การเรียนใน Studienkolleg ตอนที่ 2 : การสอบและการตัดเกรด

การสอบและการตัดเกรดของประเทศนี้ มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับที่ประเทศไทย แต่ก็มีบางอย่างที่ต่างกัน เดี๋ยวในโพสต์นี้ผมจะมาเล่าถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างนี้ให้ฟังนะครับ

สำหรับการสอบที่ Studienkolleg นี้ แต่ละเทอมก็จะมีการสอบ 2 ครั้ง อารมณ์เหมือนกับการสอบกลางภาค กับการสอบปลายภาคของโรงเรียนที่ไทยเลยครับ (ยกเว้นวิชาเลขที่จะมีการสอบ 3 ครั้งในหนึ่งเทอม และวิชาภาษาเยอรมันที่จะมีการสอบแค่ 1 หนึ่งต่อเทอมครับ) หลังจากที่ฤดูการสอบกลางภาคครั้งแรกผ่านไป เราก็จะเรียนต่อกันเลยไม่มีวันหยุด และหลังจากสอบเสร็จไม่กี่วัน ครูประจำวิชาก็จะค่อย ๆ ทยอยประกาศคะแนนให้ได้ตื่นเต้นใจหายใจคว่ำกันไป ใครได้คะแนนเยอะก็โล่ง แต่ถ้าเกิดว่าได้คะแนนน้อยก็อย่าเพิ่งท้อใจไป แค่ต้องพยายามตอนสอบปลายภาคให้มากขึ้นหน่อย เพราะเค้าจะเอาคะแนนสอบทุกครั้งในเทอมนั้นมาเฉลี่ยกันแล้วตัดเกรดแต่ละวิชาครับ ยกตัวอย่างเช่น วิชาเคมี ถ้าสอบครั้งแรกได้เกรด 2 สอบครั้งที่สองได้เกรด 4 เกรดเฉลี่ยวิชาเคมีของเทอมแรกก็จะเป็น 3 ส่วนวิชาเลข ในเทอมแรกจะมีสอบ 3 ครั้ง ตอนคิดเกรดเฉลี่ยวิชาเลขตอนสิ้นเทอมเค้าก็จะเอาคะแนนสอบทั้ง 3 ครั้งนั้นมาเฉลี่ยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับเทอมแรก แค่สอบให้ไม่ตกก็พอแล้วครับ (ให้เกรดเฉลี่ยของแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำสุด)

มาพูดถึงเรื่องการตัดเกรดที่ประเทศเยอรมนีกันบ้างนะครับ คือที่ไทย เกรด 4 จะเป็นเกรดที่ดีสุด และ เกรด 1 คือเกณฑ์ผ่าน แต่ที่เยอรมันจะกลับกัน คือเกรด 1 จะดีสุด และ เกรด 4 คือเกณฑ์ผ่าน ยกตัวอย่างที่ Studienkolleg ที่นี่ข้อสอบส่วนใหญ่จะมีคะแนนเต็ม 30 คะแนน ถ้าได้คะแนนตั้งแต่ 25 ขึ้นไปจะได้เกรด 1 และเกณฑ์ผ่านหรือคะแนนที่จะทำให้ได้เกรด 4 ก็คือ 10 คะแนน หมายความว่าถ้าสอบได้น้อยกว่า 10 คะแนนก็คือสอบตกครับ แล้วก็การคิดเกรดของที่นี่จะไม่ได้คิดเป็นแค่จำนวนเต็ม 1, 2, 3, 4 แต่จะมีจุดทศนิยมด้วยหนึ่งตำแหน่ง (ถ้ามีตำแหน่งถัดๆไปให้จะตัดทิ้งไปเลยเสมอ) ซึ่งสูตรการคิดเกรดสำหรับข้อสอบที่มีคะแนนเต็ม 30 คะแนนก็คือ “6 – (คะแนนที่ได้/5)” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสอบได้ 12 คะแนน ก็จะได้เกรด 3.6 ครับ

ในส่วนของวิชาภาษาเยอรมันจะมีการตัดเกรดที่ต่างจากวิชาอื่นๆ สำหรับวิชานี้จะแบ่งเป็น 4 พาร์ท คือ การฟัง การอ่าน การเขียน และแกรมมาร์ แต่ละเทอมจะมีการสอบวิชาภาษาเยอรมันแค่ครั้งเดียว แต่ว่าจะแบ่งเป็นการสอบ 4 ครั้ง ตามพาร์ท แต่ละพาร์ทจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน เกรดเฉลี่ยของการสอบวิชาภาษาเยอรมันก็จะมาจากการเอาเกรดของทั้ง 4 พาร์ทนี้มาเฉลี่ยกัน ซึ่งสำหรับแต่ละพาร์ท เกณฑ์การให้เกรดก็จะต่างกันไป หมายความว่าสมมติว่าพาร์ทการฟังกับการอ่านได้คะแนนเท่ากันคือ 99 เต็ม 100 ก็อาจจะได้เกรดไม่เท่ากันก็ได้ พาร์ทการฟังอาจได้เกรด 1 แต่พาร์ทการอ่านอาจได้เกรด 1.1 อะไรอย่างนี้ครับ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนแต่ละพาร์ท แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันหมดก็คือ เกณฑ์ผ่าน หรือเกรด 4 นั้นจะอยู่ที่ 60 คะแนน สมมติว่าถ้าเราได้คะแนนในพาร์ทการฟังน้อยกว่า 60 คะแนน ก็จะถือว่าเราสอบตกพาร์ทการฟัง แต่ถ้าเกิดว่าคะแนนเฉลี่ยทุกพาร์ทออกมามากกว่า 60 เปอร์เซนต์ เราก็ยังสอบผ่านวิชาภาษาเยอรมันอยู่ดีนะครับ (ถึงแม้ว่าจะตกพาร์ทการฟัง)

สรุปก็คือ สำหรับเทอมแรก ถ้าสอบออกมาเกรดเฉลี่ยของแต่ละวิชาไม่แย่กว่า 4 ก็สามารถผ่านไปเรียนเทอมที่สองได้แล้วครับ แล้วเกรดเฉลี่ยของเทอมแรกก็จะไม่ถูกนำมาใช้อีก

มาดูเรื่องเนื้อหาการเรียนของครึ่งหลังของเทอมแรกกันบ้างนะครับ

สำหรับวิชาเลขจะเป็นเรื่องของเซต อสมการ จำนวนเชิงซ้อน ความสัมพันธ์แบบต่างๆ ฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ ลำดับ และ การหาอนุพันธ์ของฟังก์ชัน

สำหรับวิชาฟิสิกส์และ Informatics … คร่าวๆคือวิชาฟิสิกส์เครื่องกลจะเป็นเรื่องของโมเมนตัม การชน สมดุลกล การเคลื่อนที่แบบโปรเจคไทล์ ส่วนฟิสิกส์ไฟฟ้าก็จะเน้นเรื่องการคำนวณศักย์ไฟฟ้าแบบแอบพิศดารไม่เคยเห็นที่ไทยมาก่อน แต่ก็ไม่ยากถ้าตั้งใจเรียน ส่วน Informatics ก็จะเน้นเรื่องการใช้ Microsoft Excel, Microsoft Access, Database อะไรพวกนั้น (เรียนในห้องคอม) ส่วนในเรื่องทฤษฎีก็จะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ประมาณนั้นครับ

และหลังจากที่เรียนเนื้อหาของครึ่งเทอมหลังของเทอมที่หนึ่งเสร็จแล้ว แล้วก็มาเป็นการสอบปลายภาค ซึ่งก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษครับ นอกจากจะมีการสอบวิชาภาษาเยอรมันมาแจมด้วย หลังจากสอบเสร็จหมดทุกวิชาแล้วก็จะยังมีการเรียนการสอนต่ออีกซักพัก ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็จะเป็นเนื้อหาเพิ่มเติมมาจากที่เรียนมาในเทอมแรก แต่ว่าก็จะไม่ได้เอาไปออกสอบ ระหว่างนั้นครูประจำวิชาก็จะค่อย ๆ ทยอยประกาศคะแนนกันอีกครั้ง ถ้าเกิดว่าเกรดเฉลี่ยของของเราไม่มีวิชาไหนแย่กว่า 4 เลย ก็ผ่านเทอมแรก แต่ถ้ามีเกรดเฉลี่ยวิชาไหนแย่กว่า 4 ก็ต้องกลับมาสอบซ่อมวิชานั้นในช่วงปิดเทอม ถ้าซ่อมแล้วยังมีวิชาที่เกรดเฉลี่ยแย่กว่า 4 อยู่อีก เทอมหน้าก็ต้องกลับมาเรียนซ้ำเทอมแรกใหม่กับรุ่นน้อง และถ้าเรียนซ้ำแล้วยังสอบตก แล้วสอบซ่อมแล้วก็ยังไม่ผ่านอีกก็จะไม่สามารถเรียนทางสายวิทย์ในเยอรมันได้อีกต่อไป ถ้ายังอยากเรียนที่เยอรมันต่อก็ต้องไปสมัครเรียนคณะทางสายอื่นแทนครับครับ

การคิดเกรดใหม่หลังจากการสอบซ่อมจะเป็นการเอาเกรดที่ได้จากการสอบซ่อมไปแทนที่เกรดจากการสอบครั้งที่ได้คะแนนต่ำสุด แล้วคิดเกรดเฉลี่ยของวิชานั้นออกมาใหม่ครับ ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเกรดวิชาเลขจากการสอบทั้งสามครั้งในเทอมแรกของเราเป็น 4, 4, 4.6 อย่างงี้ เกรดเฉลี่ยวิชาเลขของเราก็จะออกมาเป็น 4.2 ซึ่งแย่กว่า 4 ก็หมายความว่าเราสอบตกวิชาเลข ต้องมาซ่อม แล้วถ้าเกิดว่าเกรดข้อสอบซ่อมวิชาเลขของเราออกมาเป็น 1 ตอนคิดเกรดเฉลี่ยใหม่เค้าก็จะเอา 1 ไปแทนที่ 4.6 ซึ่งเป็นเกรดจากครั้งที่แย่ที่สุด แล้วเกรดเฉลี่ยใหม่ก็จะออกมาเป็น (4+4+1)/3 = 3 ซึ่งก็หมายความว่าตอนนี้เราผ่านวิชาเลขแล้ว แต่สมมติว่าถ้าเกรดข้อสอบซ่อมวิชาเลขของเราออกมาเป็น 4.3 เกรดเฉลี่ยใหม่ก็จะออกมาเป็น (4+4+4.3)/3 = 4.1 ซึ่งยังต่ำกว่า 4 หมายความว่าเรายังไม่ผ่านและต้องกลับไปเรียนเทอมแรกซ้ำใหม่อีกครั้งนึงครับ

หลังจากที่สอบผ่านเทอมแรกแล้ว เราก็จะมีปิดเทอมยาวประมาณ 2 สัปดาห์ให้ไปเที่ยว ทำงาน กลับบ้าน หรือทำอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย แล้วเดี๋ยวโพสต์หน้าเรามาต่อที่เรื่องราวของเทอมที่สองใน Studienkolleg Karlsruhe กันนะครับ