ความยากของการหาที่อยู่ในเยอรมนี โดยเฉพาะสำหรับนักเรียน ไม่ใช่แค่การต้องหาที่อยู่ที่ราคาถูก ทำเลดี และสภาพดีเท่านั้น แต่ยังต้องหาที่อยู่ที่เค้าจะรับเราไปอยู่ด้วย เพราะว่าที่เยอรมนีไม่ใช่แค่ฝ่ายคนที่เลือกบ้าน แต่บ้านก็เลือกคนด้วยเหมือนกัน!!
Studentenwohnheim
สำหรับนักเรียนแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาที่อยู่คือไปติดต่อกับหน่วยงานที่ดูแลจัดการเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาที่ชื่อว่า Studentenwerk ซึ่งในแต่ละเมืองก็จะมี Studentenwerk ของตัวเองอยู่ สำหรับ Studentenwerk ที่ Karlsruhe เค้าก็มีหอพักนักเรียนที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า Studentenwohnheim อยู่ 22 แห่งด้วยกัน ซึ่งหอทั้ง 22 หอจะอยู่กระจัดกระจายไปในเมือง Karlsruhe และเมือง Pforzheim ที่อยู่ใกล้ๆ และจะมีห้องหลากหลายประเภทตั้งแต่ห้องแบบหอพักแชร์ห้องน้ำห้องครัว ไปจนถึงห้องแบบอพาร์ทเมนท์ส่วนตัวแล้วแต่เราจะเลือก แต่ว่าหอพักของ Studentenwerk มักจะเต็มเสมอ โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม ซึ่งถ้ามันเต็มแล้ว รายชื่อของเราจะไปอยู่ใน wait-list และต้องรอจนมีคนย้ายออกเรื่อยๆจนมาถึงคิวเราถึงจะย้ายเข้าได้ (ซึ่งอาจต้องรอเป็นเดือนๆ) ถ้าอยากจะอยู่หอพักของ Studentenwerk จริงๆต้องรีบสมัครตั้งแต่เนิ่นๆเลย สามารถสมัครได้อย่างเร็วที่สุดหกเดือนก่อนวันย้ายเข้า ถึงยังไม่รู้ว่าจะได้ที่เรียนที่เมืองนั้นรึเปล่าก็สมัครไปก่อนได้ ส่วนวิธีการสมัคร สำหรับ Studentenwerk ของ Karlsruhe เราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของหอพักต่างๆในเมืองและสมัครในเว็บได้ที่ลิงก์นี้ (ต้อง register เป็นสมาชิกของเว็บก่อน)
ปล. มีหลายคนแนะนำมาว่าถ้าอยากได้ห้องในหอพักนักเรียนของ Studentenwerk จริงๆให้ไปตามตื๊อตามถามเจ้าหน้าที่ที่ Studentenwerk บ่อยๆ คอยย้ำว่าเราไม่มีที่อยู่จริงๆแล้วเค้าจะลัดคิวให้
ปล.2 นอกจากหอพักของ Studentenwerk แล้วก็ยังมีหอพักเอกชนข้างนอกอีกเยอะแยะ แต่ปกติแล้วราคาหอพักนักเรียนของ Studentenwerk จะถูกมาก ราคาประมาณหกเจ็ดพันบาทต่อเดือนรวมค่าน้ำค่าไฟแล้วก็มี
ห้องเช่าทั่วไป
นอกจากจะมีหอพักสำหรับนักเรียนให้แล้ว ที่ตึกสำนักงาน Studentenwerk ยังมีป้ายโฆษณาประกาศหาห้อง ประกาศหาคนเช่าห้อง ประกาศหาคนแชร์ค่าห้อง ประกาศหาคนฝึกภาษา ประกาศขายของ ประกาศของหาย ประกาศหานักเรียนสอนพิเศษ และอีกสารพัดประกาศแปะอยู่บนบอร์ดให้ไปตามอ่านได้ ประกาศเช่าห้องพวกนี้ก็จะมาจากคนให้เช่าทั่วๆไปหรือนักเรียนนี่แหละ เค้าจะมีเบอร์โทรหรืออีเมลให้เราติดต่อไป และในเว็บของ Studentenwerk ก็จะมีที่ให้เค้ามาลงประกาศเช่าห้องโดยเฉพาะเหมือนกัน ถ้า register เป็นสมาชิกของเว็บแล้วก็จะสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ลิงก์นี้
แต่การไปติดต่อเช่าห้องเองอะไรอย่างงี้ก็ต้องดูดีๆ คนที่ให้เช่าห้องก็มีหลายแบบ บางคนก็แบ่งห้องในบ้านให้เช่า บางคนก็เป็นตัวแทนจากบริษัทนายหน้า บางคนก็มีตึก มีห้องให้เช่าโดยเฉพาะอะไรอย่างนี้ คนเช่าบางคนก็มีปัญหากับคนที่ให้เช่า ที่เคยได้ยินมาก็เช่น เจ้าของห้องเช่าชอบเข้ามาในห้องของเราโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้องมีปัญหานู่นนี่แล้วคนให้เช่าไม่สนใจมาแก้ให้ คนให้เช่าขี้งกร้อนเงิน คนให้เช่าเจ้าระเบียบ ห้ามนู่นห้ามนี่ ฯลฯ อันนี้ก็แล้วแต่ดวงว่าใครจะโชคดีเจอแจ๊คพ็อต
หลังจากเราติดต่อเจ้าของห้องไปแล้ว ถ้าเค้ายังไม่ได้ปล่อยเช่าห้องนั้นไปเค้าก็จะนัดวันมาดูห้อง ทีนี้พอดูเสร็จเราอาจจะมีโอกาสตัดสินใจ หรือไม่มีเลยก็ได้ คนให้เช่าบางคนถือคติ first come first serve ถ้าเราดูแล้วยังลังเลไม่ตอบตกลง เค้าก็โทรตามคนอื่นมาดูต่อ ถ้าใครตอบตกลงก่อนเค้าก็ให้ห้องไปเลย หรือบางทีเค้าก็เรียกคนมาดูหลายๆคน แล้วเค้าก็เลือกทีหลังว่าจะปล่อยห้องให้ใครเช่า เค้าไม่ง้อเลยเพราะว่าที่นี่ทุกคนแย่งห้องกันยิ่งกว่าแย่งทอง ยิ่งห้องราคาถูกๆนี่คนไปดูห้องแต่ละคนทั้งจิกตา ทั้งเบ้ปากใส่ เขม่นกันแล้วเขม่นกันอีก (อันนี้เวอร์ไป) ถ้าสุดท้ายแล้วเราเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้ได้เช่าห้องนั้น คนให้เช่าก็จะส่งเมลล์มาบอก ถ้าเราไม่ได้ห้อง เค้าก็จะส่งเมลล์มาขอแสดงความเสียใจ ถ้าเราได้ห้องแล้ว เค้าก็จะนัดไปเซ็นสัญญา กรณีของเราเค้าเอาสัญญามาให้เรากลับไปอ่านที่บ้านก่อน อ่านสัญญาดีๆ อ่านให้ละเอียด แต่มันเป็นภาษาเยอรมันนะ (แป่ว) ถ้ามีคนรู้จักเป็นคนเยอรมันให้เค้าช่วยดูให้ด้วยก็ดี ถ้ายอมรับก็เซ็นชื่อตรงท้ายสัญญา แล้วเราก็จะได้กุญแจห้องมา ส่วนค่าห้องกับค่ามัดจำก็โอนเข้าบัญชีที่เค้าบอก ห้ามจ่ายเป็นเงินสด!!
ปล. มีคนบอกมาว่าบัญชีที่เราจะต้องโอนเงินไปควรจะเป็นบัญชีธนาคารในเยอรมนี ถ้าเป็นพวกโอนเงินออนไลน์อย่าง Western Union หรือ Moneygram อะไรพวกนี้อาจจะเป็นมิจฉาชีพ
ปล.2 มีอีกเว็บที่ใช้สำหรับหาห้องเช่าทั่วไป ก็คือ www.immobilienscout24.de/
Wohngemeinschaft
ทีนี้มาถึงห้องเช่าประเภทที่เป็นที่นิยมที่สุดในเยอรมนี ซึ่งก็คือ WG หรือ Wohngemeinschaft นั่นเอง ห้องเช่าประเภท WG นี้จะเน้นในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยมากๆ ทุกคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันควรจะสนิทกันและถูกคอกันในระดับหนึ่ง ควรจะออกไปเที่ยว ไปเล่นกีฬา ปิ้งบาร์บีคิว ทำกิจกรรมด้วยกันได้อย่างสนิทใจ ไม่ใช่ว่าใครจะมาอยู่ด้วยกันก็ได้ คนเยอรมันหลายประเภท ตั้งแต่นักเรียนมหาลัย ไปจนถึงคนวัยทำงาน หรือแม้แต่คนวัยชราบางคนก็อาศัยอยู่ใน WG ร่วมกันกับคนอื่น เพื่อที่จะได้ช่วยกันหารค่าใช้จ่ายและเพื่อที่จะได้มีเพื่อนคุย มีเพื่อนชวนไปเที่ยวนู่นนี่กัน และการอยู่ WG ก็เหมือนกับการมีบ้านของตัวเอง สามารถตกแต่ง ต่อเติมอะไรเองได้เต็มที่ จะย้ายเข้าย้ายออกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดนู่นนี่นั่นเหมือนกับการอยู่หอพักทั่วๆไป
ทีนี้พอมีใครซักคนจะย้ายออกจาก WG ก็จะต้องมีการหาสมาชิกใหม่มาอยู่แทน แต่ด้วยความที่มันเป็น WG สมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาแทนนั้นจึงไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ คนที่จะย้ายออกต้องเป็นคนรับผิดชอบในการหาสมาชิกใหม่ที่จะมาอยู่แทนนี้โดยการไปลงประกาศตามเว็บหรือตามที่ต่างๆ ซึ่งเว็บสำหรับลงประกาศหาคนมาเช่า WG ต่อโดยเฉพาะที่เป็นที่นิยมที่สุดในเยอรมนีก็คือ http://www.wg-gesucht.de/ คนที่จะย้ายออกจะเข้าไปลงประกาศในเว็บนั้น พร้อมทั้งกรอกรายละเอียดต่างๆของ WG นั้น เช่น ที่อยู่ ขนาด ค่าเช่า ย้ายเข้าได้วันไหน มีคนอยู่กี่คน คนอื่นที่ยังอาศัยอยู่ใน WG นั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อายุเท่าไหร่ พูดภาษาอะไร ใน WG สูบบุหรี่ได้มั้ย อินเตอร์เน็ต พื้น ห้องน้ำ ฮีตเตอร์เป็นแบบไหน ห้องมีเฟอร์นิเจอร์มาให้รึเปล่า แล้วก็คำบรรยายเกี่ยวกับห้องแล้วก็ที่ตั้ง แล้วก็เกี่ยวกับคนอื่นๆที่อาศัยใน WG นั้นและชีวิตประจำวันของ WG นั้น ฯลฯ แล้วแต่จะเขียน ถ้าเราเข้าไปอ่านแล้วสนใจก็กดปุ่มส่งข้อความตรงด้านขวาล่างสุด แล้วก็จะมีช่องให้เรากรอกข้อความและเบอร์และอีเมลล์ของเรา พอเรากดส่งไป ข้อความนี้ก็จะถูกส่งเข้าไปในเมลล์ของคนที่ลงประกาศ WG นั้นไว้
ที่นี้ (อีกรอบ) ปกติแล้วคนที่ลงประกาศ WG ในเว็บจะได้รับข้อความจากผู้ที่สนใจเยอะมากกกก แล้วเค้าก็ต้องเลือกจากข้อความนั้นๆว่าเค้าจะพาใครมาดูห้อง เค้าก็จะเลือกเอาจากข้อความที่เราส่งนั้นแหละว่ามีใคร มีข้อความไหนน่าสนใจบ้าง เพราะฉะนั้นข้อความที่เราส่งไปหาเค้าควรมีข้อมูลอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราบ้าง เช่น เป็นใครมาจากไหน อายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร งานอดิเรกอะไร แล้วก็อะไรก็แล้วแต่ที่มันจะทำให้ข้อความของเราน่าสนใจโดดเด้งออกมาจากข้อความอื่นๆ (ในประกาศ WG บางอันก็บอกเลยว่าเราต้องเขียนอะไรมาในข้อความบ้าง) ถ้าเกิดว่าคนส่งเมลล์ไปหาเค้าไม่เยอะ หรือว่าคนส่งเมลล์ไปเยอะมากแต่เค้าถูกใจข้อความของเราเค้าก็จะส่งเมลล์มานัดเราไปดูห้องและทำความรู้จักกับสมาชิกคนอื่นใน WG แต่บางทีเค้าก็ไม่ตอบกลับมาเลย ไม่รู้ว่าเพราะเค้าได้รับเมลล์มาเยอะเกินตอบไม่ไหวหรือว่าเพราะเค้าเกลียดเรา
สมมติว่าเค้าตอบกลับมาเชิญเราไปดูห้องและนัดวันเวลากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการ “Audition” ก็คือพอเราไปถึงที่ WG นั้นตามวันเวลานัด เราก็จะได้พบกับสมาชิก WG ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แล้วเค้าก็จะพาเราเดินดูห้องพร้อมกับถามนู่นถามนี่ ชวนคุยนู่นนี่ไปด้วย แล้วสมาชิกของ WG แต่ละคนก็จะคอยประเมินว่าเราเป็นยังไงบ้าง คุยสนุกถูกคอดีมั้ย น่าให้มาอาศัยอยู่ร่วมกันมั้ย แล้วพอเราและคนอื่นๆดูห้องนั้นครบทุกคนแล้ว เค้าก็จะมาเลือกกันว่าใครเหมาะสมที่จะมาอยู่ใน WG นี้ต่อมากที่สุด แล้วก็จะส่งอีเมลล์มาบอกเรา พอเราได้ห้องใน WG นี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เหมือนกับการไปเช่าห้องจากคนให้เช่าธรรมดาก็คือเซ็นสัญญาอะไรก็ว่าไป ก็คือ WG แต่ละที่เนี่ยก็จะมีเจ้าของห้องชุดนั้นอยู่ เป็นคนดูแลเรื่องสัญญาแล้วก็จัดการเวลามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับห้อง แต่เค้าไม่ได้มายุ่งกับชีวิตประจำวันของ WG นั้น
มีบาง WG ที่สมาชิกไม่จำเป็นต้องข้องแวะกันเลยก็ได้ ใครจะเข้ามาอยู่ก็ได้ จุดประสงค์แค่เพื่อแชร์ค่าใช้จ่ายกันเท่านั้น WG ชนิดนี้เรียกว่า Zweck-WG จะมีน้อยกว่า WG แบบปกติ แต่ก็จะได้ห้องมาง่ายกว่า (ถ้าไม่โดนแย่งไปก่อนนะ) ประกาศเช่า Zweck-WG ก็มีลงอยู่ในเว็บ http://www.wg-gesucht.de/ และจะมีบอกอยู่ในคำบรรยายว่าเป็น Zweck-WG (แต่ว่าถ้าเป็น WG ธรรมดา เค้าจะเขียนว่า keine Zweck-WG)
ยังมีอีกหนทางนึงในการหาที่อยู่ ก็คือ ไปหาเพื่อนหรือใครก็ได้มารวมกันสี่ห้าคนแล้วก็ไปหาเช่าห้องอพาร์ทเมนท์จากบริษัทนายหน้าทั่วไปหรือจากอินเตอร์เน็ตแล้วก็มาอยู่แชร์ค่าห้องกัน แล้วอพาร์ทเมนท์นั้นก็จะกลายไปเป็น WG ไปโดยปริยาย พอมีใครจะย้ายออกก็ไปประกาศหาคนมาเช่าต่อแบบที่อธิบายไปด้านบน อย่างนี้เรียกว่าการตั้ง WG ขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ยังมี WG ชนิดพิเศษ คือเป็น WG ของ Studentenverbindung หรือ Burschenschaften ซึ่งแปลเป็นอังกฤษว่า Fraternity ไม่รู้จะอธิบายเป็นภาษาไทยยังไง อารมณ์ประมาณสมาคมนักเรียนชายที่ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันบ่อยๆและส่วนใหญ่มักจะมีส่วนร่วมในการเมือง (บางคนก็บอกว่ามักเป็นพวกขวาจัด) ทุกๆปีสมาชิกของ Studentenverbindung จะพยายามดึงดูดนักเรียนใหม่ให้มาเป็นสมาชิกโดยการเสนอห้องส่วนตัวใน WG ของสมาคมซึ่งราคาถูกมากๆๆเป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่ว่าคนส่วนใหญ่จะดูไม่ค่อยชอบพวก Studentenverbindung กัน เพื่อนเราบางคนก็บอกว่าพวกนี้เป็นพวกแปลกๆ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ประเด็นคือโฆษณาหลายๆอันในเว็บ wg-gesucht ก็เป็นห้องของ Studentenverbindung (โดยเฉพาะใน Karlsruhe มีเยอะมาก) ถ้าเห็นห้องไหนราคาถูกเป็นพิเศษก็ให้อ่านดีๆว่าเป็นห้องของ Studentenverbindung รึเปล่า
ศัพท์น่ารู้สำหรับการเช่าห้อง
Kaltmiete – ค่าเช่าห้องแบบยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ
Nebenkosten – ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ
Warmmiete – ค่าเช่าห้องแบบรวมทุกอย่างแล้ว
ดูดีๆด้วยว่าในประกาศโฆษณา เป็น Kalt หรือว่า Warmmiete!!
เผยแพร่ครั้งแรกที่ การหาที่อยู่ในเยอรมัน ในบล็อก Petch in Deutschland