Person of the Month พฤศจิกายน 2560 : Uradmin แห่งเพจ “เยอรมันไปวัน ๆ”

ประสบการณ์ข้อใดต่อไปนี้ตรงกับตัวคุณ?

1) เคยลืม Artikel
2) เคยผัน Verb ผิด
3) เคยรู้สึกหมดอาลัยตายอยากอย่างถึงที่สุดกับลำดับการเรียงคำในประโยค
4) กดไลก์เพจ ‘เยอรมันไปวัน ๆ’

ถ้าเกิดประสบการณ์เหล่านี้ตรงกับคุณทั้งสี่ข้อ ยินดีด้วยครับ! คุณคือนักเรียนภาษาเยอรมันตัวจริง

ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเริ่มกดไลก์เพจ เยอรมันไปวัน ๆ ตอนไหน แต่รู้ตัวอีกที มุกต่าง ๆ ในเพจก็หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเรียนภาษาเยอรมันของผมเสียแล้ว เพจนี้นำเสียงหัวเราะพร้อมกับความรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ มาสู่เหล่าแฟนเพจมาตลอดหลายปี ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ด้วยความตั้งใจของแอดมินหลักและผู้ก่อตั้งเพจอย่าง ‘Uradmin’

ผมเผอิญได้รู้จัก Uradmin ตัวจริงครั้งแรกในงานกิจกรรมครั้งหนึ่งของนักเรียนไทยในเยอรมนี และก็ได้รู้ทันทีว่าแอดมินลึกลับผู้นี้ไม่ได้มีดีแค่ความตลก เพราะนอกจากประสบการณ์การเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่เมืองไทย รวมถึงดีกรีนักศึกษาปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเยอรมนีแล้ว ผมยังได้รับรู้เรื่องราวและมุมมองที่น่าสนใจของเขาผู้นี้ผ่านโลกออนไลน์อยู่เสมอ ๆ ดังนั้นเมื่อได้โอกาสเขียนคอลัมน์ Person of the Month ให้กับเว็บไซต์ของทางสมาคมฯ ชื่อของแอดมินผู้นี้จึงแทบจะขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ ในหัวของผม

นี่คือบทสัมภาษณ์ขนาดยาว (มาก) ถึงเรื่องราวของ Uradmin ผู้นี้ ตั้งแต่เรื่องแรงบันดาลใจในการทำเพจ ลามไปจนถึงบทสนทนาว่าด้วยอารมณ์ขัน ในประเทศที่ (เขาว่ากันว่า) ผู้คนไร้อารมณ์ขันอย่างที่สุด จะเป็นยังไง น่าสนใจแค่ไหน ไปอ่านกันได้เลยครับ

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเพจเยอรมันไปวัน ๆ มีที่มาที่ไปยังไง

เพจเปิดช่วงเดือนกันยายน ปี 2011 ตอนนั้นอยู่ปี 3 เรียนเอกเยอรมันอยู่ มันก็เลยถึงจุดที่เราคิดว่า เออ ความรู้เราก็พอมีแล้ว มีบางส่วนที่มันตกผลึกพอที่จะเอาไปอธิบายให้มันง่ายได้ จากสิ่งที่ abstract กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ก็เลยอยากเปิดเพจ

ซึ่งตอนนั้นเฟซบุ๊กก็ยังไม่นิยมมากในเมืองไทย คือมันก็เริ่มมาแล้วแหละ แต่เรื่องเปิดเพจยังไม่ค่อยมีคนเปิด จำได้ว่าก็เคยลองหารีเสิร์ชเพจสอนภาษาเยอรมันที่สอนโดยคนไทยก่อนตอนแรก ก็หาอย่างดีเลยเพราะไม่อยากตั้งชื่อซ้ำกับใคร ก็ต้องทำการบ้าน ปรากฏว่าก็ไม่เจอซักเพจเลย ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นเพจภาษาเยอรมันแรก ๆ เลยด้วยที่เขียนเป็นภาษาไทย

เปิดขึ้นมาปุ๊บก็แบบ จะใช้ชื่อว่าอะไรดี? ตอนนั้นก็ถามแฟนเก่าว่าถ้าจะตั้งชื่อเพจเกี่ยวกับภาษาเยอรมันจะตั้งชื่อว่าอะไรดี เพราะว่าแต่ก่อนเราก็จะเล่นแต่พวกแบบ เยอรมันยันละเมออะไรพวกนี้ ซึ่งได้ยินจนเกร่อแล้วก็เลยไม่เอา มันก็ตอบมาเลยว่า “เยอรมันไปวัน ๆ” แล้วแบบ เออ ฟังดูดีเนอะ ก็เลยรู้สึกชอบชื่อนี้ แล้วอีกอย่างพอแปลเป็นภาษาอังกฤษ Deutsch a Day ก็เล่นคำลงตัว D ได้ด้วย ก็เลยตกลงว่าเอาชื่อนี้แหละ มันอาจจะฟังไม่เข้าหูแต่ก็จำง่าย

จากที่ผมย้อนไปดู เพจช่วงแรกไม่ได้เป็นเพจเล่นมุกหรือเปล่าครับ?

ถูกต้อง คือจำได้เลยว่าโพสต์ครั้งแรก ๆ จะออกแนวสอนศัพท์ อธิบายไวยากรณ์ เล่นเกมส์ตอบคำถามความรู้รอบตัวอะไรแบบนี้ พอกลับไปดูแล้วก็แบบ เออ เพจเรามาไกลมากจริง ๆ คือตอนแรกที่เปิดเพจก็ตั้งใจจะทำแบบนี้แหละ พอผ่านไปซักพักใหญ่ ๆ มันก็เริ่มมีเพจใหม่ ๆ เปิดมากขึ้น เพราะคนเรารู้แล้วว่าเพจมันเปิดง่ายมาก แค่คลิกใส่ชื่อทีเดียวก็เปิดได้แล้ว

ทีนี้เพจอื่นมาเต็มมาก พร็อพใหญ่ไฟกะพริบ มีการตัดเนื้อหาพร้อมภาพประกอบจากหนังสือเรียนเยอะมาก ซึ่งโอเคคนเค้ามาเรียนอยู่ที่นี่เค้าก็จะมีเนื้อหา มีคลังของเค้าที่จะเอาไว้ไปเตรียมสอน ดังนั้นเวลาเค้าโพสต์คนก็จะสนใจเยอะ เพราะว่ามันถือว่าได้โดยตรง ได้เป็นภาพ

ดังนั้นเราก็เลยเกิดความคิดว่าเราควรจะทำอะไรให้มันแตกต่าง เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังเรียนไม่จบ เราก็ยังไม่ได้มีหนังสือสอนเยอะดังนั้นเราจะให้ได้เท่ากับคนอื่นไม่ได้ บวกกับที่ว่าตอนนั้นพี่เองเริ่มสอนพิเศษ แล้วเทคนิคต่างๆเราก็อธิบายเด็กไปหมดแล้วตอนสอน เราไม่อยากมานั่งพิมพ์ซ้ำอะไรอย่างงี้ มันน่าเบื่อ

พอเริ่มมาเป็นเพจแบบปัจจุบัน มุกแรกเลยที่เอามาเล่นคือมุกสมัยเรียน ม.ปลาย ซึ่งอาจารย์คนนึงเคยเล่นในห้องแล้วเราก็จำได้ว่ามุกนี้ดี แล้วก็มาทำเป็นรูป คือมุกแดจังกึมเป็นผู้ชาย ดีจังกึมเป็นผู้หญิง ซึ่งมุกนี้ได้ไลก์เยอะมาก ตั้งแต่เปิดเพจมาวันแรกไม่เคยได้ไลก์เยอะขนาดนี้ เราก็เลยคิดว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าเราเป็นคนเล่นมุกได้ เราก็เปลี่ยนเพจให้เข้าอกเข้าใจคนเรียนดีกว่า เป็นเพจหัวอกคนเรียน รวมตัวคนเรียน สบาย ๆ ไม่เอาแล้วสอนภาษา เพราะมีอีกเป็นร้อยเพจเลยตอนนี้

พอเริ่มมาแนวนี้ก็รู้สึกว่ามันเข้าท่าจริง ๆ ผลตอบรับก็ดีมาก ก็เลยกลายมาเป็นเพจเยอรมันไปวัน ๆ ที่เล่นมุกอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งมุกตอนแรก ๆ ก็จะมาจากประสบการณ์ตอนสมัยเรียน ตอนนั้นเราก็ลองผิดลองถูกเอง เราทำผิดอะไร เพื่อนทำผิดแบบไหน ครูแซวอะไร เราก็เอามาทำเป็นมีมไว้ แต่ว่าช่วงหลัง ๆ พอเรียนจบแล้วปุ๊บ ก็ได้ไปสอนพิเศษตามสถาบัน เป็นครูพิเศษตามโรงเรียน พอมาเป็นอาจารย์มหาลัย มุกช่วงหลัง ๆ จะมาจากประสบการณ์การสอน มันจะเห็นข้อผิดพลาดของนักเรียนว่า อ๋อ เค้าคิดอย่างนี้แน่เลย เค้าก็เลยตอบแบบนี้ซึ่งมันผิด แต่พอเรารู้วิธีการเทียบของเค้าแล้ว เราก็เอามาแซวเป็นมีมได้

ก็คือเวลาเราเรียนภาษาเยอรมันจนคุ้นเคย ใช้มันไปเรื่อย ๆ มุมมองมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย

ใช่ มุมมองเราเปลี่ยน แต่เราก็จะยังจำได้ว่าตอนแรกฉันเคยคิดแบบนี้แต่จริง ๆ มันไม่ใช่  เราก็เลยมองหาคำพูดที่เหมือนเรามองกลับไปตรงนั้นแล้วแซวตัวเองในอดีต

พี่เป็น Uradmin ที่แปลว่าแอดมินใหญ่

ใช่ครับ ประมาณว่า โค-ตะ-ระ แอดมิน เหมือนเป็นรุ่นเก่าแก่ แอดมินเก่า

แล้วก็จะมีแอดมินคนอื่น ๆ ด้วยใช่ไหมครับ อยากครับรู้ว่าแอดมินคนอื่น ๆ เค้าเป็นใคร มารวมทีมกันได้ยังไง แล้วมีการแบ่งงานทำงานอะไรกันยังไงบ้างครับ

ตอนแรกทำคนเดียวอยู่ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งปีแรกก็จะเป็นแค่สอนภาษาอย่างที่บอก พอมาเริ่มแดจังกึมปุ๊บก็รู้แล้วว่า อ๋อ ชอบแนวนี้ พอเริ่มขึ้นปีที่ 2 ปีที่ 3 มีรุ่นน้องคนนึงที่คณะที่สนิทกันพอสมควร แล้วเราก็รู้ว่ามันเป็นคนเกรียน เราก็เลยชวนมาทำ เพราะว่าเรารู้แล้วว่าแนวนี้คนน่าจะชอบ ก็พอชวนมันมาทำ มันก็สนใจ ก็ชอบ ดังนั้นพอเริ่มปีที่ 3 ก็เริ่มมีทีมงานเข้ามา ปีที่สามเข้ามาคนนึง ปีที่สี่เข้ามาอีกคนนึงเป็นรุ่นพี่ที่สนิทกัน แล้วก็ปีสุดท้ายก็ปรากฏว่าเป็นลูกศิษย์ที่เห็นในห้องแล้วรู้ว่าคนนี้หัวแหลมแล้วก็เล่นมุกได้เก่ง ก็เล็งเอาไว้ พอเราหมดภาระการสอนแล้วก็เลยชวนมาทำ เค้าก็รู้จักเพจนี้

ตอนนี้ก็รวมแล้วมีทีมงาน 4 คน กำลังดี แต่ว่าหน้าที่จริงๆไม่ได้แบ่งตายตัว ถ้าใครมีไอเดียอะไรก็โยนเข้ากรุ๊ปไลน์ แล้วก็เอามาคุยกันต่อว่าไปทางนี้ดีมั้ย หรือว่าเล่นอย่างนี้ไปเลย อย่างนี้มันจะเกรียนไปรึปล่าวอะไรอย่างนี้ ก็ต้องคอย ๆ เตือน ๆ กันด้วย แล้วก็ถนัด สนใจกันคนละด้าน เราจะเห็นหลาย ๆ แบบ เช่น ถ้ามุกแนวเสียดสีพี่จะถนัด แนวเกรียน ๆ ก็จะให้น้องผู้ชายเกรียน ๆ ทำ แนวผู้ดีก็จะเป็นรุ่นพี่ผู้หญิงอะไรอย่างนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วทุกมุกก็จะลงไว้ว่าเป็นไอเดียใคร ก็ไปติดตามได้

แล้วเวลาคิดมุกมีวิธีการหรือเทคนิคอะไรมั้ย? กว่าจะได้มาซึ่งมุกนี้

จริง ๆ ถ้าเกิดมีคนมาวิเคราะห์เพจพี่เนี่ยนะ สุดท้ายแล้ว motive มันก็จะวนอยู่แค่เรื่องเดิม ๆ อย่างเช่นเรื่องผัน Verb เรื่อง Artikel แต่ว่าวิธีการนำเสนอมันเปลี่ยนเพราะว่า บางทีเห็นรูปนี้แล้ว โห รูปนี้ปังมาก เห็นในเฟสแล้วรูปนี้ตลก ก็เอามาทำ เพราะเรามีเนื้อหาอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนคำพูดให้มันตรงกับรูป หรือมีประเด็นอะไรในสังคมเกิดขึ้น เราก็รู้แล้วว่า อุ๊ย หยิบประเด็นนี้ขึ้นมา แก้เป็นภาษาเยอรมันแล้วก็ใส่เข้าไปมันก็เวิร์ค แล้วก็รีบจัดการใส่ให้มันตอนที่สังคมมันยังมีกระแสอยู่ หรือถ้าเกิดว่าสุดท้ายไม่มีแล้ว ก็จะมีแอพที่ทีมงานใช้ประจำคือแอพ meme generator แต่สุดท้ายแล้วรูปที่ชอบมักจะเป็นรูปที่มาจากเพจคนไทยด้วยกันมากกว่า เพราะสีหน้าจริตจะก้านอะไรมันถูกใจเรามากกว่า อย่างเช่นแคปจากละคร

ตั้งแต่ทำเพจมา คิดว่ามุกไหนที่พีคที่สุดครับ?

มุกที่โพสต์แล้วปังสุดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่มันเข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นพอดีคือ มุกเมื่อติช่าเรียนภาษาเยอรมัน คือช่วงนั้นเดอะเฟซซีซั่น 2 ใกล้จะจบแล้ว ติช่ามาแรงมาก เพราะว่านางการแสดงออกเยอะแล้วก็เป็นคนทุ่มเท แล้วปรากฏว่าตรงกับลักษณะภาษาเยอรมันพอดี ที่มีกฎยิบ ๆ ย่อย ๆ เยอะ ดังนั้นกว่าจะได้มาประโยคนึงมันต้องคิดอะไรเยอะ

มันก็เลยตรงกับนิสัยติช่าที่ตอนนั้น ที่ถามว่าถ้าต้องกระโดดน้ำติช่าต้องโดดลึกแค่ไหน อะไรประมาณนั้น ดังนั้นเราเลยเอาเรื่องนี้มาเล่นกับภาษาเยอรมัน ปรากฏว่าเป็นมีมที่มุกวันนี้ยังไม่มีมีมไหนถล่มได้ จำนวนไลค์เป็นพัน โอเค ยอม มุกนี้

แต่ถ้าถามว่ามีมที่ตัวเองชอบมากที่สุดคืออันไหน ชอบมีมที่เป็นพนักงานเซเว่น แล้วก็บอกว่า umlaut นะครับ ไม่ใช่สิทธิ์แลกซื้อ ไม่ต้องใช้เยอะก็ได้ อันนี้ชอบส่วนตัว เพราะว่าคนไทยเค้าไม่รู้แล้วใช้พร่ำเพรื่อ

เหมือนเขาจะแค่เห็นเป็นจุด ๆ น่ารัก

ใช่ แต่พอเราเรียนแล้ว พอเราอ่านเราก็จะอดอ่านตามไม่ได้

ในโลกออนไลน์เราจะเห็นว่าภาษาเยอรมันถูกเอามาทำเป็นมีมหรือว่าวีดิโอล้อบ่อย ๆ พี่คิดว่าเพจพวกนั้นเค้าเสนอภาพของภาษาเยอรมันออกมาประมาณไหนบ้างครับ?

ส่วนใหญ่ก็จะเดาได้ว่ามันจะลบมากกว่าบวก ไม่ถึงกับลบจนเกลียด แต่เป็นลบติดตลก เช่นในเรื่องของเสียง ที่มีความกระโชกโฮกฮาก มีความ aggressive ในส่วนของภาพที่ปรากฏให้เห็นด้วยตาก็จะเป็นคำยาว ๆ แบบไม่มีช่องว่าง ในเชิงไวยากรณ์ก็มักจะถูกเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษที่เหมือนจะซับซ้อนน้อยกว่า เช่น the = der, die, das

คือจริง ๆ เคยทำ research ย่อย ๆ มุกแบบนี้เล่นกันมาตั้งแต่ปี 2012 เล่นจนเยิน ตอนที่ทำ research มันเริ่มมาจากข้อสังเกตที่คนภายนอกที่ได้ยินภาษาเยอรมันมี  บวกกับตามหนังฮอลลีวู้ดที่คนเยอรมันมักจะเป็นผู้ร้าย มีความป่าเถื่อน ชื่อตัวร้ายมักจะมีนามสกุลที่ฟังดูเยอรมัน มีการพูดจาที่กระโชกโฮกฮาก

ดังนั้นพวกนักพูดตลกก็เอาไปเล่น เวลาไปออก comedy พอเริ่มมียูทูป คนก็เอาไปลง ตัดตอนช่วงเกี่ยวกับภาษาเยอรมันไปลง พอเริ่มเข้าสู่ยุคมีม มันก็มีมีมเปรียบเทียบภาษา พวก butterfly แปลได้เป็น Schmetterling อะไรอย่างนี้ พอมันเป็นยุคมีมมันก็ยิ่งตอบย้ำความคิดนี้ไปอีก ทั้งเรื่องคำยาว ๆ ทั้งเรื่องเสียงดัง แล้วก็เรื่องไวยากรณ์ยาก

พอมีแบบเป็นรูปภาพแล้วก็ดันพัฒนาไปเป็นมีมแบบวีดีโออีก อันที่เอามาทำเป็นวีดีโอมีคนแชร์เยอะมาก มียอดวิวเป็นสิบล้านวิว Schmetterling อันเดิมแต่เอามาทำเป็นวีดีโอ เราก็จะได้ยินทั้งเสียง ได้เห็นทั้งภาพ ได้เห็นการแต่งตัว มีเบียร์วางอยู่บนโต๊ะ ใส่ชุดที่เป็น Lederhose ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นว่า ความเชื่อเกี่ยวกับภาษามันไม่หายไปไหนหรอก แต่ว่ามันแค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอไปเรื่อย ๆ มันก็คงอยู่แบบนี้แหละ

จากที่พี่เรียนภาษาเยอรมันมา มาอยู่เยอรมนี ซึมซับวัฒนธรรมเยอรมัน ความเป็นจริงมันเป็นเหมือนตามที่คนเขาเอามาเล่นกันมั้ย ภาษาเยอรมันมันกระโชกโฮกฮากจริงมั้ย

พี่ว่าสุดท้ายแล้วมันอยู่ที่วิธีการพูดของแต่ละคนนั่นแหละ ภาษาไทยของเราก็ทำให้มันกระโชกโฮกฮากได้เหมือนกันครับ สุดท้ายแล้วก็คือวิธีการนำเสนอว่า ถ้าคุณอยากทำให้มันกระโชกโฮกฮาก คุณก็แค่ตะโกน ทำหน้าดุ แค่นั้นเอง อันนี้ก็คือเวลาคนดูวีดีโออย่างที่พี่เล่าให้ฟังเค้าคอมเมนต์ เค้าก็จะคอมเมนต์ประมาณนี้แหละ ว่าทุกภาษาก็ aggressive ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณพูดเสียงดังแล้วก็ทำหน้าโหด ๆ

พูดไปกระแทกแก้วเบียร์ไปอะไรแบบนี้?

ใช่ ถูกต้อง

พูดถึงเรื่องโลกออนไลน์แล้ว ได้ข่าวว่างานวิจัยที่พี่กำลังทำอยู่ก็เกี่ยวกับด้านนี้ด้วย?

ใช่ ๆ งานป.เอกที่เขียนอยู่มันเกี่ยวกับการนำเสนอภาษาเยอรมันในโลกออนไลน์ แต่ว่าที่โฟกัสก็คือเรื่องของวีดีโอสอนภาษาเยอรมันที่ไม่เป็นทางการ แปลเป็นไทยก็คือ วีดีโอสอนภาษาเยอรมันจากทางบ้าน แบบสอนภาษา อัดวีดีโอพูดภาษาเยอรมันแล้วก็อัพขึ้นยูทูป คือเราสนใจว่าเค้านำเสนอหรือพูดถึงภาษาเยอรมัน หรือว่าพูดถึงประเด็นภาษาเยอรมันยังไง

คือเวลาเราดูวีดีโอสอนภาษา ถ้าเราตัดความคิดที่ว่า ‘อุ๊ย เค้าทำวีดีโอเค้าต้องมีความรู้’ ออก เราก็ต้องมาคอยดูว่าเค้าใช้วิธีการอะไรบ้างในการแสดงให้เห็นว่าเค้ามีความรู้ ว่าเค้าสอนเราได้ เช่น ‘อ๋อ เค้าใช้รูปธงเยอรมนี’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชั้นเป็นตัวแทนจากประเทศเยอรมนีนะ แล้วก็ตัวแทนจากประเทศเยอรมนีคืออะไร คือคนที่พูดภาษาเยอรมันได้ ดังนั้นในวีดีโอแนะนำตัวทุกคนร้อยละร้อยก็จะบอกว่าชั้นเป็น native ชั้นโตที่เยอรมนี ชั้นเกิดที่นี่ มาเรียนเยอรมันกับชั้น เพราะว่าชั้นเป็นเจ้าของภาษา ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นความคิดเบื้องหลังของเค้าว่า อ๋อ ความคิดของเค้าก็คือว่า เจ้าของภาษา = ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา

นอกจากนั้นเวลาเราสอนภาษาหรืออธิบายแกรมม่าในวีดีโอ มันก็จะมีหลุดออกมาเหมือนกัน เช่น คำนี้เราไม่พูดแบบนี้ ซึ่งคำว่า เรา หมายถึงอะไร? ก็หมายถึงฉันแล้วก็เพื่อนของฉันซึ่งเป็นผู้ร่วมชาติ เค้านำเสนอยังไงว่า ‘ชั้นเนี่ยแหละคือผู้รู้’ อันนี้คือสิ่งที่พี่สนใจประเด็นนึง คือต้องมองว่าคุณเป็นใครคุณถึงมาทำวีดีโอ แทนที่จะบอกเค้าเก่งอยู่แล้วเค้าก็เลยมาทำแชนแนล ต้องตัดความคิดแรกออกก่อนแล้วก็มาค่อย ๆ นั่งดู

การมาเรียนต่อ ป.เอก ที่เยอรมนีเป็นตัวช่วยหรือว่าอุปสรรคอะไรกับการทำเพจบ้างไหมครับ?

อยากพูดว่า พอมาเรียนต่อแล้วความครีเอทีฟมันลดลงอย่างรุนแรง ตอนแรกเข้าใจว่าเรียน ป.เอก น่าจะมีเวลาว่างคิดมุก ต้องบอกว่าเวลาน่ะมี แต่ว่าไอเดียไม่มา เพราะว่าพอเราเอาตัวมาอยู่ตรงนี้ ทำงานคนเดียว ห่างจากวงการการเรียนภาษา ไม่ได้เจอนักเรียนหรือเพื่อนร่วมงานที่สอนเหมือนกันที่เหมือนเป็นแหล่งรวมมุกเลยว่า เด็กคนนี้อ่านผิด ทำผิด พอเรามาอยู่คนเดียว เขียนแต่งาน อ่านแต่หนังสือ ทรัพยากรมันลดลง

แล้วเราเรียนแนวภาษาศาสตร์สังคมด้วย ไม่ได้อยู่แค่ระบบภาษา ดังนั้นมันจะทำให้เราต้องคิดว่า เฮ้ย ความเชื่อในสังคมแบบนี้ stereotype ของภาษาแบบนี้มันเป็นจริงรึปล่าว เวลาจะเล่นมุกอะไรหลัง ๆ ต้องคิดเยอะเหมือนกันว่ามันจะทำให้คนเข้าใจผิดเรื่องนี้มากขึ้นรึปล่าว หรือว่า มุกแบบนี้มันเหยียดเพศรึปล่าว มันเหมือนว่าพี่ก็ระวังคำพูดคำจามากขึ้นเวลาจะเล่นอะไร เพราะว่าส่วนใหญ่มุกตลกก็ต้อง based on stereotype ซึ่งบางอย่างพอพี่เห็นแล้วว่า stereotype นี้มันไม่จริง พี่ก็จะพยายามไม่เล่น มันก็เลยทำให้ลดความครีเอทีฟลงเหมือนกัน

งานวิจัยของพี่คือการไปวิเคราะห์เพจคนอื่นใช่ไหมครับ แล้วสมมติถ้าให้ลองย้อนมาวิเคราะห์เพจเยอรมันไปวัน ๆ บ้าง พี่จะวิเคราะห์ออกมายังไงบ้างครับ?

จริง ๆ แล้วมันก็คือการเล่นกับ stereotype บางส่วน เฮ้อ … พูดยากเหมือนกันนะ (นิ่งคิด) คือจริง ๆ เพจพี่ ถ้ามองการเล่นมุกทั้งหลาย ร้อยละ 80 จะเป็นการนำเสนอใน motive มุกของคนเรียนภาษาเยอรมัน ก็คือมันก็จะ based on ความคิดที่ว่าภาษาเยอรมันยาก ซึ่งจริง ๆ ความคิดพี่ไม่เห็นด้วยนะ แล้วเราควรจะทำให้ภาษาเยอรมันมันง่าย ดูเข้าถึงง่าย

แต่พี่เล่นกับความคิดนี้เพื่อที่จะแบบทำให้ผู้เรียนเยอรมันที่เรียนอยู่แล้วซึ่งอาจจะมีความทุกข์กับมัน ให้มองมันเป็นเรื่องตลก ให้มองว่ายังมีเพื่อนร่วมความรู้สึก ร่วมชะตากรรม มองแล้วมันก็ dilemma เบา ๆ เหมือนกัน พี่เป็นคนนึงที่อยากทำให้ภาษาเยอรมันมันดูง่าย แต่พี่กลับไปเล่นตลกกับสิ่งทำให้คนมีความทุกข์ในการเรียน (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้คนมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่นเหมือนกัน แล้วมันก็วนอยู่อย่างนี้

ก็คือพอถึงจุดนึง ที่พี่ผ่านจุดที่ท่อง der die das มาแล้ว พอหันกลับไปมันก็จะกลายเป็นเรื่องขำ ๆ ใช่มั้ยฮะ?

ใช่ แบบว่า ชั้นก็เคยอยู่ ณ จุดนั้นมาก่อน แต่ว่าพี่รู้สึกว่าพี่เล่นไปเกือบหมดทุกเรื่องแล้วตั้งแต่เรื่องไวยากรณ์ เรื่องศัพท์ เล่นไปจนพรุนแล้วนะ ดังนั้นถ้าจะมีมุกใหม่เกิดขึ้นในเพจ มันก็จะเป็นแค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เข้ากับกระแสสังคม ณ ตอนนั้น หรือ อะไรก็ตามที่มันปังขึ้นมาแล้วเราหยิบเอามันมาเล่นได้ ก็คือเอาความคิดความเชื่อที่เกี่ยวกับภาษามาตอกย้ำวนไปวนมา

ถ้ามองในเชิงคุณค่าทางความบันเทิง เพจนี้ยังไงก็ได้อยู่แล้ว เพราะมันทำให้อ่านแล้วบันเทิง ตลกน้ำหูน้ำตาไหล แต่ว่าถ้ามองในเชิงคุณค่าภาษามันก็เหมือน ถ้าเราซีเรียสกับมัน ยิ่งอ่านเราก็ยิ่งหดหู่ทำไมมันยากอะไรอย่างนี้ แต่พี่ว่าคนติดตามเพจเค้าเข้าใจอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราต้องการนำเสนอคืออะไร

เมื่อกี้เราพูดเรื่อง stereotype จริง ๆ แล้วเราจะชอบได้ยินกันว่าคนเยอรมันไม่มีอารมณ์ขัน ทำงานทั้งวันทั้งคืน จริงจังตลอดเวลา คิดว่าจากที่สัมผัสมาจริงหรือเปล่าครับ?

คือถ้ามองจากประสบการณ์ ไม่นับรายการตลกที่จงใจเล่นตลก คนเยอรมันโดยรวมพี่ว่าเค้าจะไม่ค่อยชอบยิงมุกตลก ถ้าเราสังเกต ตาม U-Bahn หรือบทสนทนาตามมหาลัยที่พี่ได้ยินมา พี่ไม่เคยได้ยินเค้าเล่นมุกบาทสองบาทเลย พี่ไปสังเกตอีกพฤติกรรมนึงคือ เค้าจะเป็นเล่นแนวเสียดสีประชดประชันแทน ซึ่งมันจะต้องใช้การตีความมากว่าเดิม ถ้าสมมติเวลาเกิดอะไรแย่ ๆ ขึ้น เค้าก็จะพูดว่า nah super อะไรแบบนี้ ซึ่งคนไทยไม่พูดหรอก ดีจังเลยอะไรแบบนี้ แต่ว่าคนเยอรมันจะมาแนวแบบนี้มากกว่า

ซึ่งส่วนตัวแล้วพี่รู้สึกว่ามันเหนือกว่าการเทียบเสียงง่าย ๆ ของมุกบาทสองบาท มันคือการต้องตีความให้เข้าใจก่อนว่า เหตุการณ์มันลบหรือบวกวะ ทำไมที่เค้าพูด ทำไมเค้าไปพูดบวก แต่ว่าหลัง ๆ พี่ก็สังเกตว่า การเล่นมุกบาทสองบาทแบบภาษาอังกฤษในโซเชียลมาแรงมาก ไม่ว่าจะในโฆษณาหรือตามเพจภาษาเองก็จะเริ่มมีมุกบาทสองบาท เล่นคำมากขึ้น

อย่างงี้สื่อก็มีผลกับวัฒนธรรมการใช้ภาษาด้วย?

ใช่ มุกบาทสองบาทมันเพิ่งจะเริ่มมาบูมในโซเชียลมีเดียเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ไทยอาจจะเริ่มจากเพจสัตว์โลกอมตีน พอ ๆ กับที่ฝั่งอังกฤษก็เริ่มเล่นกันบ่อยขึ้น เรื่องมุกตลกมันก็ตามกระแสสังคมทั่วโลกเหมือนกัน ฝั่งนึงเล่นปุ๊บก็จะเริ่มเอามาใช้กับภาษาตัวเอง

อย่างที่พี่บอกว่าคนเยอรมันชอบเล่นมุกแบบนี้ คนไทยก็อาจจะมีอีกแนว พี่คิดว่ามันมีเหตุผลอะไรเบื้องหลังไหม ที่ทำให้คนแต่ละวัฒนธรรมแต่ละภาษาเค้าเล่นมุกในลักษณะที่ต่างกัน

ถ้าแบ่งมุกนานาชาติที่ไม่ว่าคุณจะแปลเป็นภาษาอะไรก็ตลกเพราะไคลแมกซ์มันคือเนื้อเรื่อง อันนี้ก็ข้ามไปเพราะมันเป็นมุกนานาชาติ แต่ถ้าเกิดเป็นมุกที่ใช้ภาษาเล่น ด้านวิธีการจริง ๆ แล้วมันก็คล้ายกัน เช่น มุกคำพ้องรูป คนเยอรมันจะชอบเล่นมุกประมาณว่า uni-formieren ที่แปลว่าใส่ยูนิฟอร์ม คนก็จะชอบหั่นแบ่งคำเป็น un-informieren ซึ่งแปลว่ารู้น้อย ไม่ได้รับข้อมูล มันก็คล้าย ๆ กับมุกภาษาไทยที่เวลาเขียนแล้วจะแบ่งคำยังไง เช่น ตา-กลม กับ ตาก-ลม อันนี้ก็จะเหมือนกันคือเป็นแนวมุกคำพ้องรูป

แล้วก็จะมีเรื่องของมุกคำพ้องเสียง เช่น คนไทยจะเล่นคำว่า ชายฉกรรจ์ กับ ชายฉะกัน ของเยอรมันก็จะมีอย่างเช่น คำว่า duschlampe ซึ่งแปลว่า หลอดไฟในห้องอาบน้ำฝักบัว คนก็จะเอาไปเล่นเป็น du schlampe ก็เอาไว้ด่าว่ามึงเป็นกะหรี่ วิธีการเล่นก็จะคล้าย ๆ กัน ใช้คำ รูป เสียง หรือมันจะมีมุกเอาคำใกล้เคียงมาดัดแปลง เช่น เจนนี่ เรียนโทสุพรรณ กับ เจนนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ  ตอนแรกพี่คิดว่าเยอรมันไม่มีแบบนี้ ปรากฏว่าหลัง ๆ ก็มีเหมือนกันพอไปดูตามอินเตอร์เน็ต เช่นชื่อร้านอาหาร มันจะล้อเลียนชื่อ Freddie Mercury เป็น Freddy Mehrcurry ซึ่งก็โอเค เยอรมันก็มีแบบนี้

แต่สุดท้ายแล้วพี่มาสรุปว่า สิ่งที่เยอรมันไม่มีแต่ไทยมีเยอะมากคือคำผวนใต้สะดือ คำผวนทะลึ่ง ๆ คนเยอรมันไม่เล่นพวกนี้เลย คนไทยจะรู้สึกสนุกกับคำผวนที่มันทะลึ่งพวกนี้ เพราะว่าเราไม่สามารถพูดเรื่องแบบนี้ในที่แจ้งได้ พูดเสียงดังไม่ได้ หรือพูดได้แค่ในกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ความรู้สึกที่เราสนุกจากการเล่นมุกพวกนี้ มันก็ทำให้เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ว่าในขณะที่เยอรมัน เรื่องแบบนี้มันคุยกันได้ มันก็เลยไม่เอามาเป็นเรื่องตลก อันนี้คือสิ่งที่สังเกตอย่างเดียวคือมุกตลกทะลึ่งจะไม่ค่อยมี

ถ้าลึกไปจากเรื่องมุก บุคลิกของคน พี่คิดว่าโดยธรรมชาติแล้วคนไทยเป็นคนตลกมากกว่าคนเยอรมันหรือเปล่า คนเยอรมันเค้าเป็นคนเครียดจริง ๆ ไหม?

พี่ว่าก็ส่วนนึง การที่คนไทยชอบเล่นมุกเยอะ ชอบเล่นตลกมากกว่า อาจจะเกิดจากความคิดที่เค้าคิดว่าต้องรักษาบรรยากาศระหว่างบุคคลให้ดี ไม่ให้ทุกฝ่ายหน้าเสีย ในขณะที่เยอรมนี ไอ้เรื่องแบบนี้อารมณ์การสร้างบรรยากาศอาจจะไม่ต้องมีมาก direct to the point ไปเลย เอาให้ถึงประเด็นที่ต้องการแล้วจบ ถ้าจะมีใครหน้าเสียก็เสียตรงนั้นให้จบแล้วค่อยมาคิดทีหลัง

อาจจะเป็นเรื่องของว่า เรื่องหน้าตามันมีความสำคัญมากในสังคมไทย เรื่องห้ามทำให้หน้าแตก อย่าทำให้หน้าเสีย ห้ามว่ากัน ดังนั้นมันก็เลยต้องหันไปพึ่งการสร้างบรรยากาศให้มันดูดีแทนถึงแม้มันจะเฟคด้วยการเล่นมุกตลก เราจะต้องอ้อม ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ การเล่นอะไรตลก ๆ ก็เรียกได้ว่าอาจจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น พี่ว่าคนไทยน่าจะกลัวเรื่องหน้าตา มันอาจจะไม่ทั้งหมด แต่พี่ว่ามุกตลกก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างการมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในขณะที่เยอรมันไม่จำเป็นเพราะว่าจบก็จบตรงนั้น ไม่แคร์

คำถามสุดท้าย พี่เคยเล่นมุกกับคนเยอรมันมั้ยครับ?

(ถอนหายใจเหนื่อยอ่อนสุด ๆ) เคยนะ แต่ส่วนใหญ่เค้าก็จะแบบ ฮ่า ฮ่า ฮ่า (หัวเราะแห้งมาก) เล่นเวลาพิมพ์แชทเค้าก็จะพิมพ์ hahaha กลับมา เหมือนเราพยายามเล่นแล้ว แต่มันจะไม่ขำดังอะไรขนาดนั้น จะไม่มีแบบนั้น

เคยเล่นมุกนึงกับคนเยอรมันที่เคยฝึกงานด้วยกัน ตอนนั้นเราคิดว่า เออ มุกนี้น่าจะเอามาแปลเป็นเยอรมันได้ คนไทยก็จะถามว่าซุปอะไรมีสารอาหารมาก เราก็จะเฉลยว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต พี่ก็เลยลองเอามาถามดูเป็นภาษาเยอรมันเลยว่า Welchen Suppe ist reichhaltig an บลา บลา … เค้าก็ตอบว่า keine Ahnung หรือว่าตอบซุปโน่น ซุปนี่ ซุปแครอท สุดท้ายเราก็เฉลยว่า Supermarkt มันก็บอกว่าไม่ได้นะ เพราะว่าคำนั้นเราอ่านว่า Supermarkt ไม่ใช่ Suppemarkt

เดี๋ยวนะครับ มันต่างกันยังไงครับเนี่ย?

ก็คำว่า Super (ซู้ปเพ่อร์) มันต้องออกเสียง ‘ซู้ปปป’ ยาว ๆ ไง แต่คำว่า Suppe (ซุปเพ่อะ) มันมีตัว p 2 ตัว มันก็เลยต้องออกเสียงสระสั้น เค้าก็ยืนยันว่าต้องออกเสียงให้ถูกนะ เล่นแบบนี้ไม่ได้ ตอนนั้นก็เสียเซลฟ์เลยจ้า เราก็เลย โอเค … ไม่เล่นก็ได้

สุดท้ายนี้ถ้าเกิดผู้อ่านท่านใดอยากจะติดตามผลงานของ Uradmin สามารถกดไลก์เพจ เยอรมันไปวัน ๆ เพื่อติดตามทั้งสาระและความฮาได้เลยครับ

ผู้เขียนขอขอบพระคุณ พี่มุก ณัฏฐา นายกสมาคมฯ ที่ช่วยผู้เขียนถอดเทปสัมภาษณ์มา ณ ที่นี้

สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรม และคอนเทนต์ต่าง ๆ ของส.น.ท.ย.ได้ที่ เพจของทางสมาคมฯ เลยนะครับ