การหาข้อมูลมหาลัยเพื่อเตรียมตัวสมัครเรียน

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ถ้าคุณกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ แสดงว่าคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีความสนใจที่จะมาเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีอยู่ใช่มั้ยครับ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ขอนำประสบการณ์ของตัวเองตอนที่กำลังเริ่มต้นหาข้อมูลของการเรียนในมหาลัยในเยอรมันเพื่อสมัครไปเรียนปริญญาตรีมาเล่าให้พี่ ๆ น้องๆผู้อ่านทุกท่านฟัง โดยจะเล่าแบ่งเป็นโพสต์ ๆ ย่อย ๆ ตามขั้นตอนต่าง ๆ ไป หวังว่าหลังจากที่ทุกคนอ่านโพสต์ชุดนี้จบแล้ว ทุกคนจะพอมีไอเดีย และพอมองเห็นแนวทางที่จะเริ่มต้นค้นหาข้อมูล เพื่อที่จะได้เดินทางมาตามหาความฝันของทุกคนที่ประเทศเยอรมนีกันต่อกันนะครับ

เริ่มต้นที่เหตุผลที่ผมเลือกมาเรียนที่เยอรมนีก่อนละกันนะครับ เหตุผลที่สำคัญสุดเลยก็คือ… เพราะมันเรียนฟรี 555 ส่วนเหตุผลถัด ๆ มาก็คือ เพราะประเทศเยอรมนีก็มีชื่อเสียงเรื่องวิศวกรรม เทคโนโลยี อะไรพวกนี้อยู่แล้ว แถมยังเป็นประเทศผู้นำ EU มีเศรษฐกิจดี คนตกงานน้อย และประเทศก็ตั้งอยู่ตรงกลางๆทวีปทำให้ไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้ง่ายอีกด้วย แล้วจริง ๆ แล้วผมก็ชอบประเทศเยอรมนีมาตั้งนานมากๆแล้วด้วย และภาษาเยอรมันก็เป็นภาษาหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์ได้มาก

หลังจากตัดสินใจเลือกประเทศได้แล้ว ก็ได้เวลาเริ่มต้นหาข้อมูลพื้นฐานกว้าง ๆ ของประเทศเยอรมนีและการเรียนที่เยอรมนี ถ้าหากว่าเราอยู่กรุงเทพ ก็สามารถไปขอคำปรึกษาที่สำนักงาน DAAD ได้เลย (http://www.daad.or.th/th/) ตอนที่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะมาเรียนที่ประเทศเยอรมนี ผมก็มาถามเรื่องขั้นตอนการสมัครเรียน เรื่องรายละเอียดมหาลัย อะไรพวกนั้นที่สำนักงาน DAAD เหมือนกัน แต่ว่าหากใครจะมาปรึกษาที่นี่ก็อาจจะต้องระวังนิดนึง เจ้าหน้าที่บางคนก็โหดมาก ถ้าไปแบบไม่มีข้อมูลอะไรมาก่อนเลยอาจจะโดนเหวี่ยงกลับมาได้ แต่นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังสามารถหาข้อมูลอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ตได้ทั่วไป ซึ่งเว็บที่ผมว่ามีประโยชน์และให้ข้อมูลหลากหลายมากก็คือ

ต่อไป เราก็ต้องมาดูว่าเราจะไปเรียนคณะอะไร และคณะที่เราอยากจะเรียนมีเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยอะไรบ้าง ซึ่งก็จะมีเว็บที่รวบรวมรายละเอียดของคณะทั้งหมดทุกวิชาทุกมหาลัยที่เปิดสอนในประเทศเยอรมนีไว้อยู่ที่เว็บ https://www.daad.de/deutschland/studienangebote/en/ เราสามารถเข้าไปในนั้น เลือกตรง “All study programmes in Germany” แล้วก็ไปเสิร์ชหาข้อมูลได้ อย่างสำหรับผมก็เสิร์ชชื่อคณะ Mechanical Engineering กับ Mechatronics แล้วก็เข้าไปดูในลิสต์ว่ามีที่มหาลัยไหนเปิดสอนบ้าง รายละเอียดเป็นยังไงบ้าง อะไรประมาณนั้น และนอกจากนี้ ในหน้าเว็บนั้นก็ยังมีหัวข้อ “Ranking of German universities” ซึ่งจะมีลิงค์ที่พาเราไปยังหน้าของเว็บไซต์ที่เราสามารถเช็คการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี แยกหมวดหมู่ไปตามแต่ละคณะได้ แต่การจัดลำดับที่ว่านี้จะไม่ได้จัดมาเป็นอันดับ 1,2,3,… อย่างนี้นะครับ แต่จะเป็นการบอกเฉย ๆ ว่า ในหัวข้อการประเมินต่าง ๆ นั้น มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในระดับบน ระดับกลาง หรือระดับล่าง

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนิดนึง คือระดับการศึกษาตอนช่วงมหาลัยของที่เยอรมนีจะแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ชนิดแรกก็คือ University (Universität) ซึ่งก็จะเน้นในเรื่องทฤษฎี การวิจัย อะไรทำนองนั้น สามารถเรียนต่อไปได้ถึงปริญญาเอก ไปเป็นนักวิจัยได้ ส่วนชนิดที่สองคือ University of Applied Sciences (Fachhochschule) ซึ่งจะเน้นในเรื่องปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี จะอยู่ในระดับต่ำกว่า University และถ้าอยากจะเรียนต่อไปเรื่อย ๆ ถึงปริญญาเอกก็จะต้องไปเรียนเพิ่มเติม อยู่ดี ๆ จะเรียนต่อเลยไม่ได้ อะไรประมาณนั้น ถ้าใครชอบทฤษฎีหรืออยากจะทำวิจัยต่อก็ควรไป University ส่วนใครที่ชอบการปฏิบัติก็ควรไป University of Applied Sciences แต่ถ้าใครชอบคบเผื่อเลือกก็ควรจะไป University เพราะว่าระดับมันสูงกว่า ถ้าเกิดอยากจะต่อโทต่อเอกทีหลังจะได้ไม่มีปัญหาครับ

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไปเยอรมนีแล้ว ผมก็สมัครเรียนภาษาคอร์สเร่งรัดที่สถาบัน Goethe ที่เริ่มเรียนตั้งแต่เริ่มต้น สวัสดี คุณชื่ออะไร สบายดีมั้ย ฯลฯ นู่นเลย ตอนคอร์สแรก ๆ นี่บันเทิงมาก มีทำกิจกงกิจกรรม เดินคุยกับคนอื่นรอบห้อง รู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปเป็นเด็กอนุบาลเริ่มเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง ตอนมาเรียน Goethe ก็ได้เจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลากหลายประเภทมาก บางคนก็เป็นครู บางคนก็เป็นแอร์ บางคนก็เป็นแม่บ้าน บางคนก็เป็นนักเรียน เหมือนได้เปิดโลกกว้างเลยครับ เพราะว่าเมื่อก่อนอยู่แต่กับเพื่อนชั้นเดียวกัน เป็นนักเรียนเหมือนกัน เรียนคณะเดียวกัน เพื่อนก็มีไลฟ์สไตล์อารมณ์คล้าย ๆ กัน พอได้มาเจอกับคนจากต่างสายอาชีพ ต่างทางเดินในสังคมแล้วทำให้เราได้เรียนรู้อะไรจากคนอื่นมากขึ้นอีกเยอะ ได้รู้ว่าโลกใบนี้มันก็ไม่ได้มีแค่มุมมองที่เรารู้จัก ที่เราคุ้นเคย มันยังมีหลายแง่หลายมุม ยังมีอีกหลายสิ่งทั้งดีและไม่ดีที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน ถือว่าเป็นอีกบทเรียนที่ดีมาก ๆ เลยครับที่ได้จากสถาบัน Goethe นอกจากความรู้ภาษาเยอรมัน

ในระหว่างช่วงที่ผมกำลังเรียนภาษาเยอรมันที่ Goethe อยู่ ผมก็ไปหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนคณะที่ผมอยากเรียนจากแหล่งเว็บต่าง ๆ จากคนนั้นคนนี้ จากการถามในพันทิพย์ แล้วก็จากเพื่อนคนเยอรมันที่ได้รู้จักกันจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เรียนวิศวะและไม่ได้เรียนวิศวะไปด้วย แล้วก็ลิสต์รายชื่อมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจออกมาได้สี่ห้าชื่อ ซึ่งมหาวิทยาลัย KIT หรือ Karlsruhe Institute of Technology ก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นผมก็เข้าไปอ่านรายละเอียดของคณะที่ผมอยากเข้า และรายละเอียดเรื่องการสมัครเรียนในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนที่หนักหนาสาหัสมาก เพราะว่าเราต้องไปเสาะหาเอาในเว็บเอาเองว่าพวกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการสมัครเรียนมันอยู่ตรงส่วนไหน มีข้อมูลอะไรที่ต้องรู้บ้าง (เช่น เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการสมัครเรียน, เกณฑ์ขั้นต่ำที่เค้าจะรับคนเข้าเรียน, วิธีการสมัครเรียน, ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร ฯลฯ) แล้วก็ไม่ใช่ดูแค่เว็บเดียว แต่ต้องเข้าไปดูในเว็บของทุกมหาลัยที่เราสนใจ เพราะว่าบางมหาลัยก็จะมีกำหนดการที่ต่างจากมหาลัยอื่น ๆ  ซึ่งส่วนใหญ่โครงสร้างเว็บของแต่ละมหาลัยมันก็ไม่เหมือนกัน ก็ต้องมางมหาข้อมูลของแต่ละมหาลัยจากในเว็บอีก บางทีข้อมูลบางอย่างก็มีแต่ภาษาเยอรมัน เราก็ต้องมาเข้า Google translate แปลเอาเองอีก แล้วก็ต้องดูดี ๆ ด้วยว่ามีข้อยกเว้นอะไร หรือมีกระบวนการพิเศษอะไรสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะรึเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ที่มหาลัย TU Darmstadt จะเปิดรับสมัครเรียนสำหรับนักเรียนจากยุโรปถึงวันที่ 15 กรกฎาคม แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติจะเปิดรับสมัครถึงแค่วันที่ 15 เมษายนเท่านั้น (อันนี้ผมพลาดมาแล้ว ตกใจมาก นึกว่าที่อื่นก็เป็นแบบนี้หมด ปรากฎว่าเป็นแค่ไม่กี่มหาลัย โชคดีไป ไม่งั้นปีนั้นพลาดแน่ ๆ ไม่ได้สมัครแน่ 555) หรือบางมหาลัยก็ให้นักเรียนจากยุโรปสมัครผ่านเว็บมหาลัยโดยตรงเลยได้ แต่ว่านักเรียนต่างชาติต้องสมัครผ่านเว็บของ uni-assist (เดี๋ยวมาต่อบทหน้าว่ามันคืออะไร)

สำหรับโพสต์นี้ก็ขอพูดถึงแค่เรื่องการหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยก่อน แต่ถ้าผู้อ่านคนไหนมีคณะที่อยากเรียน และมีมหาลัยในใจแน่วแน่แล้ว งั้นเราไปต่อเรื่องขั้นตอนการสมัครเรียนในโพสต์ต่อไปกันเลยครับ