การเรียนใน Studienkolleg ตอนที่ 1

สำหรับโพสต์นี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์ของการเรียนใน Studienkolleg ของเมือง Karlsruhe ให้ฟังนะครับ ใครที่กำลังอยากรู้ว่าการเรียนคอร์สเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยเยอรมันสำหรับนักเรียนต่างชาตินี้จะมีการจัดการต่าง ๆ และการเรียนเป็นยังไง จะเหมือนกับการเรียนในโรงเรียนที่ไทยมากน้อยแค่ไหน เชิญมาอ่านกันได้เลยครับ

มาเริ่มต้นกันที่วันแรกของการเรียนเลยละกันนะครับ สำหรับสองวันแรกของการเรียนก็จะเป็นการบอกห้องเรียนให้รู้ พบครูประจำชั้น กับแนะนำสถานที่ กับแนะนำวิชาคร่าว ๆ อะไรแบบนี้เฉย ๆ ในตึก Studienkolleg ที่ Karlsruhe นี้ นอกจากจะมี ส่วนที่เป็น Studienkolleg แล้ว ก็ยังมีส่วนที่เปิดสอนอย่างอื่นอีกมากมาย ทั้งภาษา คอร์สปรับพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งยังมีส่วนของคณะ Informatics (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ตั้งอยู่ด้วย สำหรับคอร์ส Studienkolleg นี้ก็เป็นคอร์สเตรียมตัวสำหรับสอบ Feststellungsprüfung หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเยอรมนี เหตุผลที่เราต้องมาเรียน (และมาสอบข้อสอบเข้า) ก็เพราะว่าใบจบม.6 จากไทยมันไม่เทียบเท่ากับใบจบ high school (หรือภาษาเยอรมันเรียกว่า Gymnasium) จากเยอรมนี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากโพสต์นี้เลยครับ https://tsvd.org/blogs/study/study-07/) หลังจากที่เราเรียน Studienkolleg จบ (ใช้เวลา 2 เทอม) และสอบ Feststellungsprüfung เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีเกรดออกมา เราก็เอาเกรดที่ได้จาก Studienkolleg นี้ไปรวมกับเกรดของโรงเรียนม.ปลายจากไทย แล้วก็ใช้สมัครเข้ามหาลัยอีกรอบ ซึ่งอาจจะเป็นมหาลัยเดิมที่เราจบ Studienkolleg มา หรือจะเป็นมหาลัยใหม่ก็ได้ และในระหว่างที่เรายังเรียนอยู่ที่ Studienkolleg นี้ เราก็จะมีสถานะเหมือนกับเป็นนักศึกษาคนหนึ่งของมหาลัย มีบัตรนักศึกษา และสวัสดิการต่าง ๆ เหมือนกับนักศึกษาคนหนึ่งเลยครับ

การเรียนที่ Studienkolleg จะมี 2 เทอม แต่จะเอาเกรดจากเทอม 2 มาใช้สำหรับสมัครเข้าเรียนต่อเท่านั้น เทอม 1 ก็มีการคิดเกรดแต่จะไม่เอามาใช้ แต่ถ้าจบเทอม 1 แล้ว คะแนนสอบเฉลี่ยไม่ผ่าน แม้เพียงแค่วิชาเดียวก็ต้องเรียนเทอมนั้นทั้งเทอมซ้ำนะครับ (แต่เกณฑ์ผ่านที่นี่แค่ประมาณ 33.33% เอง เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องกังวลครับ ยกเว้นวิชาเยอรมัน ที่ต้องได้มากกว่า 60%) และมีโอกาสให้เรียนซ้ำต่อเทอมได้แค่หนึ่งครั้งเท่านั้น ก็คือหมายความว่าเราสามารถเรียนอยู่ที่คอลเลจนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี (ซ้ำเทอม 1 ได้แค่หนึ่งครั้ง และซ้ำเทอม 2 ได้แค่หนึ่งครั้ง) ถ้าเรียนซ้ำรอบนึงแล้วยังมีวิชาที่สอบไม่ผ่านอีกก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หมดโอกาสเรียนต่อในเยอรมนี ส่วนข้อสอบ Feststellungsprüfung นั้นจะสอบตอนจบเทอม 2 และเอาคะแนนมาเฉลี่ยกับคะแนนสอบครั้งอื่น ๆในเทอม 2 แล้วก็คิดออกมาเป็นเกรดเพื่อใช้สำหรับสมัครเข้ามหาลัยต่อไปครับ

ที่ Studienkolleg Karlsruhe จะมีเปิดสอนสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการมาเข้าคณะทางสายวิศวะหรือเทคโนโลยีเท่านั้น และในแต่ละปีก็จะรับนักเรียนสองรอบ รอบนึงคือรอบ Winter Semester ซึ่งจะรับนักเรียนประมาณ 100 คน อีกรอบก็คือรอบ Summer Semester ซึ่งจะรับนักเรียนประมาณ 50 คน ทุกคนจะได้เรียนวิชาเลข ฟิสิกส์กลศาสตร์ ฟิสิกส์ไฟฟ้า และภาษาเยอรมันฟัง, อ่าน, เขียน, แกรมมาร์ (ไม่มีพูดแฮะ) และจะมีวิชาเลือกอีกสองวิชาก็คือ Informatics (หรือคอมพิวเตอร์นั่นแหละครับ) กับ เคมี ซึ่งทาง Studienkolleg จะจัดวิชาเลือกนี้มาให้เอง โดยดูจากคณะที่เราเลือกตอนสมัครมหาลัยว่าน่าจะเกี่ยวกับ Informatics หรือเคมีมากกว่ากัน สำหรับคอร์สที่รับเข้ามาตอน Winter Semester ก็จะจัดห้องเป็น 4 ห้อง ห้องละประมาณ 25 คน ซึ่งจาก 4 ห้องนี้ 2 ห้องจะเรียน Informatics เป็นวิชาเลือก ส่วนอีกสองห้องจะเรียนเคมีเป็นวิชาเลือก ส่วนสำหรับคอร์สที่รับเข้ามาตอน Summer Semester ก็จะมีห้องเรียนแค่ 2 ห้อง ห้องหนึ่งเรียน Informatics เป็นวิชาเลือก ส่วนอีกห้องจะเรียนเคมีเป็นวิชาเลือก ครับ

สำหรับตัวผม ผมได้ไปอยู่ห้องที่เรียน Informatics เพราะตอนสมัคร ผมสมัครคณะ Mechatronics and Information Technics ไว้ ในห้องของผมก็มีนักเรียน 25 คน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากจีน รองลงมาก็เป็นรัสเซียและเอกวาดอร์ (ที่มหาลัย KIT มีคอนเนคชั่นกับโรงเรียนมัธยมบางแห่งในประเทศเอกวาดอร์ ทำให้นักเรียนดีเด่นจากโรงเรียนเหล่านั้นสามารถมาเข้าคอลเลจที่นี่ได้โดยไม่ต้องสอบเข้า) นอกจากนั้นก็มีมาจากอินโดนีเซีย อัลบาเนีย บอสเนีย โคโซโว อิรัก แล้วก็เวียดนาม สองวันแรกที่เริ่มเรียนก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แนะนำตัว ๆ ทั้งสองวันจนครบทุกคาบ มาเริ่มเรียนจริง ๆ ก็วันที่สามนู่นครับ

ที่ Studienkolleg จะมีเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์วันละสามคาบ คาบละชั่วโมงครึ่ง แล้วก็มีพัก 15 นาทีระหว่างคาบ เรียนตั้งแต่ 8.00 ถึง 13.00 แล้วก็จะมีสองวันในสัปดาห์ที่มี Tutorium ตอน 14.00-15.30 หมายความว่าเราจะมีเวลาว่างหลังเรียนเสร็จเยอะแยะมากมายให้เที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจได้ตามสบายเลย ซึ่งถ้าขึ้นมหาลัยแล้วก็จะไม่มีเวลาว่างเยอะแบบนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บเกี่ยวเวลาว่างตอนช่วงนี้ให้คุ้มค่าครับ 55 (แต่ต้องไม่รบกวนการเรียนนะ) ส่วนสำหรับคาบ Tutorium นี้ก็มีไว้สำหรับให้รุ่นพี่มาเฉลยแบบฝึกหัดที่ครูผู้สอนให้ไว้ แล้วก็สำหรับให้นักเรียนถามคำถามที่สงสัย แต่จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ แต่ว่าสำหรับคาบเรียนปกติจะมีเช็คชื่อเกือบทุกครั้งครับ

สำหรับวิชาเลข ในข้อสอบครั้งแรกของผมมีเนื้อหาเรื่องเรขาคณิต, Group Theory, ฟังก์ชันค่าสัมบูรณ์และการวาดกราฟ แล้วก็การพิสูจน์แบบอุปนัย สำหรับวิชาเลขนี่ ครูที่สอนห้องผมสอนยากมากเลยเมื่อเทียบกับครูคนอื่น T0T ข้อสอบก็ซับซ้อนกว่า และที่สำคัญคือเยอะมาก ๆ เมื่อเทียบกับเวลา สอบเสร็จคนบ่นกันระงม ไม่มีใครทำเสร็จทัน หลังจากสอบเสร็จก็เริ่มเรียนเรื่องเซต จำนวนเชิงซ้อน ความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ แล้วก็เพิ่งจะสอบไปอีกครั้งนึง เลขจะสอบ 3 ครั้งต่อเทอม ส่วนวิชาอื่น ๆ จะสอบแค่ 2 ครั้งต่อเทอม

สำหรับวิชา Informatics ก็จะออกแนวทฤษฎี ที่ผ่านมาก็เรียนเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสาร ข้อมูล การคำนวณหา Redundancy เรื่องการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกข้อมูลตั้งแต่อดีตยันสมัยปัจจุบัน ต้องตั้งใจฟังมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฏี แถมยังเรียนเป็นภาษาเยอรมันอีก จะทำข้อสอบได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฟังเข้าใจแค่ไหน แล้วก็เก็บรายละเอียดหมดแค่ไหน แต่ว่าหลังจากสอบครั้งแรกเสร็จแล้วก็จะเริ่มเรียนพวกโปรแกรม Microsoft Excel, Microsoft Access ละ เริ่มย้ายไปเรียนในห้องคอมมากขึ้น ส่วนเทอมสองก็จะเรียนเขียนโปรแกรม อะไรพวกนี้ครับ

ส่วนวิชาฟิสิกส์กลศาสตร์ เริ่มเรียนตั้งแต่การเคลื่อนที่ กฏของนิวตัน แรง พลังงานมาเลย เหมือนกลับไปเริ่มเรียนม.4ใหม่ ง่ายมากครับ ฟิสิกส์ไฟฟ้าก็เริ่มเรียนตั้งแต่คำนวณหาสนามไฟฟ้า แรงไฟฟ้า อะไรพวกนั้น คาบฟิสิกส์กลศาสตร์จะมี 2 คาบต่อสัปดาห์ ส่วนฟิสิกส์ไฟฟ้ามีแค่ 1 คาบ เลยเรียนไปช้า ๆ มาก ส่วนเวลาสอบก็สอบพร้อม ๆ กัน แล้วก็ตัดเกรดรวมกันเป็นเกรดของวิชาฟิสิกส์วิชาเดียว

ส่วนวิชาภาษาเยอรมันก็เหมือนฝึกทำข้อสอบซะมากกว่า ข้อสอบก็เหมือนข้อสอบมาตราฐาน DSH ทั่ว ๆ ไป แต่อาจจะง่ายกว่า แล้วก็ค่อย ๆ ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในการสอบครั้งต่อ ๆ ไป แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าครูที่คอลเลจสอนไม่ค่อยน่าเรียนเท่าไหร่ แล้วผมว่าการเรียนภาษาระดับนี้มันไม่ค่อยขึ้นอยู่กับการเรียนในห้องเรียนมากเหมือนตอนเริ่มเรียนใหม่ ๆ แล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะขวนขวายหาอ่าน หาฟัง หัดใช้ภาษาให้เหมือนเจ้าของภาษา ออกไปใช้ภาษาในชีวิตจริงๆมากแค่ไหนมากกว่า

ยังไม่พอ!! อย่างที่บอกไปว่าที่ตึกของคอลเลจนี้มีสถาบันภาษาของ KIT เปิดสอนอยู่ด้วย ซึ่งสถาบันนี้ก็เปิดสอนภาษาต่างประเทศเยอะแยะมากมาย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อิตาเลียน สวีเดน อารบิก โพลิช ฯลฯ และนักเรียนของ KIT ก็สามารถเรียนคอร์สภาษานี้ได้ฟรีเทอมละหนึ่งคอร์สเลยครับ!! (หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งเทอม)

แล้วก็ถึงเรื่องของวันหยุด ที่ Studienkolleg นี้จะมีปิดเทอมใหญ่ตอนเดือนกุมภาพันธ์กับสิงหาคม ปิดเทอมใหญ่จะไม่ค่อยยาว ประมาณแค่ 2 สัปดาห์ แต่ว่าก็จะมีวันหยุดช่วงคริสต์มาสกับปีใหม่อีก 2 สัปดาห์ แล้วก็วันหยุดอีสเตอร์อีกสัปดาห์นึง