศนศึกษาทุกคนก็จะมาเจอกันที่คอลเลจแล้วก็เดินทางไปยัง Waldseilpark ด้วยกัน ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆก็ต้องออกเอง แต่ว่าเค้าจะมีส่วนลดให้ วันนั้นผมไม่ได้ไป เพราะตื่นสาย 5555 เสียดายมากครับ
ก็จบลงไปแล้วกับประสบการณ์หนึ่งปีใน Studienkolleg Karlsruhe หวังว่าคงจะพอได้อรรถรส และพอเห็นภาพกันบ้างว่าการเรียนที่นี่เป็นยังไงนะครับ ส่วนตัวแล้วผมไม่รู้เหมือนกันว่าที่ Studienkolleg ที่อื่นมีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากที่นี่ยังไงบ้าง ถ้าเกิดว่ามีนักเรียนจาก Stuidienkolleg ที่เมืองอื่นผ่านมาอ่านเจอก็มาแชร์ประสบการณ์ในคอมเมนต์กันได้เลยนะครับ