การเรียนใน Studienkolleg ตอนที่ 3 : เทอมที่สอง

มาต่อกันที่เรื่องราวของภาคการศึกษาที่สองกันต่อเลยดีกว่าครับ สำหรับเทอมที่สองนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่จะต้องจริงจังกับการเรียนกันจริง ๆ แล้ว เพราะว่าเกรดเฉลี่ยในเทอมนี้จะถูกนำไปใช้รวมกับเกรดเฉลี่ยจากโรงเรียนม.ปลายที่ไทยเพื่อใช้สมัครเข้ามหาลัยต่อไป ในเทอมที่สองนี้การจัดห้องก็จะยังเป็นแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนห้องหรือคละห้อง แต่ว่าเพื่อนร่วมชั้นจากห้องเก่าของเราอาจจะไม่ได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน บางคนอาจจะต้องซ้ำชั้น หรือบางคนอาจจะลาออกไปด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ และก็อาจจะมีสมาชิกใหม่มาเรียนด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเด็กที่สอบตกในเทอมที่แล้ว ต้องกลับมาเรียนเทอมสองซ้ำใหม่ หรืออาจจะเป็นเด็กที่เพิ่งจะสอบเข้ามาแต่ว่าได้คะแนนดีมากจนเค้าให้ข้ามมาเรียนเทอมสองเลยก็ได้ (คิดว่ากรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กที่มาสอบเข้าตอนเทอมฤดูร้อน เพราะว่าคนที่เริ่มเรียนคอลเลจตอนฤดูร้อน ถ้าเรียนสองเทอมตามปกติก็จะเรียนจบคอลเลจตอนเทอมฤดูหนาว แล้วก็ต้องรอจนเทอมฤดูร้อนใหม่ที่มาถึงนี้ผ่านไปกว่าจะสมัครเข้ามหาลัยในเทอมฤดูหนาวถัดไปได้ เพราะว่ามหาลัยส่วนใหญ่จะเปิดรับนักเรียนใหม่ตอนเทอมฤดูหนาวเท่านั้น ถ้าเราสามารถกระโดดข้ามไปเรียนเทอมสองเลยได้ เราก็จะเรียนจบคอลเลจในเทอมฤดูร้อนนั้นและสามารถสมัครเข้ามหาลัยในเทอมฤดูหนาวที่มาถึงได้เลย สามารถประหยัดเวลาชีวิตไปได้ถึงหนึ่งปีเลยครับ แต่สำหรับเด็กที่มาเริ่มเรียนคอลเลจตอนเทอมฤดูหนาว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบกระโดดข้ามไปเรียนเทอมสอง เพราะถึงจะเรียนจบคอลเลจในเทอมฤดูหนาวนั้นแล้วก็ยังต้องอยู่ว่าง ๆ รอไปอีกเทอมถึงจะสมัครเข้ามหาลัยในเทอมฤดูหนาวปีถัดไปได้อยู่ดีครับ)

ในเรื่องของการเรียน ในเทอมสองนี้จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีอะไรเข้มข้นมากขึ้นกว่าเทอมหนึ่งมากนักครับ บรรยากาศการเรียนก็ปกติ แค่อาจจะกดดันมากขึ้นเล็กน้อยเพราะว่าต้องตั้งใจทำเกรดให้ดี ๆ แต่ว่าในเทอมสองนี้จะมีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา ก็คือชั่วโมงแล็บ (หรือ Praktikum) หนึ่งคาบต่อสัปดาห์ (หนึ่งคาบอาจจะยาวนานแค่ไหนก็ได้) ซึ่งสำหรับห้องที่เรียนเคมี จะมีเรียนแล็บเคมีเพิ่มขึ้นมา ส่วนสำหรับห้องที่เรียน Informatics จะมีสองแล็บ คือแล็บ Informatics กับแล็บ Electrotechnics แบ่งเป็นครึ่ง ๆ ครึ่งแรกของเทอมจะเรียนแล็บ Informatics ส่วนครึ่งหลังจะเรียนแล็บ Electrotechnics หรือไม่ก็สลับกันครับ

เนื้อหาที่เรียนในเทอมสอง

วิชาเลข เทอมนี้เราจะเรียนเรื่อง อนุกรม อินทิเกรต แมตริกซ์ ภาคตัดกรวย และ Analytic Geometry ซึ่งเทอมนี้จะมีการสอบวิชาเลขแค่ 2 ครั้ง (เทอมแรกมีสอบเลข 3 ครั้ง) แล้วเทอมนี้ก็จะมีคาบวิชาเลขลดลงไปหนึ่งคาบ ทำให้มีเวลาว่างในสัปดาห์มากขึ้นมาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง! ถ้าคาบว่างนี้ไปอยู่ตอนเช้าก็จะมีเวลานอนยาวขึ้นหนึ่งวัน ถ้าคาบว่างนี้ไปอยู่ตอนเที่ยงก็จะเลิกเรียนเร็วหนึ่งวัน ขึ้นอยู่กับตารางสอนที่เค้าจัดมาให้ครับ

วิชาฟิสิกส์กลศาสตร์ จะเรียนเรื่องการเคลื่อนที่ของดวงดาว กฏของเคปเลอร์ การหมุน การเคลื่อนที่แบบซิมเปิลฮาร์โมนิก

วิชาฟิสิกส์ไฟฟ้า จะเรียนเรื่องไฟฟ้ากระแส การคำนวณตัวนำ ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน กฏของโอห์ม กฎของเคิร์ชฮอฟฟ์ การต่อวงจรแบบต่าง ๆ แล้วหาความต้านทาน หาความต่างศักย์ หาพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ การเปลี่ยนวงจรไฟฟ้าจากรูปสามเหลี่ยมเป็นรูปตัว Y

วิชา Informatics อันนี้จะพิเศษหน่อยครับ เพราะในเทอมนี้ครูจะกำหนดหัวข้อเรื่องที่ต้องเรียนมา แล้วให้นักเรียนเลือกหัวข้อไปหาข้อมูลแล้วมาพรีเซนต์หน้าห้องเพื่อสอนเพื่อนคนอื่นๆเอง โดยที่ครูผู้สอนให้เหตุผลว่านักเรียนจะได้ฝึกการนำเสนอเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อต้องเข้าไปเรียนในมหาลัย ในแต่ละคาบ นักเรียนแต่ละคนก็จะมาพรีเซนต์หัวข้อของตัวเอง ซึ่งปกติก็จะใช้เวลาตั้งแต่ 45 นาทีขึ้นไป แต่บางคนก็พรีเซนต์ยาวมากกินเวลาไปจนเกินคาบนึง ต้องไปต่อเอาคาบหน้า และหลังจากพรีเซนต์เสร็จแล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้เพื่อนๆถาม (แต่ปกติจะไม่ค่อยมีใครถามนะครับเพราะฟังคนพรีเซนต์พูดไม่รู้เรื่อง 555) แล้วก็ให้ครูถามด้วย ซึ่งก็ควรจะตอบให้ได้ ถ้าใครพรีเซนต์เสร็จเร็ว ถามตอบกันเสร็จแล้วก็ยังไม่หมดคาบ ครูก็จะมาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจแล้วก็พูดเสริมในส่วนที่น่าสนใจให้ ในเรื่องของเนื้อหาที่แบ่งกันไปพรีเซนต์ก็จะมีหัวข้อหลากหลายกว้างขวางมาก ตั้งแต่โครงสร้างของคอมพิวเตอร์ โครงสร้างของระบบปฏิบัติการต่างๆ ภาษาต่างๆที่ใช้เขียนโปรแกรม อัลกอริธึม การทำงานของอินเตอร์เน็ต OSI, IP, TCP, DNS, Protocol ฯลฯ ไปจนถึงประวัติของอินเตอร์เน็ต การทำงานของไวรัสคอมพิวเตอร์ การทำงานของโปรแกรม Anti-Virus การทำงานของเว็บไซต์ที่ใช้ค้นหาข้อมูล การบีบอัดข้อมูล ไปจนถึง Artificial Intelligent และ Robotics พูดได้ว่าในทางทฤษฏี เรียนจบเทอมนี้ความรู้คอมพิวเตอร์เต็มเปี่ยม แต่ในทางปฏิบัติ… ฟังเพื่อน ๆ ที่มาพรีเซนต์ยังฟังไม่ออกเลยครับ T.T บางคนก็ยังพูดเยอรมันไม่คล่องเลย บางคนก็พูดพอได้แต่ว่าทำพรีเซนต์ออกมาไม่ค่อยดี ส่วนคนที่ทำพรีเซนต์ออกมาดีก็มีอยู่บ้าง สุดท้ายแล้วก็ต้องไปหาอ่านเองอยู่ครับ 555 แต่ว่าการที่เราได้หัดหาข้อมูล หัดพรีเซนต์ออกมาเป็นภาษาเยอรมันก็เป็นข้อดีข้อหนึ่งที่มีประโยชน์มากครับ

แล็บ Informatics จะเป็นการฝึกเขียนโปรแกรมโดยใช้ภาษา Java แบบเบื้องต้น ซึ่งจะเรียนในห้องคอมห้องมหาวิทยาลัย สำหรับการทำแล็บเขียนโปรแกรมนี้ครูจะไม่ค่อยสอนมาก แต่จะทำบทเรียนออนไลน์ไว้ให้แล้ว ถ้าใครสงสัยก็ให้ถามตัวต่อตัว

แล็บ Electrotechnics จะเป็นการต่อวงจรความต้านทานแล้วก็คำนวณค่าต่างๆออกมาแบบง่ายๆ ตรงส่วนคำนวณนี่อารมณ์เหมือนหัวข้อที่เรียนในฟิสิกส์ไฟฟ้าเลยครับ ในแล็บนี้เค้าจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4-5 คน แต่ละกลุ่มต้องต่อวงจรตามที่เค้ากำหนด คำนวณ แล้วก็เขียนสรุปการทดลองส่ง

บรรยากาศการพรีเซนต์วิชา Informatics

การสอบในเทอมสอง

สำหรับเทอมนี้ วิชาเลข ฟิสิกส์ และ เคมี/Informatics จะมีการสอบ 2 ครั้ง ส่วนวิชาภาษาเยอรมันจะมีการสอบแค่ 1 ครั้งเหมือนเดิม (แต่แบ่งเป็นสอบ 4 ครั้ง ครั้งละพาร์ท) กระบวนการสอบอะไรก็ปกติเหมือนเดิมเหมือนเทอมแรกทุกอย่าง การตัดเกรดก็เหมือนเดิมคือเอาเกรดจากการสอบทั้งสองครั้งมาเฉลี่ยกัน ส่วนวิชาภาษาเยอรมันก็เอาคะแนนจากทั้ง 4 พาร์ทมาเฉลี่ยกัน แต่สำหรับวิชา Informatics จะพิเศษหน่อยตรงที่จะมีคะแนนจากการพรีเซนต์มารวมด้วย หมายความว่าหลังจากเราพรีเซนต์เสร็จ อาจารย์จะให้คะแนนการพรีเซนต์ของเราแล้วก็ตัดเกรดออกมา เกรดเฉลี่ยท้ายเทอมของวิชา Informatics ก็จะเป็นเกรดเฉลี่ยของการสอบทั้งสองครั้งและการพรีเซนต์ สมมติว่าสอบ Informatics สองครั้ง ได้เกรด 4 กับ 5 แต่พรีเซนต์ได้เกรด 1 เกรดเฉลี่ยวิชา Informatics ก็จะออกมาเป็น (4+5+1)/3 = 3.3 ซึ่งปกติแล้วคะแนนจากการพรีเซนต์จะเป็นคะแนนช่วยสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะส่วนใหญ่จะได้คะแนนสอบน้อยกัน และครูจะไม่ค่อยกดคะแนนพรีเซนต์เท่าไหร่ครับ

ในเทอมสองนี้จะมีการสอบแล็บเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งกำหนดการสอบจะไม่อยู่ในตารางสอบแต่ครูผู้สอบจะเป็นคนบอกเอง ในส่วนของแล็บ Informatics ในระยะเวลาครึ่งเทอมที่เรียนแล็บนั้น ครูจะให้เราเขียนเกมแบบง่ายๆขึ้นมาเกมนึงด้วยภาษา Java เกมอะไรก็ได้ แล้วก็เอาไปส่งตอนเรียนจบ คะแนนของแล็บนี้ก็จะมาจากชิ้นงานนี้ และไม่มีการสอบ ส่วนข้อสอบแล็บ Electrotechnics จะเป็นข้อสอบคำนวณแบบเดียวกับที่เรียนในแล็บเป๊ะเลยครับ แค่พลิกแพลงมากขึ้นหน่อย แล้วคะแนนจากทั้งสองแล็บนี้ก็จะถูกเอามาเฉลี่ยกัน ได้ออกมาเป็นคะแนนแล็บรวมครับ (คะแนน Praktikum)

จบเรื่องราวของเทอมที่สองใน Studienkolleg Karlsruhe เดี๋ยวตอนหน้าจะมาต่อด้วยเรื่องราวที่สำคัญที่สุดในการเรียนคอลเลจ ซึ่งก็คือเรื่องราวของการสอบ Feststellungsprüfung และสิ่งที่ต้องทำหลังจากสอบเสร็จกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ